ระบอบประชาธิปไตยที่ปลอดภัยสำหรับชนชั้นนำ (1)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ระบอบประชาธิปไตยที่ปลอดภัยสำหรับชนชั้นนำ (1)

 

ในการเปลี่ยนผ่านจากระบอบอำนาจนิยมแบบปิด (closed authoritarianism ไม่มีการเลือกตั้งทั่วไป เข้าสู่ตำแหน่งอำนาจรัฐ) ไปสู่ –> ระบอบอำนาจนิยมจากการเลือกตั้ง (electoral authoritarianism) เพื่อแสวงหาความชอบธรรมทางการเมืองทั้งในประเทศและสากลจากการเลือกตั้ง (electoral legitimacy) ดังที่รัฐบาล คสช.จัดการเลือกตั้งในที่สุดหลังถ่วงช้าเลื่อนมาหลายรอบเมื่อ 24 มีนาคม 2562 นั้น

สิ่งที่ชนชั้นนำอำนาจนิยมต้องยอมเสี่ยงเป็นค่าแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้ electoral legitimacy มา คือ ความไม่แน่นอนอันเกิดจากกระบวนการประชาธิปไตย (democratic uncertainty) อาทิ ประชาชนเสียงข้างมากจะเลือกผู้สมัครคนใดพรรคไหนกันแน่? ส.ส.จะโหวตหนุนผู้นำอำนาจนิยมให้บริหารบ้านเมืองต่อไปหรือไม่? ส.ส.จะยื่นเสนอร่างกฎหมายอันอาจกระทบอำนาจและผลประโยชน์ขั้นมูลฐานของชนชั้นนำอะไรบ้าง? ฯลฯ (Prajak Kongkirati, “Bosses, Bullets and Ballots : Electoral Violence and Democracy in Thailand, 1975-2011”, unpublished Ph.D. dissertation, ANU, 2013, pp. 43-44)

คำถามสำคัญของบรรดาชนชั้นนำอำนาจนิยมไทยก่อนเปิดเลือกตั้งในระบบรัฐสภาขึ้นใหม่จึงเป็นเรื่องที่ว่าจะออกแบบระบอบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้งอย่างไรให้ปลอดภัยหรือสุ่มเสี่ยงน้อยที่สุดสำหรับอำนาจ และผลประโยชน์หลักของตน?

เมื่อประมวลจากประสบการณ์การจัดการเลือกตั้งและผลของมันในพุทธทศวรรษ 2490 และช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน 3 ปีหลัง 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 ก็ดูเหมือนชนชั้นนำอำนาจนิยมของไทยจะสรุปบทเรียนในการออกแบบประชาธิปไตยที่ปลอดภัยสำหรับตนมาได้ 3-4 ประการตั้งแต่ช่วงระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบในพุทธทศวรรษที่ 2520

กล่าวคือ :

https://www.khaosod.co.th/election-2019/news_2340796

1) ให้ประชาธิปไตย (ในความหมายประชาธิปไตยทางตรงของมวลชน/direct democracy) ออกจากท้องถนน เข้าไปอยู่ในกรอบของสถาบันรัฐสภาทางการ (เป็นประชาธิปไตยตัวแทนของ ส.ส./representative democracy) มากที่สุด

กระแสคลื่นการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยนอกรัฐสภาเพื่อประท้วงเรียกร้องสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของมวลชนกรรมกร ชาวนา นักเรียนนิสิตนักศึกษาและผู้คนหลากสาขาอาชีพเกิดขึ้นดกดื่นเนืองแน่นถี่กระชั้น หลังนักศึกษาประชาชนลุกฮือโค่นระบอบเผด็จการทหารเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกชนชั้นนำและคนชั้นกลางในเมืองมองว่าเป็นภัยคุกคามอภิสิทธิ์และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองแต่เดิมของตนอย่างร้ายแรง ก่อความวุ่นวายเดือดร้อนรำคาญ ทำให้บ้านเมืองไม่สงบ รถติด จราจรหยุดชะงัก ทำลายบรรยากาศการลงทุน ท่องเที่ยวและค้าขาย และยังมีแนวโน้มที่การเคลื่อนไหวดังกล่าวจะก่อรูปเป็นขบวนการ เข้มแข็ง ขยายวงสมาชิก เพิ่มอำนาจต่อรอง ยกระดับข้อเรียกร้องและความเข้มข้นถึงรากถึงโคนของอุดมการณ์มากขึ้น จนเป็นอันตรายต่อความมั่นคงแห่งชาติ (เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน, บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม, สำนักพิมพ์มติชน, 2559, น. 75-145)

