เศรษฐกิจญี่ปุ่น…หลังโควิด-19 เริ่มสงบ/บทความพิเศษ สุภา ปัทมานันท์

บทความพิเศษ

สุภา ปัทมานันท์

 

เศรษฐกิจญี่ปุ่น…หลังโควิด-19 เริ่มสงบ

 

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(内閣府)ญี่ปุ่น ได้เปิดเผยตัวเลขจีดีพี(GDP) ของไตรมาสที่ 3ของปีนี้ว่า หดตัวลง คิดเป็นติดลบ 3%

ช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน เป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก มีผู้ติดเชื้อวันละกว่า 2 หมื่นคน มีการประกาศภาวะฉุกเฉินและมาตรการป้องกันโรคเกือบทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคลดลงอย่างมาก ส่วนภาคการผลิตก็ต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดัคเตอร์ เนื่องจากประเทศผู้ผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องหยุดการผลิตจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่นกัน

เมื่อดูตัวเลขการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของชาวญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ พบว่าภาคบริการ

หดตัวอย่างมาก เพราะประชาชนต้องอยู่บ้านมากขึ้น ร้านกินดื่ม ผับ บาร์ ต่างๆต้องปิดกิจการ ในทางกลับกัน การขายสินค้าผ่านทางออนไลน์(ネット通販)กลับขยายตัวอย่างมาก

อันที่จริงแล้ว แต่เดิมเคยคาดหวังกันว่าช่วงเวลานี้น่าจะมีการบริโภคใช้จ่ายมากขึ้น รองรับการจัดงานโตเกียว โอลิมปิก 2020 และพาราลิมปิก แต่เมื่อถึงเวลาจัดงานจริงๆกลับเป็นช่วงที่ต้องระมัดระวังตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด- 19 อย่างหนัก

ลองมาดูปัญหาของภาคบริการต่างๆ

บริษัทแท็กซี่รายหนึ่ง บอกว่าได้รับผลกระทบในช่วงที่มีมาตรการควบคุมโรคว่า รายได้ลดลงเหลือเพียง 25% ของที่เคยได้ ต่อมาเมื่อมีการยกเลิกมาตรการต่างๆเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา และประชาชนพากันออกนอกบ้านมากขึ้น รายได้ก็เพิ่มขึ้นเป็น 75% แต่ก็ต้องประสบปัญหาอีกคือ ขาดแคลนคนขับแท็กซี่ โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืนที่มีผู้ใช้บริการไปดื่มกินกันมาก เนื่องจากช่วงที่ยอดบริการลดลงอย่างหนัก หลายๆคนได้เลิกอาชีพนี้และไปหางานใหม่แล้ว บริษัทกำลังพยายามเร่งประกาศรับสมัครคนขับเพิ่มขึ้น เพื่อให้ทันกับช่วงเวลาทำเงินใกล้สิ้นปีและปีใหม่นี้ให้ได้

ส่วนธุรกิจโรงแรมและที่พัก ในช่วงเวลาฤดูร้อน เดือนกรกฎาคม – สิงหาคมที่ผ่านมาที่มีวันหยุดและเทศกาลการท่องเที่ยวเดินทางพักผ่อนประจำปี มียอดผู้ใช้บริการต่ำกว่าปีก่อนๆ 53% ไม่ต้องพูดถึงการเข้าพักของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อเปรียบเทียบกับ 2 ปีก่อนหน้าที่ลดลงถึง 96.6%

ธุรกิจอาหาร ฟาสต์ฟูดส์ เทคโฮม และบริการส่งถึงบ้าน ขยายตัวอย่างมากในช่วงการจัดงานโตเกียว โอลิมปิก 2020 ผู้คนอยู่บ้านเพื่อชมการแข่งขัน จึงใช้บริการกันมากขึ้นเกิน 100% ทีเดียว ในขณะที่ ผับ บาร์ ร้านเหล้าต่างๆ ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค และต้องปิดบริการเร็วขึ้น ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ยอดขายจึงตกฮวบอย่างชัดเจน

เมื่อยกเลิกมาตรการควบคุมต่างๆ ร้านดื่มกิน(居酒屋)ก็มียอดขายกระเตื้องขึ้นทีละน้อย แต่ก็มีปัญหาอีก เมื่อต้องเผชิญปัญหาค่าวัตถุดิบอาหารพุ่งสูงขึ้น ทั้งราคาผัก เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช เป็นต้น เพิ่มสูงขึ้นกว่า 10% ร้านค้าต้องแบกรับต้นทุนส่วนนี้เอง เพราะไม่อาจขึ้นราคากับลูกค้าที่เพิ่งจะหวนกลับมาใช้บริการ แต่พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไป มาคนเดียวหรือมากับเพื่อน 2- 3 คน และใช้เวลาในร้านสั้นลงนอกจากนี้ยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานอีก เพราะร้านต้องให้พนักงานลดเวลาทำงานตอนที่รัฐบาลมีมาตรการกำหนดเวลาปิด – เปิด พนักงานจึงดิ้นรนไปหางานอื่นทำกันแล้ว

