2 ลัทธิการเมืองไทย/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

2 ลัทธิการเมืองไทย

 

นานมาแล้วที่นักคิดไทยพยายามให้กำเนิด “การเมืองใหม่” โดยที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ซึ่งไม่รู้ว่าจะแปลความว่าอย่างไร

ราวสองร้อยปีก่อนหน้า ไทยไม่เคยมีสถาบันการศึกษาที่เรียกว่าโรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยอย่างในยุโรปที่มีมาหลายร้อยปี ประวัติศาสตร์ด้านแนวคิดทางการเมือง เศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไร

สถานที่เล่าเรียนสำหรับบุตรธิดาขุนนางก็เพิ่งจะมีในภายหลัง ต่อจากนั้นพื้นที่ของวัดก็ถูกเจียดมาทำโรงเรียนให้ “ลูกชาวบ้าน” ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา ทำให้ตั้งแต่สมัยโบราณมาไม่มีนักคิดนักทฤษฎีนักปรัชญานักวิทยาศาสตร์มีปรากฏ หรือว่า “มี” แต่บทบาทชนชั้นต่ำต้อยไม่มีบันทึก

จะว่าไปแล้ว คุณูปการอันใหญ่หลวงของ “คณะราษฎร” เมื่อ พ.ศ.2475 ก็คือการเปลี่ยนแปลงในระดับ “อุดมการณ์”

1 แนวคิดที่บรรจุอยู่ในหลัก 6 ประการคือ “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”

คณะราษฎรกำลังบอกว่าในโลกยุคใหม่ “การศึกษา” คือปัจจัยนำพาไปสู่ความมั่งคั่งและมั่นคง ไม่ใช่ “ปืน”

 

การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปหรือเสื่อมสลาย ล้วนมีเหตุปัจจัย

ในปี พ.ศ.2475 ซึ่งตรงกับ ค.ศ.1932 เศรษฐกิจไทยเข้าขั้นโคม่า รัฐอุ้มแต่คนรวยกับขุนนางผู้ใหญ่ ข้าวยากหมากแพง เงินทุนสำรองเกลี้ยงคลังต้องปลดข้าราชการ ประกอบกับกระแสหลักทั่วโลกที่ไหนๆ ก็ต้องมี “รัฐธรรมนูญ”เ ป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ใช่ “องค์รัฏฐาธิปัตย์” ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

การเปลี่ยนแปลง 2475 ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติว่า อำนาจสูงสุดของประเทศ “เป็นของ” ราษฎรทั้งหลาย และอำนาจอธิปไตยย่อม “มาจาก” ปวงชนชาวสยาม

“เป็นของ” กับ “มาจาก” กระจ่างชัดปราศจากข้อสงสัย!

 

แต่เพียง 15 ปีถัดมา “รัฐประหาร 2490” ภายใต้การนำของ “ผิน ชุณหะวัณ” กับ “ป.พิบูลสงคราม” ทำลายลัทธิรัฐธรรมนูญลงสิ้น

“ปรีดี พนมยงค์” ผู้นำคณะราษฎรถูกสาดโคลนทำลายว่าแนวคิดจาก “เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” หรือสมุดปกเหลืองเป็นคอมมิวนิสต์

สถานการณ์บีบคั้นจนเกิด “กบฏวังหลวง” ขึ้นในปี 2492 และ “กบฏสันติภาพ” ในปี 2495 ที่สุด “ปรีดี พนมยงค์” ก็ต้องลี้ภัยทางการเมืองชั่วนิรันดร์จนถึงแก่อสัญกรรม ณ บ้านพักชานกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ชายชาติทหารที่เคยร่วมคบคิดก่อการกันมาตั้งแต่กรุงปารีสจนถึง ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ในเวลาย่ำรุ่งวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475 เพื่อสถาปนา “ลัทธิรัฐธรรมนูญ” เป็นกติกาสูงสุดแทน “องค์รัฏฐาธิปัตย์” กำลังฝัง “ลัทธิทหาร” ลงไปในกองทัพ

ขวาและซ้ายของ “ป.พิบูลสงคราม” คือ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ เผ่า ศรียานนท์ ผู้ไม่เคยมีความศรัทธาใน “รัฐธรรมนูญ” และ “ประชาชน” ต่างก็เร่งรัดพัฒนากองกำลังของตนพร้อมกับจัดซื้อจัดหาอาวุธ

“ปวงชนชาวไทย” อยู่ในสถานะคล้ายผู้อาศัยที่ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม “กฎ” เจ้าของบ้าน

ที่ “ปรีดี พนมยงค์” เคยปาฐกถาว่า “ระบอบรัฐธรรมนูญยิ่งมั่นคง ประชาชนจะยิ่งมั่งคั่งสมบูรณ์” ถูกแทนด้วยคำขวัญจาก “จอมพล ป.พิบูลสงคราม”

“เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย”!

 

ตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา ผู้ที่ทำรัฐประหารชนะ จะได้เป็น “รัฏฐาธิปัตย์”

มีบางช่วงบางปีเท่านั้นที่ “ลัทธิทหาร” ปล่อยให้พลเรือนได้ระบายความอัดอั้น แต่ในทุกครั้ง “ผู้นำรัฐประหาร” จะต้องเป็นฝ่ายจัดหาคนมาเขียน “กติกา” ที่เรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญ” ให้

การเมืองไทยจึงไม่เหมือนบ้านอื่นเมืองอื่นที่ฝ่ายนิยมรัฐธรรมนูญจะใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างแท้จริง นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ต่างมีอิสระ และถ่วงดุลแก่กัน

แต่ถึงแม้ฝ่ายไม่นิยมรัฐธรรมนูญในเมืองไทย จะไม่ได้มีแนวคิดทฤษฎี หรือปรัชญาอะไรนำทาง ฝ่ายนี้ก็สามารถโฆษณาให้ผู้คนเชื่อว่า การเมืองพลเรือนเป็นคนชั้นต่ำ ก่อความปั่นป่วนวุ่นวาย ชอบทำหินแตก แยกแผ่นดิน มักมากอยากได้ ทุจริตฉ้อฉล ต้องใช้ปืนเข้าบังคับขู่เข็ญเอามาเป็นลูกสมุน

จอมพล ป. คือ “ตัวแบบ”

“ป.พิบูลสงคราม” ร่วมมือกับกลุ่มราชครูของ “ผิน-เผ่า” จัดตั้งพรรคการเมืองชื่อ “เสรีมนังคศิลา” พอชนะเลือกตั้งเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ก็รวบรวมเอา ส.ส.อิสระจากพรรคเล็กพรรคน้อยมาเป็น “เสียงข้างมาก” ได้จัดตั้งรัฐบาล ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ทันทีทันใดนั้นก็มีคนออกมา “จุดไฟ” ว่าเลือกตั้งสกปรก!

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้โอกาสนั้นโค่น “จอมพล ป.” เจ้านายที่เคารพรักจนต้องลี้ภัยหัวซุกหัวซุน พร้อมกับเนรเทศ “เผ่า ศรียานนท์”

แล้ว “สฤษดิ์” ก็จัดเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 15 ธันวาคม 2500 ครั้งนั้น “ส.ส.” พรรคเสรีมนังคศิลา จากที่เคยมี 86 ที่นั่ง หดเหลือ 4 ที่นั่ง

หลังเลือกตั้งแค่ไม่กี่วัน “สฤษดิ์” ทำได้

ภายใต้ “กติกาลัทธิทหาร” จอมพลสฤษดิ์จัดตั้ง “พรรคชาติสังคม” ขึ้นมาแล้วดูด ส.ส.พรรคอื่นๆ รวมถึงพรรคเล็กพรรคน้อย รวมกันได้ 80 คน + ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง 160 คน

พรรคชาติสังคมของ “สฤษดิ์” ก็เป็นพรรครัฐบาลตามกติกา

 

“สฤษดิ์” กับ “ถนอม กิตติขจร” เทียบแล้วก็คล้าย “ป้อม” กับ “ตู่”

“สฤษดิ์” คุมพรรค ให้ “ถนอม” นั่งเก้าอี้นายกฯ แต่อยู่แค่ปีเดียว “ถนอม” ก็ลาออกเปิดทางให้พี่สฤษดิ์ปฏิวัติอีกในวันที่ 20 ตุลาคม 2501

อ้างเหมือนกับที่ “รัฐประหาร” ทุกๆ ครั้งทำกันในอีกกว่าครึ่งศตวรรษต่อมาคือ นักการเมืองโกงกิน ก่อความวุ่นวาย เป็นภัยความมั่นคง ต้องเขียน “รัฐธรรมนูญ” ใหม่

จนกระทั่ง “สฤษดิ์” ตายในปี 2506 ประเทศยังไม่ได้รัฐธรรมนูญ

ในทันทีจอมพลถนอม ประกาศยึดทรัพย์ลูกพี่ที่รักและเคารพ

ปรากฏว่า ในสมัยที่ค่าแรงวันละ 8-10 บาทนั้น “จอมพลสฤษดิ์” มีเงินสดมากมายมหาศาลถึงกว่า 2,874 ล้านบาท

ถึงยุค “ถนอม” ก็ร่างรัฐธรรมนูญกันต่อไปรวมแล้วใช้เวลา 10 ปีได้ “รัฐธรรมนูญถนอม” ในวันที่ 20 มิถุนายน 2511 ค้ำยัน “ระบอบรัฐประหาร” ต่อ

ไม่มีรัฐธรรมนูญเสรีประชาธิปไตยแท้ในการเมืองไทย

ถึงจะโผล่มาให้เห็นบ้าง เช่น รัฐธรรมนูญ 2489, รัฐธรรมนูญ 2517 และรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ก็อายุสั้น

กระนั้นก็เถอะ บทเรียนได้สอนว่านานาอารยประเทศรังเกียจเดียดฉันท์และไม่ยอมรับผู้นำทางการเมืองที่มาจากรัฐประหาร ถึงจะอวดอ้างว่ามาเพื่อสร้างรัฐบาลที่ดี ขอเวลาไม่นาน แต่นักรัฐประหารก็จำเป็นจะต้องชุบย้อมตัวด้วยการยอมรับการมีอยู่ของ “รัฐธรรมนูญ” และ “การเลือกตั้ง”

เช่นเดียวกับรัฐประหารครั้งล่าสุดที่ให้กำเนิด “รัฐธรรมนูญ 2560” ซึ่งมีนักการเมืองให้ฉายาด้วยความปลาบปลื้มว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”!?!!