ควันหลงฮาโลวีน (Halloween) ถนนสายนี้มีฟักทองโชว์ (Pumpkins Show)/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

มงคล วัชรางค์กุล

 

ควันหลงฮาโลวีน (Halloween)

ถนนสายนี้มีฟักทองโชว์ (Pumpkins Show)

 

เทศกาล Halloween-วันปล่อยผี ในอเมริกา คือวันที่ 31 ตุลาคม ย้อนมาถึงอีกครั้งหนึ่ง

สัญลักษณ์ของวัน Halloween คือ ฟักทอง

ทำไมจึงเป็นฟักทอง

ต้องย้อนประวัติศาสตร์กลับไปยังตำนานเรื่อง Jack O ‘Lantern หรือตะเกียงของแจ๊ก เป็นนิทานปรัมปราของชาวไอริช (Irish) ที่เอาฟักทองสีส้มผลใหญ่มาคว้านเนื้อออกแล้วจุดเทียนด้านใน เป็นตะเกียงป้องกันการหลอกหลอนจากภูตผี

ตำนานนิทานปรัมปราของไอริชเล่าถึงเรื่องของแจ๊กจอมตระหนี่ที่หลอกล่อปีศาจที่มาเอาชีวิตเขาได้ถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรกแจ๊กจอมตระหนี่ได้หลอกดื่มเหล้ากับปีศาจที่จะมาเอาชีวิต แล้วให้ปีศาจแปลงร่างป็นเหรียญเพื่อจ่ายเป็นค่าเหล้า เมื่อปีศาจแปลงร่างเป็นเหรียญแล้ว แจ๊กกลับเอาเหรียญใส่กระเป๋าเสื้อใกล้กับไม้กางเขน ทำให้ปีศาจแปลงร่างเดิมกลับมาไม่ได้ แจ๊กจึงยื่นข้อเสนอให้ปีศาจว่า หากอยากจะกลับร่างเดิม ปีศาจต้องสัญญาว่าจะไม่รบกวนแจ๊กเป็นเวลาหนึ่งปี และหากแจ๊กตาย เจ้าปีศาจต้องไม่มาเอาวิญญาณของเขาไป

หลังจากนั้น 1 ปี เมื่อปีศาจคืนร่างเดิม แจ๊กก็หลอกล่อปีศาจให้ปีนต้นไม้เพื่อจะไปเก็บผลไม้ เมื่อปีศาจอยู่บนต้นไม้ แจ๊กก็แกะสลักลำต้นไม้เป็นรูปไม้กางเขน เพื่อที่ปีศาจจะไม่สามารถลงจากต้นไม้ได้ จึงทำให้ปีศาจต้องสัญญาอีกครั้งว่า จะไม่มารบกวนแจ๊กเป็นเวลา 10 ปี

หลังจากนั้นไม่นาน แจ๊กก็เสียชีวิตลง แต่พระเจ้าก็ไม่สามารถรับวิญญาณของแจ๊กขึ้นไปบนสวรรค์ได้ ขณะเดียวกันปีศาจก็มาเอาวิญญาณของแจ๊กไปไม่ได้เพราะจะผิดคำสัญญาที่ให้ไว้

ดังนั้น ปีศาจจึงนำวิญญาณของแจ๊กไปล่องลอยในราตรีที่มืดมิด แล้วให้ถ่านติดไฟไว้นำทาง แจ๊กจึงเอาถ่านติดไฟไปใส่ในหัวผักกาดแกะสลักแล้วล่องลอยไป-มาในโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมา

จากนั้น ชาวไอริชจึงมักพูดถึงผีว่าเป็น Jack of the Lantern ซึ่งต่อมากลายเป็นชื่อสั้นๆ ว่า Jack O’ Lantern

ต่อมาชาวไอริชจำนวนหนึ่งอพยพจากไอร์แลนด์มาอเมริกา จึงนำเทศกาล Halloween มาด้วย และค้นพบว่าในอเมริกามีฟักทองที่เหมาะจะเจาะคว้านใส่ถ่านติดไฟนำทาง ประจวบกับฤดูเก็บเกี่ยวฟักทองตรงกับช่วงปลายเดือนตุลาคมมีฟักทองออกมามากมาย

ตะเกียงนำทาง Jack O’ Lantern จึงเปลี่ยนจากหัวผักกาดแกะสลักเป็นฟักทองคว้านใส่ถ่านติดไฟ

ฟักทองจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัน Halloween ด้วยประการฉะนี้

ปลายเดือนตุลาคม ปี 2019 หนึ่งปีก่อน Covid-19 ผมและคนข้างกายขับรถจากบ้านเรดดิ้ง รัฐเพนซิลเวเนีย ขับ 9 ชั่วโมงขี้นไปเที่ยวที่รัฐเมน (Maine) รัฐด้านเหนือทางตะวันออกสุดของอเมริกา ไปพักที่อ่าว Boothbay Harbor อันงดงามทางเหนือของรัฐเมน

มื้อกลางวันวันรุ่งขึ้นหลังได้อิ่มอร่อยกับล็อบสเตอร์แล้ว เราเดินทางต่อบนถนนสาย Local อีกราวหนึ่งชั่วโมงผ่านสะพานริมทะเล แล้วลัดเลาะผ่านหมู่ไม้ที่แข่งกันแต่งตัว อวดเฉดสีจัดจ้านของแดง เหลือง น้ำตาล เขียว ส้ม ละลานตา ไปบนถนนที่ไต่ลดเลี้ยวขึ้นลงตามเนินสูงต่ำ มีบ้านเรือนอยู่เป็นระยะห่างไกล

โรงเรียนเลิกพอดี รถบัสโรงเรียนสีเหลืองนำเด็กนักเรียนมาจอดส่งให้พ่อ-แม่ที่ออกมายืนคอยรับลูกหน้าบ้าน แล้วจูงมือลูกพาเดินเข้าบ้าน เป็นภาพประทับใจ

บ้านเรือนแถบนี้ไม่มีหลังไหนล้อมรั้วบ้าน

ถนนแสนสวยพาเรามายังเมืองชื่อ Damariscotta ชื่อแปลกๆ เหล่านี้มาจากภาษาชนเผ่าอินเดียนแดงเจ้าของถิ่นเดิม เป็นเมืองที่อยู่ด้านในสุดของแผ่นดินใหญ่ที่ติดกับเวิ้งอ่าว เลี้ยวรถเข้าไปจอดรถในลานจอดรถขนาดใหญ่ 2 บล็อกที่สร้างไว้ริมทะล มีม้านั่งให้นั่งชมวิวทะเลเป็นระยะ เห็นหมู่นกทะเลเริงระบำเหนือยอดคลื่น แต่ลมแรงมาก ชมนกไม่ได้นาน

เรามาเมืองนี้ตามคำแนะนำของเจ้าของโรงแรมที่บอกไว้เมื่อคืน เพราะที่ Main Street ถนนสายเดียวของเมืองกำลังมีเทศกาล “ฟักทองโชว์” แต่งฟักทองต้อนรับเทศกาล Halloween

เป็นงาน “Pumpkins Show” ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา

เรามาในจังหวะที่พอดี จึงเป็นสิ่งที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

 

เดินจากลานจอดรถขึ้นมาก็เจอกับ Main Street ของเมือง เป็นถนนที่เชื่อมต่อกับ Local Road ที่เราขับมา ถนนสายนี้คือศูนย์กลางการค้าของเมือง มีร้านค้าเรียงรายสองฟากถนน เป็นช่วงถนนที่ไม่ถึงกับยาวมากนัก

เกือบทุกร้านจะมีการแต่งฟักทองโชว์ไว้หน้าร้าน บางร้านแต่งไว้ที่กระจกหน้าต่างในร้าน