มีตัวอย่างของร้านปิ้ง-ย่างไก่เสียบไม้ ที่มีร้านสาขาหลายร้านกระจายอยู่ในโตเกียว และ ชิบะ อุตส่าห์ปรับรูปแบบธุรกิจเป็นร้านแบบรถเคลื่อนที่ตอนช่วงกลางวัน สามารถประคองตัวเองมาจนเปิดกิจการเต็มรูปแบบได้ ก็ต้องประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารพุ่งสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว น้ำมันพืชที่ใช้สำหรับไก่ทอดคาราอาเงะ(唐揚げ)เพิ่มขึ้นกว่า 40% ราคาเนื้อไก่ในประเทศเพิ่มขึ้น 6% ส่วนเนื้อไก่นำเข้า ราคาเพิ่มขึ้นถึง 40% ทีเดียว เนื้อวัวนำเข้าจากสหรัฐอเมริการาคาสูงขึ้น 25% ทางร้านจำต้องยกเลิกเมนูยอดนิยมหลายเมนูเพราะต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้น และทนขายราคาเดิมไม่ได้

ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิต “ดัชนีการผลิตเหล็กและอุตสาหกรรม” ในเดือนมิถุนายน ฟื้นตัวขึ้น 99.6% เกือบถึงระดับก่อนการกระบาดของโควิด- 19 แต่ในเดือนกันยายน กลับลดลงมาที่ 85.5% เมื่อประกอบกับการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดัคเตอร์ทั่วโลก และขาดแคลนวัตถุดิบ และชิ้นส่วนต่างๆจากประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้การฟื้นตัวช้าออกไปอีก เหตุนี้เองตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม(経済産業省)จึงปรับความคาดหมายจาก “การฟื้นตัวขึ้น” เป็น “การรักษาจุดเดิมไว้ให้ได้” อย่าให้หดตัวลงต่ำกว่าจุดเดิม

ผู้ผลิตเครื่องจักรเพื่อการผลิตก็ต้องหยุดการผลิตไประยะหนึ่ง ทำให้ยอดขายตกลงกว่า 20%

ต้องพยายามหาผู้รับจ้างผลิตรายย่อย เพื่อทดแทนการขาดแคลนการนำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อภาคการผลิตหดตัว ภาคการส่งออกก็หดตัวตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกรถยนต์ ในเดือนกันยายน หดตัวลงอยู่ที่ราว 13% เท่านั้น

หัวหน้าทีมวิจัยของ มิตซูบิชิ UFJ รีเสิร์ชแอนด์คอนซัลท์ติ้ง ให้ความเห็นเกี่ยวกับการคาดการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นในอนาคตอันใกล้นี้ว่า “อุปสงค์ทางด้านอาหาร และที่พักโรงแรมคงจะฟื้นตัวขึ้น การบริโภคส่วนบุคคลจะกลับมาเป็นบวกอีกครั้งหนึ่ง” แต่ว่า “จากที่เคยหวังกันว่าหลังจากนี้ การบริโภคแบบล้างแค้น(リベンジ消費)จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจโดยรวมให้กลับมาดีขึ้น ก็ไม่น่าจะมีพลังได้ถึงขนาดนั้น”

“เหตุผลก็คือ นอกจากยังต้องเฝ้าระวังการระบาดระลอกที่ 6 แล้ว ยังมีสภาวการณ์ที่เป็นอุปสรรคต่างๆอีก อาทิ ราคาของที่แพงขึ้น ค่าแรงไม่เพิ่ม ราคาน้ำมัน พลังงานต่างๆ และราคาวัตถุดิบอาหารที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้จิตวิทยาของผู้บริโภคเป็นไปในทางลบ กลายเป็นไม่อยากบริโภค ทั้งๆที่อุตส่าห์ควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้เกือบเข้าสู่ภาวะปกติแล้วก็ตาม”

“สิ่งสำคัญที่นิ่งนอนใจไม่ได้ คือ ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เตรียมระบบสาธารณสุขให้พร้อมรับมือการระบาดของโควิด- 19 อยู่เสมอ ถ้าควบคุมการแพร่ระบาดและติดเชื้อได้อย่างดี การบริโภคก็จะค่อยๆฟื้นตัว ฉะนั้น หนึ่งในนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือ การสร้างสภาวะแวดล้อมที่กระตุ้นพฤติกรรมการบริโภคนั่นเอง”

แต่…ญี่ปุ่นก็ยังไม่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ…