ราโชมอนบนยอดเขาพระสุเมรุ (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ราโชมอนบนยอดเขาพระสุเมรุ (จบ)

 

ในแบบเรียนวิชาภาษาไทย ระดับมัธยมปีที่ 2 ซึ่งยังคงใช้เรียนและสอนกันอยู่ในปัจจุบันนั้น ได้มีการบรรจุเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างเหล่าเทวดากับอสูรที่น่าสนใจไว้เรื่องหนึ่ง คือ นารายณ์ปราบนนทก

ตามสำนวนที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี (และปรากฏอยู่ในแบบเรียนปัจจุบัน) นนทก คือยักษ์ที่ถูกมอบหมายหน้าที่จากพระอิศวรให้นั่งประจำอยู่ที่เชิงบันไดเขาไกรลาส และคอยล้างเท้าให้แก่เหล่าเทวดาที่มาเข้าเฝ้าพระองค์

นนทกปฏิบัติภารกิจของตนเองเป็นอย่างดีโดยตลอด แต่น่าเศร้า เมื่อใดก็ตามที่เหล่าเทวดามาถึงและยื่นเท้าให้นนทกล้าง มักชอบแกล้งนนทกด้วยการลูบหัวและถอนผมทิ้ง จนกระทั่งศีรษะของนนทกโล้น

นนทกทั้งเสียใจและพัฒนาจนกลายเป็นความโกรธแค้นที่ตนเองไม่มีกำลังจะต่อสู้กับเหล่าเทวดาคนพาลที่ชอบบุลลี่ผู้อื่นได้ จึงตัดสินใจไปเฝ้าพระอิศวร แล้วทูลขอว่า ตนเองได้ทำงานรับใช้พระองค์มายาวนานด้วยความซื่อสัตย์และไม่เคยขาดตกบกพร่อง ซึ่งที่ผ่านมาตนเองยังไม่เคยได้รับสิ่งตอบแทนใดเลย ดังนั้น จึงอยากจะทูลขอให้ตนเองมีนิ้วเพชร ที่มีฤทธิ์เดช โดยหากชี้นิ้วเพชรนี้ไปยังผู้ใดก็ขอให้ผู้นั้นตายในทันที

พระอิศวรเห็นว่านนทกปฏิบัติหน้าที่รับใช้พระองค์เป็นอย่างดีจึงประทานพรให้ตามที่ขอ และนับจากนั้นเป็นต้นมา เมื่อใดก็ตามที่เหล่าเทวดามาลูบหัวและถอนผม นนทกก็จะใช้นิ้วเพชรชี้จนเทวดานั้นตาย

เหล่าเทวดาตายลงเป็นจำนวนมาก สร้างความหวั่นกลัวไปทั่วสวรรค์ เมื่อพระอิศวรทราบความก็ตกใจและไม่พอใจ พระองค์จึงมอบหมายให้พระนารายณ์ไปปราบนนทก

พระนารายณ์ได้แปลงกายเป็นนางฟ้าที่สวยงามมายั่วยวนนนทก นนทกตกหลุมและลุ่มหลงนางฟ้าจำแลงองค์นี้อย่างมาก เพื่อแลกเปลี่ยนกับการแสร้งว่าจะรับรัก นางฟ้าได้ขอให้นนทกร่ายรำตามนางเสียก่อน

นนทกรับปากและเริ่มร่ายรำตามท่วงท่าที่นางฟ้าทำ จนไปถึงท่ารำสุดท้าย นางฟ้าได้ทำท่ารำที่เอานิ้วชี้ชี้กลับมาที่ใบหน้าตนเอง ด้วยความลุ่มหลงขาดสติ นนทกจึงรำตามและใช้นิ้วเพชรชี้มาที่หน้าตัวเอง

นนทกล้มลงและเสียชีวิตในที่สุด โดยก่อนตาย นางฟ้าได้แปลงกายกลับร่างเดิม และทำให้นนทกรู้ว่าตนเองโดนพระนารายณ์หลอก จึงกล่าวโทษว่า พระองค์ช่างเอาเปรียบนักเพราะมีถึง 4 มือ แต่ตนมีแค่ 2 มือ

เมื่อได้ฟังเช่นนั้น พระนารายณ์จึงท้าให้นนทกไปเกิดใหม่และมี 10 หน้า 20 มือ แล้วพระองค์จะตามไปเกิดเป็นมนุษย์ที่มีเพียง 2 มือเพื่อลงไปปราบอีกครั้ง

 

