รำลึกถึง ‘โกร่ง’ ผู้ยืนหยัด แม้ในกระแสการเมืองเชี่ยวกราก (2)/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

รำลึกถึง ‘โกร่ง’ ผู้ยืนหยัด

แม้ในกระแสการเมืองเชี่ยวกราก (2)

 

เขาไม่เพียงแต่เป็นนักเศรษฐศาสตร์มือฉมังเท่านั้น แต่ ดร.วีรพงษ์ “โกร่ง” รามางกูร ยังเป็นนักเศรษฐศาสตร์, นักรัฐศาสตร์, นักประวัติศาสตร์และนักโหราศาสตร์พร้อมๆ กันไปด้วย

ความเป็นนักรัฐศาสตร์คือการเข้าใจความสัมพันธ์ของมนุษย์ และกลไกของรัฐกับระบบราชการในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ เขาจะต้องนำเอาเหตุและผล สถิติและความเชื่อมโยงมานำเสนอเพื่อน้าวโน้มให้ผู้วางนโยบายเชื่อตาม

ส่วนความเป็นนักประวัติศาสตร์นั้นหมายถึงการที่สามารถนำบทเรียนจากอดีตมาใช้แก้ปัญหาปัจจุบันเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในอนาคต

ความเป็นผู้สนใจด้านโหราศาสตร์ของโกร่งนั้นคือการใช้สถิติและความน่าจะเป็นมาผสมกับประสบการณ์ด้านอื่นๆ เพื่อพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นที่สอดคล้องกับการคำนวณของปัจจัยที่เชื่อมโยงทั้งหลาย

ผมได้รับรู้ถึงความจัดเจนของโกร่งในการนำเอาความรู้ความสามารถในสาขาวิชาต่างๆ นี้มาใช้ในการผลักดันนโยบายระดับชาติในหลายโอกาส

เช่นกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ในสมัยรัฐบาลป๋าเปรมยืนยันจะเดินหน้าใช้นโยบายให้รัฐบาลเก็บ “พรีเมียมข้าว” (ค่าต๋ง) จากพ่อค้าส่งออก

ซึ่งมีผลทำให้พ่อค้าข้าวกดราคารับซื้อข้าวจากชาวนาต่ำลงไปเพื่อรักษาส่วนกำไรของตนไว้

นักวิชาการด้านข้าวหลายคนต่อต้านแนวทางนี้มาตลอด เพราะเป็นกลไกที่เอาเปรียบเกษตรกรที่ไม่มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลและพ่อค้าคนกลางแต่อย่างไร

เมื่อโกร่งมาเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของป๋าเปรมก็ได้รับรู้ถึงการที่นักการเมืองที่เป็นเจ้ากระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าเสนอเรื่องนี้ต่อนายกรัฐมนตรี

ป๋าเปรมได้รับทราบถึงเสียงคัดค้านของนักวิชาการบางคน แต่นักการเมืองก็มีเหตุผลด้านของตนเพื่อผลักดันให้ผ่านคณะรัฐมนตรี

ป๋าเปรมเรียกโกร่งไปสอบถามว่าทำไมนักวิชาการบางคนจึงออกมาค้านเรื่องนี้ ทำไมรัฐมนตรีจึงยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับรัฐบาล

โกร่งศึกษาเรื่องนี้มายาวนานพอสมควร บอกกับป๋าเปรมว่าพรีเมียมข้าวเป็นนโยบายล้าสมัย เอารัดเอาเปรียบชาวไร่ชาวนา สมควรจะยกเลิก

ป๋าเปรมบอกว่านั่นเป็นแค่ทฤษฎีของนักวิชาการ

ป๋าฟังนักการเมืองแล้วเขาก็มีเหตุผลว่ารัฐจะมีรายได้ และพ่อค้าข้าวก็ยืนยันว่าไม่ได้เอาเปรียบชาวนา

โกร่งบอกป๋าว่าจะไปหาข้อมูลนอกเหนือจากทฤษฎีมาให้ป๋า ขออย่าเพิ่งตัดสินเรื่องนี้ในคณะรัฐมนตรี