การกดดันปิดกั้นการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยทางตรงของมวลชนให้หดเล็กลง จำกัดพื้นที่ประชาธิปไตยให้เข้ามาอยู่เฉพาะในกรอบของสถาบันรัฐสภาจากการเลือกตั้งเสียเป็นส่วนใหญ่หรือมากที่สุด จึงช่วยให้ ง่ายแก่ชนชั้นนำในการควบคุมจัดการดูแลทั้งระเบียบวาระ ขอบเขตและภาษาวาทกรรมกว่า สงบเรียบร้อยกว่า และยังสามารถกดข่มด้อยค่าประชาธิปไตยของมวลชนนอกสภาด้วยการอ้างความชอบธรรมเหนือกว่าของ  ประชาธิปไตยแบบตัวแทนผ่านการเลือกตั้งโดย ส.ส. และพรรคการเมืองได้อีกต่างหาก

(เบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน, “บทที่ 3 ฆาตกรรมกับความก้าวหน้าในสยามยุคสมัยใหม่”, ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา : ว่าด้วยการเมืองไทยสมัยใหม่, ฟ้าเดียวกัน, 2558, น. 123)

 

2)ให้การเลือกตั้งและสภาผู้แทนราษฎรปลอดจากพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายสังคมนิยมที่คุกคามความมั่นคงแห่งระเบียบอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำในขั้นมูลฐาน

อาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์ ได้เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยหลัง 6 ตุลาคม 2519 ไว้เช่นนี้แต่เนิ่นสมัยยังสอนอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ก็ได้สรุปทำนองเดียวกันเกี่ยว กับการเลือกตั้งไทยสมัย พ.ศ.2500, 2512, 2518, 2519 รวมทั้งหลัง 6 ตุลาคม 2519 เป็นต้นมา ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงเยี่ยงอย่างที่บรรดาพรรคเอียงซ้ายหลัง 14 ตุลาคม 2516 อันได้แก่ พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย, พรรคแนวร่วมสังคมนิยม และพรรคพลังใหม่ ลงแข่งขันสมัครรับเลือกตั้งแล้วได้ ส.ส.รวมกันถึง 37 จากทั้งสิ้น 269 ที่นั่ง หรือ 13.75% ของ ส.ส.ทั้งหมด (Prajak, p. 45, 48, 51ff) ไม่ให้เกิดขึ้นอีก

มาในชั้นหลัง เมื่อถึงยุคหลังสงครามเย็นและขบวนการคอมมิวนิสต์ล่มสลายแล้ว ก็ไม่ปรากฏพรรคการเมืองแนวซ้ายสังคมนิยมขึ้นในการเมืองไทยอีก แต่กระนั้นลักษณะต้องห้ามของพรรคการเมืองในการ เลือกตั้งและสภาของไทยก็ดูจะถูกขยายความออกไป โดยไม่จำต้องมีอุดมการณ์ซ้ายสังคมนิยมอะไร แต่หากคุกคามที่จะพลิกเปลี่ยนระเบียบการจัดสรรแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำดังที่เป็นอยู่อย่างถอน รากถอนโคนแล้ว ก็อาจจัดอยู่ในจำพวกเดียวกันและมีเหตุให้ต้องประสบชะตากรรมแบบเดียวกันได้ ดังที่ได้เกิดแก่พรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2550, พรรคพลังประชาชนเมื่อปี 2551, พรรคอนาคตใหม่เมื่อปี 2563 และอาจเกิดแก่พรรคก้าวไกลต่อไปข้างหน้า

(Prajak, pp. 136-156 & นิธิ เอียวศรีวงศ์, “ลัทธิถอนราก ถอนโคนแบบไทย”, https://www.matichonweekly.com/column/article_209131)

 

3)แยกขาดพรรคการเมืองและ ส.ส. ออกจากขบวนการจัดตั้งของมวลชน (mass movements) ขนาดใหญ่ในสังคมโดยไม่เลือกอุดมการณ์

อาจารย์ประจักษ์ได้ตั้งข้อสังเกตอย่างแหลมลึกไว้ในประเด็นนี้จากปรากฏการณ์การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2522 ในสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบว่า :

“…ผู้สมัครหัวอนุรักษนิยมบางรายในพื้นที่ชนบทได้เรียกระดมกลุ่มลูกเสือชาวบ้านต่างๆ… มาสนับสนุนการรณรงค์หาเสียงของตน การเรียกระดมฝ่ายขวาดังกล่าวเหล่านี้ทำให้รัฐบาลสมัยนั้น (นายกฯ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์) กังวล ฉะนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงออกคำสั่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ลูกเสือชาวบ้านลาออกเสียหากอยากเป็นหัวคะแนนหาเสียงให้ผู้สมัคร ส.ส. รัฐบาลต้องการลดบทบาทขบวนการ ขวาจัดทั้งหลายในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบลง อันที่จริงแล้วรัฐบาลก็อยากบีบคั้นทั้งกลุ่มฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้าย และปิดกั้นป้องกันการแข่งขันเลือกตั้งให้พ้นจากอิทธิพลของขบวนการมวลชนไปเลยทีเดียว

