ไอติม พริษฐ์ ชัยชนะของผู้แพ้ ดาวรุ่งพุ่งแรง/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ไอติม พริษฐ์

ชัยชนะของผู้แพ้

ดาวรุ่งพุ่งแรง

 

เป็นคนรุ่นใหม่อีกคนที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง สำหรับ ‘ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ’ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab) หนึ่งในแกนนำจากกลุ่ม ‘Re-Solution’ ที่เดินหน้าร่วมรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเน้นย้ำแก้ไขใน 4 หลักการคือ

1. ล้มวุฒิสภา จำนวน 250 คนที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช.

2. โละศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันทั้งหมด พร้อมแก้ไขที่มา กระบวนการคัดเลือก และเพิ่มระบบตรวจสอบการใช้อำนาจ

3. ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ

และ 4. ล้างมรดกรัฐประหารจากยุค คสช.

แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ไอติมร่วมเสนอ จะถูกคว่ำกลางที่ประชุมร่วมรัฐสภา แต่ประชาชนที่เฝ้าดูการอภิปรายฉีกหน้าท่านผู้ทรงเกียรติ ทั้ง ส.ว. และพรรคร่วมรัฐบาล ต่างเห็นตรงกันว่า Performance ของไอติม เทียบเท่าดาวสภา

 

‘ไอติม พริษฐ์’ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง’ ถึงการเรียกร้องและขับเคลื่อนประชาธิปไตยของกลุ่มคนต่างๆ โดยเฉพาะ ‘คนรุ่นใหม่’ ว่า ผ่านมา 7 ปี กลุ่มคนรุ่นนี้ไม่เคยได้เห็นประชาธิปไตยที่แท้จริง

มุมมองส่วนตัวว่าด้วยความเชื่อมั่นในระบบสภา จะแก้ปัญหาความขัดแย้งนี้ได้หรือไม่ หรือจะไปสู่การเมืองภาคท้องถนน?

“ผมเชื่อมั่นว่า รัฐสภา ถ้าถูกออกแบบด้วยโครงสร้างที่ควรจะเป็น สามารถนำพาการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องบอกว่าระบบรัฐสภา ณ ปัจจุบัน ไม่สามารถตอบโจทย์ตรงนั้นได้ เรามี 500 ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นตัวแทนชุดความคิดที่แตกต่างกันออกไป แต่อีก 250 คน เป็น ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. มาจากการแต่งตั้งโดยฝ่ายเดียวทางการเมือง พอเข้ามากลับมีอำนาจเยอะมากในรัฐสภา มีอำนาจในการเลือกนายกฯ ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ มีอำนาจในการโหวตกฎหมาย ปฏิรูปประเทศทุกอย่างเลย มีอำนาจในการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระ เพราะฉะนั้น ระบบรัฐสภาที่เป็นอยู่ผมไม่เชื่อมั่น เราต้องแก้โครงสร้างรัฐสภาปัจจุบัน เพื่อทำให้รัฐสภาเป็นที่เชื่อมั่นให้ได้”

ไอติมกล่าวต่อว่า 3 ปีที่ผ่านมาหลังเลือกตั้งในปี 2562 รัฐสภาที่เรามีกำลังถูกผู้มีอำนาจเปลี่ยนสถานะ จากพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่ฝากความหวังไว้ว่าสามารถนำพาการเปลี่ยนแปลงได้ มาเป็น ‘สภาตรายาง’ ที่ทำทุกอย่างเพื่อรับรองการกระทำของรัฐบาล

“ปัจจุบันผมคิดว่ารัฐสภาไทยของเรา ผมใช้คำว่า ตามไม่ทัน นำไม่เป็น คือประเด็นที่ถูกพูดถึงบนท้องถนนมันไปไกลมากแล้ว แต่รัฐสภายังไม่เอาเรื่องนี้มาคุยกันในสภาสักที”