ด้วยฟักทองเป็นสัญลักษณ์ของ “วัน Halloween” ที่กำลังจะมาถึงในวันสุดท้ายของเดือนตุลาคม

เดินขึ้นมาที่หัวถนน Main Street เจอฟักทองอันแรกแต่งเป็นหน้ากระต่ายวางอยู่บนลังไม้ริมฟุตปาธ กระต่ายฟักทองตัวนี้อมยิ้มน่ารักทีเดียว ที่ข้างลังมีป้ายกระดาษบอกน้ำหนักฟักทอง และชื่อศิลปินที่รังสรรค์ผลงาน

ผู้คนนักเดินทางต่างมาถ่ายรูปกับฟักทองกระต่ายน่ารักตัวนี้

ฟักทองที่แต่งโชว์ทุกอันจะมีป้ายบอกขนาดน้ำหนักและชื่อศิลปินเจ้าของผลงาน

ถัดไปเป็นฟักทองลูกใหญ่และลูกเล็ก 2 ลูก วางอยู่ในลังที่แต่งเป็นรถลากสวยงามทีเดียว แถมที่ตู้โชว์ร้านนี้ยังมีฟักทองวางเรียงรายเป็นแถว

อีกร้านแต่งเป็นกองฟาง 3 กอง กองแรกเป็นกองฟางธรรมดา กองที่สองทาสีแดง กองที่สามด้านบนทาสีขาวข้างล่างทาสีเขียว ด้านบนกองฟางแต่ละกองมีฟักทองวางอยู่

หน้าร้านต่อมาแต่งฟักทองเป็นแม่ไก่นอนกกไข่บนลังไม้ ขนาบสองข้างด้วยฟักทองรูปหมีวางบนลังไม้และรูปลูกหมีวางบนเก้าอี้

ที่ผมชอบมากอีกสองอัน คือฟักทองแต่งเป็นจระเข้ยักษ์ จระเข้ตัวนี้คอหอยโหนกใหญ่ด้วยฟักทอง นอนขมวดหางบนลังไม้

อีกแห่งแต่งฟักทองเป็นหงส์รำแพน แผ่ปีกสีเหลืองแดงสวยงาม

เช่นกัน ที่ผมชอบมากอีกอันจนต้องถ่ายรูปด้วย อยู่ที่ถนนฝั่งตรงข้าม แต่งฟักทองเป็นรูปหน้ายักษ์ ตาโตอ้าปากเห็นเขี้ยว แต่เป็นยักษ์ในจินตนาการของฝรั่ง ไม่ใช่ยักษ์ในรามเกียรติ์

บนฝั่งถนนเดียวกันนั้น มีฟักทองแต่งเป็นรูปหน้าหมูหน้าแดง หูแดง จมูกโต ตากลมแป๋ว

ฟักทองบางลูกแต่งคล้ายรูปปลาปักเป้ากำลังอ้าปาก เห็นฟันเต็มปาก

ต้องขอบใจเหล่าศิลปินแห่งเมือง Damariscotta ที่มีไอเดียบรรเจิดสร้างสรรค์ “ฟักทอง” ให้งามผุดผ่องตา พาให้ Main Street ของเมือง Damariscotta สวยงามดุจเมืองในเทพนิยาย โด่งดังทั่วอเมริกา

มาที่ Main Street กันแล้วทั้งที จะเอาแต่ชม Pumpkins Show อย่างเดียวได้อย่างไร จีงต้องมีการช้อปปิ้งเข้าร้านโน้น ออกร้านนี้ ดูเสื้อผ้าแพรพรรณที่โชว์ในร้าน จนมาถึงร้านซูวีเนียร์พวกเครื่องประดับ จึงได้มีการช้อปต่างหู เข็มกลัดเกิดขึ้น

