เครื่องเคียงข้างจอ : ร่างทรง / วัชระ แวววุฒินันท์

 

 

ร่างทรง

 

ฉบับนี้ขอเขียนถึงภาพยนตร์ไทยที่มาแรงอยู่ตอนนี้สักหน่อยนะครับ นั่นคือเรื่อง “ร่างทรง” จากค่าย GDH

ความแรงของ “ร่างทรง” ยังยืนยันได้จากกระแสการตอบรับของผู้ชม และการได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยในการประกวดรางวัลออสการ์ในปีหน้าอีกด้วย

“ร่างทรง” เป็นผลงานร่วมกันสร้างของไทยและเกาหลีใต้ โดยมี “นาฮงจิน” เป็นโปรดิวเซอร์ที่มีความช่ำชองกับการทำหนังแนวลึกลับสยองขวัญ ส่วนผู้กำกับฯ ฝั่งไทยก็คือ “โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล” ที่เคยฝากฝีมือไว้กับหนังแนวลึกลับอย่าง “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” “แฝด” “สี่แพร่ง” และแนวสนุกสนานอย่าง “พี่มากพระโขนง” “กวนมึนโฮ”

สำหรับหนังเรื่องนี้มีการนำเสนอในแบบที่คนดูหนังไทยอาจไม่ค่อยคุ้นชินคือ เหมือนเป็นการนำเสนอเชิงสารคดี มีการสัมภาษณ์คนประกอบกับฟุตเทจการติดตามถ่ายทำชีวิตจริงๆ มาประกอบ ซึ่งข้อดีคือให้อารมณ์ถึงความสมจริง เชื่อว่าเป็นเรื่องจริงๆ

สถานที่ของเรื่องใช้หมู่บ้านหนึ่งในภาคอีสานที่มีความเชื่อเรื่อง “ภูตผี” มายาวนาน และ “ผี” ที่เป็นแกนหลักของเรื่องมีชื่อว่า “ย่าบาหยัน” ที่จะติดต่อสื่อสารกับคนปกติโดยผ่านทาง “ร่างทรง” ซึ่งเป็นแก่นของเรื่อง

 

เปิดเรื่องด้วยตัวละครเอกที่เป็นร่างทรงคนปัจจุบันคือ “ป้านิ่ม” ที่บอกว่าคนปัจจุบันนั้นก็เพราะมีการสืบทอดการเป็นร่างทรงในสายตระกูลของป้านิ่มต่อกันมาหลายอายุคน และคนดูก็พลอยรับรู้เรื่องราวของ “ย่าบาหยัน” และ “ครอบครัวของป้านิ่ม” ผ่านการบอกเล่าของเธอ

“เอี้ยง-สวนีย์ อุทุมมา” ที่แสดงเป็นป้านิ่มนั้น ผมรู้จักและเคยร่วมงานกับเธอ จริงๆ เอี้ยงเป็นคนเบื้องหลังที่สะสมทักษะทางด้านภาพยนตร์และละครมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทักษะการแสดงที่ดูเป็นธรรมชาติสอดคล้องกับภาพความเป็นสารคดีได้อย่างลงตัว ดูแล้วเชื่อได้ว่าเป็นป้าที่เราจะเดินสวนกันได้ในชีวิตจริง

“คนเป็นมะเร็งนะเหรอ มาหาป้า…ตายทุกราย” ป้านิ่มคุยกับคนสัมภาษณ์ “ของป้ารักษาในสิ่งที่นอกเหนือจากธรรมชาติ”

ป้านิ่มเล่าให้ทีมงานถ่ายทำในหนังฟังว่า ในทุกๆ ที่มีผี ผีป่า ผีเขา ต้นไม้ มด หนอน หมา ดิน ทุกอย่างมีผีหมด หลายอย่างที่เกิดเรื่องที่นอกเหนือความเข้าใจปกตินั่นก็เป็นเพราะ “ผี”

จากการพูดคุยไปเรื่อยๆ พาให้คนดูได้รู้จักตัวละครมากขึ้นโดยเฉพาะทางฝั่งครอบครัวของป้านิ่ม ที่มีพี่ชายชื่อมานิต และพี่สาวที่ชื่อน้อย

เรื่องมาเริ่มต้นที่นิ่มขับรถไปร่วมงานศพของสามีน้อยที่เกิดอุบัติเหตุ และความอึมครึมก็ค่อยๆ ยัดเข้าใส่คนดูจากข้อมูลชวนพิศวงต่างๆ เช่น ครอบครัวนี้พวกผู้ชายมักจะมีเหตุเป็นไปต่างๆ นานา