“อย่างเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 ความจริงข้อเสนอทั้งเรื่องการแก้ไข การยกเลิก พูดถึงปัญหา ถูกพูดถึงบนท้องถนนมานานมากแล้ว แต่เราเพิ่งเริ่มมีความหวังเมื่อพรรคการเมืองนำเรื่องนี้เข้ามาในสภา ฉะนั้น จะเห็นว่าสภาเริ่มตามไม่ทันกระแสที่มันเกิดขึ้นนอกสภา และเรื่องของการนำไม่เป็น”

“ผมคิดว่าเราเริ่มเห็นว่าสภามีปฏิกิริยาตอบรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นนอกสภา มากกว่าพยายามจะนำการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม อย่างเช่นเรื่องของ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหาย ถูกพูดถึงในสภาหลังจากที่มีกรณีผู้กำกับโจ้ขึ้นมา ทั้งที่ความจริงไทยลงนามอนุสัญญามาหลายปีมากแล้วแต่ก็ถูกดองไว้มาเรื่อยๆ บางเรื่องตามไม่ทันนอกสภาแล้ว ยังไม่ค่อยมีบทบาทนำในการจุดประเด็นสังคมใหม่ๆ คิดว่าอันนี้อันตรายมาก”

 

เวลากับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสภา?

“ผมคิดว่าเวลาจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ภาพความขัดแย้งในตอนนี้ผมมองว่าเหมือนกับเกมชักเย่อ เรามีระบบตัวกติกาที่ค่อนข้างมีความถดถอยในเชิงประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่หยุดอยู่กับที่แต่เป็นระบบที่ถดถอย รัฐธรรมนูญ 2560 โครงสร้างของระบบมีความเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถูกออกแบบเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว วันนี้สภามีอำนาจมากเพิ่มขึ้น แต่ที่มากลับไม่เป็นประชาธิปไตย เรามีศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกแต่งตั้งโดย ส.ว.ชุดที่มาจาก คสช. ทำให้คนตั้งคำถามกับความเป็นกลางของการทำงานของ กกต. เรามียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่มาครอบอยู่ ทำให้รัฐบาลไหนที่มาจากการเลือกตั้งถึงแม้จะมีฉันทานุมัติจากประชาชนว่าให้ดำเนินนโยบายนี้ แต่ถ้าไม่ตรงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทำไปก็เสี่ยงจะโดนเล่นงาน ถูกขับออกจากตำแหน่ง”

“เรามีระบบการเมืองที่มันกำลังล้าหลังและดึงเราไปข้างหลัง แต่ในอีกมุมหนึ่งเรามีสังคมที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ พอมีเทคโนโลยีเข้ามา ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีอำนาจในมือของตัวเองมากขึ้น มีความตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตยมากขึ้น กล้าที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับประเด็นที่อาจจะไม่เคยถูกพูดในที่สาธารณะมาก่อนมากขึ้น มันเลยดึงกันอยู่ระหว่างระบบที่ล้าหลัง ที่พยายามจะฉุดรั้งประเทศไม่ให้เดินไปข้างหน้า กับสังคมที่มีความตื่นตัว มีความก้าวหน้ามากขึ้น พอมันดึงไปเรื่อยๆ มันก็มีความเสี่ยงที่จะขาด”

“สิ่งที่ผมกังวลเพราะว่าถ้าเชือกมันขาด หนึ่งคือหมายถึงมันอาจจะมีการปะทะที่เกิดความสูญเสียได้ ซึ่งผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากเห็น และอย่างที่สองมันกลายเป็นว่าการเปลี่ยนแปลงในระบบรัฐสภากับการขับเคลื่อนนอกสภายิ่งมีระยะห่างมากขึ้นไปเรื่อยๆ รัฐสภาจะยิ่งเป็นความหวังได้น้อยลงของคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง แล้วผมก็เกรงว่านั่นแหละครับมันจะนำมาสู่ความชุลมุนที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน”

ไอติมกล่าว

 

เมื่อถามถึงกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีชุมนุมปราศรัยวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไอติมกล่าวว่าคำวินิจฉัยทำให้อุณหภูมิทางการเมืองร้อนขึ้นแน่นอน และมี 3 ประเด็นที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง

“ประเด็นแรกคือพอมีการตีความว่าสิ่งที่ปราศรัยเป็นการล้มล้างการปกครอง มันทำให้ประชาชนเริ่มตั้งคำถามแล้วว่าระบอบการปกครองที่เรามีอยู่มันคือระบอบอะไรกันแน่ ถ้าไปดูข้อเสนอ 10 ข้อหรือว่าเอกสารที่ถูกปราศรัย ตัวเนื้อหาสาระก็ยังเป็นข้อเสนอที่อยู่ในกรอบของระบอบประชาธิปไตย ที่เป็นระบบรัฐสภาอันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุขใต้รัฐธรรมนูญเหมือนประเทศอังกฤษกับญี่ปุ่น ถ้าจะตีความว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง อาจจะหมายถึงว่าเรากำลังบอกว่าปัจจุบันเราไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย ถ้าอำนาจสูงสุดไม่ได้อยู่กับประชาชน แล้วอยู่กับใคร แล้วมันเป็นระบอบอะไรกันแน่

ประเด็นที่สองคือพอมีการลงรายละเอียด ข้อเสนอนี้ขัด ข้อเสนอนั้นขัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรา 6 หรือการยกเลิก 112 มันทำให้พื้นที่ปลอดภัยที่เรามีในการพูดคุยเรื่องนี้มันแคบลงไปเรื่อยๆ พอเราอยากจะพูดเรื่องนี้ในสภา เราพูดได้ไหม นำเสนอเป็นนโยบายของพรรคการเมืองเราทำได้ไหม แล้วถ้าเรามีความกังวลว่า ตรงนี้ก็พูดในสภาไม่ได้ ตรงนั้นนำเสนอเป็นนโยบายไม่ได้ มันจะทำให้พื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยมันแคบลงเรื่อยๆ ในที่สุดเขาก็อาจจะไปหาพื้นที่อื่นเพื่อไปพูดคุย ซึ่งมันอาจจะนำไปสู่ฉันทามติได้ยากกว่า กลายเป็นว่าคุณอยากคุยเรื่องนี้ คุณต้องไปคุยบนท้องถนนอย่างเดียว ซึ่งอันนี้ผมว่ามันจะเป็นการเพิ่มน้ำมันเข้าไปในกองไฟ”

“ประเด็นที่สามมองในมุมการรักษา ผมมองว่าแนวทางการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการปิดกั้นถึงข้อเสนอแนะของอีกฝ่าย แต่การพยายามเปิดรับ ดูว่ามีข้อเสนออะไรที่สามารถนำมาประกอบการพิจารณาแล้วก็ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ได้หรือไม่ เพื่อให้สามารถอยู่เคียงข้างประชาธิปไตยได้อย่างยั่งยืนขึ้น”

 

‘ไอติม พริษฐ์’ ทิ้งท้ายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมเพื่อโอบรับทุกความฝันและหลอมรวมทุกความต้องการให้ออกมาเป็นฉันทามติใหม่ให้กับสังคมที่เป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนโดยคนไม่กี่คน เพื่อจะสืบทอดอำนาจโดยคนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง น่าจะเป็นทางออกที่เป็นรูปธรรมที่สุดในการมาร่วมกันเดินไปด้วยกันข้างหน้า

ท้ายที่สุดแม้การเสนอแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ของกลุ่ม ‘Re-Solution’ จะไม่ประสบความสำเร็จ หลังสมาชิกวุฒิสภาส่วนมากรวมถึงพรรคร่วมรัฐบาล ลงมติไม่รับหลักการ ยิ่งทำให้ประชาชนเห็นธาตุแท้ของ ส.ว. และสมาชิกพรรคร่วมที่ครั้งหนึ่งเคยประกาศตอนหาเสียงว่าจะร่วมแก้รัฐธรรมนูญ แต่กลับร่วมลงชื่อไม่รับหลักการ

ยิ่งเป็นการตอกย้ำความชัดเจนในการทรยศหักหลังประชาชนให้เห็นอีกครั้งก็ว่าได้