เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : มาถึงเรื่องภาษีและการคลัง

ไพรินทร์ ศรีศุภวินิช

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของการปกครองประเทศและการปกครองท้องถิ่น คือเรื่องการจัดเก็บรายได้และจัดเก็บภาษีของรัฐและท้องถิ่น กับการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างยั่งยืน ผู้ดำเนินการคือ รองศาสตราจารย์ ดร.สุดา สุวรรณาภิรมย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

ผู้มาให้ความรู้และบรรยาย 2 คน คนแรกคือ นายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง บรรยายเรื่องการพัฒนาการจัดเก็บรายได้ของรัฐและท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างยั่งยืน

นอกจากท่านผู้บรรยายจะเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง อดีตท่านยังเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา และผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง

อาจารย์ประภาศ เริ่มต้นด้วยปัญหาที่เกี่ยวกับท้องถิ่นในภาคปฏิบัติ มีภาษีเงินได้ ภาษีจากการอุปโภคและบริโภค ได้แก่ การซื้อสินค้าจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน แบ่งเป็น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือที่เรารู้จักกันว่า “ภ.ง.ด.9” ซึ่งบุคคลธรรมดาต้องเสียภาษีจากรายได้ที่ได้รับเป็นรายปี วันที่ต้องไปยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ ภ.ง.ด.91 ไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี

ภาษีอีกประเภทหนึ่ง คือภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีที่บริษัทห้างร้านมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลและมีเงินได้เป็นรายปีต้องเสียให้รัฐประจำทุกปี ทั้งบุคคลธรรมดาและบุคคลทั่วไป ตลอดจนนิติบุคคลยังต้องเสียภาษีทางอ้อมจากการอุปโภคบริโภคอีกส่วนหนึ่ง ส่วนนี้หากไม่มีการบริโภคหรืออุปโภค คือซื้อขายสินค้าและบริการไม่ต้องเสียภาษี คือภาษีที่เรียกว่า “แวต” 7% บวกอยู่ในสินค้าทุกชนิด เว้นแต่บางชนิดที่รัฐยกเว้น

นอกจากนั้น มีภาษีความมั่งคั่ง ได้แก่ ภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย ภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งมีพระราชบัญญัติเฉพาะ พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดิน มีรายละเอียด อาทิ ผู้รับประเมินชำระภาษีปีละครั้งตามค่ารายปีของทรัพย์สิน “ค่ารายปี” หมายความว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่งๆ

ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นนั้นให้เช่า ให้ถือว่าค่าเช่านั้น คือ ค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่า ค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง หรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาดพื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา 8 วรรคสาม)

การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สินที่ให้เช่าและมีเหตุอันควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง หรือด้วยเหตุอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินค่าใช้จ่ายเป็นรายปีโดยเทียบเคียงกับรายได้รายปีของทรัพย์สินที่ให้เช่าที่มีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาดพื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นรับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้น (ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สิน ลงวันที่ 30 มีนาคม 2535)

มีคำอธิบายว่า หากประกาศกฎระเบียบของทางราชการขึ้นต้นด้วยคำว่า “อาศัยอำนาจตามความในกฎหมาย” ให้สันนิษฐานว่าเป็นกฎหมายลูก

อาจารย์ประภาศ อธิบายว่า ปัญหาของภาษีท้องถิ่นประกอบด้วยกฎหมาย 2 ส่วนที่เกี่ยวข้อง คือมาตรา 8 และกฎหมายลูกของกระทรวงมหาดไทย นอกนั้นเป็นแนวปฏิบัติและแนวหนังสือตอบข้อหารือ “หนังสือตอบข้อหารือไม่ถือเป็นกฎหมาย”

วิธีการแก้ไขให้ยึดแนวกฎหมายดังกล่าวมาประมวลทำให้เป็นประกาศกระทรวงมหาดไทย เพราะกฎหมายกล่าวไว้ว่าให้เป็นไปตามที่กระทรวงมหาดไทยประกาศ

อาจารย์ประภาศ ว่าถึงผู้มีหน้าที่เสียภาษี คือ ให้ผู้ประเมินชำระภาษีปีละครั้งตามค่ารายปีของทรัพย์สิน (มาตรา 8) “ผู้รับประเมิน” หมายความว่า บุคคลพึงชำระค่าภาษี (มาตรา 5) และค่าภาษีนั้นให้เจ้าทรัพย์สินเป็นผู้เสีย แต่ถ้าที่ดินและโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นเป็นของคนละเจ้าของ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นต้องชำระภาษีทั้งสิ้น (มาตรา 40)

จบการบรรยายอย่างย่นย่อของ อาจารย์ประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลังจากคุณวุฒินิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) เนติบัณฑิตไทย ITP/LL.M (ฮาร์วาร์ด)

ต่อจากนั้นเป็นการบรรยายของ นางไพรินทร์ ศรีศุภวินิจ ที่ปรึกษาสำนักงานเศรษฐกิจและการคลัง กระทรวงการคลัง และกรรมการคณะทำงานปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด

ในหัวข้อ การบริหารนโยบายการคลัง รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหัวข้อที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้บริหารองค์กรท้องถิ่น โดยเฉพาะบรรดานายกเทศมนตรีทั้งหลายที่ยังอยู่ในตำแหน่ง

อาจารย์ไพรินทร์ว่าถึงภาพรวมของนโยบายการคลังทั้งประเทศ ตามด้วยการมองภาพนโยบายการคลังในภาพรวม มีเครื่องมือด้านการคลังคือ “รายได้” “รายจ่าย” “หนี้สิน” เมื่อรายได้ไม่พอก็มีการก่อหนี้ สุดท้ายคือ “ทรัพย์สิน” นโยบายการคลังมีเป้าหมายรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ

นอกจากนั้น ยังต้องจัดสรรทรัพยากรอย่างมีคุณภาพในปริมาณทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดจะจัดสรรอย่างไรให้มีเพียงพอใช้ในประเทศ และการกระจายรายได้ ทรัพย์สิน อย่างเป็นธรรม

เครื่องมือทางการคลังคือ รายได้ที่มาจากการจัดเก็บภาษี รายจ่ายซึ่งสำนักงบประมาณเป็นผู้จัดทำวงเงินงบประมาณ จ่ายโดยกรมบัญชีกลาง หนี้สิน เป็นหนี้ได้ แต่ต้องบริหารหนี้ไม่ให้กระทบกับงบลงทุนของประเทศ ในส่วนของทรัพย์สินมีกรมบัญชีกลางเป็นผู้ดูแล

จากนั้นเป็นการหารายได้ มี 3 กรมในการจัดเก็บภาษี คือ กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้ทั้งหมดรวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต-VAT) และภาษีอุปโภคบริโภค มีการจัดเก็บ 21 ประเภท 5 ประเภทหลักที่ทำรายได้มากกว่าร้อยละ 90 ได้แก่ น้ำมัน สุรา เบียร์ ยาสูบ รถยนต์ นอกนั้นเป็นภาษีทั่วไปร้อยละ 10 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้จากภาษีศุลกากรขาเข้า รัฐวิสาหกิจที่มีกำไรต้องนำส่งเข้ารัฐ รัฐวิสาหกิจแปรรูปแล้วต้องนำส่งในรูปเงินปันผล และส่วนราชการอื่น คือหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่จัดเก็บแล้วนำส่งเป็นรายได้ของรัฐ

เรื่องการจัดเก็บภาษีเข้ารัฐยังมีอีกยาว รวมถึงองค์กรปกครองท้องถิ่นที่ต้องบริหารจัดเก็บภาษีเอง