ชายเจ้าของร้านเล่าว่ามาจากเมืองแมนเชสเตอร์ อังกฤษ มาได้แฟนเป็นคนแถวนี้ เปิดร้านขายเครื่องประดัมมา 17 ปีแล้ว ในหน้าร้อนแห่งฤดูการท่องเที่ยวจะขายดีมาก

เห็นป้ายร้านอาหารไทยร้านหนึ่งในเมือง Damariscotta ตื่นตาตื่นใจมากที่มีร้านไทยมาอยู่ในเมืองท่องเที่ยวแสนไกลในอเมริกา แต่เวลาที่มาพบนั้นเป็นตอนบ่ายสามโมงเย็น ร้านหมดเวลาอาหารกลางวันแล้ว จะเปิดอีกทีตอนห้าโมงเย็น

ตั้งใจจะมาอุดหนุนในช่วงเปิดร้านตอนเย็น

อำลา Pumpkins Show บน Main Street แห่งเมือง Damariscotta เพียงแค่นี้ก่อน

แล้วเราขับรถบ่ายหน้าสู่ปลายแหลมของแผ่นดินด้านนี้ที่มีชื่อว่า Yellow Head มุ่งสู่ประภาคารชื่อ Pemaquid Point Lighthouse และในบริเวณเดียวกันยังเป็นสวนสาธารณะชื่อ Pemaquid Point Lighthouse Park อีกด้วย

นี่คือปลายสุดแผ่นดินริมมหาสมุทรแอตแลนติก

ตามธรรมดาในช่วงหน้าร้อนแห่งฤดูการท่องเที่ยว รถยนต์ที่จะเข้ามาในพาร์กจะต้องเสียค่าผ่านทาง แต่เมื่อหมดฤดูการท่องเที่ยวจึงไม่มีการเก็บค่าผ่านทางตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ไปจนตลอดหน้าหนาว มาว่ากันอีกทีปีหน้า

เช่นเดียวพิพิธภัณฑ์ที่อยู่เคียงข้างกับประภาคารก็ปิดหนีหนาวเช่นกัน

จึงได้แต่ลงไปถ่ายรูปกับประภาคารและวิวมหาสมุทรแอตแลนติกอันไพศาล เกลียวคลื่นโหมซัดสาดแนวหินดังกระหน่ำโครมครืน เสียงลมแรงกรีดร้องก้องไปทั่ว ดังน่าระทึกใจยิ่งนัก

รีบถ่ายรูปแล้วรีบกลับขึ้นรถกันอย่างรวดเร็ว เพราะข้างนอกหนาวนัก อีกทั้งลมจากมหาสมุทรพัดแรงจนตัวแทบปลิว

นี่คือความจริงแห่งสายลมแรง, เกลียวคลื่น และท้องทะเล

ไม่มีเวลาใส่ใจกับหมู่ไม้นานาพันธุ์ในสวนแต่อย่างใด

เราขับกลับจากประภาคารวนไปบนถนนอีกด้าน ผ่านหมู่บ้านประมงเล็กๆ ผ่านท่าขึ้นปลา มีเรือประมงจอดอยู่ที่ปลายท่า มีรถมาจอดรอเทียบขึ้นปลาจากเรือ ปลาในที่นี้คือล็อบสเตอร์ มีป้ายชื่อพร้อมรูป Lobsters และป้ายชื่อสหกรณ์ประมง Fisheries Co-Operative

ทำให้รู้ว่าในอเมริกาก็มี “สหกรณ์ประมง” เหมือนกัน

และทำให้รำลึกถึง “สหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด” (Mae Klong Fishery Co-Operative) ที่ผมมีส่วนร่วมเป็นผู้ก่อตั้ง บุกเบิกตั้งแต่ปี พ.ศ.2525 เมื่อ 39 ปีที่แล้ว

จนเป็นสหกรณ์ประมงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

สร้างงาน สร้างอุตสาหกรรมประมงต่อเนื่อง ให้ลูก-หลานชาวประมงแม่กลอง ตราบจนทุกวันนี้