ปลุกผีเผด็จการรัฐสภา/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

ปลุกผีเผด็จการรัฐสภา

 

ในระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา และลงเอยโดนโหวตคว่ำตั้งแต่วาระแรก ซึ่งก็ไม่ผิดคาดแต่อย่างใด เพียงแต่ตลอดการอภิปรายทั้งฝ่ายหนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญและฝ่ายต่อต้านการแก้ไข ทำให้ได้เห็นแนวคิดจุดยืนของบรรดา ส.ส.พรรครัฐบาล และที่สำคัญคือ ส.ว.

พากันปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 หรือฉบับดีไซน์มาเพื่อพวกเรา กันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

ที่สำคัญในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนั้น ได้พุ่งเป้าไปที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐสภา เสนอให้มีสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องมีวุฒิสภาอีกต่อไป

จึงทำให้ ส.ว.พากันเดือดดาลอย่างมาก

แต่ที่น่าตลกก็คือ การลุกขึ้นอภิปรายคัดค้านการเปลี่ยนแปลงให้เหลือสภาผู้แทนฯ เพียงสภาเดียวนั้น เหล่า ส.ว.ได้ยกเหตุผลที่ว่า ทำให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจเสียไป

ทำให้มีแต่สภาของ ส.ส.เท่านั้น กลายเป็นการผูกขาดอำนาจ

โจมตีด้วยว่า แม้ ส.ส.จะมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนก็ตาม ไม่ได้มีหลักประกันว่า จะมีแต่คนดีเท่านั้นที่เข้ามาทำหน้าที่

ยิ่งไปกว่านั้น สรุปรวบยอดด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงให้เหลือเพียง ส.ส.สภาเดียว จะทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภาขึ้นมาในบ้านเมืองเรา!

นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงย้อนไปถึงยุคทักษิณและยุคยิ่งลักษณ์ สมัยที่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้งถล่มทลายมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ

บรรดา ส.ว.หรือ ส.ส.พรรครัฐบาลบอกว่า นั่นแหละคือยุคเผด็จการรัฐสภา ทำให้เกิดปัญหานักการเมืองใช้อำนาจมิชอบ ออกกฎหมายเพื่อตัวเองบ้าง ก่อปัญหาทางการเมืองขึ้นมาบ้าง

จนเป็นเหตุให้ทหารต้องออกมารัฐประหารยึดอำนาจ

อ้างกันด้วยว่า ยุคที่นักการเมืองมีอำนาจมากเกินไป มักก่อปัญหาเสียเอง จนทำให้ทหารจำเป็นต้องออกมา

พูดอย่างเต็มปากเต็มคำว่า ดังนั้น จึงไม่ควรมีสภาผู้แทนฯ เพียงสภาเดียว จะกลายเป็นเผด็จการรัฐสภา และทำให้ทหารต้องรัฐประหารอีก

รวมทั้งในอีกหลายๆ ประเด็นของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรอิสระ การลบล้างผลพวงคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 การเอาผิดกับผู้ก่อรัฐประหาร และให้ประชาชนมีสิทธิต่อต้านการรัฐประหารได้

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ทำให้ ส.ว.และ ส.ส.รัฐบาลพากันโหวตคว่ำในวาระแรกในทันที เพื่อปกป้องประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยแท้จริง

 

วาทกรรมเผด็จการรัฐสภานั้น นำมาใช้กันมากในยุคที่ก่อกระแสต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทย มาจนถึงรัฐบาลเพื่อไทย เพราะได้รับเสียง ส.ส.จากการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย เป็นพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ

เจตนาสำคัญของการก่อวาทกรรมเผด็จการรัฐสภา ก็เพื่อสร้างกระแสชิงชังในพรรคที่มีเสียงข้างมาก ลงเอยคือเพื่อปูทางให้ทหารออกมารัฐประหาร ล้มกระดาน

ทั้งที่การชนะเลือกตั้ง จนทำให้มีจำนวน ส.ส.ในสภาจำนวนมาก อาจจจะมีผลให้พรรคใดพรรคหนึ่งกำหนดการเมืองได้มาก จนพรรคฝ่ายค้านยากจะตรวจสอบหรือทัดทานใดๆ ได้

แต่ก็เป็นการชนะเพราะการเลือกของประชาชน มาจากความนิยมของประชาชน เมื่อมาจากการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่ ก็คือวิถีประชาธิปไตยแท้จริง จะมากล่าวหาว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา ย่อมไม่ได้

อีกประการ การมีเสียงข้างมากในสภา ก็มีวาระที่แน่นอน คือ ไม่เกิน 4 ปี แล้วก็ต้องเลือกตั้งใหม่ ซึ่งประชาชนจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจใหม่

พรรคที่มีเสียงท่วมท้นในสภา ถึงอย่างไรก็มีกรอบเวลาชัดเจน ไม่สามารถผูกขาดได้ยาวนาน

อีกทั้งถ้าตลอด 4 ปีนั้นไม่สามารถทำงานจนเข้าตาประชาชนได้อีก ผลการเลือกตั้งหนต่อไปก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นกับมือของประชาชน

นี่คือวิถีประชาธิไตย ตัดสินโดยประชาชน มีวาระชัดเจนไม่ใช่กติกาการผูกขาด ไม่ใช่เผด็จการรัฐสภาแน่นอน!

