เสียงปืนจาก ‘มือลึกลับ’ เสียงตอบรับจากสถานทูตเยอรมัน ปฏิกิริยาแตกต่าง ต่อม็อบปฏิรูป ≠ ล้มล้าง

บทความในประเทศ

 

เสียงปืนจาก ‘มือลึกลับ’

เสียงตอบรับจากสถานทูตเยอรมัน

ปฏิกิริยาแตกต่าง

ต่อม็อบปฏิรูปล้มล้าง

 

ผลจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ชี้ถึงการกระทำของทนายอานนท์ นำภา “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 3 แกนนำราษฎร

มีจุดมุ่งหมายเพื่อการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จากการประกาศ 10 ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบัน บนเวทีชุมนุมลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันที่ 10 สิงหาคม 2563

ศาลยังสั่งให้ทั้ง 3 แกนนำ รวมถึงกลุ่มองค์กรและเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง

คำวิจฉัยดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างกว้างขวางในแวดวงนักวิชาการ นักกฎหมาย นักนิติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักการเมือง สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปในสังคม

มีการเปรียบเทียบความหมายคำว่า “ปฏิรูป” กับคำว่า “ล้มล้าง”

ขณะที่ฝ่ายเห็นด้วยและสนับสนุนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากเรียกร้องทุกฝ่ายเคารพและยึดถือปฏิบัติ เนื่องจากมีผลผูกพันกับทุกองค์กร ยังขยายผลเตรียมเอาผิดนักการเมือง นักวิชาการ และกลุ่มเครือข่ายสนับสนุนช่วยเหลือแกนนำชุมนุม

ยังมีความพยายามใช้คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็น “สารเร่งปฏิกิริยา” คดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งถูกกล่าวหาเป็นพรรคการเมืองที่อยู่เบื้องหลัง ชี้นำกลุ่มคนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวในรอบกว่า 1 ปี

รวมถึงประเด็นเป็นพรรคตัวตั้งตัวตี ในการเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อสภา ที่ฝ่ายตรงข้ามมองว่า อาจเข้าข่ายลักษณะต้องห้าม ตามคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนอีกด้วย

มีหนุนก็ต้องมีค้าน มีเห็นด้วยก็ต้องมีไม่เห็นด้วย

 

ในส่วนของฝ่ายเห็นต่างกับคำวินิจฉัยนั้น เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน คณาจารย์นิติศาสตร์และเครือข่ายนักกฎหมายจำนวน 70 คน ออกแถลงการณ์ แจกแจงถึงผลกระทบจากคำวินิจฉัยดังกล่าวใน 3 ประเด็นสำคัญ

1. สิทธิเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสได้ต่อสู้และถูกปฏิเสธไม่ให้นำพยานเข้าชี้แจง เสมือนเป็นการปฏิเสธสิทธิเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

2. เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งถือเป็นสิทธิเสรีภาพสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

อีกทั้งหากพิจารณาถึงข้อเรียกร้อง เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการแสดงความเห็นทั้งหมดเป็นเพียงการเสนอปรับแก้กฎหมายและรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบัน ไม่มีการเสนอยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนระบอบการปกครองในแบบอื่น

3. สถานะของสถาบันในระบอบประชาธิปไตย

ล่าสุดวันที่ 17 พฤศจิกายน นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ จำนวน 84 คน ออกแถลงการณ์เรียกร้องสังคมไทยร่วมกันปฏิเสธคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564

เนื่องจากเห็นชัดถึงความพยายามที่จะเน้นแต่ความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความสืบเนื่องจากอดีต “โดยตลอดหลายร้อยปี…ต่อเนื่อง”

โดยละเลยส่วนที่เป็น “ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย” อันเป็นสาระสำคัญของการ “เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475” จึงถือได้ว่าเป็นการตีความและให้ความหมายที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงในประวัติศาสตร์

“เมื่อมีรากฐานอยู่บน ‘ความรู้ที่ไม่ถูกต้อง’ ก็ย่อมทำให้มีสถานะเป็น ‘คำตัดสินที่ไม่ถูกต้อง’ ตามไปด้วย” แถลงการณ์ระบุตอนท้าย

 

