‘ล’ CRISIS/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

‘ล’ CRISIS

 

เมื่อพิจารณาทิศทางของบ้านเมืองในตอนนี้และในอนาคต

แฟนเพลงรุ่นใหญ่ของ อัสนี & วสันต์ อาจฮึมฮัมเพลงกุ้มใจ ออกมา

“…กุ้มใจ กุ้มใจ จริงจริง …ล.ลิงไปไหน”

ซึ่งก็น่ากุ้มใจจริงๆ เพราะ ล.ลิงที่หายไป ได้กลับกลายเป็นพยัญชนะที่สะท้อนปัญหาการเมืองไทย

แบบ “ล” CRISIS

คือ ถูกนำไปสู่การกล่าวหาบางกลุ่มบางพวก ว่า ล้มล้าง

ถูกกล่าวหาว่า โละ เลิก

ที่นำไปสู่ความร้อนฉ่าทางการเมืองอย่างน่า “กลุ้มใจ”

 

คําว่า “ล้มล้าง” แน่นอน ย่อมสืบเนื่องไปถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ชี้ว่า การกระทำของ 3 แกนนำคนรุ่นใหม่ และองค์กร-เครือข่าย มีพฤติกรรมล้มล้างการปกครองแบบประชาธิปไตยที่อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

กลายเป็นสารตั้งต้นที่ถูกนำไปขยายผลอย่างกว้างขวาง

โดยหากพิจารณาจากท่าทีนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้ร้องในคดีนี้ คงจะไม่หยุดเท่านี้

ด้วยเห็นว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องมีเจตนาเพื่อจะล้มล้างระบอบการปกครอง-ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็สมควรถูกลงโทษ

โดยเฉพาะคนที่อยู่เบื้องหลัง ที่เป็นผู้ชักนำ ต้องถอนรากถอนโคนคนพวกนี้

“คนพวกนี้ไม่ได้เรียกร้องเรื่องการปฏิรูป แต่ต้องการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องดำเนินการเอาผิดในเรื่องความผิดต่อความมั่นคง เช่น การเอาผิดมาตรา 112 มาตรา 116 มาตรา 215 ส่วนพรรคการเมือง หากพบชัดว่าเกี่ยวข้องก็ต้องเอาผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 45, มาตรา 92 ถึงขั้นยุบพรรค” นายณฐพรระบุ

และขู่ว่าหากไม่มีการดำเนินการใดๆ จะถูกเอาผิดฐานละเว้น ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาก็ได้

 

ซึ่งนั่นก็หมายความว่า การขยายผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คงจะดำเนินไปอย่างเข้มข้น

แน่นอน ย่อมไม่ใช่เฉพาะนายณฐพลเท่านั้น

หากแต่ฝ่ายที่มีจุดยืนตรงข้ามกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ และพรรคการเมืองที่ถูกมองว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า ย่อม “สามัคคี” เข้ามาร่วม “เช็กบิล” จากกรณีนี้อย่างเป็นขบวนการและต่อเนื่องแน่นอน

ขณะที่แกนนำม็อบคนรุ่นใหม่ รวมถึงแนวร่วม ก็ย่อมได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัย “ล้มล้าง” การปกครองอย่างมาก เพราะเคลื่อนไหวอะไรจะถูกโยงเข้าสู่การ “ล้มล้าง” ตลอดเวลา ทำให้ขยับอะไรลำบาก

และเมื่อขยับแล้วก็มีสิทธิที่จะถูกจับกุมและไม่ได้รับประกัน

อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับ “รุ้ง” นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ไม่ได้ประกันในคดี อันสืบเนื่องจากกิจกรรม “ใครๆ ก็ใส่ครอปท็อป ไปเดินสยามพารากอน” ที่เหตุเกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 แล้วอัยการสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ซึ่งก็ไม่ได้ประกันด้วยระบุว่าอาจจะก่อเหตุซ้ำขึ้นมาอีก

ทำให้การเคลื่อนไหวนอกสภา หรือการเมืองบนถนน มากด้วยความกดดัน ตึงเครียด

 

ยิ่งไปกว่านั้น “ล” CRISIS มิได้จำกัดวงไว้แค่นอกสภา

หากแต่เข้าไปในสภาด้วย

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งเสนอโดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น นายปิยบุตร แสงกนกกุล กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง จำนวน 1.35 แสนรายชื่อ ถูกนำเข้าสู่รัฐสภา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

โดยก่อนวันการพิจารณา นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ตั้งข้อสังเกตต่อเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อยู่ภายใต้ “ล” เช่นกัน

คือ “ล้ม โละ เลิก ล้าง”

โดยอ้างว่า นำมาจากเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เผยแพร่ของเครือข่ายผู้เสนอร่างฯ เอง

“ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง” ที่ว่าก็คือ

1. รวมศูนย์อํานาจของประเทศไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร โดยโอนอํานาจของรัฐสภามาไว้ที่สภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด กําหนดให้ตั้งคณะผู้ตรวจการ 3 ชุดขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร คือ กองทัพ, ศาล/ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ

2. ลดทอนความเป็นอิสระของศาล โดยมีบทบัญญัติ ห้ามศาลพิพากษาบางประการในกรณีที่เกี่ยวกับการรัฐประหาร ทําลายหลักการแบ่งแยกและถ่วงดุลอํานาจโดยให้สภาผู้แทนราษฎรเข้ามามีส่วนในการบริหารงานภายในของศาล รวมทั้งการวิเคราะห์คําพิพากษา

3. ลดทอนความเป็นอิสระขององค์กรอิสระทุกองค์กร โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมทํานองเดียวกับข้อ 2

4. ยกเลิกวุฒิสภาเป็นการถาวร

5. ให้ผู้ดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ/กรรมการองค์กรอิสระทุกแห่งในปัจจุบันพ้นจากตําแหน่งทันที โดยให้เลือกใหม่โดยกระบวนการในสภาผู้แทนราษฎร

6. ใช้ระบบสัดส่วนผสม หรือ MMP ในการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร โดยใช้บัตร 2 ใบ สัดส่วน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อคือ 350 : 150 โดยยังคงบังคับสังกัดพรรคการเมือง

7. นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เลือกโดยสภาผู้แทนราษฎร

8. ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ/การปฏิรูปประเทศ

9. ยกเลิกการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของ คสช. และการกระทําที่สืบเนื่อง

10. สร้างระบบต่อต้านการรัฐประหาร ให้ความผิดฐานรัฐธรรมนูญไม่มีอายุความ และสามารถเอาผิดย้อนหลังได้

11. แก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น ไม่มีเงื่อนไขเสียง 1/3 ของ ส.ว. โดยให้ใช้เสียง 2/3 ของสภาผู้แทนราษฎร

เป้าหมาย “ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง” ตามการขับเน้นของนายคำนูณดังกล่าว ถือเป็นการส่งสัญญาณไม่รับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ชัดเจน

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาร่วมกับท่าทีของนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ที่ฟันธงชัดเจนว่า ส.ว.จะลงมติไม่รับหลักการ เพราะมีเนื้อหาที่เป็นการปฏิวัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และปฏิวัติการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งตัวบุคคลและองค์กร

“ผมเชื่อว่าผู้เสนอร่างแก้ไขมีเจตนาทำเนื้อหาให้ไม่ผ่านรัฐสภาอยู่แล้ว และมีเนื้อหาเคียดแค้น ทำเพื่อความสะใจมากกว่าต้องการนำไปสู่การแก้ไขอย่างแท้จริง” นายวันชัยกล่าว

 

นอกจากท่าทีไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับร่างประชาชนแล้ว

น่าสังเกตว่า ส.ว.ยังใช้ที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่พิจารณาวาระการเสนอความเห็นต่อแผนการปฏิรูปด้านต่างๆ พุ่งเป้าโจมตีไปยังฝ่ายการเมืองคนรุ่นใหม่ด้วย

โดยนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ในฐานะ กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน อภิปรายว่า ปัจจุบันพบว่ามีคนไทยไม่เข้าใจการเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช้บริการของรัฐสภา มีปัญหาก็ลงไปสู่ถนน คนไทยจำนวนหนึ่งไม่เคารพ สนับสนุน ส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้ว สิ่งดังกล่าวบ่งชี้ว่าสถานการณ์การเมืองปัจจุบันเลวร้ายกว่าที่คิด

