เทคโนโลยีสอนนกให้บินบนฟ้า สอนปลาให้ว่ายน้ำ/ทะลุกรอบ ป๋วย อุ่นใจ

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

ทะลุกรอบ

ป๋วย อุ่นใจ

 

เทคโนโลยีสอนนกให้บินบนฟ้า

สอนปลาให้ว่ายน้ำ

 

วันนั้น เป็นเวลาเย็นย่ำค่ำ สายลมโชยพัดหวีดหวิว หิมะปลิวร่วงหล่นเคลือบถนนจนเป็นสีขาวโพลน สะอาดตา อีกไม่ช้า รถเกลี่ยหิมะคงจะมากวาดหิมะสีขาวปุกปุยไปกองรวมกันอยู่ข้างถนน พร้อมกับโปรยเกลือผสมกรวดทรายไปทั่ว จนดูเลอะเปรอะไปทั้งเมือง

ชายหนุ่มร่างผอมบาง (ผมเอง ตอนนั้นยังผอมอยู่) กำลังเดินกลับบ้านหลังจากเลิกงาน เขาสวมแจ๊กเก็ตขนเป็ดหนาเตอะ ที่แม้จะดูอ้วนปุกปุย แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะระงับความเหน็บหนาวของอากาศได้ มือของเขาสั่นเทาด้วยความหนาว ไอน้ำก่อตัวขึ้นเป็นฝ้าบนแว่นตาเล็กๆ ทุกครั้งที่เขาพ่นหายใจออกมา

เขาแวะพักที่ร้านเช่าดีวีดี (ตอนนั้นยังไม่มีเน็ตฟลิกซ์) เพื่อให้คลายหนาว และกะว่าจะหาอะไรกลับไปดูเพื่อคลายเครียดตอนถึงบ้าน เดวิด เด็กเฝ้าหน้าร้านดีวีดี ทักทาย “เฮย์ เป็นไงบ้าง ข้างนอกหนาวมั้ย”

ชายหนุ่มมองหน้าเดวิดด้วยความเอือมระอา สภาพเขาตอนนี้ ยังกะลงไปนอนกลิ้งคลุกน้ำแข็งไสมา ดันถามมาได้ว่าหนาวมั้ย!

“มีเรื่องอะไรเข้าใหม่บ้าง” เขาถามเสียงเหนื่อย พร้อมทั้งถูมือที่เพิ่งถอดออกจากถุงมือไปมาเพื่อให้อบอุ่น

“ยูชอบถ่ายรูปนี่ ต้องเรื่องนี้เลย Winged Migration เป็นสารคดีเกี่ยวกับนกอพยพ ยูได้ดูหรือยัง” เดวิดตอบกระตือรือร้นน้ำเสียงอยากบริการเต็มที่

หนาวจนสมองไม่พร้อมจะคิดอะไร ชายหนุ่มตอบน้ำเสียงราบเรียบ พร้อมยื่นบัตรสมาชิกให้ “ยัง ยูแนะนำใช่มั้ย เอาเรื่องนั้นแหละ จัดมาเลย”

โรโบฟิชและฝูงปลาหางนกยูง (เครดิตภาพ : Bierbach และคณะ, 2020, Frontiers in Bioengineering & Biotechnology)

พอได้ดู ต้องบอกว่า Winged Migration เป็นสารคดีที่ต้องบอกว่าทำให้ผมประทับใจมากๆ กับความทุ่มเทของทีมโปรดิวเซอร์และช่างภาพ

ทีมถ่ายทำขึ้นเครื่องบินเล็ก บินเคียงไปกับฝูงนกอพยพ มือก็ถือกล้องแคมคอร์เดอร์คอยบันทึกภาพเหล่านกอพยพที่กำลังบินผ่านสถานที่ต่างๆ ทิวทัศน์เบื้องหลังแสนตระการตา

แต่เดี๋ยวนะ แล้วทำไมพวกเขาถึงเอาเครื่องบินเล็กบินไปได้กับนกโดยที่มันแตกตื่น กระจัดกระจาย พวกนกทำเหมือนกับว่าพวกเขาคือหนึ่งในสมาชิกของฝูง

ด้วยความสนใจในมุมกล้องที่เป็นเอกลักษณ์ คืออยากรู้ว่าถ่ายมาได้ยังไง ผมถึงกับต้องกลับไปเปิดดูคลิปเบื้องหลังการถ่ายทำ นี่เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไม่กี่เรื่องที่ผมแนะนำให้ดูคลิปเบื้องหลัง เพราะเด็ดมาก จนไม่ควรพลาด

เคยเรียนมาตอน ม.ปลาย “ลูกนกเวลาฟักออกจากไข่ ได้เห็นได้เจออะไรจะทึกทักว่าเป็นแม่” เสียงคุณครูชีววิทยาแว่วมาในมโนสำนึก “นี่เป็นพฤติกรรมฝังใจ ที่จะช่วยให้ลูกนกมีโอกาสรอดชีวิตได้เยอะ เพราะจะเดินตามแม่และจะได้รับการปกป้อง”

คือสารภาพว่าตอนเรียนก็เรียนไปให้พอรู้ แต่ไม่เคยคิดว่ามันจะเอาไปใช้อะไรได้

ทว่าโปรดิวเซอร์และทีมถ่ายทำ Winged Migration กลับประยุกต์ข้อมูลนี้มาใช้ในการถ่ายทำได้อย่างแยบยล พวกเขาอยู่กับพวกนกตั้งแต่พวกมันเพิ่งจะฟักออกมาจากไข่ พวกนกจึงฝังใจคิดว่าทีมงานเป็นแม่ อีกทั้งถูกฝึกให้เคยชินกับเสียงเครื่องยนต์ของเครื่องบินเล็กตั้งแต่ยังเป็นลูกนก

ทีมงานเลยสามารถถ่ายได้มุมแบบ bird eye view ของแท้ เรียกว่าบินไปถ่ายไปกับฝูงนกในระหว่างอพยพได้อิสระอย่างที่ใจต้องการ

User Interface ของโปรแกรมควบคุมการร่ายรำของหุ่นยนต์ผึ้งโรโบบี (เครดิตภาพ : Landgraf และคณะ 2018, https://arxiv.org/pdf/1803.07126.pdf)

ไอเดียในการจัดการพฤติกรรมสัตว์เป็นสิ่งที่ในมุมของนักวิทยาศาสตร์แล้วน่าสนใจมาก เพราะอาจจะช่วยให้เราสามารถเข้าใจพฤติกรรมต่างๆ ของสัตว์ได้ลึกซึ้งขึ้น จนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสัตว์เหล่านั้นให้เป็นประโยชน์กับสังคมมนุษย์ก็เป็นได้

ความเข้าใจในเรื่องพฤติกรรมช้าง ทำให้นักวิจัยสามารถคิดและวางแผนวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของโขลงช้าง เช่น สร้างแหล่งอาหารล่อช้างในป่าลึก การทำโป่งเทียม หรือแม้แต่การปลูกพืชที่ช้างไม่ชอบในรอยต่อเขตเกษตรกรรม ที่อาจจะทำช้างทั้งโขลงยอมเปลี่ยนเส้นทางการเดินให้เลี่ยงถนนหนทาง เส้นทางอันตรายและเรือกสวนไร่นาของเกษตรกรได้

แต่ในยุคที่แผ่นดีวีดีกลายเป็นของโบราณสะสม งานวิจัยเกี่ยวกับการจัดการพฤติกรรมสัตว์นั้นก็พัฒนาไปก้าวไกลกว่าเดิมมากเช่นกัน ในเวลานี้ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้เริ่มถูกเอามาใช้ศึกษาและสอนสั่งให้สัตว์มีพฤติกรรมตามที่มนุษย์ต้องการได้มากขึ้น

แน่นอน หุ่นยนต์ต้องดีไซน์ออกมาให้เหมือนจริงมากพอที่จะให้สัตว์ในธรรมชาติยอมรับเป็นพวก ดังนั้น แล้วแต่ว่าโจทย์ที่ต้องการศึกษาหรือปรับพฤติกรรมจะสัตว์ชนิดไหน การสร้างหุ่นสำหรับสัตว์แต่ละชนิดก็จะต้องใช้ดีไซน์ที่แตกต่างกันไป

บางชนิดเน้นรูปลักษณ์ บางชนิดต้องเน้นสี บางชนิดต้องเน้นกลิ่น และบางชนิดแค่ท่าดี ก็มีลุ้นแล้ว

 

สําหรับปลาหางนกยูง เจนส์ เคราส์ (Jens Krause) นักพฤติกรรมสัตว์จากมหาวิทยาลัยฮุมบอลต์แห่งเบอร์ลิน (Humboldt-Universit?t zu Berlin) ได้ปรินต์ปลาหางนกยูงเลียนแบบที่เรียกว่าโรโบฟิช (Robofish) ขึ้นมาจากเครื่องพิมพ์สามมิติ แล้วลงสีด้วยมือ เธอเผยว่าสำหรับปลาหางนกยูง ตราบใดที่โมเดลมีตาชัดเจน และสีสันใกล้เคียงกับปลาจริงๆ อยู่บ้างก็เพียงพอแล้วที่จะใช้หลอกปลาหางนกยูงให้อยู่หมัดได้แล้ว

และเพื่อศึกษาบทบาทของขนาดตัวกับโอกาสในการเป็นผู้นำฝูงปลา เคราส์จึงปรินต์หุ่นยนต์โรโบฟิชขนาดต่างๆ ออกมา แล้วเอาไปต่อกับแม่เหล็กที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ ทำให้โรโบฟิชสามารถเคลื่อนที่ได้เหมือนปลาหางนกยูง ผลปรากฏว่าปลาหางนกยูงจะเลือกตามและยกย่องโรโบฟิชที่มีขนาดใหญ่มากกว่าเป็นผู้นำ

