การเมืองชายแดนคึก หลังพลังประชารัฐลงใต้/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

การเมืองชายแดนคึก

หลังพลังประชารัฐลงใต้

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พร้อมด้วยนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ส.ส.จากพื้นที่ กทม. และสงขลา ร่วมเดินทางมายังสนามกีฬา L SOCCER PARK เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อเป็นประธานในการประชุมจัดตั้งสาขาพรรคพลังประชารัฐ สาขาภาคใต้ ในพื้นที่ อ.สุไหงโก-ลก ที่ได้โยกย้ายสาขาภาคใต้ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.กระบี่ มาตั้งไว้ยังที่นี่ พร้อมทั้งพบปะสมาชิกพรรคและกล่าวปราศรัย

โดยมีนายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ เขต 2 และกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งพลังมวลชน ซึ่งประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำท้องถิ่น และพลังมวลชน จำนวนกว่า 500 คน คอยให้การต้อนรับ

สะท้อนสัญญาณทางการเมืองเพื่อชิงแชมป์ พรรค “ประชาชาติ” ที่กวาดที่นั่ง ส.ส.ชายแดนใต้ 6+1ในครั้งที่ผ่านมา

จนมีข่าวลือว่า จะมีคนพรรคฝ่ายค้าน (พรรคประชาชาติ) เข้าซบพรรคพลังประชารัฐ ทำให้นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ (ทนายแวยูแฮ) ส.ส.จากนราธิวาส พรรคประชาชาติ ออกมาสวนอย่างทันควัน ว่า “อ่านข่าวนี้แล้ว อยากรู้เหมือนกันว่าเขาคนนั้นคือใคร มีคนสอบถามมามาก สำหรับผมขอยืนยันว่า ไม่ใช่ ส.ส.แวยูแฮ แน่”

ไม่เพียงประชาชาติเท่านั้นที่มี Feedback ต่อการลงพื้นที่ของพลังประชารัฐแต่ทุกพรรคต้องลงพื้นที่อย่างหนักทำให้การเมืองชายแดนคึกคักมากๆ

โดยก่อนหน้านี้วันที่ 29 กันยายน 2564 พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตประธานยุทธศาสตร์ภาคใต้ พรรคพลังประชารัฐประกาศนำ 13 ส.ส.ใต้ ทิ้งพรรคพลังประชารัฐ แต่ปรากฏว่า ส.ส.ชายแดนใต้ไม่รับลูก

แถมยังได้ ส.ว. “อนุมัติ อาหมัด” ทิ้งเก้าอี้ ส.ว.มาจับมือ “บิ๊กป้อม” และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ลงใต้ครั้งนี้

 

ประชาธิปัตย์ตัวสอดแทรก

เปิดตัว “ดารา” คนใหม่

แต่มีปัญหาคนเก่า

เมื่อวันที่ 13 กันยายน นายเจะอามิง โตะตาหยง อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ซึ่งเป็นอดีต ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ตนพร้อมพวกอีก 8 คนที่อยู่กับพรรค รปช. ได้ลาออกจาก รปช. และขอย้ายกลับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะดูแล้วการต่อสู้ทางการเมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ต้องเป็นพรรคการเมืองใหญ่ และพรรคใหญ่ตนก็ไปพรรคอื่นไม่ได้ เพราะอุดมการณ์ต่างกัน ดังนั้น จึงกลับบ้านเก่าดีกว่า มีโอกาสมากกว่า เพราะมีพื้นที่ให้ทำงานสูง ส่วนพื้นที่ในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.นั้น กำลังคุยในรายละเอียดอยู่ เพราะพื้นที่อาจทับซ้อนกับผู้สมัครเดิมหลายพื้นที่ จึงต้องค่อยๆ ปรับก่อน เนื่องจากเมื่อระบบเลือกตั้งเปลี่ยนเป็นบัตร 2 ใบ เขตเลือกตั้งก็ต้องเปลี่ยนด้วย ส่วนตนนั้นขอลงในเขตเดิมแนวโน้มพรรคการเมืองที่ได้ประโยชน์ที่ชายแดนภาคใต้

ล่าสุด ประชาธิปัตย์เปิดตัวนักร้องเลือดมุสลิมหวังดึงคะแนนคนรุ่นใหม่ เมธี ลาบานูน

ในขณะที่ชาวบ้านมองว่า “การเลือกตั้งที่ผ่านมาเสียดายคะแนนชาวบ้านชายแดนภาคใต้หลายหมื่นคะเเนนที่เทไปแต่กลับไปได้ ส.ส.จากนอกพื้นที่แม้เป็นรัฐบาล รปช.ก็ไม่เคยให้ประโยชน์อะไรกับชาวบ้าน”

ส่วนอันวาร์ สาและ ส.ส.จังหวัดปัตตานีที่เห็นค้านกับพรรคประชาธิปัตย์ตลอดก็ต้องจำใจหาพรรคลงเลือกตั้งสมัยหน้าเพราะแนวโน้มพรรคคงไม่เอาลง แต่ย่อมส่งผลคะแนนพรรคประชาธิปัตย์ไม่มากก็น้อยในฐานะ ส.ส.เก่าหลายสมัย

ทั้งนี้ ประชาธิปัตย์มีปัญหาภายในโดยเฉพาะประเด็น ส.ส.หนึ่งเดียวอย่าง อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี 4 สมัยมาตลอด เหตุการณ์ประชุมสภาหลายๆ ครั้งที่นายอันวาร์โหวตสวนทางพรรคประชาธิปัตย์ ใช้เอกสิทธิ์ของตนเอง ตัดสินใจเองไม่เกรงใจใคร ไม่ว่าจะเป็นอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะฯ และแสดงทัศนะหลายๆ ครั้งในสภาและนอกสภา วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น ที่ค่อนข้างไม่เห็นด้วยตลอดมากับรัฐบาล

ซึ่งล่าสุดที่ผ่านมามีความรู้สึกที่รับไม่ได้กับการลงพื้นที่แก้ปัญหาชาวประมงปัตตานี ที่สมาคมประมงปัตตานี เมื่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และรองหัวหน้าพรรคฯ ไม่จัดสรรที่นั่งประชุมสำหรับนายอันวาร์ ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่รับผิดชอบของตัวเอง

ครั้งนี้ผู้ใกล้ชิด ส.ส.หลายคนถึงกับรับไม่ได้ เหมือนโดนหยามในถิ่น ไม่ให้เกียรติ มีเสียงเชียร์กระหึ่มจากคนพื้นที่ให้ออกจากพรรคทันที กลายเป็นปมร้าวลึกตอกย้ำความสัมพันธ์ที่ถูกถ่างให้ห่างกันมากขึ้น

ต่อมาจึงเกิดแรงเหวี่ยงมาถึงที่พรรคอื่นๆ ในทันที

เวลานี้ ส.ส.อันวาร์จึงเนื้อหอม ถูกทาบทามจากพรรคเล็ก พรรคใหญ่ 4-5 พรรคต่อสายกันอย่างอุตลุด

 

ภูมิใจไทย ลงพื้นที่ไม่หยุด

ผ่านการแก้ปัญหาโควิด

“ส.ส.ภูมิใจไทย” และหัวหน้าพรรค “อนุทิน ชาญวีรกูล” ลง 4 จังหวัดชายแดนใต้ติดตามโควิดระบาดหนักอย่างต่อเนื่อง พร้อมพบปะผู้นำชุมชน-อสม. โดยให้ความมั่นใจระบบสาธารณสุขภาคใต้ยังไม่ล่ม เรียกว่า ทำทั้งการบ้านและการเมือง

ไม่เพียงเท่านั้น ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย แบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ยะลา เขต 1 และเขต 2 (เดิมอยู่กับพรรคประชาชาติ) ร่วมประชุมหารือกับประธานชมรมตาดีกาจังหวัดยะลา และประธานชมรมตาดีกาอำเภอเมืองยะลา รามัน ยะหา และ อ.กาบัง

เพื่อก่อตั้งกองทุนอาหารกลางวันตาดีกา ที่สำนักงานชมรมตาดีกาจังหวัดยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา เมื่อ 13 พฤศจิกายน 2564 เพื่อมุ่งหาเสียงสนับสนุน

 

ก้าวไกลหวังคะเเนนคนรุ่นใหม่

ก้าวไกลหวังคะเเนนคนรุ่นใหม่

โดยเน้นนโยบายไม่เอาทหาร การซ้อมทรมาน ความอยุติธรรม ขับเคลื่อนเรื่องนี้ตลอดที่สภาผู้แทนราษฎรและกิจกรรมไล่ลุงตู่ที่พื้นที่

โดยเฉพาะ ‘ช่อ’-น.ส.พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ลงพื้นที่ด้วยตนเอง

ล่าสุด ข่าววงในระบุว่า เตรียมส่งอดีตประธานกลุ่ม PerMAS ชิงเก้าอี้ ส.ส.เขต 1 ปัตตานี ซึ่งเป็นเขตเมือง มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หรือ ม.อ.ปัตตานี

หวังฐานเสียงคนรุ่นใหม่

 

ประชาชาติแชมป์เก่า

นำทัพ ส.ส. 3 จว.ใต้ พบผู้นำศาสนา-คนรุ่นใหม่

พร้อมลั่นคว้าชัยทั้ง 12 เขต

12 พฤศจิกายน 2564 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นำทัพ ส.ส. 3 จังหวัดใต้ พบผู้นำศาสนา-คนรุ่นใหม่ พร้อมประกาศว่า เมื่อตั้งพรรคใหม่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เรายังไม่เป็นที่รู้จัก ยังได้รับความไว้วางใจจากพ่อแม่พี่น้องประชาชนเลือกตัวแทนของพี่น้องประชาชนเข้าสู่รัฐสภารวมทั้งสิ้น 6 คน และทำให้เราได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีก 1 คน

ส่วนการเลือกตั้งในครั้งต่อไปไม่ว่าจะเป็นบัตร 2 ใบหรือบัตรใบเดียว พรรคประชาชาติมั่นใจว่าผลงานต่างๆ ที่ได้กล่าวไปแล้วจะส่งผลให้พรรคประชาชาติได้คะแนนมากขึ้นอย่างท่วมท้นทั้ง 12 เขต

 

นโยบายท้องถิ่นนิยม

เป็นปัจจัยชนะการเลือกตั้ง

ภายใต้กติกาบัตรสองใบ

สําหรับสนามเลือกตั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) เป็นการชิงเก้าอี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รวม 11 ที่นั่ง

ปรากฏว่าพรรคประชาชาติ ที่ชูจุดแข็งความเป็นนักการเมืองมุสลิมมลายู คว้าเก้าอี้มาครองได้มากที่สุด 6 เขต ตามด้วยพรรคพลังประชารัฐ 3 เขต ประชาธิปัตย์ 1 ภูมิใจไทย 1+1 (เพชรดาวได้ปาร์ตี้ลิสต์) อนาคตใหม่ 1 จากผลพวงปาร์ตี้ลิสต์จากกระแสคนรุ่นใหม่และแนวคิดประชาธิปไตยที่ไม่เอาทหาร

ภาพรวมระดับประเทศบัตรสองใบ เพื่อไทยและประชาธิปัตย์ จะแฮปปี้ เพียงแต่น่าสงสัยว่าทำไมพลังประชารัฐถึงยอมเอาด้วยกับบัตรสองใบ

แต่ในเมื่อพลังประชารัฐถือกลไกอำนาจรัฐทั้งหมดแล้วคงวางแผนมาอย่างดีแม้จะมีข่าวพรรคแตกหรือสามัคคีทุกวัน

แต่ที่แน่นอนคือ บัตรสองใบทำให้พรรคก้าวไกล ภูมิใจไทย ก็ไม่ค่อยแฮปปี้

ส่วนพรรคเล็กทั้งหมดที่เรียกว่าที่ได้มาจากการปัดเศษไม่เอาอย่างแน่นอน

ดังนั้น สำหรับชายแดนภาคใต้การขับเคี่ยวสำหรับ ส.ส.เขตคงเป็นคนเดิมเพราะคนที่นี่เลือกบุคคล

ส่วนปาร์ตี้ลิสต์น่าขับเคี่ยวกันสามพรรคคือ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์และพรรคท้องถิ่นนิยมอย่างประชาชาติ (โดยพรรคเพื่อไทยพันธมิตรปะชาชาติจะกินยากสำหรับที่นี้)

ซึ่งบัตรสองใบพรรคท้องถิ่นนิยมจะได้กำไรไม่ว่าที่ชายแดนใต้หรือที่ชลบุรีหากเราดูบทเรียนพรรคพลังชล ของคนในตระกูลคุณปลื้ม

ดังนั้น โจทย์อีกตัวของทุกพรรคคือนโยบายท้องถิ่นนิยมจะนำเสนอและขับเคลื่อนอย่างไรสู่ปฏิบัติในการเลือกตั้งสมัยหน้า

แต่ถ้าไม่ได้เป็นรัฐบาลก็จบเหมือนกันที่จะนำนโยบายสู่การปฏิบัติ