เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : ภัยพิบัติท้องถิ่น

สัปดาห์นี้ เป็นการบรรยายเรื่องที่น่าสนใจอีกเรี่องหนึ่งจาก พลตรีเพิ่มศักดิ์ รอบจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการพลเรือน สำนักนโยบายและแผนกลาโหม นายชัยณรงค์ วาสนะสมสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สุดท้ายคือ นายนิพนธ์ บุญญามณี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา

ผู้ดำเนินรายการคือ ดร.พิจิตต รัตตกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

พลตรีเพิ่มศักดิ์ ว่าถึงหัวข้อนี้ว่า ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมแห่งชาติ คือเพื่อเผชิญกับภาวะไม่ปกติจากสาธารณภัย ภัยจากการสู้รบ และภัยการก่อการร้าย ซึ่งต้องผนึกกำลังและบูรณาการทุกภาคส่วน เสริมสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ

ส่วนแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558 เป็นแผนที่ต้องการส่งเสริม ลดความเสี่ยง ป้องกัน ลดผลกระทบ เตรียมความพร้อม รู้ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นต้องป้องกันไว้ก่อน เช่น ประเทศญี่ปุ่นออกแบบสร้างบ้านเรือนรองรับการเกิดแผ่นดินไหว

นโยบายของกระทรวงกลาโหมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คือ สนับสนุนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต้องดำเนินการในลักษณะเชิงรุก ส่งเสริมการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยตั้งแต่ระดับชุมชนถึงระดับชาติ สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งสภากาชาด กรมป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมาหารือร่วมกัน และจัดทำคู่มือ “แนวทางการประสานงานระหว่างพลเรือนกับทหารในการบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม”

การจัดการภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ประสบสาธารณภัยต้องเป็นเอกภาพ มีผู้บัญชาการเหตุการณ์คนเดียว การติดต่อสื่อสารต้องมีประสิทธิภาพ จัดการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบและให้มีความเสียหายน้อยที่สุด ตลอดจนการฟื้นฟูให้กลับมามีสภาพที่ดีกว่าหรือเท่าเดิม

นอกจากนั้น ต้องเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน อาเซียน ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศที่เจริญแล้วที่ขอความช่วยเหลือมา แม้ในประเทศตะวันออกกลาง เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

พลตรีเพิ่มศักดิ์ บอกว่า หน้าที่ของกระทรวงกลาโหม คือ สนับสนุนกิจการของรัฐบาล แจ้งเตือนกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่และหน่วยงานพลเรือนพื้นที่เสี่ยงภัยกรณีคาดว่าจะเกิดการสู้รบ หรือภัยทางอากาศ หรือการก่อวินาศกรรม ซึ่งมีการจัดการสาธารณภัย 3 ระดับ คือ 1.สาธารณภัยระดับเล็ก 2.สาธารณภัยระดับกลาง และ 3.สาธารณภัยระดับใหญ่

ทั้งนี้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม มีการกำหนดนโยบายและแนวทางป้องกันแก้ไขบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดจากสาธารณภัยและอุบัติภัย รวมทั้งแนวทางช่วยเหลือ และมีหน้าที่ประสานงานกับรัฐบาล หน่วยงานฝ่ายพลเรือน และเอกชน เพื่อป้องกัน แก้ไข บรรเทาภัยพิบัติ

พลตรีเพิ่มศักดิ์ บอกถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงกลาโหมว่า ต้องติดตามสถานการณ์ อำนวยการ ประสานงาน มีการจัดโครงสร้างการบังคับบัญชา แบ่งพื้นที่รับผิดชอบ และมีแบบรายงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติของกระทรวงกลาโหม

ทั้งหมดคือบทสรุป ผู้ใดอยากทราบรายละเอียดมากกว่านี้ โปรดติดต่อไปที่ท่านผู้บรรยาย หรือติดต่อให้ท่านไปบรรยายจะได้รับความรู้อย่างดี โดยเฉพาะหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาสาธารณภัย

เช่นเดียวกับการบรรยายในหัวข้อเดียวกันของ นายชัยณรงค์ วาสนะสมสิทธิ์ ที่มี 2 ประเด็น คือ

1. ทำไมต้องเป็นการบริหารจัดการภัยพิบัติระดับท้องถิ่น และทำอย่างไร

2. สิ่งที่ต้องทำมีอะไรบ้าง แนวโน้มในอนาคตมีความสำคัญอย่างไร

ทั้งสองประเด็นตอบคำถามว่าทำไมต้องเน้นไปที่ท้องถิ่น เพราะพิบัติภัยเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีใครบอกได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะก่อความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย และทรัพย์สินของผู้ประสบภัย รวมทั้งก่อให้เกิดผลกระทบที่ตามมาอีกหลายด้าน เช่น ความเสียหายต่อจิตใจผู้สูญเสีย การประกอบอาชีพ คุณภาพชีวิต นอกจากจะให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลที่ประสบภัยแล้ว ย้งต้องคำนึงถึงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในบริเวณที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ

ในฐานะผู้บริหารสามารถวางแผนล่วงหน้าว่าจะทำอะไรในอนาคต ต่อไปภัยพิบัติจะรุนแรงมากขึ้น ดูจากสถิติและสภาพภูมิอากาศ จะเห็นว่ามีโอกาสเกิดขึ้น

นายชัยณรงค์ ว่าถึงนิยามคำว่า “ภัยพิบัติ” หมายถึง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง หรือชุมชนใดชุมชนหนึ่งที่ความสามารถของชุมชนนั้นไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเอง ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภายนอก เป็นความหมายที่สหประชาชาติได้นิยามไว้

ภัยพิบัติตามกฎหมายไทย หมายถึง อัคคีภัย อุทกภัย วาตภัย และภัยอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ และทำให้ประชาชนเดือดร้อน ไม่ว่าภัยนั้นจะเกิดจากธรรมชาติ เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เกิดจากอุบัติเหตุ หรือเหตุอื่นใด ถือว่าเป็นสาธารณภัยทั้งสิ้น

นายชัยณรงค์ ตอบคำถาม ทำไมเป็นหน้าที่ของท้องถิ่นว่า เนื่องจากประเทศไทยมีกฎหมายการบริหารจัดการภัยพิบัติที่ชัดเจนว่าใครต้องรับผิดชอบส่วนไหน ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ โดยในกฎหมายบังคับให้จัดทำแผนว่าใครทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร มีระดับขั้นตอนที่ชัดเจน

ท้องถิ่นจึงมีบทบาทสำคัญ เพราะกฎหมายคำนึงถึงรัฐธรรมนูญให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน และให้อำนาจต่อท้องถิ่นในการปกครองตนเองอย่างเป็นอิสระ

หน้าที่หลักของท้องถิ่นจึงเป็นการให้บริการประชาชนทุกด้าน รวมทั้งให้บริการด้านความปลอดภัย เฉพาะในกฎหมายป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจะให้อำนาจ บทบาท หน้าที่ ของผู้บริหารท้องถิ่นค่อนข้างมาก

ส่วนบทบาทของท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ มี 3 ประการ ตั้งแต่ก่อนเกิดภัยพิบัติ ระหว่างเกิดภัยพิบัติ และหลังจากเกิดภัยพิบัติ

ผู้บรรยายบอกว่าต้องมีแผนหลายแผน และภารกิจที่ต้องดำเนินการซึ่งเกี่ยวข้องกับประชาชน รวมทั้งการใช้อำนาจตามหน้าที่ และการสั่งการ การห้ามเข้าออกในพื้นที่อันตราย การรักษาความสงบ ความปลอดภัย

ที่สุดคืออนาคตการจัดการลดภัยพิบัติ และยุทธศาสตร์ ที่ต้องขอต่อความยาวอีกนิดในสัปดาห์หน้า