จริงอยู่ ส.ส.จำนวนไม่น้อย ยังไม่มีคุณภาพเพียงพอ การเมืองไทยยังไม่ได้มาตรฐาน

แต่ถ้าให้มีการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ โดยไม่สะดุด มีนักคิดนักวิชาการออกมาผลักดันการเมืองที่มีคุณภาพ ประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จะยกระดับตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งการเลือกตั้งจะได้ ส.ส.ที่มีคุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่ก็นั่นแหละ มี ส.ว.รายหนึ่งอภิปรายว่า อย่ามองการเลือกตั้งแบบโลกสวย มองว่าการเลือกตั้งจะพัฒนาคุณภาพไปเรื่อยๆ รอดูมาหลายสิบปีแล้ว ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น

ส.ว.รายนี้พูดโดยละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า การเมืองไทยไม่พัฒนา เพราะมีวงจรอุบาทว์คือการรัฐประหารบ่อยๆ นั่นเอง

รัฐประหารทีไร ก็ผูกขาดอำนาจโดยคนหยิบมือเดียว ไล่ประชาชนให้ไปอยู่บ้านเฉยๆ ห้ามมีส่วนร่วมใดๆ นี่แหละคือตัวฉุดการเมืองไทยไม่ให้พัฒนา

ถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งต่อเนื่อง 4 ปีหน หรืออาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้ถ้ามีการยุบสภา ถ้าเป็นเช่นนี้โดยไม่มีการรัฐประหารมาขัดขวาง รับรองการเมืองไทยจะพัฒนาไปกว่านี้

ดูหลายๆ ประเทศในโลก ที่ตัดทหารออกไปจากการเมืองได้ ไม่มีวงจรอุบาทว์ การเมืองเขาจะพัฒนา ประเทศชาติเจริญก้าวหน้า

เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด ย้อนเวลาไปแค่ 40 ปีเท่านั้น ได้เห็นพัฒนาการชัดเจนเมื่อทำให้ทหารหลุดจากการเมือง จนวันนี้ก้าวหน้าทั่วด้าน

 

จุดสำคัญที่สุด ที่การอภิปรายคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ว. ขาดเหตุผลอย่างสิ้นเชิง ก็คือ การโจมตีว่าถ้าหากมีแค่สภาผู้แทนฯ จะเกิดเผด็จการรัฐสภา พูดโดยลืมไปว่า ส.ว.ชุดนี้มาจากคณะรัฐประหารแท้ๆ มาจากเผด็จการเต็มๆ และที่ผ่านมาทำหน้าที่สนองอำนาจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างเดียว

เริ่มต้นตั้งแต่โหวตทั้ง 250 เสียงไม่มีแตกแถว ให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ซึ่งสะท้อนความเป็นกลไกตามสั่งชัดเจน

การเมืองจะมี 2 สภา หรือสภาผู้แทนฯ สภาเดียวก็ตาม ถึงที่สุด ส.ส.คือผู้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แต่ ส.ว.ชุดนี้มาจากการแต่งตั้งโดยอำนาจรัฐประหาร

รวมทั้งที่อ้างว่าถ้าไม่มี ส.ว. จะไม่มีอีกสภาไว้ตรวจสอบถ่วงดุล ทั้งที่ตลอดเวลา 2 ปีที่ผ่านมาของ ส.ว.ชุดนี้ มีแต่ตรวจสอบ ส.ส.ของพรรคฝ่ายค้าน ไม่เคยตรวจสอบรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารเลย

มีข้อเท็จจริงอีกประเด็น ที่ยังนำมาอ้างกันในที่ประชุมสภา ทั้งที่ถูกประจานทุกแง่มุมแล้วว่า หมดความชอบธรรมไปแล้ว นั่นก็คือ การอ้างประชามติคน 16 ล้าน ที่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทั้งที่ความจริงก็คือ เป็นการทำประชามติแบบมัดมือชก

ฝ่ายที่ออกมารณรงค์ข้อมูลอีกด้าน ให้เห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ ถูกจับกุมดำเนินคดีมากมายนับร้อยคดี นี่คือจุดด่างชัดเจน ทำให้อ้างไม่ได้ว่าเป็นประชามติที่ถูกต้องเที่ยงธรรม!

แถมหลังการทำประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ไม่กี่วัน มีเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน แบบพร้อมๆ กัน ซึ่งบทสรุปคือกลุ่มก่อความไม่สงบจาก 3 จังหวัดใต้ ขึ้นมาปฏิบัติการ เน้นพื้นที่ที่มีเสียงรับประชามติสูง เพื่อเป็นการตอบโต้การทำประชามติอันไม่เที่ยงธรรมนี้

แล้วเมื่อไปดูผลการลงคะแนนประชามติ จะพบว่าใน 3 จังหวัดใต้ คะแนนเสียงฝ่ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สูงกว่าฝ่ายรับร่างอย่างมาก

ประเด็นสำคัญคือในหมวดศาสนา เขียนเอาไว้จนเกิดความขัดแย้งไม่พึงพอใจอย่างรุนแรง ผู้ต่อต้านอย่างสงบก็แห่กันไปลงประชามติโดยไม่รับ ฝ่ายที่หัวรุนแรงก็ก่อเหตุวางระเบิดทั่วภาคใต้ตอนบน

นี่เป็นความจริงอีกด้านหนึ่งของปัญหาประชามติรัฐธรรมนูญ

ข้อสำคัญ พรรคการเมืองโดยส่วนใหญ่รู้ดีว่า ประชามติรัฐธรรมนูญ เกิดข้อโต้แย้งมากมาย จนทำให้แทบทุกพรรคประกาศเป็นนโยบายในตอนหาเสียงเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 คือ จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อธิบายความจริงประการนี้ได้ชัด

จึงทำให้มีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ยังไม่สำเร็จ

แต่เชื่อได้ว่าการผลักดันให้แก้หรือต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะต้องดำเนินต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด!