คำ ผกา | ถ้าไม่มีรัฐประหาร 2549

คำ ผกา

ในแง่ของคนเรียนประวัติศาสตร์เขาสอนกันมาว่า อย่าตั้งคำถามว่า “ถ้าคนนั้นไม่ทำอย่างนี้ในอดีต ปัจจุบันจะเป็นอย่างไร?” เพราะอดีตเป็นสิ่งที่เราย้อนเวลากลับไปแก้ไขไม่ได้

การมานั่งคร่ำครวญว่า “สิ่งนั้นไม่น่าเกิดขึ้น สิ่งที่ไม่น่าทำ” จึงเสียเวลาและไม่มีประโยชน์

แต่ถึงจะถูกห้ามอย่างนั้น ฉันก็อดไม่ได้ที่จะลองจินตนาการอยู่ดี

และสิ่งที่ฉันอยากจะจินตนาการมากที่สุดคือ

“ถ้าไม่มีรัฐประหารปี 2549 ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรในปัจจุบันนี้?”

 

มันง่ายมากที่เราจะจินตนาการว่าหากไม่มีการรัฐประหารปี 2549 พรรคไทยรักไทยและทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีครบเทอม 4 ปี นั่นแปลว่า รัฐบาลจะหมดวาระในปี 2551

มาถึงจุดนี้ ถ้าเราให้ฝ่ายเชียร์รัฐประหารจินตนาการ พวกเขาก็จะบอกว่า – แย่แน่ๆ

ถ้าพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาลครบสองสมัยก็เท่ากับว่าสามารถสถาปนาความเป็นเผด็จการรัฐสภาได้สำเร็จ

พรรคไทยรักไทยสามารถใช้กลไกอำนาจรัฐที่ตนเองมีอยู่มือ ซื้อเสียงผ่านนโยบายต่างๆ โอ๊ย มันแย่มากๆ เลย คนไทยส่วนใหญ่รู้ไม่เท่าทันนักการเมือง แค่เขาทำนโยบายประชานิยม แค่มีบ้านเอื้อาทร แค่มีโครงการหมู่บ้านละล้าน แค่มีหนึ่งตำบลหนึ่งทุนการศึกษา แค่มีโอท็อป แค่มีสามสิบบาทรักษาทุกโรค คนไทยที่ยากจน ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการเมือง เห็นแก่ผลประโยชน์ระยะสั้น ก็พร้อมจะแห่กันไปเลือกทักษิณ เลือกพรรคไทยรักไทยกันอีกรอบ

จากนั้น นักการเมืองเลวๆ เหล่านี้ก็จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ คอร์รัปชั่น สร้างเครือข่าย กลุ่มตระกูลการเมือง เอาไปสืบทอดอำนาจกันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด

โอ๊ย ยิ่งคิดยิ่งสยดสยอง อีกหน่อยนักการเมืองพวกนี้มันคงเฉือนแผ่นดินเราไปขายคนต่างชาติ

และเราซึ่งเป็นคน “รู้ทันนักการเมือง” ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะคนฉลาดย่อมมีน้อยกว่าคนโง่ เลือกตั้งทีไร คนไทยที่จนและโง่ก็เลือกพรรคไทยรักไทยเข้ามาเป็นรัฐบาลอีก

ถ้าไม่มีรัฐประหาร 2549 ป่านนี้คงไม่มีแผ่นดินไทยให้เราอยู่ เราคงเป็นได้แค่คนอาศัย ประเทศชาติก็จะถูกครอบงำด้วย “ทุนสามานย์”

นักการเมืองที่ครองอำนาจรัฐไปอย่างยาวนานก็จะกลายเป็นเผด็จการภายใต้ “เสื้อคลุมประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง”

ถ้าให้ “สลิ่ม” จินตนาการ ก็น่าจะออกมาประมาณนี้

แต่ถ้าให้คนอย่างฉันจินตนาการว่า “ถ้าไม่มีรัฐประหาร 2549…”

อือม มันยากเหมือนกันที่จินตนาการว่า เมื่อรัฐบาลพรรคไทยรักไทยอยู่จนครบวาระแล้วจะไม่ได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ในสิ่งที่สลิ่มเรียกว่า “ประชานิยม” หรือ “การซื้อเสียงผ่านนโยบายรัฐ”

แต่ฉันเรียกมันว่านโยบายเศรษฐกิจที่ empower คนรากหญ้า มันไม่ใช่การให้ปลา แต่นี่คือการให้ทั้งเบ็ด ทั้งแห ทั้งอวน ให้คนสามารถออกไปล่าเนื้อ หาปลา