ภายใต้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถาโถม ได้ปรากฏชัดเจนในเวลาต่อมาว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ไม่ได้ทำให้การชุมนุมปกป้องประชาธิปไตยของนิสิต-นักศึกษา ประชาชนคนรุ่นใหม่ยุติหรือหายไปจากท้องถนน

การเคลื่อนไหวแรกหลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการประสานพลัง 8 กลุ่ม

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย DRG, กลุ่มเหล่าทัพราษฎร, ศาลายาเพื่อประชาธิปไตย, คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน SUPPORTER THAILAND และ We Volunteer

ทั้งหมดนัดรวมตัวช่วงบ่าย 14 พฤศจิกายน เพื่อทำกิจกรรมชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ปกป้องระบอบประชาธิปไตย บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นวางแผนเคลื่อนขบวนไปยังสนามหลวง

แต่ปรากฏช่วงดึกคืนวันที่ 13 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งวางสกัดอย่างแน่นหนาตลอดแนวถนนราชดำเนิน เมื่อถึงเวลานัดหมาย ทำให้ผู้ชุมนุมต้องปรับแผนย้ายมารวมตัวกันที่แยกปทุมวัน

ทำกิจกรรมเผาหุ่นจำลอง สะท้อนความไม่ยุติธรรมในสังคม

จากนั้นเคลื่อนขบวนไปยังสถานทูตเยอรมนี เพื่อยื่นแถลงการณ์เกี่ยวกับแนวทางการปกครอง

ท่ามกลางกำลังตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) และรถฉีดน้ำแรงดันสูง ประจำการบนถนนอังรีดูนังต์ หน้าสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมมาถึงจึงเกิดการเผชิญหน้าปะทะ

คฝ.เปิดฉากยิงกระสุนยางเข้าใส่ผู้ชุมนุม โดยมีเสียงประทัดดังตอบโต้ต่อเนื่อง ผลผู้ชุมนุมถูกยิงบาดเจ็บ 3 ราย ถูกนำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในจำนวนนี้อาการสาหัส 1 ราย ถูกยิงเป็นแผลคล้ายรูกระสุนบริเวณลิ้นปี่ ไม่มีการยืนยันว่าถูกกระสุนจากฝ่ายใด

วันรุ่งขึ้น ทีมโฆษกตำรวจ บช.น. แถลงยืนยันปฏิบัติการดังกล่าว ไม่มีการใช้กระสุนจริง มีเพียงกระสุนยางที่ใช้ปฏิบัติตามหลักสากล เนื่องจากฝ่ายผู้ชุมใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน

อย่างไรก็ตาม ตำรวจยืนยันจะเร่งตรวจสอบเสียงปืนจากมือลึกลับ ที่ลั่นไกใส่ผู้ชุมนุม #ม็อบ14พฤศจิกา จนทำให้มีผู้บาดเจ็บถึง 3 ราย

 

จากแยกปทุมวัน ผู้ชุมนุมฝ่าด่านเจ้าหน้าที่ คฝ.ที่ตั้งแถวรอต้อนรับด้วยโล่ กระบอง กระสุนยาง และรถจีโน่ มุ่งหน้าสถานทูตเยอรมนี

ที่นั่นมีการจัดวางกำลังตำรวจเตรียมพร้อมไว้กว่า 200 นาย แต่สิ่งที่กลุ่มผู้ชุมนุมประสบพบเจอ กลับอยู่นอกเหนือความคาดหมายกว่านั้น เมื่อปรากฏเจ้าหน้าที่นักการทูตเยอรมันคนหนึ่งมายืนรอรับหนังสือจากผู้ชุมนุมด้วยท่าทีเคร่งขรึม สง่าผ่าเผย

จนกลายเป็นกระแสชื่นชม โดยเฉพาะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับปฏิกิริยาองรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐไทย ที่พยายามปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยทุกวิถีทาง ไม่เว้นแม้แต่การใช้กำลังรุนแรงเข้าปราบปราม

โลกโซเชียลออนไลน์แชร์ภาพความประทับใจนี้ต่อๆ กันจำนวนมาก

ว่านี่คือท่าทีสะท้อนถึงการตระหนักในกระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย ที่พร้อมเปิดโอกาสพูดคุยรับฟังความเห็น ซึ่งเป็นพฤติกรรมสวนทางโดยสิ้นเชิงกับรัฐบาลไทย ที่เลือกใช้ความรุนแรงแทนการรับฟัง

เพจ ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns โดยรัศม์ ชาลีจันทร์ ระบุ นี่คือตัวอย่างของนักการทูตที่ควรเป็น

เห็นข่าวและภาพนักการทูตของสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยมายืนรอรับหนังสือของผู้ชุมนุมประท้วง ก็รู้สึกชื่นชมเหมือนกับคนไทยอีกหลายๆ คน

ทั้งเคร่งขรึม สง่าผ่าเผยในสถานการณ์ที่ไม่ได้ถือว่าปลอดภัยทีเดียว เพราะก่อนหน้ามีข่าวผู้ร่วมชุมนุมถูกยิง ท่วงท่าสมกับเป็นนักการทูตโดยแท้

ที่อยากจะบอกอีกอย่างคือ ทางสถานทูตเขาเลือกจะรับหรือไม่รับหนังสือก็ได้ และถ้าเขาเลือกจะรับหนังสือ จริงๆ เขาก็สามารถรับทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องออกมายืนรอหน้าสถานทูต

“แต่การที่ผู้ชุมนุมเดินทางมายื่นหนังสือเช่นนี้ มันเป็นเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งทางสถานทูตเขาก็เข้าใจและออกมายืนรอรับ และนี่ก็คือสิ่งที่เขาตั้งใจต้องการสื่อให้ทั้งทางการไทยรู้และเข้าใจด้วย” ทูตนอกแถวระบุ

 

อย่างไรก็ตาม ที่ถูกเรียกว่าเป็นอาฟเตอร์ช็อก หลังคำวินิจฉัย 10 พฤศจิกายน

นั่นก็คือชะตากรรมของแกนนำราษฎรและแนวร่วม ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 112 ถูกจับกุม สั่งฟ้อง ฝากขัง ส่งเข้าเรือนจำ โดยไม่รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม

ล่าสุดเป็นรายของ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดสอบคำให้การคดีที่นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง น.ส.เบนจา อะปัญ นายภวัต หิรัณย์ภณ และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ร่วมกันทำความผิดตามมาตรา 112

จากกรณีระหว่างวันที่ 18-20 ธันวาคม 2563 ร่วมกันโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และเฟซบุ๊กส่วนตัว รณรงค์ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยการเชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรมสวมเสื้อครอปท็อป เดินห้างสยามพารากอน

โดยศาลพิจารณาและมีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวรุ้ง ปนัสยา ในชั้นพิจารณาคดี โดยให้เหตุผล เกรงว่าถ้าปล่อยไปจะไปกระทำความผิดในลักษณะเดียวกันอีก ทำให้รุ้งต้องกลับเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำทัณฑสถานหญิงกลางอีกครั้ง ขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ ในคดีเดียวกัน อยู่ในเรือนจำก่อนแล้ว

ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับคดีที่แกนนำและแนวร่วมกลุ่มราษฎร ถูกเอาผิดและคุมขังในคดีทางการเมือง ปัจจุบันมีไม่น้อยกว่า 25 ราย

ในจำนวนนี้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 ถึง 6 คน ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา, อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, เบนจา อะปัญ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

กระนั้นก็ตาม ผู้เกาะติดสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มนิสิต-นักศึกษา ประชาชนคนรุ่นใหม่ หลายคนประเมินตรงกัน ถึงแม้แกนนำและแนวร่วมต้องเผชิญกับการเอาผิดคดี 112 หรือคดีล้มล้าง

สุดท้ายการเคลื่อนไหวก็ยังดำเนินต่อไป เพียงแต่จะต้องคิดค้นแสวงหาแนวทางการขับเคลื่อน วิธีสื่อสารประเด็นรูปแบบใหม่ที่ยังคงไว้ซึ่งความหมายหรือจุดมุ่งหมายเดิม เพิ่มเติมคือความระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยง “กับดัก” ซึ่งเป็นผลพวงของคำวินิจฉัยที่ออกมา

หากทำได้ คำวินิจฉัย 10 พฤศจิกายน ก็จะไม่ใช่จุดจบการเคลื่อนไหวเรียกร้อง

แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่ ภายใต้จุดมุ่งหมายเดิม

เป็นการเคลื่อนไหวแบบนิวนอร์มอล