“รัฐบาลเกรงกลัวห่วงเชื่อมทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองและนักการเมืองกับขบวนการมวลชน (ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2518 และ 2519) ซึ่งทำให้บรรดาพรรคสังคมนิยมทั้งหลายกลายเป็นที่นิยมของ ประชาชน สำหรับชนชั้นนำทหาร-ข้าราชการแล้ว เหล่ากลุ่มราชาชาตินิยมสุดโต่งเป็นเครื่องมือในการบดขยี้พันธมิตรนักศึกษา-กรรมกร-ชาวนาในปี พ.ศ.2519 แต่กลับถูกมองโดยทั่วไปว่าเป็นอันตรายหากเข้าไปพัวพันกับการเมืองเรื่องการเลือกตั้ง เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้จะไปเสริมสร้างพลังอำนาจให้บรรดาเจ้าพ่อหัวเมืองต่างจังหวัดมาประชันกับรัฐ ชนชั้นนำดั้งเดิมมิอาจยอมปล่อยให้พลังฝ่ายขวาถูกแปรไปเป็นของเอกชนได้ ยิ่งไปกว่านั้น การสะบั้นห่วงเชื่อมเหล่านี้ทิ้งเสียก็ยังสอดคล้องกับความพยายามของชนชั้นนำในระบบราชการ ที่จะทำให้องค์การจัดตั้งและฐานสนับสนุนของพรรคการเมืองทั้งหลายอ่อนแอลงด้วย” (Prajak, p. 102)

เราอาจหยั่งเข้าใจความหวาดวิตกของรัฐราชการไทยต่อห่วงเชื่อมระหว่างพรรคการเมืองกับขบวนการมวลชนได้หากพิจารณาว่า :

ตั้งแต่การทำแผนที่สยามและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา องค์การจัดตั้งทางการเมืองเดียวที่ปกแผ่ครอบคลุม ส่งอิทธิพลกำกับควบคุมและเรียกระดมกำลังทั่วทั้งประเทศได้ก็คือระบบราชการ โดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงและปกครอง และระบบราชการก็ใช้อำนาจบริหารปกครองดังกล่าวอย่างได้ผล อาทิ ในการระดม อสม.กว่าล้านคนช่วยติดตามตรวจตราระวังรักษาผู้ติด เชื้อโรคระบาดโควิด-19 ตามชุมชนทั่วประเทศ (https://www.who.int/thailand/news/feature-stories/detail/thailands-1-million-village-health-volunteers-unsung-heroes-are-helping-guard-communities-nationwide-from-covid-19-TH)

หรือในการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ข้าราชการเกือบ 2 ล้านคนเพื่อผลักดันประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2559 จนสำเร็จ (หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “รัฐธรรมนูญซ่อนกลกับพิธีกรรมประชามติ : การเมืองวัฒนธรรมของการออกเสียงประชามติ” https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=128377361811442) เป็นต้น

ในฐานะองค์การจัดตั้งทางการเมืองเดียวที่หยั่งถึงและยึดกุมการบริหารปกครองทั่วประเทศได้ ระบบราชการย่อมไม่ต้องการให้มีองค์การจัดตั้งทางการเมืองที่มีศักยภาพทำนองเดียวกันแห่งที่สองขึ้นมาเทียบเคียง เป็นคู่แข่ง โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่มุ่งสร้างการนำทางการเมืองที่เป็นทางเลือกต่างหากไปจากแนวทางของรัฐราชการโดยสามารถแผ่ขยายหน่วยพรรคและสาขาพรรคออกไปทุกจังหวัดอำเภอตำบลทั่วประเทศภายใต้ศูนย์การนำของพรรคส่วนกลาง ดังที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเคยทำในอดีตสมัยสงครามประชาชน (พ.ศ.2508-2528 ดู General Saiyud Kerdphol, The Struggle for Thailand : Counter-insurgency 1965-1985, 1986) และพรรคไทยรักไทยพยายามทำในสมัยรัฐบาลทักษิณ เป็นต้น (เกษียร เตชะพีระ, บุชกับทักษิณ : ระบอบอำนาจนิยมขวาใหม่ไทย-อเมริกัน, 2547, “ภาคสอง บทที่ 2 ปรากฏการณ์ไทยรักไทยกับการเมืองเรื่องการเลือกตั้ง”, น. 165-195)

นี่เป็นเหตุผลทำนองเดียวกับที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนหวาดระแวงและมิอาจปล่อยให้ขบวนการลัทธิฝ่าหลุนกงซึ่งแผ่ขยายเครือข่ายกว้างขวางครอบคลุมไปทั่วเมืองจีนดำรงอยู่ได้ แม้แรกเริ่มเดิมทีจะเป็นเพียงการเคลื่อนไหวทางลัทธิพิธีกึ่งศาสนาและรำมวยบริหารร่างกายที่ไม่เคยมีประวัติก่อความรุนแรงหรือก่อการร้ายใดๆ เลยก็ตาม (https://theworld.org/stories/2014-07-14/why-china-fears-falun-gong)

(ต่อสัปดาห์หน้า)