อย่าง “นิว” ลูกชายของมานิตก็เพิ่งเสียชีวิตไป โดยมานิตบอกว่าตายเพราะขี่จักรยานไปชนกับรถยนต์ ซึ่งในตอนหลังพบว่าไม่ใช่ นิวนั้นผูกคอตายต่างหาก

ย้อนไปทางตระกูล “ยะสันเทียะ” ของสามีป้าน้อย พ่อของสามีก็เกิดเรื่องไม่ดีเช่นกัน โรงงานทอผ้าที่ตนเองเป็นเจ้าของกิจการเกิดขาดทุนเป็นหนี้สิน จึงเกิดการวางเพลิงเผาโรงงานเพื่อเอาประกัน แน่นอนที่ต้องมีคนตกเป็นเหยื่อเพลิงนั้นอย่างน่าสงสาร และต่อมาพ่อสามีก็มีอันเป็นไป ไม่นับกับต้นตระกูลยะสันเทียะในอดีตที่ฆ่าล้างชีวิตคนมานักต่อนัก

หากเป็นบาปเป็นกรรมก็เป็นบาปกรรมที่สะสมมายาวนาน และถ้าเป็นวิญญาณก็เป็นมวลของดวงวิญญาณมากมายที่รอวันแก้แค้นเอาคืน

 

 

แล้วก็มาถึงตัวละครสำคัญอีกตัวคือ “มิ้ง” ลูกสาววัยรุ่นของป้าน้อยที่เล่นหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกแต่เอาอยู่จริงๆ เริ่มต้นเรารู้จักมิ้งในภาพของสาววัยรุ่นสดใสมีความเป็นตัวของตัวเอง จากการให้สัมภาษณ์ทีมงานถ่ายทำ มิ้งเองก็ไม่เชื่อเรื่องร่างทรง แถมยังทำล้อเลียนอาการคนถูกวิญญาณเข้าสิงอย่างนึกสนุกอีกด้วย

ป้านิ่มเล่าว่า จริงๆ คนที่จะต้องเป็นทายาทร่างทรงคือป้าน้อยไม่ใช่ตน แต่ป้าน้อยแม่ของมิ้งไม่ยอมเป็น และย่าบาหยันก็เลยมาเลือกเอาป้านิ่มแทน

เรื่องในตอนหลังๆ จะขยายให้เห็นว่าการปฏิเสธการเป็นร่างทรงของป้าน้อยนั้นได้ส่งผลต่อตัวของลูกสาวคือมิ้งอย่างมาก เมื่อมิ้งถูกวิญญาณเข้าสิงจนเกิดอาการและพฤติกรรมแปลกๆ มากมาย จากการกระทำที่แค่ผิดหูผิดตาจากมิ้งคนเดิม เช่น จู่ๆ ก็เป็นเด็กน้อย ค่อยรุนแรงและระยำมากขึ้นจนคนดูถึงกับช็อกและหวาดผวาตามไปด้วย

มิ้งรับบทโดย “นริลญา กุลมงพลเพชร” จากข้อมูลบอกว่าในช่วงต้นเรื่องเธอต้องทำน้ำหนักเพิ่มจากเดิมขึ้นมา 5 ก.ก. เพื่อให้ดูสวยอวบอิ่ม ก่อนจะต้องลดน้ำหนักลงไป 10 ก.ก.ในช่วงหลังเมื่อถูกวิญญาณสิงร่างแล้ว

เธอสามารถถ่ายทอดบทคนถูกวิญญาณเข้าสิงได้อย่างน่าขนลุก ซึ่งต้องใช้ทักษะทางการเคลื่อนไหวร่างกายและอารมณ์สูง

ซึ่งเธอก็ทุ่มเทให้กับการแสดงอย่างมากแม้กระทั่งกับบทเลิฟซีน

 

จากครึ่งแรกของหนังที่ออกแนวสารคดีผสมเรียลลิตี้ พอครึ่งหลังหนังกลับพาคนดูเปลี่ยนไปสู่การนำเสนออีกแนวหนึ่ง คือ เป็นหนังอย่างมาก และเป็นหนังแบบซอมบี้กระหายเลือดไปเลย จึงอุดมไปด้วยฉากการทำร้ายร่างกายและชีวิตที่ชวนสะอิดสะเอียน และอัดเข้ามาต่อเนื่องจนคนดูจะเอียนได้