ว่าแล้วโกร่งก็เดินทางไป ณ จุดที่มีการซื้อขายข้าวที่ใหญ่ที่ของประเทศขณะนั้น

นั่นคือท่าข้าวกำนันทรง

ผมเจอโกร่งพอดีในช่วงนั้น เขาเล่าเรื่องให้ผมฟัง

ไม่กี่วันต่อมา เราตกลงไปแสวงหาข้อเท็จจริงที่ท่าข้าวกำนันทรงกัน

โกร่งบอกว่านักเศรษฐศาสตร์ที่ดีต้องชื่อตรงต่อความจริง และต้องเอาเหตุการณ์จริงมาประกอบหลักการทางทฤษฎีให้จงได้

ว่าแล้วเราก็ขึ้นไปพยุหะคีรี, นครสวรรค์กัน

(ท่าข้าวกำนันทรงของกำนันทรง องค์ชัยวัฒนะ เป็นตลาดกลางค้าข้าวเปลือกแห่งแรกของไทยที่มีบทบาทสำคัญในการสะท้อนกลไกตลาดและช่วยสร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว แต่หลังจากที่มีนโยบายแทรกแซงราคาข้าว ก็มีผลให้ตลาดกลางแห่งนี้รวมทั้งตลาดกลางอื่นๆ ต้องปิดตัวลงในปี 2549)

 

โกร่งพูดคุยสอบถามทุกรายละเอียดจากกำนันทรงและเกษตรกรรวมถึงเจ้าของโรงสีและพ่อค้าข้าวว่าด้วยกระบวนการต่อรอง, การวัดความชื้นของข้าวเปลือก, การตีราคาวันต่อวัน และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในกลไกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

เราเจอเครื่องชั่งที่เก่าแก่ อุปกรณ์ที่ล้าสมัย และระบบบัญชีที่ยังเป็นสมุดบันทึกตัวเลขยับๆ แบบชาวบ้าน

โกร่งถามถึงต้นทุนการผลิตของเกษตรกร, ราคาพันธุ์ข้าว, ปุ๋ย และผลผลิตต่อไร่ของชาวนารายเล็ก, รายกลางและรายใหญ่

โกร่งซักรายละเอียดจากตัวแทนโรงสี, พ่อค้าส่งออกและผู้คนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตั้งแต่ปลูกข้าว, เก็บเกี่ยว ไปถึงการทำงานของโรงสีและการขนส่งไปถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ…ตลอดถึงการส่งออกไปต่างประเทศ

กลับมาถึงกรุงเทพฯ โกร่งนั่งเขียนรายงานสิ่งที่พบเห็นอย่างละเอียดเพื่อรายงานป๋าเปรมว่าข้อมูล “ณ ที่เกิดเหตุ” ยืนยันว่านโยบายการเก็บพรีเมียมข้าวที่ทำกันมาหลายยุคหลายสมัยนั้นล้มเหลว ชาวไร่ชาวนาถูกเอาเปรียบมาตลอด

โกร่งนำเสนอว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องปกป้องดูแลชาวไร่ชาวนาที่ไม่มีอำนาจต่อรองเหมือนส่วนอื่นๆ ในกระบวนการผลิตและขายข้าว

นักการเมืองที่สนับสนุนและผลักดันนโยบายนี้ไม่ได้ลงลึกถึงปัญหาที่เกษตรกรต้องเผชิญทุกวันทุกฤดูเก็บเกี่ยว

จนกลายเป็นปัญหาหนี้สินท่วมตัว เพราะรัฐบาลไม่ใส่ใจกับความจริงในพื้นที่ ฟังแต่รายงานจากข้าราชการและนักการเมือง

 

ผมได้ข้อมูลเหมือนกับโกร่งแล้วก็โทร.ไปสัมภาษณ์นักการเมืองที่รับผิดชอบเรื่องนี้เพื่อให้ได้ความเห็นของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ว่าแล้วผมก็นำเสนอเป็นรายงานข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ The Nation เช้าวันอังคารต่อมา อันเป็นวันที่เรื่อง “พรีเมียมข้าว” ถูกวางอยู่ในวาระการประชุม

