โควิด-19 ระบาดครั้งใหม่ในยุโรป/บทความต่างประเทศ

FILE - A member of the medical staff walks in a crowded COVID-19 isolation room at the University Emergency Hospital in Bucharest, Romania, Friday, Oct. 22, 2021. In much of Eastern Europe, coronavirus deaths are high and vaccination rates are low, but politicians have hesitated to impose the measures curb the virus that experts are calling for. A World Health Organization official declared earlier this month that Europe is again the epicenter of the coronavirus pandemic. (AP Photo/Vadim Ghirda, File)

บทความต่างประเทศ

 

โควิด-19

ระบาดครั้งใหม่ในยุโรป

 

ในช่วงเดือนที่ผ่านมาเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในภูมิภาคยุโรปอีกครั้ง ที่นับได้ว่าเป็นสัญญาณเตือนสำหรับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในหลายๆ ประเทศที่เริ่มปลดล็อกดาวน์ และกลับมาใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง

ในช่วงเดือนที่ผ่านมายอดผู้ติดเชื้อรายวันในทวีปยุโรปพุ่งสูงขึ้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และได้รับการคาดหมายว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ฤดูหนาวกำลังใกล้เข้ามาทุกที

สถานการณ์ล่าสุดนั้นเป็นไปตามที่นายแพทย์ฮานส์ คลูจ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป ประกาศเตือนเอาไว้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ภูมิภาคยุโรปจะกลับมาเป็น “ศูนย์กลางการแพร่ระบาด” อีกครั้งหนึ่ง

และล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกประกาศว่า มีผู้ติดเชื้อในยุโรปมากถึงเกือบ 2 ล้านคนในสัปดาห์เดียว นับเป็นยอดผู้ติดเชื้อในรอบสัปดาห์ที่มากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นเลยทีเดียว

 

ไล่เรียงตั้งแต่ “เยอรมนี” ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันพุ่งสูงขึ้นหลักหลายหมื่นคน และทำสถิติผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดทะลุ 50,000 รายไปเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ด้าน “เนเธอร์แลนด์” มีรายงานยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งทะลุถึง 19,000 รายต่อวันแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ทำสถิติผู้ติดเชื้อรายวันสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาอีกครั้ง และนั่นเกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์บางส่วนไปเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน โดยมาตรการล็อกดาวน์จะมีต่อเนื่องไปเป็นเวลา 3 สัปดาห์

ในส่วนของ “เบลเยียม” เริ่มมีการระบาดระลอกใหม่อีกครั้งโดยยอดติดเชื้อรายใหม่พุ่งขึ้นสูงถึง 14,000 รายเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้จะไม่ระบาดเท่ากับปีก่อนหน้านี้แต่ก็ส่งผลให้เบลเยียมต้องประกาศมาตรการควบคุมโรคเข้มงวดมากขึ้น เช่น การสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ การกำหนดให้ผู้ที่ต้องการเข้าใช้บริการร้านอาหาร บาร์ ฟิตเนส ต้องแสดง “โควิด-19 พาส” เอกสารยืนยันว่าฉีดวัคซีนครบโดส มีการตรวจโควิดได้ผลเป็นลบ หรือเพิ่งหายจากการติดเชื้อโควิด ก่อนเข้าใช้บริการ

ล่าสุด “ออสเตรีย” ออกมาตรการเข้มงวดยิ่งขึ้นด้วยการสั่ง “ล็อกดาวน์” ผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อลดอัตราการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลง โดยมาตรการดังกล่าวจะเป็นการล็อกดาวน์ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนไม่ให้ออกจากบ้าน เว้นแต่จะออกจากบ้านเพื่อทำกิจกรรมพื้นฐาน เช่น ทำงาน ซื้ออาหาร เดินออกกำลัง หรือไปฉีดวัคซีนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ยอดผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง แต่ยอดผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตในประเทศข้างต้นนี้ยังคงอยู่ในระดับคงที่ ไม่ได้เพิ่มสูงตามยอดผู้ติดเชื้อ ซึ่งนับได้ว่าเป็นผลจากสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศนั้นอยู่ในระดับที่สูงแล้ว

 

นั่นคือสถานการณ์ในกลุ่มประเทศ “ยุโรปตะวันตก”

แต่สำหรับประเทศใน “ยุโรปตะวันออก” นั้นแตกต่างออกไปจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็น “หายนะ” ก็ว่าได้

ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมายอดผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศอย่าง “โรมาเนีย” “บัลแกเรีย” รวมถึง “ลัตเวีย” นั้นพุ่งสูงขึ้นทำสถิติใหม่ เช่นเดียวกับยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

สถานการณ์ดังกล่าวผู้เชี่ยวชาญมองว่ามีมาจาก 2 สาเหตุ

หนึ่งคือจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในกลุ่มประเทศนี้ยังคงน้อย โดยข้อมูลล่าสุดพบว่ามีชาว “บัลแกเรีย” ไม่ถึง 23 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส ขณะที่มีเพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ฉีดวัคซีนไปแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม

ขณะที่ในประเทศ “โรมาเนีย” มีประชากรอายุมากกว่า 18 ปีเพียง 34 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนครบโดส และมีเพียง 38 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 เข็ม

ถามว่าเพราะอะไรประเทศยุโรปตะวันออกถึงฉีดวัคซีนได้น้อย จะเป็นเพราะวัคซีนเข้ามาไม่เพียงพอต่อความต้องการอย่างที่เกิดกับประเทศไทยหรือไม่

คำตอบก็คือไม่ เพราะสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศนั้นจะได้รับการจัดสรรวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน

สาเหตุที่แท้จริงนั้นนำไปสู่เหตุผลที่สองคือ รัฐบาลของประเทศเหล่านี้ไม่สามารถ “โน้มน้าว” ให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ เพราะประชาชน “ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อระบบสาธารณสุข”

ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจัดทำโดยคณะกรรมาธิการยุโรป หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ยูโรบาโรมิเตอร์” พบว่า มีประชาชนชาวยุโรปตะวันออกมากถึง 1 ใน 3 ที่ไม่เชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของประเทศ

นอกจากนี้ สองประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำที่สุดในบรรดาประเทศในทวีปยุโรปอย่างโรมาเนียและบัลแกเรีย มีจำนวนประชากรที่รู้สึกว่าไม่อยากที่จะฉีดวัคซีนโควิด-19 มากที่สุดในยุโรปด้วย

 

สถานการณ์ใน “ยุโรปตะวันตก” และ “ยุโรปตะวันออก” บ่งชี้ชัดเจนให้เห็นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศ

ยิ่งมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนมากเท่าไหร่ หมายความถึง ผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล รวมถึงจำนวนผู้เสียชีวิตจะลดต่ำลง ลดภาระของระบบสาธารณสุขของประเทศได้

แน่นอนว่ามาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดที่ครอบคลุมไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ก็ยังคงเป็นมาตรการที่ได้ผลที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อของคนทั่วไปได้ และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะเกิดขึ้นแน่ๆ

โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง