กรธ. ทำคลอดกฎหมายลูก นับถอยหลังอีกครึ่งทาง วัดใจ “ไบโพลาร์” หรือไม่?? [ในประเทศ]

จะเรียกว่า “เส้นทางสุดหฤโหด” ก็คงจะไม่เกินเลยจนเกินไป เพราะแม้ว่าขณะนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะส่งต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หรือ “กฎหมายลูก” ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแล้ว 5 จาก 10 ฉบับตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 276 บอกไว้

แต่จนถึงบัดนี้ วันที่เวลาล่วงเลยกินเวลามากกว่า 120 วัน หรือเกินครึ่งทางตาม “เงื่อนไข” ของรัฐธรรมนูญที่บังคับไว้ว่า จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดภายใน 240 วันนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ กลับยังไม่มีกฎหมายลูกฉบับใดบังคับใช้อย่างเป็นทางการได้เลยแม้แต่ฉบับเดียว

แม้ 3 ใน 5 ฉบับจะถูกส่งถึงมือ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนสุดท้าย หรือการนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วก็ตาม

แต่ต้องยอมรับว่า กระบวนการพิจารณากฎหมายลูกในชั้น สนช. กว่าจะจบแต่ละฉบับได้เลือดตาแทบกระเด็น โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับแรก

นั่นคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

เนื่องจากร่างกฎหมายที่ถูกปรับแก้ และผ่านมติจาก สนช. ในวาระสาม ถูก “โต้แย้ง” เนื้อหาว่ามีประเด็นที่อาจสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงต้องมีการตั้ง “คณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย” จำนวน 11 คน ขึ้นมาพิจารณาต่อ

มิหนำซ้ำ บางฉบับ อย่าง พ.ร.ป.กกต. ยังถูกยื้อระยะเวลาในการบังคับใช้ออกไป เพราะหลังจบในชั้น กมธ. ร่วม 3 ฝ่าย กกต. ยังติดใจ จึงใช้สิทธิ์ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก

เรียกได้ว่า กว่าจะจบก็ทุลักทุเลพอสมควร

และล่าสุด ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน กำลังจะถึงมือศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความเนื้อหาอีก 1 ฉบับ

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.

เพราะมีสมาชิก สนช. จำนวน 34 คน ได้เข้าชื่อไปถึง “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธาน สนช. เพื่อให้เสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยมาตรา 148 (1) เพื่อวินิจฉัยว่า บทเฉพาะกาล มาตรา 56 ของร่าง พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่

เนื่องจากที่ประชุมใหญ่ สนช. ได้แก้ไขในวาระ 2 และ 3 ให้ประธานและผู้ตรวจการแผ่นดินที่ดำรงตำแหน่งก่อนวันที่ พ.ร.ป. ฉบับนี้ใช้บังคับ อยู่จนครบวาระตาม พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2552 ซึ่งทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน 2 คน ได้อยู่จนครบวาระ

34 สนช. เห็นว่า การ “ดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใด” ตามมาตรา 273 ของรัฐธรรมนูญ บอกให้เป็นไปตามร่าง พ.ร.ป. โดยไม่ได้ยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งไว้ จึงไม่น่าจะหมายถึงการปล่อยให้ 2 ผู้ตรวจอยู่ต่อจนครบวาระ

จึงมีผลทำให้ต้องชะลอขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ออกไป

ส่วนอีก 1 ฉบับที่เหลืออยู่ในชั้น สนช. คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญ สนช. คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ สนช. เพื่อพิจารณาในวาระสองสามได้ในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม กรธ. ได้วางคิวเบื้องต้น โดยในเดือนสิงหาคม จะเสนอร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ สนช. เป็นฉบับที่ 6 ก่อนที่จะส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 7 ในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้

ส่วนอีก 3 ฉบับที่เหลือ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อวางหลักการสำคัญๆ โดยล่าสุด “มีชัย ฤชุพันธุ์” ได้ยกคณะ กรธ. ไปเก็บตัวนอกสถานที่ ณ ริมหาดพลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เป็นเวลา 4 วันเพื่อเคาะข้อสรุปสำคัญๆ ของร่างกฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับที่เหลือ

แน่นอนว่า “ปมร้อนสำคัญ” ที่เป็นไฮไลต์สำคัญระหว่างการพิจารณานอกสถานที่คงเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เหลืออีก 2 ฉบับ

นั่นคือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กับ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

สำหรับกฎหมายว่าด้วยที่มา ส.ว. เบื้องต้นมีจำนวน 100 มาตรา รวมบทเฉพาะกาล กำหนดให้ ส.ว. มีจำนวน 200 คนมาจาก 20 กลุ่มอาชีพ โดยแบ่งสายแบบฟุตบอลโลกเพื่อเลือกตั้งไขว้ 3 ชั้น ไล่เรียงตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และระดับชาติ

แต่เฉพาะครั้งแรก 200 คนสุดท้ายจากในระดับชาติ ต้องเสนอชื่อให้ คสช. เพื่อเฟ้นให้เหลือ 50 คน ก่อนนำไปรวมกับล็อตใหญ่ 194 คนที่ คสช. เลือกมา และอีก 6 ตำแหน่ง ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทสส. ผบ.ทบ. ผบ.ทร. ผบ.ทอ. และ ผบ.ตร.

ถือว่าเรียบร้อยโรงเรียน คสช. ครบ 250 คนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ขณะที่เนื้อหาตามร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ กรธ. เคาะหลักการเบื้องต้นมาจากริมหาดพลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ถือว่า สร้าง “จุดร่วม” ให้กับนักการเมืองทุกฟากทุกฝ่ายทุกสีในการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นใหญ่ๆ

หนึ่ง โทษของบุคคลที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยไม่มีเหตุผลสมควร จะถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้ง 2 ปี และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ และหากผู้ใดดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ก็ให้พ้นจากตำแหน่งทันที เพราะควรจะเป็นตัวอย่างที่ดี และถ้ายังไม่ไปใช้สิทธิอีกก็ให้ตัดสิทธิเป็นเวลา 2 ปีต่อไปอีก

สอง แยกหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. เป็นรายเขต โดยให้ผู้สมัครแต่ละเขตมีการจับสลากเบอร์ของตัวเองตามลำดับของการสมัคร แม้ผู้สมัคร ส.ส. ในแต่ละเขตจะอยู่ในพรรคเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องมีเบอร์ที่เหมือนกันก็ได้

โดย กรธ. ให้เหตุผลว่า เนื่องจากการเลือกตั้งเป็นระบบเลือกตั้งแบบใหม่ จากเดิมที่เป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว และเพื่อให้ผู้สมัครในแต่ละเขตแสดงความรู้ความสามารถของตัวเอง ไม่ใช่อาศัยหมายเลขพรรคในการพึ่งพาเพื่อช่วยให้ได้เป็น ส.ส.

“เพื่อป้องกันการซื้อเสียงที่หว่านกันทั้งประเทศ ไม่ให้เกิดคำพูดว่า เอาเสาโทรเลข เอาคนขับรถลงก็ได้อีกต่อไป ประชาชนก็ได้เรียนรู้ทำความรู้จักผู้สมัครในเขตของตน ส.ส. ก็จะได้ไม่ต้องเป็นบริวารให้พรรคการเมือง แล้วก็ทำตามคำสั่งอย่างเดียว” นายมีชัยยืนกรานอย่างเสียงแข็ง

เป็นเสียงแข็งๆ ที่มิใช่เพียงแค่นักการเมืองเท่านั้นที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ เพราะแม้แต่ กกต. ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่อย่าง “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ก็ยังมี “จุดร่วม” เดียวกันออกมาจวกเสียงดังๆ จน “มีชัย” ถึงขั้นปัดตอบเดินหนีเมื่อถูกถาม

โดยเฉพาะการกล่าวหา กรธ. ว่า “เป็นไบโพลาร์ทางการเมือง”

“บอกอยากให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่กลัวคนเลือกเบอร์พรรคการมือง เช่นเดียวกับบอกว่า ต้องการคนที่มีคุณสมบัติสูงมาเป็นองค์กรอิสระ แต่องค์กรหนึ่งเซ็ตซีโร่ อีกองค์กรหนึ่งให้อยู่ต่อครบวาระ”

เพราะ “สมชัย” มองว่า นอกจากสร้างความสับสนในประชาชนแล้ว ยังเป็นภาระในการธุรการของ กกต. ในแต่ละจังหวัดด้วยในการจับสลากเบอร์ผู้สมัครในแต่ละเขต ขณะที่การรวมคะแนนทั้งประเทศนั้น โอกาสผิดพลาดมีสูงมาก และมีโอกาสที่จะถูกประชาชนร้องเพราะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งก็สูงขึ้นได้อีก

และหากถ้าประชาชนจะเลือกเสาไฟฟ้า “สมชัย” บอกเลยว่า ยังไงๆ เราก็ต้องยอมรับ

ถือเป็นเสียงท้วงติงที่ท้าทายประเด็นเรื่อง “แยกเบอร์ผู้สมัคร ส.ส.รายเขต” ของ กรธ. ได้อย่างน่าจับตาว่า “มีชัย ฤชุพันธุ์” จะ “ยืนกราน” ต่อไป หรือจะ “เงี่ยหูฟัง” แล้วนำมาปรับแก้ก่อนเสนอให้ สนช. กันแน่!?!