การประชุมวันนั้นเคร่งเครียด ฝ่ายการเมืองเตรียมมาสู้เต็มที่เพื่อให้ป๋าเปรมยอมเดินหน้าตามข้อเสนอของตน

โกร่งก็เตรียมเสนอข้อมูลและหลักฐานจากที่ได้มาจากการไปลงพื้นที่สัมผัสกับ “เศรษฐศาสตร์ภาคพื้นดิน” เพื่อแย้งข้อเสนอของฝ่ายการเมือง

โกร่งบอกผมว่าเขาเป็นเพียงที่ปรึกษา นายกรัฐมนตรีคงต้องฟังรัฐมนตรีเป็นหลักอยู่แล้ว

แต่เขาเห็นว่า ถ้าที่ปรึกษาไม่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาและนำเสนอความจริงที่ยืนยันจากข้อเท็จจริงแล้ว ก็เท่ากับไม่ทำตามหน้าที่ของตน

ป๋าเปรมฟังเหตุและผลของทุกฝ่ายอย่างตั้งใจ และในท้ายที่สุดก็เห็นคล้อยกับ “ข้อมูลจากพื้นที่” ที่ได้จากโกร่งซึ่งไม่มีผลประโยชน์ผูกพันกับฝ่ายใด

สิ่งที่โกร่งพูดและนำเสนอคือสิ่งที่นายกฯ ไม่เคยได้ยินจากปากคำของข้าราชการหรือนักการเมือง

ผลการประชุมวันนี้ ป๋าเปรมเห็นด้วยกับโกร่ง

และนั่นคือการปิดฉากนโยบายพรีเมียมข้าวที่เป็นรอยด่างของนโยบายข้าวประเทศไทยมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

 

ผมทราบต่อมาภายหลังว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนั้น พอเปิดการประชุม ป๋าเปรมมีสีหน้าเครียดตั้งแต่ต้น

“เราเห็นจะไม่ต้องประชุมเรื่องพรีเมียมข้าวแล้วกระมัง…เพราะเช้านี้หนังสือพิมพ์ The Nation เขารายงานหมดแล้วว่าท่านรัฐมนตรีจะพูดว่าอย่างไร ท่านที่ปรึกษาจะเสนอว่าอย่างไรแล้วนี่นา…”

ป๋าเปรมฉุนเพราะนึกว่าข่าวรั่ว

แต่ความจริงมันคือการทำหน้าที่ของนักข่าวที่นำเสนอแนวทางเรื่องนี้ของฝ่ายที่ยืนอยู่คนละข้างเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบเบื้องหน้าเบื้องหลังของประเด็นร้อนนี้อย่างเปิดเผยและโปร่งใส

แต่หลังจากแสดงความหงุดหงิดกับข่าวที่ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ก่อนการประชุมแล้ว ป๋าเปรมก็เปิดให้ทุกฝ่ายในที่ประชุมได้นำเสนอเหตุและผลของตน

นี่คือวิธีการบริหารแบบ “ฟังรอบด้าน” ของป๋าเปรมที่ทำให้ท่านมีความโดดเด่นในฐานะผู้นำ

และนี่คืออีกหนึ่งโอกาสที่โกร่งในฐานะที่ปรึกษาเศรษฐกิจของป๋าเปรมที่ได้ทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลและหลักฐานจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเพื่อนำไปสู่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับความจริง

โดยไม่ต้องส่งเสียงตะโกน, ไม่ต้องชี้นิ้วกล่าวหาใคร, ไม่ต้องสร้างดรามาการเมืองกับใคร

แต่เอาสาระแห่งวิชาการและความจริงล้วนๆ เป็นอาวุธเพื่อต่อสู้ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นสำหรับผู้ไร้เสียง, ไร้อำนาจต่อรอง

และนี่คือเหตุผลที่ผมบอกว่าการจากไปของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร คือการสูญเสียบุคลากรที่ทรงคุณค่าที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทยเลยทีเดียว