บีอาร์ไอ ในอุษาคเนย์ : สถานะปัจจุบัน (1)/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

บีอาร์ไอ ในอุษาคเนย์

: สถานะปัจจุบัน (1)

 

เป็นเวลา 8 ปีแล้วที่บีอาร์ไอ หรือข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีนดำเนินมาด้วยความอลังการ ด้วยชาติสมาชิกตามข้อมูลทางการจีน 170 ประเทศได้ลงนามกับข้อริเริ่มนี้

บางการลงนามเป็นบันทึกความเข้าใจ-MOU

บางการลงนามเป็นข้อตกลง-Agreement

แต่บางการลงนามยังสงสัยผลผูกพันทางกฎหมายหรือไม่อยู่ มีการวิเคราะห์ว่า ข้อริเริ่มนี้ไม่ใช่แค่ข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement-FTA) กับจีน แต่เป็นมากกว่านั้นมาก

กล่าวคือ เป็นมหายุทธศาสตร์( Grand Strategy) ของจีน แต่ก็แยกกันไม่ออกว่า ถนน ท่าเรือ เส้นทางรถไฟ เขตนิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ หรือการค้า การลงทุนก่อนที่จีนริเริ่มก่อน 2013 เอาไปรวมกับบีอาร์ไอได้หรือไม่

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ อะไรบ้างที่ประเทศนั้นสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน แต่ไม่ใช่บีอาร์ไอ

ผมว่า การทบทวนสถานะปัจจุบัน อาจช่วยให้เห็นความเป็นจริงที่กำลังดำเนินอยู่ โดยพื้นที่ที่น่าตรวจสอบน่าจะเป็นอุษาคเนย์ หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาณาบริเวณบ้านเรานี่เอง

บีอาร์ไอในภาคพื้นสมุทร (Maritime) อุษาคเนย์

 

ฟิลิปปินส์

ด้วยว่าไม่กี่เดือนหลังจากประธานาธิบดี โรดิโก ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) เยือนจีนอย่างเป็นทางการในปี 2016 และเขาได้ประกาศว่าเขาต้องการผูกสัมพันธ์กับจีน ด้วยความสัมพันธ์จีนไม่ยุ่งเหยิงกับเรื่องที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ก่อนหน้านั้นต่อต้านจีนในอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศถึงการอ้างสิทธิทางกฎหมายในทะเลจีนใต้

ประธานาธิบดีดูแตร์เตบอกแก่จีนว่า เขาจะระงับคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเอาไว้ก่อนที่จะตัดสินเข้าข้างฟิลิปปินส์เกินเลยไป1

ประธานาธิบดีดูแตร์เตกลับประเทศหลังเยือนจีน พร้อมด้วยโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางรถไฟเชื่อมต่อท่าเรือและสถานีผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ

แต่ 4 ปีต่อมา บริษัทจีนไม่ได้ก่อสร้างอะไรเลย นอกจากสะพานเล็กๆ 2 แห่ง

บริษัทจีนร่างแผนงานและทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการบางโครงการ แต่การก่อสร้างเกิดขึ้นน้อยมาก ในบางกรณี บริษัทจีนถอนตัวออกจากโครงการ โครงการอื่นบางอัน เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ระงับเมื่อทบทวนผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

บริษัทจีนบางแห่งพบความยากลำบากในการแสวงหาเงินทุนสำหรับโครงการของพวกเขา

 

อินโดนีเซีย

ประเทศใหญ่ที่สุดในอุษาคเนย์ โครงการที่เชิดหน้าชูตาคือ การก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากจาการ์ตา-บันดุง ระยะทาง 90 ไมล์ หลังจากปี 2015 กลุ่มบริษัทจีนชนะการประมูลแข่งขันกับบริษัทญี่ปุ่น โครงการจะต้องแล้วเสร็จสมบูรณ์ก่อนประธานาธิบดีจาโกวี วิโดโด Joko (Jokowi) Widodo ลงเลือกตั้งปี 2019

แต่งานก่อสร้างล่าช้ามาก ปัญหาหนึ่งคือ ความไม่พอใจของชาวนาที่ต้องขายที่ดินของพวกเขาซึ่งอยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟ มีการเก็งกำไรราคาที่ดินตามแนวเส้นทาง ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างโครงการพุ่งขึ้นไปที่ 6.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากราคาตั้งต้นที่ 5.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

โรคระบาดโควิด-19 เป็นเหตุให้ปี 2020 โครงการก่อสร้างหยุดชั่วคราว เจ้าหน้าที่ประเมินว่าโครงการจะไม่เสร็จสมบูรณ์ก่อนปี 2022

แต่เนื่องจากบทบาทมากมายของทางการจีนในอินโดนีเซียช่วงการบริหารของประธานาธิบดีจาโกวี กำลังเร่งให้เกิดการต่อต้าน การไหลท่วมท้นของแรงงานจีนเข้ามาอินโดนีเซีย 2 ปีที่ผ่านมา มีคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ออกมาเป็นภาพการต่อยตีกันระหว่างแรงงานท้องถิ่นกับแรงงานจีนในเขตนิคมอุตสาหกรรมบนเกาะสุลาเวสี (Sulawesi)

แรงงานอินโดนีเซียฟ้องร้องว่า คนจีนกีดกันพวกเขาซึ่งเป็นชาวมุสลิมสวดในวันศุกร์

กลางปี 2020 นักเรียนอินโดนีเซียที่เกาะสุลาเวสีประท้วงต่อต้านการทำงานของคนจีนทำเหมือง และเรียกร้องให้รัฐบาลจีนไล่พวกนี้ออกนอกประเทศอินโดนีเซีย2

 

มาเลเซีย ทุนนิยมพวกพ้อง

บีอาร์ไอมีแง่มุมการคอร์รัปชั่นเป็นอีกความท้าทายโครงการก่อสร้างจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังการเลือกตั้งปี 2018 ล้มนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก

นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ที่เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ระงับการก่อสร้างและเข้าทำการไต่สวนโครงการจีนโครงการต่างๆ โครงการใหญ่ที่สุด3 โครงการ East Coast Rail Link มูลค่า 16 พันล้านเหรียญสหรัฐของรัฐบาลนาจิบที่ได้รับเงินกู้จากธนาคารรัฐจีน ว่ามีการผ่องถ่ายหนี้ในคดีฉ้อโกงการลงทุนของรัฐ ในปีต่อมา นายกรัฐมนตรีมหาธีร์จัดการเจรจาใหม่ให้โครงการนี้กลับมาดำเนินการต่อ

ตามข้อมูลนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ เงินราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ บริษัทจีน China Communication Construction Company และบริษัทท้องถิ่นให้เงินอุดหนุนนาจิบราว 11 พันล้านเหรียญแก้ปัญหาโครงการก่อสร้างนี้4

การยกเลิกโครงการนี้ทำลายชื่อเสียงของทางการจีน มีการตกลงหั่นค่าก่อสร้างลง 1 ใน 3 และลดระยะทางเส้นทางรถไฟ5

รัฐบาลนายกรัฐมนตรีมหาธีร์ยังระงับโครงการของจีนที่สร้างท่อส่งน้ำมันและก๊าซ 3 แห่งมูลค่าเกิน 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และโครงการอื่นๆ อีก

บีอาร์ไอในอุษาคเนย์ภาคพื้น (Mainland)

 

สองนครากัมพูชา

ด้วยรักและผูกพันดูดดื่มระหว่างชนชั้นนำกัมพูชากับจีน บางโครงการบีอาร์ไอเผชิญหน้าการประท้วงอย่างหนักจากผู้คัดค้านท้องถิ่น

โครงการก่อสร้างเขื่อน Lower Sesan 2 เขื่อน อันเป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดของกัมพูชาที่จะเริ่มเปิดใช้ในอีก 2 ปีข้างหน้า พบกับการประท้วงมากว่าขวบปี

ด้วยการกล่าวหาขับไล่ชาวบ้านให้ย้ายออกจากพื้นที่โดยไม่มีการเจรจา การทำไม้ผิดกฎหมาย ขูดรีดแรงงาน เขื่อนใหญ่เป็นเหตุให้คุณภาพของน้ำบริเวณท้ายน้ำย่ำแย่ลง6

มีชาวบ้านเกือบ 80,000 คนเหนือเขื่อนสูญเสียโอกาสหาปลาเลี้ยงชีพ อันเป็นการหล่อเลี้ยงชีวิตของพวกเขา

 

เวียดนาม คู่รักคู่แค้น

ตามเอกสารพรรคคอมมิวนิสต์จีน เวียดนามกำลังหลีกเลี่ยงการผูกพันแน่นแฟ้นกับบีอาร์ไอ แม้ว่าประเทศของตนยังต้องการโครงสร้างพื้นฐาน บ่อยครั้ง เวียดนามเผชิญหน้าการรุกคืบของจีนในทะเลจีนใต้ ฮานอยต้องการเลี่ยงให้แต้มต่อแก่จีนหากมีความขัดแย้งในอนาคต

ปี 2011 เวียดนามตกลงอนุญาตจีนก่อสร้างรถไฟลอยฟ้าใจกลางเมืองฮานอยระยะทาง 7.5 ไมล์

แต่โครงการก่อสร้างล่าช้าจากกำหนดเวลา และงบประมาณบานปลาย

งบฯ เริ่มต้นที่ 552 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจีนให้เงินกู้ 420 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2017 ต้นทุนทะยานไปที่ 890 ล้านเหรียญสหรัฐ และปี 2018 ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์

โครงการยังประสบกับอุบัติเหตุหลายอย่างซึ่งบริษัท China Sixth Group ยังไม่จัดการเรื่องความปลอดภัยของคนเวียดนาม

ปี 2014 มีแท่งเหล็กหล่นใส่มอเตอร์ไซค์ มีคนตายและบาดเจ็บ

ปี 2018 ผู้เขียนไปลงภาคสนามที่โฮจิมินห์ซิติ้และฮานอย เวียดนามได้ข้อมูลว่า บริษัทญี่ปุ่นเข้ามาก่อสร้างแทนบริษัทจีน ซึ่งทางการเวียดนามสั่งระงับการก่อสร้างไป ปัจจุบันรถไฟลอยฟ้าเปิดดำเนินการแล้ว

(ยังมีต่อ)

1Chun Han Wong, “In Setback to U.S., Philippines Set Aside Dispute With China,” Wall Street Journal 20 October 2016.

2Amy Chew, “Protesting Indonesia students write to Chinese ambassador threatening to deport workers,” South China Morning Post, 6 August 2020.

3″Malaysia’s Mahathir cancels China-back-backed rail, pipeline projects,” Reuter, 21 August 2018.

4Eileen Ng, “Malaysia says revised China deal shows cost were inflated,” AP, 18 April 2019.

5Tom Mitchell and Alice Woodhouse, “Malaysia renegotiated China-backed rail project to avoid $5bn fee” Financial Times, 10 April 2019.

6″Cambodia Villagers Threaten Renewed Protests Against Dam Developer,” Radio Free Asia, 2 April 2015.