เนื้อหาจบลงตรงที่นนทกตายและลงไปเกิดเป็น ทศกัณฑ์ ส่วนพระนารายณ์ก็อวตารลงมาเป็น พระราม และเรื่องราวก็ดำเนินไปตามเนื้อหาที่ปรากฏในวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์

เมื่อแบบเรียนเล่าถึงตรงนี้ น่าสนใจว่าจะมีการอธิบายถึงคุณค่าของบทประพันธ์ชิ้นนี้ รวมถึงคติสอนใจในแง่มุมต่างๆ ที่ได้จากเหตุการณ์ดังกล่าว

น่าแปลกใจมาก อย่างน้อยก็สำหรับตัวผมเอง (แทบทุกเล่มของแบบเรียนที่สอนเรื่องนี้) คติสอนใจข้อสำคัญที่สุดที่จะถูกยกมาสั่งสอนนักเรียนคือ อำนาจหากตกอยู่ในมือคนผิดจะก่อให้เกิดผลร้ายตามมา (หมายถึงอำนาจของนิ้วเพชรที่ตกอยู่กับนนทก) และความอาฆาตแค้นไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับใคร มีแต่จะย้อนกลับมาทำลายตนเอง (หมายถึงชะตากรรมของนนทก)

บางเล่มกล่าวเพิ่มด้วยว่า เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า การลุ่มหลงในสตรีเพศทำให้ขาดสติ

ไม่มีหนังสือเรียนเล่มไหนเลยที่จะมองย้อนกลับไปที่ต้นเหตุอันเกิดจากเหล่าเทวดาคนพาลที่ชอบบุลลี่ผู้อื่น แทบไม่มีการสอนด้วยว่าการกระทำของเทวดานั้นน่ารังเกียจ

มีเพียงหนึ่งเล่ม เท่าที่เปิดดูจากจำนวนนับสิบเล่ม ที่พูดอย่างสั้นๆ (หลังจากที่กล่าวโทษการกระทำของนนทกไม่ต่างจากเล่มอื่นๆ) ว่า เราไม่ควรรังแกผู้ที่ต่ำต้อยกว่า โดยมิได้ขยายความอะไรนัก

 

ย้อนกลับไปที่เหตุการณ์ดังกล่าว หลังจากที่นนทกตาย พระอิศวร และพระนารายณ์ ก็ดูจะไม่รู้สึกว่าการกระทำของเหล่าเทวดาก่อนหน้านี้ผิดแต่อย่างใด

ในทัศนะผม ข้อคิดที่ว่าอำนาจหากตกอยู่ในมือคนผิดจะก่อให้เกิดผลร้ายตามมานั้น ถ้าให้ถูกต้องที่สุดควรจะต้องใช้อธิบายพฤติกรรมของพระอิศวรและพระนารายณ์แทน ดูจะเหมาะสมกว่า

มีผู้นำที่มีอำนาจ เป็นคนดี และมีคุณธรรม คนไหนบ้างที่จะปล่อยให้ลูกน้องของตนเอง คือนนทก ถูกรังแกโดยไม่สนใจตักเตือนเหล่าเทวดาแต่เนิ่นๆ จนปล่อยให้ความเสียใจของนนทกเปลี่ยนกลายเป็นความคับแค้นแสนสาหัส

มีผู้นำที่ดีคนไหนบ้างที่ยื่นอาวุธให้กับคนที่กำลังเต็มไปด้วยความโกรธโดยไม่เฉลียวใจใดๆ ถึงผลร้ายที่จะตามมา

และมีผู้นำที่มีคุณธรรมอย่างแท้จริงคนไหนบ้างที่จะเลือกแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการ เลือกข้าง (แบบที่พระนารายณ์ทำ) โดยเอาใจเฉพาะฝ่ายที่ตนเองชอบ (เหล่าเทวดา) และเลือกกำจัดนนทกทิ้ง ซึ่งเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

 

หากมองให้ลึกขึ้น ความโกรธเกรี้ยวก่อนตายของนนทก และการพูดถึงจำนวนแขนที่มากกว่าของพระนารายณ์ ย่อมมิใช่หมายความตรงตัวเช่นนั้น แต่ในแง่ของการเป็นสัญญะ สิ่งนี้เราอาจมองได้ว่าคือการเปรียบถึง ความอยุติธรรม ที่รุมทึ้งนนทก

มือที่มากกว่า คือ สัญญะของคนที่มีอำนาจมากกว่า (และมิใช่เพียงคนเดียว แต่มีเป็นจำนวนมาก ทั้งพระอิศวร พระนารายณ์ และเหล่าเทวดา) กำลังรุมข่มเหงนนทกที่มีเพียงคนเดียว (มีเพียงสองมือ) เท่านั้น

