รัฐสภาคว่ำตามคาด ร่าง รธน.ฉบับ ปชช. ยุทธศาสตร์ ‘ล้ม’ เพื่อเดินต่อ/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

รัฐสภาคว่ำตามคาด

ร่าง รธน.ฉบับ ปชช.

ยุทธศาสตร์ ‘ล้ม’ เพื่อเดินต่อ

 

ไม่เกินความคาดหมาย ตามที่กูรูทางการเมืองวิเคราะห์ ฟันธงล่วงหน้าไว้ตรงกันทุกสำนักว่า ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช… (ยกเลิกมาตรา 65 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 7 มาตรา 159 วรรคแรก เพิ่มมาตรา 193/1 มาตรา 193/2 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 11 หมวด 12 มาตรา 256 หมวด 16 ยกเลิกมาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 272 และมาตรา 279 ที่ “พริษฐ์ วัชรสินธุ” หรือ “ไอติม” ในฐานะแกนนำกลุ่มรี-โซลูชั่น กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 135,257 คน เป็นผู้เสนอ จะไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ในขั้นรับหลักการ หรือวาระแรก ด้วยมติ 473 ต่อ 206 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง

เนื่องจากมีเสียงของ ส.ว.สนับสนุนไม่ถึง 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด

หลังจากที่ประชุมรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว. รวมทั้งผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่าง “พริษฐ์ วัชรสินธุ” และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” ในฐานะผู้ชี้แจงหลักการและเหตุผลร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะถกเถียงโชว์จุดยืนทางการเมืองและหลักการตามหลักประชาธิปไตยกันอย่างดุเดือด ตลอด 16 ชั่วโมง

 

หัวใจสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ต้องขีดเส้นใต้ ใส่ตัวหนา ต้องถือว่า เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยึดหลักการประชาธิปไตย ในแนวทางก้าวหน้า ท้าทายกลุ่มอำนาจเก่า

โดยสาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มี 4 ประเด็น คือ

1. ยกเลิกวุฒิสภา ใช้ระบบสภาเดียว

2. ปฏิรูปที่มา อำนาจหน้าที่ การตรวจสอบถ่วงดุลของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ

3. ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

และ 4. ล้มล้างผลพวงรัฐประหารและมีมาตรการป้องกันให้มีการรัฐประหารที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

หากดูจากเนื้อหาสาระการยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นการยกเลิก ส.ว. ให้เหลือเพียงสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ส.ส.เพียงอย่างเดียว เข้ามาควบคุมและตรวจสอบดุลอำนาจทางการเมือง

ถ้ามองด้วยความเป็นจริง ไม่โลกสวย ย่อมไม่เกินคาดที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนจะไม่ผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 1 เนื่องจากการจะต้องผ่านด่านหิน ได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง

ยิ่งเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอให้ยกเลิก ส.ว. แล้วจะต้องอาศัยเสียง ส.ว.มาสนับสนุนให้ยกเลิกอำนาจและหน้าที่ของตัวเอง ย่อมไม่ต่างอะไรกับใช้มือตัวเองมาตัดหัวตัวเอง

มองอย่างคอมมอนเซนส์ ย่อมต้องจอดป้ายตั้งแต่ด่านแรก คือ การยกเลิก ส.ว.แล้ว

 

สะท้อนผ่านท่าทีและนัยยะของกลุ่ม ส.ว. ที่อภิปราย ทั้ง “วันชัย สอนศิริ” ที่ระบุว่า รัฐธรรมนูญที่ผู้ร่างเสนอมา 1.รวมศูนย์อำนาจของประเทศไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร โอนอำนาจของรัฐสภาไว้ที่ ส.ส.ทั้งหมด ย่อๆ คือให้ ส.ส.เป็นใหญ่ในแผ่นดิน และ 2.ลดทอนความอิสระของศาล มีบทบัญญัติข้อห้ามต่างๆ ทั้งการรณรงค์ขอชื่อจากประชาชนพุ่งเป้าไปที่ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ การเสนอร่างดังกล่าวนั้นมาจาก 4 ก. คือ 1.เกลียด คือ เกลียด ส.ว. 2.โกรธ คือ โกรธศาลรัฐธรรนูญที่ตัดสินคดีพรรคพวกตัวเอง 3.กลัว คือ กลัวยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ และ 4.เกิน โดยการเสนอร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเกินจากความเป็นจริง พยายามล้างทุกอย่าง โดยใช้คำว่าล้างมรดกที่สืบทอดกันมา

“ผมเห็นว่าควรแก้แบบไร้อคติ เอาบริบททางการเมืองเป็นตัวตั้ง ท่านอาจบอกว่าเป็นวัคซีนชุด 1-2-3 แต่ไม่ใช่เสนอในสถานการณ์ที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยโลภะ โมหะ โทสะ ผมจึงไม่อาจจะรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้” นายวันชัยระบุ

เช่นเดียวกับ “คำนูณ สิทธิสมาน” ที่ระบุว่า ขอให้สมญาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ฉบับปฏิวัติ โดย 1.รวมศูนย์ คือ รวมศูนย์อำนาจของประเทศไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร 2.บั่นทอน คือ บั่นทอนการพิจารณาพิพากษาโดยศาล และบั่นทอนการถ่วงดุลอำนาจในศาลและองค์กรอิสระ และ 3.ควบคุม คือ ควบคุมงบประมาณ ทั้งการตั้งงบฯ และการใช้จ่ายงบฯ ควบคุมคน กำหนดโครงสร้างองค์กรศาล และองค์กรอิสระ ควบคุมการพิพากษา และควบคุมการถอดถอน

การแก้ปัญหาด้านเดียวจะนำไปสู่อะไร การมุ่งแก้ปัญหาการรัฐประหาร และผลพวงการรัฐประหาร แต่ละเลยที่จะพูดถึงปัญหาทางการเมืองก่อนหน้านั้น สิ่งที่จะได้มาแทนที่คือระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หรือระบอบเผด็จการโดยสภาผู้แทนราษฎรกันแน่

นอกจากนี้ ทางฝั่งของ ส.ว.ส่วนใหญ่ยังมองเกมการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนครั้งนี้ไว้ด้วยว่า การเสนอร่างเช่นนี้เข้ามาที่รัฐสภา ผู้เสนอก็รู้คำตอบอยู่แล้วว่าจะไม่ผ่านด่านของ ส.ว.

นอกจากจะเป็นการโยนบาปให้กับ ส.ว.ที่คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า ยังซ่อนไปด้วยกลยุทธ์ดึงจุดยืน เปิดหน้านักเลือกตั้ง อย่าง ส.ส.ของแต่ละพรรคว่าจะมีท่าทีต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างไร กลางเวทีรัฐสภา

 

แน่นอนเกมการเมืองผ่านการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่แม้จะไม่สำเร็จในครั้งนี้ แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ดูจะเป็นฝ่ายช่วงชิงจังหวะความได้เปรียบทางการเมืองไว้ได้ก่อนใคร

ภายหลังที่มีมติจากพรรคร่วมฝ่ายค้านว่าจะโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในวาระแรก เพราะพรรคร่วมฝ่ายค้านย่อมอ่านเกมการเมืองครั้งนี้ออกว่า

อย่างไรเสีย ส.ว.และพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนย่อมไม่โหวตให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านในวาระแรกอยู่แล้ว

การชิงความได้เปรียบโชว์จุดยืนให้พี่น้องประชาชนเห็นว่าสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ยึดหลักการประชาธิปไตย ผ่านเวทีรัฐสภา

เปิดหน้าให้ชัดๆ ว่า ใครอยู่ฝั่งไหน ให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งครั้งหน้า ในสัดส่วนตัวเลขกลมๆ ที่ 10 ล้านเสียง ได้หย่อนบัตรเลือกตั้ง มีคำตอบชัดเจนมากขึ้นว่าจะให้ใครเข้ามาทำหน้าที่ ส.ส.

แน่นอนการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้าสภาอีกครั้ง เป็นรอบที่ 2 แม้จะรู้คำตอบล่วงหน้าว่าจะถูก “ล้ม” โดยรัฐสภา

โดยเฉพาะ ส.ว. ที่เปรียบเสมือนกล่องดวงใจของระบอบประยุทธ์ ย่อมไม่ยอมให้ “กติกาที่ดีไซน์” มาเพื่อพวกเรา อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกรื้อได้โดยง่าย

ในฝ่ายของผู้เสนอร่างอย่างภาคประชาชนย่อมรู้ถึงเงื่อนไขนี้เป็นอย่างดี

แต่การ “ล้ม” ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนในครั้งนี้

เป็น “การล้ม” เพื่อเดินต่อในทางยุทธศาสตร์ เพราะการได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้พี่น้องประชาชนได้เห็นจุดยืนทางการเมืองของนักเลือกตั้ง ผ่านการอภิปรายในเวทีรัฐสภาแล้ว

ยังเป็นการเปิดสมรภูมิและปักธงทางความคิด ให้ภาคประชาชนได้เรียนรู้กันต่อว่า จะต้องรวมพลังกัน ออกแบบกติกาของประเทศ อย่าง “รัฐธรรมนูญ” ให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้อย่างไร