เตรียมล็อกดาวน์ ‘นิวเดลี’ หลังเจอหมอกควันพิษถล่มหนัก/บทความต่างประเทศ

เครดิตภาพ AP

บทความต่างประเทศ

 

เตรียมล็อกดาวน์ ‘นิวเดลี’

หลังเจอหมอกควันพิษถล่มหนัก

 

ช่วงเวลานี้ กำลังเป็นช่วงเวลาที่กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย ต้องเผชิญกับหมอกพิษที่ปกคลุมเหนือน่านฟ้า ที่ทำให้ผู้คนต้องประสบกับปัญหาด้านสุขภาพ

เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ชนิดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้!!

โดยสำนักข่าวเอพีรายงานว่า สำนักงานสังเกตการณ์สิ่งแวดล้อมของอินเดีย หรือซาฟาร์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ดัชนีคุณภาพของอากาศในกรุงนิวเดลีช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตกลงไปอยู่ในระดับ “ย่ำแย่มาก”

และในหลายพื้นที่ที่ระดับมลพิษสูงกว่าค่าความปลอดภัยของโลกถึง 6 เท่า

ขณะที่ภาพถ่ายดาวเทียมขององค์การบริหารการบินและอวกาสแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นบริเวณตอนเหนือของอินเดีย ที่พบว่ามีหมอกควันปกคลุมอยู่อย่างหนาทึบ

หลายเมืองทางตอนเหนือของอินเดีย ประชาชนเริ่มมีปัญหากับระบบทางเดินหายใจ และกรุงนิวเดลีก็จะติดอันดับต้นๆ ของเมืองที่มีปัญหาหมอกพิษทุกปี

ยิ่งเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว วิกฤตหมอกควันพิษก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อชาวบ้านเผาเศษพืชและตอซังที่เหลือบนพื้นผิวดิน บวกกับอากาศที่เย็นลง ทำให้หมอกควันเหล่านั้นถูกกักเอาไว้

ก่อนที่หมอกพิษเหล่านั้นจะเคลื่อนตัวไปยังกรุงนิวเดลี จนทำให้มลพิษในกรุงนิวเดลี เมืองที่มีประชากรอยู่กว่า 20 ล้านคน มีมลพิษเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จนทำให้เกิดวิกฤตด้านสาธารณสุข

จนรัฐบาลนิวเดลีต้องสั่งปิดโรงเรียนทั้งหมดเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และไซต์งานก่อสร้างทั้งหมดต้องหยุดเป็นเวลา 4 วัน ส่วนข้าราชการถูกสั่งให้ทำงานจากที่บ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณยานพาหนะบนท้องถนน

และทางการกรุงนิวเดลีกำลังพิจารณาที่จะล็อกดาวน์เมืองทั้งเมือง หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องมลพิษในอินเดีย ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเมืองหลวงเท่านั้น เพราะการปล่อยก๊าซมลพิษจากอุตสาหกรรมต่างๆ โดยไม่มีเทคโนโลยีควบคุมมลพิษและถ่านหิน ที่ช่วยในการผลิตไฟฟ้าเกือบทั้งหมดของประเทศ ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงกับคุณภาพอากาศที่เลวร้ายในพื้นที่เมืองอื่นๆ

ทั้งนี้ ความต้องการใช้พลังงานในประเทศอินเดียนั้น คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่าประเทศอื่นๆ ในช่วงอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ซึ่งความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น จะเกี่ยวโยงกับการใช้พลังงานถ่านหิน ที่ถือว่าเป็นแหล่งต้นตอหลักในการปล่อยก๊าซคาร์บอน ที่ทำให้อากาศเป็นพิษ

และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ประเทศอินเดียขอเปลี่ยนแปลงในนาทีสุดท้าย ในการทำข้อตกลงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากสของโลก หรือคอป 26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ที่ขอเปลี่ยนคำว่าการใช้พลังงานถ่านหิน “ลดการใช้” ไม่ใช่ “ยุติการใช้”

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างพากันออกมาวิพากษ์วิจารณ์ข้อตกลงดังกล่าว ที่ถูกปรับเปลี่ยนข้อความจนทำให้ดูอ่อนแอเกินไป

และเชื่อว่า จะทำให้สภาพอากาศในประเทศอินเดียเองย่ำแย่ลงไปอีก

 

นายสัมรัต เซนคุปตา ผู้อำนวยการว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและพลังงาน ของศูนย์กลางวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมอินเดีย บอกว่า การยุติการใช้ถ่านหิน เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เลยในทางเทคนิค และไม่มีอะไรที่จะทำให้เห็นภาพได้เลยว่า อินเดียจะสามารถปลอดจากถ่านหินได้ภายในปี 2050

ทั้งนี้ นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้ประกาศเอาไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ประเทศอินเดียมีเป้าหมายที่จะหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้ได้ภายในปี 2070 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ช้ากว่าสหรัฐ 20 ปี และช้ากว่าจีน 10 ปี

แม้ว่าจะรู้กันดีว่าการเผาไหม้ของถ่านหินจะก่อให้เกิดมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กทั่วโลก และปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ชาวอินเดียหลายล้านคนก็ยังต้องพึ่งพาถ่านหินในการดำรงชีวิต

“ประเทศของเรา นี่คือสิ่งที่มีความหมายสำหรับการดำรงชีวิต แต่หากต่างประเทศบอกว่าเราควรจะหยุดใช้ถ่านหิน แล้วเราจะกินอะไรกัน” นายฮารี แรม พ่อค้าถ่านหินกล่าว

เครดิตภาพ AP