น่าเสียดายที่แบบเรียนดังกล่าวที่กำลังทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ คือ การปลูกฝังคุณธรรมและความดีให้แก่นักเรียน กลับเลือกที่จะปลูกฝังคุณธรรมความดีที่ตื้นเขิน ผิดฝาผิดตัว

ที่สำคัญคือ กำลังสั่งสอนรากเหง้าของ ความอยุติธรรม ให้เกิดขึ้นแก่เยาวชน

ส่วนคนด้อยโอกาส คนที่ถูกรังแกข่มเหง ก็กำลังถูกอธิบายว่าเป็นเพียงยักษ์ที่เต็มไปด้วยความโกรธอันน่ารังเกียจและควรถูกกำจัดทิ้ง โดยไม่มองไปที่ต้นเหตุที่แท้จริงของความโกรธนั้น

 

จากเรื่องเล่า 3 เรื่องที่ยกมา (เทวาสุรสงคราม, กวนเกษียรสมุทร และนารายณ์ปราบนนทก) หากมองให้ชัดจะพบว่ามีแกนกลางร่วมกันอยู่ 2 ประการ คือ

หนึ่ง เหล่าเทวดาทำอะไรก็ไม่ผิด ไม่ว่าจะรัฐประหารแย่งดาวดึงส์มาจากอสูรที่เคยอาศัยมาก่อน, หลอกอสูรให้มาช่วยผลิตน้ำอมฤตโดยสัญญาว่าให้เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง แต่สุดท้ายหักหลังไม่ยอมแบ่งให้แม้แต่น้อย และการที่เหล่าเทวดาคนพาลคอยข่มเหงยักษ์ที่ต่ำต้อยไร้ทางสู้อย่างนนทก

สอง ภายใต้การกระทำที่เลวร้ายผิดศีลธรรมของเหล่าเทวดาหลายครั้งที่นำมาสู่ความขัดแย้งและสงครามระหว่างเทวดากับอสูร คนที่เป็นผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง หรือผู้มีอำนาจที่ถูกคาดหวังว่าจะเข้ามาทำหน้าที่แก้ปัญหา เข้ามาสร้างความยุติธรรม และเข้ามาเป็นคนกลาง กลับเลือกเข้าข้างเทวดาคนพาลทุกครั้ง พูดให้ชัดก็คือ คนกลางที่แท้จริงไม่เคยมีอยู่จริง (อย่างน้อยก็ในเรื่องเล่า 3 เรื่องนี้)

แกนกลางของเรื่องเล่า 3 เรื่องนี้ ที่ดูไม่น่าจะนำมาเป็นเรื่องเล่าสั่งสอนปลูกฝังทางศีลธรรมใดได้ในโลกสมัยใหม่ เพราะขาดความลุ่มลึกและรอบด้านในการมองปัญหา แต่น่าแปลกใจมากที่สังคมไทย เรื่องเล่าชุดนี้ซึ่งถูกผลิตซ้ำในงานศิลปะหลากหลายแขนงนับพันปี กลับยังถูกใช้ในปัจจุบัน โดยขยายตัวลงมาในตำราเรียนและสื่อสมัยใหม่มากมายโดยไม่มีความคิดที่จะปรับเปลี่ยนอะไรเลย

ภาครัฐและผู้มีอำนาจดูจะยินดีปรีดากับการปลูกฝังศีลธรรมจอมปลอมดังกล่าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยไม่พยายามที่จะปลูกฝังวิธีคิดว่าด้วย การมองต่างมุมจากจุดยืนที่แตกต่าง ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ศีลธรรม หรือ ความดี ในทัศนะที่ลุ่มลึกและหลากหลายมากขึ้นแต่อย่างใด

หากปล่อยต่อไปเช่นนี้เรื่อยๆ สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมที่มีวิจารณญาณในการพิจารณาตัดสินว่าอะไรคือ ความดี-ความชั่ว และใครคือ คนดี-คนชั่ว อย่างตื้นเขินมากขึ้นๆ

เพราะคนที่สร้างภาพว่าดี อาจจะมิได้เป็นคนดีมีคุณธรรมและรักษาศีลธรรมอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวผ่านการอ้างศีลธรรมที่จอมปลอม

ในขณะที่คนที่ถูกตีตราว่าชั่ว อาจจะมิได้เลวอย่างที่ถูกกล่าวหาก็เป็นได้ เพราะสิ่งที่เขาทำอาจเป็นการเรียกร้องความยุติธรรมที่แท้จริงเท่านั้น