เครื่องเคียงข้างจอ : ลอยกระทง 2564 / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

 

ลอยกระทง 2564

 

มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้วางแผงในวันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงพอดิบพอดี

“วันลอยกระทง” ของไทย มีความเชื่อว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในสมัยของพ่อขุนรามคำแหง เรียกประเพณีลอยกระทงนี้ว่า “พิธีจองเปรียง” หรือ “การลอยพระประทีป” ทั้งนี้ มีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทงนั่นเอง

ทางสายวิชาการกล่าวว่า “ลอยกระทง” นั้นเป็นพิธีกรรมร่วมกันของผู้คนในชุมชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ พิธีกรรมนี้มีขึ้นเพื่อขอขมาต่อธรรมชาติอันมีดินและน้ำที่หล่อเลี้ยงเกื้อกูลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ มนุษย์จึงมีชีวิตเจริญเติบโตขึ้นได้

ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าลอยกระทงเริ่มมีมาแต่สมัยใด แต่พิธีกรรมเกี่ยวกับ “ผี” ผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติมีอยู่กับผู้คนในชุมชนสุวรรณภูมิไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ก่อนรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดีย

สำหรับประเพณีลอยกระทงไม่ได้มีเฉพาะในเมืองไทย แต่เป็นความเชื่อที่ยึดมั่นมานานของหลายประเทศเช่นกัน เช่น ลาว พม่า กัมพูชา อินเดีย และประเทศจีน แต่ละที่ก็มีตำนานความเชื่อคล้ายกันบ้าง แตกต่างกันไปบ้าง ที่คล้ายกันคือการแสดงความเคารพบูชาต่อพระแม่คงคาหรือสายน้ำ ที่ต่างออกไปเช่นเกี่ยวกับความเชื่อเรื่อง “ผี”

ในประเทศจีนสมัยก่อนทางตอนเหนือ เมื่อถึงหน้าน้ำจะมีน้ำท่วมเสมอ บางปีน้ำท่วมมากได้คร่าชีวิตคนนับแสนราย จนหาศพไม่เจอเพราะพัดพาไปกับสายน้ำ ญาติมิตรและครอบครัวจึงจัดกระทงใส่อาหารลอยน้ำไป เพื่อเป็นการเซ่นไหว้ผีเหล่านั้นเป็นประจำทุกปี

เวลาลอยก็จะลอยตอนกลางคืน เพราะเชื่อว่าผีไม่ออกมาในตอนกลางวัน ดังนั้น เพื่อเป็นการส่องนำทางให้กับผี ในกระทงจึงต้องจุดเทียนด้วย โดยพิธีกรรมนี้มีชื่อว่า “ปั่งจุ๊ยเต็ง” หรือ “ปล่อยโคมน้ำ” ซึ่งคล้ายกับพิธีกรรมของไทยในสมัยก่อนที่เป็นการ “ลอยโคม” ไม่ใช่ลอยกระทงเช่นในปัจจุบัน

 

ครั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงโปรดให้มีการฟื้นฟูประเพณีพิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ “ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์” หรือ “นางนพมาศ” ขึ้นมา โดยสมมุติให้ฉากของเรื่องเกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย

ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศว่า เป็นพระสนมเอกของพระร่วงที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวโกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้ง สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท

นางนพมาศจึงถือกำเนิดขึ้นมาในยุครัตนโกสินทร์ ไม่ใช่ความเชื่อที่ว่าเป็นยุคสุโขทัยแต่เดิม

ในยุคนี้นางนพมาศกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของงานวันลอยกระทงไปแล้ว สาวๆ จะลุกขึ้นแต่งชุดไทยเพื่อเข้าประกวดกันว่าใครจะได้เป็น “นางนพมาศประจำปีนี้” พ่วงต่อว่าของวัดไหน หรืองานไหน

หลายคนใช้เวทีประกวดนางนพมาศเพื่อเป็นบันไดในการประกวดเวทีใหญ่ๆ ต่อไป บางคนเก็บมาหมดทั้งเทพีสงกรานต์ ทั้งนางนพมาศ เหมือนเป็นการเก็บสะสมแต้มให้กับตัวเอง

 

ในสมัยที่ผมเรียนอยู่ที่สถาปัตย์ จุฬาฯ วันลอยกระทงเป็นหนึ่งกิจกรรมที่ครึกครื้นมาก ในจุฬาฯ อนุญาตให้คณะต่างๆ จัดกิจกรรมวันลอยกระทงได้ โดยมีสระน้ำจุฬาฯ ที่ด้านหน้าเป็นสถานที่ในการลอยกระทง

คณะสถาปัตย์มีโลเกชั่นที่เหมาะเหม็งมาก เพราะอยู่ใกล้กับสระจุฬาฯ นั่นเลย โดยด้านหน้าคณะจะตั้งเป็นเวทีสำหรับวงดนตรีแสดงเรียกผู้คนให้มาเที่ยวงาน ด้านข้างที่เป็นโรงจอดรถจะดัดแปลงเป็นซุ้มการละเล่นต่างๆ แบบที่นิยมในงานวัด เช่น ยิงปืน ปาเป้า สาวน้อยตกน้ำ ซึ่งสาวที่ขึ้นไปนั่งให้เขาปานั้น ก็เป็นนิสิตชายปีหนึ่งของคณะ แต่งหญิงเอาจึงคล้ายกะเทยอย่างมาก คนมาปาก็ปาเอามัน บางทีเพื่อนๆ กันก็ปาใส่ “สาว” แทนที่จะเป็นเป้า

ส่วนซุ้มที่ได้รับความนิยมไม่น้อยคือ “ซุ้มปาจาน” โดยไปเหมาเอาจานกระเบื้องเกรดต่ำที่ไม่ได้คุณภาพจากโรงงานมาในราคาถูก นำมาแขวนห้อยเป็นเป้า ส่วนอุปกรณ์ก็จะกลึงไม้เป็นก้อนขนาดพอดีฝ่ามือกำ ได้ทั้งขนาดและน้ำหนัก วิธีการไม่มีอะไรมาก แค่เอาคูปอง 1 ใบมาแลกลูกปา 3 ลูก แล้วก็จัดการปาจานเอาตามใจชอบ

นัยว่าเป็นกีฬาของคนชอบซาดิสต์ เพราะเสียงลูกไม้กระทบจานกระเบื้องแล้วแตกดังเพล้งมันสะใจยังไงพิกล

บางคนใช้เป็นที่ระบายความเก็บกด ปาไปพร้อมคำรามถึงชื่อคนรักที่ทิ้งตัวเองไปก็มี

 

สําหรับบนเวทีจะเป็นวงดนตรี “กระเทียมเจียว” ที่นำเอาเพลงลูกทุ่งดังๆ เพลงสตริงยอดนิยม มาบรรเลงอย่างออกรสออกชาติ หน้าเวทีนอกจากจะยืนดูแล้ว บางคนก็เต้นไปตามเสียงดนตรีอย่างสนุกสนาน

ในคืนนั้นเราจะได้ยินเสียงเพลง “รำวงลอยกระทง” กันไม่รู้กี่สิบเที่ยว เป็นเพลงท็อปฮิตประจำเทศกาลมาถึง 72 ปีแล้ว ไม่เคยมีเพลงใดแย่งตำแหน่งไปได้

เพลงนี้เป็นผลงานของวงดนตรีสุนทราภรณ์ วงดนตรีชื่อดังที่เป็นที่นิยมอย่างสูง มีเพลงดังนับร้อยๆ เพลง และมักถูกจองให้ขึ้นเวทีบรรเลงในเทศกาลต่างๆ เสมอ

ครั้งหนึ่งในปี 2492 ปีนั้นวงดนตรีสุนทราภรณ์มีคิวไปเล่นในงานลอยกระทงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าภาพได้ขอให้แต่งเพลงสำหรับงานนี้ให้เป็นการเฉพาะ ซึ่งสองครูเพลงคู่บุญคือ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้แต่งทำนอง และใส่คำร้องโดยครูแก้ว อัจฉริยะกุล ภายในเวลาไม่ถึง 30 นาที ก็ออกมาเป็นบทเพลงอมตะ “รำวงลอยกระทง” ที่ยืนยาวคู่สังคมไทยมาจนบัดนี้

ในยุคต่อมาได้มีศิลปินเพลงเลือกเอาโมเมนต์ของวันลอยกระทง สร้างสรรค์เพลงออกมาให้แฟนๆ ได้ฟังกันก็มี ที่ติดหูติดใจไม่น้อยก็เช่น

“กระทงหลงทาง” ของเอ-ไชยา มิตรชัย

“ลอยกระทงวันสงกรานต์” ของอ่ำ-อมรินทร์ นิติพน

“ไม่มีคู่ลอยอยู่โอ่ง” ของเต๊ะ ตระกูลตอ, พนม ภูไท, โอ บุรีรัมย์ และนุ๊ก ธนดล

 

สําหรับปีนี้ที่งานลอยกระทงจัดขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 พร้อมกับการเปิดประเทศให้ทำกิจกรรมและเกิดการท่องเที่ยวขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ต้องดำเนินไปอย่างระมัดระวัง ทั้งเข้มงวดเรื่องมาตรการการคัดกรองเพื่อป้องกันโรค ควบคุมปริมาณคนเที่ยวงาน และเลือกจัดกิจกรรมที่ความเสี่ยงต่ำ

ซึ่งผลการสำรวจความเห็นของประชาชนก็ยังรู้สึกกังวลที่จะออกมาเที่ยวเทศกาลลอยกระทงกัน เกรงว่าจะกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมาได้ แต่ในหลายสถานที่รวมทั้งภาครัฐเองก็ได้ลุกขึ้นมาจัดงานกันเพื่อเดินหน้าต่อของบรรยากาศการเปิดประเทศ

ผลไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร ยอดผู้ติดเชื้อจะพุ่งขึ้นไหม แถมนายกฯ ตู่ ก็ออกมาพูดแกมขู่เหมือนผู้ใหญ่ขู่เด็กว่า ถ้ายอดผู้ป่วยพุ่งสูงขึ้นอีก ก็อาจต้องปิดประเทศ

จึงเป็นไปได้ว่าคงมีการออกมาเที่ยวงานลอยกระทงกันอยู่บ้าง เพราะหลายคนก็รู้สึกอยากปลดปล่อยและได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว พร้อมกับการระมัดระวังตัวเองอย่างดี ในขณะที่หลายคนเลือกที่จะ “ลอยกระทงออนไลน์” เหมือนปีที่ผ่านมา

 

มาลุ้นกันนะครับว่า ลอยกระทงที่เรามักจะลอยเอาความไม่ดี ความทุกข์ยาก อุปสรรคต่างๆ ให้ออกไปไกลๆ จากชีวิตเรา สำหรับปีนี้ความทุกข์ที่ว่าจะลอยไปได้จริงไหม เพราะเท่าที่เห็นนี้ ยังมีคลื่นลมของความไม่มั่นคงกระจายอยู่ในสังคมไทยไม่น้อย

ทั้งความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และทางการเมือง โดยเฉพาะความไม่มั่นคงในทางอารมณ์ของคนไทยแล้ว เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมาก

“…วันเพ็ญเดือนสิบสอง น้ำนองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง…”