และแบบแผนการว่ายน้ำก็มีผลกับการรวมกลุ่ม เพราะถ้าโรโบฟิชว่ายเร็วไป วนเวียนอยู่ใกล้ฝูง ปลาตัวเล็กก็จะว่ายแบบแตกตื่นตกใจนึกว่าโดนล่า

นั่นหมายความว่าอัตราเร็วในการว่ายก็มีผลสำคัญในการควบคุมพฤติกรรมการรวมกลุ่มว่ายน้ำของปลาหางนกยูงด้วยอีกเช่นกัน

“ถ้าคุณสามารถสร้างหุ่นยนต์เข้าไปแฝงตัวในฝูงสัตว์เป็นนกต่อได้ และพวกสัตว์ก็ยอมรับหุ่นเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ต่อมา คุณก็จะสามารถควบคุมหุ่นยนต์ให้ทำอะไรก็ตามที่คุณสั่ง แล้วสังเกตว่าสัตว์จริงๆ จะตอบสนองอย่างไร” ดอรา บิโร (Dora Biro) นักวิทยาศาสตร์พฤติกรรมสัตว์ มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ในรัฐนิวยอร์ก (University of Rochester) กล่าว

 

แม้จะส่งโรโบฟิชลงไปกลายเป็นผู้นำไว้นำฝูงปลาได้ แต่การประยุกต์ใช้แบบชัดๆ ยังอาจจะมองได้ยากสำหรับปลาหางนกยูง แต่ลองจินตนาการว่าถ้าเราสามารถออกคำสั่งผึ้ง แมลงผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการผสมเกสร ให้บินไปไหนมาไหนได้ เลือกผสมเกสร และเก็บน้ำหวานที่สวนผลไม้ในบริเวณที่ไหนก็ได้ตามใจปรารถนาก็คงจะดี

และไม่แน่ว่าบางทีปัญหาในระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมหลายๆ อย่าง อาจจะสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ก็เป็นได้

ถ้าอยากควบคุมผึ้ง ก็ต้องเข้าใจภาษาผึ้ง โดยปกติ ผึ้งจะสื่อสารกันด้วยการร่ายรำที่เรียกว่า wagging dance เป็นการร่ายรำส่ายบั้นท้ายไปมา แล้วเดินเป็นรูปวงกลม หรือบางทีก็เป็นรูปเลขแปด

ซึ่งจากการวิเคราะห์โดยละเอียดแล้ว พบว่าเพียงแค่การเคลื่อนที่ขยับไป ขยับมาแค่นี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ผึ้งที่รับสัญญาณรับรู้ได้ว่าจะต้องบินไปที่ไหนถึงจะเจอน้ำหวาน และเส้นทางการบินจะเป็นอย่างไร

หลังจากที่วิจัยและรวบรวมข้อมูลปัจจัยต่างๆ ในการสื่อสารของผึ้ง เช่น บั้นท้ายส่ายเร็วหรือถี่แค่ไหน เดินวนเป็นวงไปกี่รอบ เป็นเลขแปดไปกี่รอบ ทิศทางการเดินทำมุมอะไรอย่างไรกับดวงอาทิตย์ วิศวกรหุ่นยนต์ ทิม แลนด์กราฟ (Tim Landgraf) จากมหาวิทยาลัยเสรีแห่งเบอร์ลิน (Free Univesity of Berlin) ประเทศเยอรมนี ได้ออกแบบหุ่นยนต์ผึ้ง โรโบบี และเขียนซอฟต์แวร์ขึ้นมาเพื่อใช้ในการควบคุมการร่ายรำสื่อสารของโรโบบีกับผึ้งตัวอื่นๆ ในรัง

ชัดเจนว่าโรโบบีสามารถสั่งผึ้งให้บินไปในทิศทางที่พวกเขากำหนดได้อย่างน่าสนใจ ถือเป็นก้าวแรกที่น่าจับตามอง ในตอนนี้

ถ้าจะให้เปรียบ โรโบบีก็คงเป็นเหมือนล่ามที่ช่วยแปลภาษาคนให้เป็นภาษาผึ้ง ที่จะช่วยสื่อสารบอกให้ผึ้งรู้ว่าเราอยากให้พวกมันทำอะไร หรือต้องการให้ไปช่วยผสมเกสรที่ไหนได้

 

นวัตกรรมหุ่นยนต์ควบคุมพฤติกรรมสัตว์นี้ถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจ

และเมื่อพัฒนาไปถึงจุดสุกงอม ก็น่าที่จะมีประโยชน์อย่างมหาศาลกับโลกและมวลมนุษยชาติ

ใครจะรู้ว่าวันหนึ่ง คนจะคิด (ใช้หุ่นยนต์) สอนผึ้งให้หาน้ำหวาน สอนปลาให้ว่ายน้ำ และสอนนกให้โบกบิน

บางที การมองนอกกรอบก็อาจจะทำให้เราได้เห็นเทคโนโลยีที่อาจจะทำสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ ให้เป็นจริงขึ้นมาก็เป็นได้