เผือกร้อน!! อัพสกิล-รีสกิล แรงงาน ไทยวิ่งไปข้างหน้า หรือแค่ย่ำอยู่กับที่/รายงานเศรษฐกิจ

รายงานเศรษฐกิจ

 

เผือกร้อน!!

อัพสกิล-รีสกิล แรงงาน

ไทยวิ่งไปข้างหน้า หรือแค่ย่ำอยู่กับที่

 

การเพิ่มทักษะความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือการอัพสกิล รีสกิล ที่กำลังมีการพูดถึงกันอย่างหนาหู ตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พอหลังจากเกิดการแพร่ระบาด หลายธุรกิจเริ่มตื่นตัวมากขึ้น เนื่องจากได้รับผลกระทบแบบเต็มประตู อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ธุรกิจสายการบิน และธุรกิจประเภทออฟไลน์ เป็นต้น

ผลของการไม่ปรับตัวในช่วงแรกที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้มีคนจำนวนมากตกงาน ธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลางเริ่มล้มหายตายจากเพิ่มมากขึ้น

หลังจากนั้นเราจึงได้เห็นคนไทยปรับตัวมากขึ้น ทั้งเปลี่ยนจากทำงานอาชีพประจำมาขับรถส่งอาหาร หรือแม่ค้าที่เคยขายสินค้าในห้างสรรพสินค้า หรือตลาดนัด ก็หันมาขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

สะท้อนให้เห็นว่าหลังจากนี้ อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจได้อีก ซึ่งในปัจจุบันหลายประเทศเริ่มมีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาใช้กันมากแล้ว อาทิ จีน ที่ในบางโรงงานเริ่มลดจำนวนคนลง แล้วหันมาใช้หุ่นยนต์โดยสั่งการผ่านระบบเอไอแทน เป็นต้น

ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ยิ่งเป็นเหตุผลให้ไทยต้องรีบพัฒนาทักษะให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และการถูกดิสรัปชัน (Disruption) โดยเร็ว

 

นอกจากปัญหาเรื่องการถูกดิสรัปชันแล้ว ในปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องแรงงานต่างชาติหรือแรงงานไร้ทักษะ ที่กำลังเป็นที่ต้องการอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากงานส่วนใหญ่ที่ดึงแรงงานต่างชาติมาทำ ล้วนเป็นงานที่คนไทยไม่ทำ เพราะมองว่าค่าแรงต่ำเกินไป

จึงทำให้ปัจจุบันเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในหลายอุตสาหกรรม

และด้วยเหตุผลนี้เอง อาจนำไปสู่เรื่องการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำให้สูงขึ้นกว่าปัจจุบันอีกครั้ง แม้ตอนนี้รัฐกำหนดค่าจ้างรายวันไม่ถึง 400 บาทต่อวัน แต่ความจริงขอรับจริง 700-800 บาทกันแล้ว ซึ่งจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมและเพิ่มภาระให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

หากเป็นเช่นนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้อาจได้เห็นธุรกิจล้มหายเป็นโดมิโนในที่สุด

แม้ในหลายอุตสาหกรรมจะขาดแคลนแรงงาน แต่ปัจจุบันยังมีนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำกว่า 7-8 แสนคน เป็นผลมาจากสาขาวิชาที่เรียนในตลาดแรงงานมีจำนวนพนักงานมากพอแล้ว หลายสถาบันการศึกษาจึงเริ่มปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดแรงงานแต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ และส่งผลให้นักศึกษาที่จบออกมายังค้างท่ออยู่

ดังนั้น ถึงวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องปรับตัวอย่างจริงจัง ให้สมกับการก้าวสู่ยุคดิจิตอลที่ในสายตาภาคเอกชนอย่าง สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) มองว่าประเทศไทยก้าวสู่ยุคดิจิตอลแค่ในนามเท่านั้น ในหลายอุตสาหกรรมยังต้องใช้แรงงานคนในการขนย้ายสินค้า และผลิตสินค้าอยู่เลย เห็นได้จากความต้องการแรงงานที่มีมากขึ้น

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติแรงงานในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 เปรียบเทียบก่อนการระบาดของโควิด-19 หรือช่วงมีนาคม 2563 กับข้อมูลช่วงเดือนกันยายน มีจำนวนแรงงานไทยลดลงถึง 693,204 คน หายไปกว่า 5.91%