ยิ่งกว่านั้น ตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังใช้เวทีเดียวกันนี้ ระบุว่าปัญหาการเมืองปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยเจอปัญหาขาดความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เกิดช่องว่างกับการมีส่วนร่วมทางการเมือง มีทัศนคติไม่ดีต่อการเมือง

ยึดรูปแบบการปกครองแบบตะวันตก ไม่คำนึงถึงบริบทของสังคมไทย

ขาดกระบวนการให้ความรู้ในสถานการศึกษา ทำให้ประชาชนขาดการวิเคราะห์ข้อมูล หรือวิเคราะห์บิดเบือนจากข้อเท็จจริง กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มต่างๆ

การมีแนวคิดเกี่ยวกับระบอบที่ไม่ถูกต้องมาใช้ เพื่อหวังผลทางการเมืองกับเยาวชน คนรุ่นใหม่ เด็ก จนเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรุ่น

 

จะเห็นว่า จุดยืนของ ส.ว.และองค์กรอิสระอย่าง กกต.มีท่าทีที่อยู่ตรงข้ามกับคนรุ่นใหม่ชัดเจน

และเป็นสัญญาณว่า จะมีการขยายผลคำว่า “ล้มล้าง” ตามคำวินิจฉัยของศาลธรรมนูญออกไปโดยกว้างขวาง

และน่าจับตาว่าจะก้าวไปถึงปฏิบัติขั้นต่อไปคือ “ล้ม” แล้ว “ล้าง” หรือไม่

ทั้งนี้ ในส่วนฝ่ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ไปประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่กระบี่

น่าสังเกตว่าหลายๆ เวที พล.อ.ประยุทธ์ไปร่วม ได้ขับเน้นให้ประชาชนเคารพในสถาบันหลักของชาติ

และบางจุดยังได้ร่วมร้องเพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” ด้วย โดยนายกฯ ได้กล่าวว่า “เราแลกเลือดเนื้อมาเพื่อแผ่นดินผืนนี้ ขอให้รักษาไว้ให้ได้ ขวานทองอยู่กับชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชนตลอดไป จำคำพูดผมไว้”

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการชุมนุมของกลุ่มที่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปในหลายๆ ประเด็น ว่า “มีไม่กี่คน ก็มีแค่ 200-300 คน กับคน 70 ล้านคน คุณจะเอายังไง”

 

จะเห็นแนวโน้มของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ รวมไปถึงวุฒิสมาชิก รุกฝ่ายคนรุ่นใหม่อย่างเป็นกระบวน

สะท้อนถึงการขยายผลกระแส “การล้มล้าง” ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ ทั้งในและนอกสภามากขึ้น

และมีโอกาสสูงที่จะเพิ่มแรงกดันและบดขยี้มากขึ้น

โดยหวังว่าจะใช้โอกาสที่ฝ่ายตรงข้าม “ล้ม” นี้ทำการ “ล้าง” ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แต่จะสำเร็จหรือไม่ ยังเป็นคำถาม

เหมือนดังที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เตือนว่า หลังจากนี้จะมีแต่การเผชิญหน้า เพราะฝ่ายรัฐคิดว่าได้เปรียบ ขณะที่นักศึกษาก็หลังชนฝา สู้ก็ติดคุก ไม่สู้ก็ไม่มีอนาคต

ยิ่งฝ่ายผู้มีอำนาจแสดงความไม่ชอบธรรม รุนแรง ขัดหลักการ ไร้เหตุผล ปัญหาจะยิ่งวิกฤต สุ่มเสี่ยงจะไปถึงโศกนาฏกรรมซึ่งทุกฝ่ายไม่ต้องการ

รัฐสภาควรผ่อนคลายแรงเสียดทาน อย่าตัดขาดข้อเรียกร้องของประชาชน

วิกฤตนี้ถ้าจะช่วยกันแก้ต้องเริ่มต้นที่รัฐเคารพความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่าย

การปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ปลายทางส่วนใหญ่ไม่ใช่ความผาสุก

แต่เป็นกลียุค