พูดอย่างหยาบคือ ทำให้คนไทยจำนวนมากหยุดออกจากความยากจน อาจจะไม่ได้กลายเป็นคนชั้นกลางในบัดดล แต่ทุกคนจินตนาการถึงหนทางที่อยู่ดีกินดีได้

ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความมั่งคั่งที่เป็นตัวเงินเท่านั้นแต่เป็นความมั่งคั่งร่ำรวยทางโอกาส

มองไปทางไหนก็เห็นแต่หนทางของการทำมาหากิน

และคงไม่ต้องฉายหนังซ้ำว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกับการปฏิรูประบบราชการ ระบบผู้ว่าฯ ซีอีโอ ระบบที่ทำให้นักการทูตต้องการเป็นเซลส์แมนขายของ อะไรที่เราควรส่งออกได้ต้องส่งออก ตรงไหนเปิดตลาดใหม่ๆ ได้ต้องเปิด

พร้อมกันนั้นกระบวนการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มีการยกเลิกกฎหมาย ขั้นตอนในระบบราชการที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน ก็ยกเลิก

พร้อมกันนั้นก็มีธนาคารส่งเสริมวิสาหกิจรายย่อย เอสเอ็มอี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีมาก่อน ไม่มีรัฐบาลไหนเคยทำเลย

ถามว่า จุดอ่อนของพรรคไทยรักไทยและทักษิณคืออะไร

หนึ่ง นโยบายสงครามยาเสพติด ฆ่าตัดตอน

สอง แผล เรื่องอุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร

สาม เหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ

สี่ วาทะของทักษิณ ที่ชนชั้นกลางค่อนข้างกระอักกระอ่วนใจ เช่น “ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ” (แต่ตอนนี้ชนชั้นกลางเฉยๆ กับความ “ประหลาดๆ” ของประยุทธ์ ทั้งความงกๆ เงิ่นๆ ตลกๆ แบบมิสเตอร์บีนบนเวทีผู้นำโลก หรือความกร่าง หยาบคายต่อนักข่าว ความพยายามน่ารัก มินิฮาร์ท อย่างผิดที่ผิดทาง ฯลฯ)

ถามว่า ถ้าไม่มีรัฐประหารปี 2549 ฉันคิดว่า พรรคไทยรักไทยน่าจะชนะการเลือกตั้งอีกหากมีการเลือกตั้งในปี 2551 ส่วนนายกฯ อาจจะเป็นหรือไม่เป็นทักษิณก็ได้

ซึ่งปรากฏการณ์นี้น่าจะสร้างความไม่พอใจให้กับชนชั้นกลางอย่างมาก อันเนื่องมาจากวาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา” และ “เผด็จการเสียงข้างมาก” บวกกับความผิวบางของชนชั้นกลางในเรื่อง การเมืองเชิงอัตลักษณ์ และสิทธิมนุษยชน

(ซึ่งภายหลังเราถึงมารู้ว่าตอแหลทั้งเพ เพราะรัฐบาลรัฐประหารละเมิดทุกข้อว่าด้วย สิทธิมนุษยชน แต่สลิ่มที่เคยดีดดิ้นผิวบางเรื่องสิทธิมนุษยชนมากๆ สมัยทักษิณนั้นกลับเงียบกริ๊บ)

 

แต่สมมุติว่า พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอีกในปี 2551 ก็ไม่ได้แปลว่าการรักษาไว้ซึ่งชัยชนะนั้นจะราบรื่นโรยด้วยกลีบกุหลาบ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สื่อ” ที่มองว่าตัวเองเป็นหมาเฝ้าบ้าน และโดยธรรมชาติของสื่อย่อมไม่ไว้ใจรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจนานเกินไป

นั่นแปลว่า รัฐบาลไทยรักไทยต้องเจอกับการตรวจสอบจากสื่ออย่างเข้มข้น รุนแรงที่สุด

และแน่นอนว่า ด้วยการเป็นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง การใช้มาตรการปิดปากสื่อแม้เพียงนิดเดียวก็เป็นเหตุให้รัฐบาลต้องหลุดกระเด็นกระดอนออกจากอำนาจได้ทันที (จึงไม่ต้องแปลกใจว่า ในยุคที่ประเทศไทยบริหารด้วยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อันดับเสรีภาพสื่อของเราสูงมาโดยตลอด ไม่ใช่เพราะรัฐบาลนั้นเป็นคนดี แต่เป็นเพราะกลัวถูกโจมตีจนหลุดจากอำนาจ)

ไม่เพียงแต่ต้องเผชิญกับการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เผ็ดร้อนที่สุดจากสื่อ (แค่ปี 2549 ก็อาจพูดได้ว่าร้อยละ 99 ของสื่อในตอนนั้นก็แสนจะเป็นศัตรูกับไทยรักไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทักษิณ)

ตัวรัฐบาลที่ครองอำนาจยาวนานจนขวบปีที่ 12 ย่อมต้องเผชิญกับความเบื่อหน่ายของประชาชน ไม่ว่าจะบริหารประเทศดีแค่ไหน สิ่งที่เคยครองใจประชาชนได้ก็จะไม่ได้อีกต่อไป เพราะมาตรฐาน และความคาดหวังถูกเซ็ตเอาไว้สูงขึ้นเรื่อยๆ คุณงามความดี คะแนนนิยมอะไรที่เคยดีก็จะถูกเห็นเป็นของตาย

(ไม่ต้องดูอื่นดูไกล ดูตัวฉันเองนี่แหละ สมัยทักษิณเป็นนายกฯ ก็รู้สึกว่างั้นๆ ทุกนโยบายก็แค่โอเค เพราะมันดีกว่านี้ได้ แต่นั่นเป็นเพราะเราไม่เคยเจอประยุทธ์!!!! หูย เจอชีวิตภายใต้ประยุทธ์ไปห้า-หกปีเท่านั้น ย้อนกลับไปดูนโยบายไทยรักไทย ทำไมมันดีเหลือเกิน เมื่อไหร่เราจะมีรัฐบาลที่ทำงานเป็นแบบนั้นอีก นโยบายพื้นๆ ธรรมดา ก็ดูวิเศษวิโสไปหมด เหมือนที่ชาวเน็ตเขาว่า ทักษิณไม่ได้ฉลาด หรือมาก่อนกาลอะไรหรอก แค่เราถูกดึงไว้กับความดักดานนานเกินไปเท่านั้น และถ้าใครอยู่ภายใต้นายกฯ ประยุทธ์ได้เกินสี่ปี ผู้นำคนอื่นๆ ทั้งโลกก็ดูเป็นอัจฉริยะขึ้นมาเชียว)

นอกจากต้องเผชิญกับความเบื่อหน่าย และความคาดหวังที่สูงขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลที่อยู่มายาวนานถึง 12 ปีต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประชากร ลูก หลาน ชาวรากหญ้าที่เคยพอใจกับนโยบาย เศรษฐกิจในแนวทางเสรีนิยมใหม่ จะขยับมาเป็น new voters และคนเหล่านี้ต้องเจอโจทย์ใหม่ๆ ของชีวิตในฐานะ คนที่เพิ่งจะเริ่มต้นเป็นชนชั้นกลาง

พวกเขาเริ่มมีการศึกษาสูงขึ้น พร้อมๆ กับการมีชีวิตที่ยากขึ้น จากภาระการกู้ยืมเงินจาก กยศ.

และผลแห่งนโยบายเศรษฐกิจตามแนวทางเสรีนิยมใหม่จะเริ่มเผยตัวของมันออกมาในรูปของความเหลื่อมล้ำ และนั่นอาจทำให้ new voters เหล่านี้ต้องการพรรคการเมืองที่ซ้ายมากขึ้น และเน้นนโยบายรัฐสวัสดิการมากกว่านโยบายที่สมาทานแนวคิดเสรีนิยมใหม่อย่างของไทยรักไทย

ใช่ ฉันกำลังจะบอกว่า ถ้าไม่มีการรัฐประหาร พรรคไทยรักไทยก็ต้องเผชิญกับภาวะเสื่อมถอยของคะแนนนิยมด้วยปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น

ไม่เพียงเท่านั้น พรรคการเมืองที่ครองอำนาจรัฐไว้ยาวนานในบริบทของประเทศ “ประชาธิปไตยเกิดใหม่” หรือประเทศที่เพิ่งจะมีประชาธิปไตยแบบประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาการเมืองในพรรค ปัญหาหลายกลุ่ม หลายมุ้ง การต่อรองทางผลประโยชน์ของหลายกลุ่มอิทธิพล และพรรคย่อมเป็นที่รวมของเสือ สิงห์ กระทิง แรด

อันมีความเสี่ยงที่จะทำให้พรรคต้องเจอกับประเด็นทุจริต คอร์รัปชั่น โกงกิน เล่นพรรคเล่นพวก ระบบเส้นสาย ต่างๆ นานา และเหล่านี้ก็จะกลายเป็นอาหารอันโอชะของพรรคฝ่ายค้าน และสื่อ ที่เตรียมจ้องตะครุบ เล่นงานตลอดเวลาอยู่แล้ว

เพราะการเมืองระบอบประชาธิปไตยเพลี่ยงพล้ำไปนิดเดียวก็ถึงตาย เพราะพรรคอื่นๆ เขาก็อยากเป็นรัฐบาลเหมือนกัน

 

ทั้งหมดนี้อาจเป็นเพียงจินตนาการของฉัน และหากไม่มีการรัฐประหารปี 2549 ทั้งหมดที่ฉันมโนวิเคราะห์ให้อ่านก็อาจจะไม่เกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น

แต่อย่างน้อยๆ สิ่งที่เราสูญเสียไปโดยสิ้นเชิงคือการเมืองที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และโอกาสที่เราจะได้กำกับความเปลี่ยนแปลงของประเทศด้วยตัวของเราเองในฐานะผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

และที่แน่ๆ หากไม่มีการรัฐประหารปี 2549

อย่างมากที่สุดของความขัดแย้งทางการเมืองของไทยก็แค่คนเอาทักษิณกับคนไม่เอาทักษิณ

และทั้งหมดนี้ก็สู้กันในระบบรัฐสภาและการเลือกตั้ง แล้วเราอาจมีโอกาสได้นายกฯ ทั้งที่เก่ง ไม่เก่ง ทั้งห่วย ทั้งดี และไม่ดี แต่ไม่ว่าจะอย่างไร มันก็จะเป็นบทเรียนของพวกเราในฐานะประชาชน

โลกไม่แตกเพียงเพราะเรามีนายกฯ ห่วยและโง่ ตราบเท่าที่กลไกการเลือกตั้ง รัฐสภา และประชาธิปไตยยังทำงาน

ตรงกันข้ามกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหลังการรัฐประหาร 2549 ที่องคาพยพต่างๆ ที่ใช้ตรวจสอบ ถ่วงดุล อำนาจต่างถูกบิดเบือน ใช้งานเพื่อสนองต่ออำนาจ ผลประโยชน์ของเผด็จการและพวกพ้อง องค์กรอิสระไม่อิสระ องค์กรที่พึงผดุงความยุติธรรมกลับผดุงไว้ซึ่งความอยุติธรรม เรียกได้ว่าเราอยู่ในยุคที่ขาวกลายเป็นดำ ดำกลายเป็นขาว

ท้ายที่สุด รัฐกับประชาชนก็กลายเป็นศัตรูต่อกันอย่างสมบูรณ์โดยที่ประชาชนก็ไม่ได้ตั้งใจและได้ได้ปรารถนาให้เป็นเช่นนั้นแม้แต่น้อย

ประชาชนแค่เรียกร้องประชาธิปไตย ประชาชนแค่เรียกร้องให้ใช้กลไกรัฐสภามาการแก้ไขปัญหาการเมืองอย่างสันติ

แต่สิ่งที่ประชาชนได้รับคือการผลักให้ประชาชนเหลือทางเลือกในมือน้อยลงเรื่อยๆ

น้อยจนที่ทางสำหรับการพูดคุยเจรจาแทบจะไม่เหลือ

เครื่องมือทางกฎหมาย การยุบพรรค การจับนักกิจกรรมไปขังคุก ไม่ให้สิทธิการประกันตัว เหล่านี้คือการจงใจผลักประชาชนให้กลายเป็นอื่น

วิธีกำราบให้กลัวและหลาบจำอาจเคยได้ผลในยุคที่รัฐบาลสามารถทำโฆษณาชวนเชื่อและปิดหูปิดตาประชาชนได้ในยุคที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต แต่มันใช่ไม่ได้ในยุคนี้

มันน่าเสียดาย และเป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ไม่พึงถามนั่นแหละว่า ถ้าไม่มีรัฐประหารปี 2549 ความสง่างามของหลายสิ่งหลายอย่างในประเทศนี้ก็คงจะไม่ถูกทำลาย

จนถึงวันนี้ก็คงเหลือแค่คำถามเดียวเท่านั้นว่า ประชาชนจะกอบกู้ความสง่างามของตนเองในฐานะ “ประชาชน” มาได้อย่างไร?