ตามความเห็นของผู้เขียนแล้ว จากการเลือกฉีกให้หนังออกมาดังว่านั้น มันได้ลดทอนความสมจริงในครึ่งแรกลงไปอย่างน่าเสียดาย เชื่อว่าอาจจะถูกใจคนดูกลุ่มหนึ่งที่ชอบหนังแนวนี้ แต่คนดูที่ชอบแบบจริงๆ สมจริง อาจผิดหวังไม่น้อย

ในความเป็น “ร่างทรง” ของหนังเรื่องนี้ มันได้บอกว่าสิ่งที่เราเห็นตรงหน้า สิ่งที่เขาพูดให้เราได้ยินนั้นไม่ใช่ตัวตนของเขาเลย หากมีคนที่มีอำนาจได้ครอบงำเขา ไม่ว่าจะด้วยความสมัครใจหรือไม่ก็ตาม

และร่างนั้นได้กล่าว ได้ทำอะไรก็ตามเพื่อสนองความต้องการของคนที่มีอำนาจนั้น

ในสังคมของเราตอนนี้ก็มี “ร่างทรง” ปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ ตามสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น

 

ในช่วงโควิดที่ผ่านมา เราจะได้เห็น “ร่างทรง” ของนักวิชาการ และผู้รับผิดชอบออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนประเภทต่างๆ ที่ไม่รู้เลยว่าได้แฝงผลประโยชน์อะไรไว้บ้าง เป็นข้อมูลที่ประชาชนอย่างเราๆ พากันสับสน ตัดสินใจไม่ถูก และเหมือนหนูทดลองที่เอาชีวิตไปเสี่ยง

การระดมฉีดวัคซีนนั้นดี เป็นวิถีที่ถูกต้องควรทำเพื่อให้เราอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ แต่การสื่อสารที่ควบคุมไม่ได้ ยิ่งผ่านร่างทรงที่หลากหลายก็ยิ่งทำลายความน่าเชื่อถือ และความร่วมมือของประชาชนตาดำๆ ไปได้

สำหรับซีกการเมืองนั้น เราจะเห็น “ร่างทรง” ของใครต่อใครเต็มไปหมด เป็นร่างทรงที่พูดเพื่อผลประโยชน์ของเจ้าของพรรค ที่เขาไม่สามารถออกมาพูดได้เอง หรือถ้าพูดเองแล้วจะเสียรูปมวย

แม้แต่ในพรรคเดียวกันก็ยังมี “ร่างทรง” ฟัดกันเองก็มี เพราะต่างเป็นร่างทรงของคนใหญ่ในพรรคคนนั้น อีกคนเป็นร่างทรงของคนโตในพรรคคนโน้น เรียกว่าเป็นสงครามตัวแทน

อีกไม่นานจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่รวมไปถึงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครด้วย เราจะได้เห็น “ร่างทรง” กันเต็มไปหมดเลยล่ะทีนี้ สนุกแน่ๆ

บางคนแอ่นอกเลยว่า เป็นคนของพรรคนี้ บางคนใช้วิธี “ร่างทรง” เพื่อแอบแฝงความเป็นพรรคข้างหลัง

ซึ่งไม่ว่าร่างทรงแบบไหนล้วนต้องได้รับการอนุมัติจากผู้มีอำนาจที่เหนือกว่าเสมอ

 

ร่างทรงในหนัง “ร่างทรง” ถูกกระทำย่ำยีด้วยวิญญาณร้ายจนเกินจะทานทนได้ และอิทธิฤทธิ์ของมันก็ได้ทำร้ายคนธรรมดาที่อยู่รายรอบอย่างเลือดเย็นจนบางคนต้องสังเวยชีวิตอย่างโหดเหี้ยม

ส่วนร่างทรงในชีวิตจริง แม้จะไม่ได้แสดงออกถึงความโหดเหี้ยมอย่างโจ๋งครึ่มเช่นในหนัง แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังที่ซ่อนอยู่หลังร่างทรงนั้นอาจจะคร่าทำร้ายชีวิตของเราไปทีละน้อยๆ โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยก็ได้

อยู่ที่ว่าเราจะรู้ทันหรือไม่ และหนำซ้ำบางคนก็ยินดีที่จะตกอยู่ในขบวนการของร่างทรงนั้นด้วย เพราะผลประโยชน์นั้นมันหอมหวนเสียนี่กระไร

ผลประโยชน์ส่วนตัวที่มากกว่าส่วนรวมไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติ แต่เป็นเรื่องเหนือจิตใจใฝ่ต่ำที่ครอบงำคนบางคนได้อย่างง่ายดาย