ขณะที่แรงงานต่างด้าว ณ ช่วงเวลาเดียวกันลดลง 467,357 คน หายไปถึง 16.6%

แม้ในตอนนี้จะอยู่ในช่วงที่มีความต้องการแรงงานมากที่สุด แต่ขณะเดียวกันมองว่าช่วงนี้เป็นเวลาที่สำคัญที่จะต้องเร่งปรับเปลี่ยนและผลิตคนเพื่อป้อนอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงเป็นการช่วยให้สิ่งใหม่ๆ เกิดได้เร็วขึ้นอีก อาทิ อุตสาหกรรมดิจิตอล และหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น ที่ในอนาคตจะยิ่งมีความต้องการมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันแรงงานทักษะสูง หรือกลุ่มที่มีความรู้เรื่องดิจิตอลในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อยอยู่

ดังนั้น จึงต้องเร่งสร้างแรงงานกลุ่มนี้ออกมาเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของอาชีพโดยเร็วต่อไป

 

จากปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญ เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า การที่ประเทศไทยจะสามารถตามประเทศที่พัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิตอลอย่าง ประเทศญี่ปุ่นได้นั้น ต้องมีการปรับตัวและปฏิรูปด้านการศึกษา

ตอนนี้ต้องยอมรับก่อนว่าระบบการศึกษาของไทยยังไม่ทันสมัย ยังไม่ทันเหตุการณ์ รวมถึงอาชีพเก่าๆ ที่มีหลักสูตรสอนเมื่อจบหลักสูตรแล้วคนเหล่านั้นยังไม่มีงานทำ เนื่องจากอาชีพและธุรกิจต่างๆ เปลี่ยนไปหมดแล้ว

ดังนั้น เรื่องนี้จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง รวมถึงปรับหลักสูตรใหม่ให้สอดคล้องไปกับความเป็นจริง และการเรียนจะต้องมีการผสมผสานระหว่างความรู้ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ และคณิตศาสตร์ หรือต้องมีความรู้ความเข้าใจทั้งเรื่องศิลปะ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน

อีกทั้งหลังจากนี้ต่อไป ในการเรียนรู้ใบปริญญาจะมีความสำคัญลดลง ทุกคนจะให้ความสนใจกับคนที่มีทักษะความรู้รอบด้านมากกว่า เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ดังนั้น แรงงานจะต้องมีการอัพเดตสกิลของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยี และการปรับเปลี่ยนของเศรษฐกิจโลกต่อไป

ส่วนเรื่องของการอัพสกิล รีสกิล ขณะนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับหลักสูตรการศึกษาในทันสมัย สอดคล้อง และตรงกับอาชีพในปัจจุบันและอนาคต ส่วนการดำเนินงานของ ส.อ.ท. ก็มีการจัดตั้ง FTI Academy เพื่อให้แต่ละหน่วยงานหรือสมาชิกของ ส.อ.ท.แสดงความต้องการ ว่าต้องการคนประเภทไหน หรือต้องการปรับทักษะแรงงานที่มีอยู่อย่างไร โดย FTI Academy จะเป็นตัวกลางในการดึงสถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่เป็นพันธมิตร เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและผลิตแรงงานได้อย่างตรงจุด และตรงต่อความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ หลังจากจบหลักสูตรจะมีมาตรฐานในการวัดผลหลังการอัพสกิล รีสกิลด้วย หากผ่านการทดสอบยืนยันว่ามีงานทำแน่นอน

 

อย่างไรก็ตาม แม้ดูเหมือนว่าไทยยังมีจุดอ่อนเรื่องแรงงานมากมาย แต่ในสายตาของภาคเอกชน หรือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ไทยยังถือว่าเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ แต่ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับการพัฒนาของภาครัฐทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี ที่ต้องตามโลกยุคปัจจุบันให้ทัน อีกทั้งในเรื่องของการพัฒนาเพิ่มทักษะให้เด็กรุ่นใหม่

หากทำได้เชื่อว่าไทยยังสามารถเดินหน้าได้อีกไกล

ซึ่งเรื่องของการพัฒนาทักษะแรงงานไทยยังนำประเทศเวียดนาม มองว่าอีกหลายปีกว่าเขาจะตามเราทัน และย้ำว่าหัวใจของการขับเคลื่อนประเทศในยุคนี้คือคนรุ่นใหม่ แม้ว่าในช่วงนี้ไทยจะสูญเสียความสวย ความเซ็กซี่ไป แต่ไทยก็ยังมีส่วนประกอบที่ดี ทั้งก่อนที่เกิดโควิดหรือช่วงที่เกิดโควิด

จากหลากหลายความเห็นเชื่อมั่นว่าไทยสามารถวิ่งตามประเทศคู่แข่งได้ทัน แต่จะสามารถกระโดดข้ามกับดักปัญหาในประเทศไปได้หรือไม่นั้น เป็นด่านที่รัฐจะต้องเร่งสปีดข้ามผ่านให้ได้ต่อไป

ไม่อย่างนั้นที่พูดว่าปี 2565 เป็นปีแห่งการฟื้นฟู หลังผ่านวิกฤตโควิด อาจไม่ทันการณ์