ลุงตู่ สู้สู้

ความในใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อข้าราชการ ผู้แทนท้องถิ่น ประชาชน สระบุรี ลพบุรี อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา

ระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “ประชารัฐร่วมใจปลูกต้นไม้ให้แผ่นดิน” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2560 และร่วมสืบสานแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาล 9 ในการฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้

เมื่อวันทื่ 7 สิงหาคม ที่อาคารศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต.มหาพราหมณ์ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

น่าสนใจ

นายกฯ ได้ถามข้าราชการและประชาชนที่ร่วมงานว่า

“มีอะไรจะถามหรือเปล่า มีใครสงสัย มีใครไม่เข้าใจและไม่ชอบ คสช. หรือไม่ เมื่อไรมันจะไปเสียที ขอให้บอกมา”

ปรากฏว่ามีเสียงตอบจากผู้ร่วมงาน “ไม่ได้ให้ไป” แต่เป็นเสียง “เอาใจ” ว่า “ขอให้นายกฯ อยู่ต่อ”

ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า “ไอ้นี่หาเรื่องอีกแล้ว ผมรู้ว่าให้กำลังใจ แต่บางทีคนที่ไม่ชอบเขาก็มาว่าผมแทน แต่มันก็เป็นเรื่องของประชาธิปไตย”

พร้อมกับกล่าวขึ้นมาเองว่า

“วันนี้ต่างชาติยังค้าขายกับเราเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ให้ผมเดินทางไปเยือนเพียงคนเดียว เพราะเป็นหัวหน้า คสช. แต่รองนายกฯ และรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนต่างประเทศได้หมด ไปค้าขายทุกประเทศ”

“คิดถึงจิตใจผมบ้าง แต่ผมก็ไม่ได้เดือดร้อน เพราะอยากอยู่กับคนไทย นั่งบริหารในประเทศแล้วเอาคนอื่นไปทำ”

“ตอนนี้มีแขกต่างประเทศเดินทางมาทำเนียบรัฐบาลทุกวัน เขามาค้าขาย ชื่นชมบ้านเมืองสงบเรียบร้อย”

“เขาเห็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ เห็นช่องทางที่จะเข้ามา ซึ่งตั้งแต่ คสช. เข้ามามีกว่า 100 กิจกรรม เขามองแล้วเห็นว่าดีก็มาร่วม โดยเฉพาะการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยไม่ได้เอื้อประโยชน์เขาเพราะทำตามสัญญาที่มีอยู่เดิม เพื่อให้โครงการต่างๆ เกิดเร็วขึ้น”

“ลำพังรัฐบาลทำคงไม่พอ เนื่องจากงบฯ ลงทุนมีไม่มาก ทั้งโครงการรถไฟ รถเมล์ รัฐบาลต้องดูแลประชาชน แต่ถ้าต้องใช้งบประมาณมากขึ้น จะต้องทำอย่างไร จึงต้องหาวิธีการ รวมถึงโรงพยาบาลจะทำอย่างไรไม่ให้เขาเจ๊ง นั่นคือปัญหาที่เราเจอ ประชาชนอาจเจอปัญหาการรักษาพยาบาลไม่ดี แต่ผมเจอปัญหาโรงพยาบาลจะเจ๊ง เพราะเจ้าหน้าที่ทำงานกันไม่ไหว”

“ผมอยากให้ประชาชนออกกำลังกายกันมากขึ้น จะได้ปวดหัวกันน้อยลง การรักษาพยาบาลก็จะลดลง จะได้มีเงินไปดูแลส่วนอื่น ผมไม่เคยลดอะไรเลย มีแต่หาเงินเพิ่ม อย่าไปเชื่อไอ้ใครที่บอกว่าจะลดโน่นลดนี่ ลดโครงการ 30 บาทหรือบัตรทอง พามาหาผม ต้องพูดคุยปรับทัศนคติกันหน่อย นิสัยแบบนี้ไม่ยอมเลิก เล่นไม่เลิก แต่ผมจะทำให้เต็มที่ จะอยู่ถึงเมื่อไรก็เมื่อนั้น”

“มันเป็นลิขิตที่ผมมายืนตรงนี้ จะเป็นลิขิตของประเทศไทยว่าจะเจริญหรือไม่เจริญ จะล่มสลายหรือไม่ล่มสลาย อยู่ที่มือคนไทยทุกคน”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเปิดใจ

โดยมีเสียงผู้ร่วมงาน ตะโกนให้ “นายกฯ สู้สู้”

พล.อ.ประยุทธ์ เคยพูดมาหลายครั้ง

โดยล่าสุดกล่าวในที่ประชุมแม่น้ำ 5 สายว่า

“ส่วนตัว ถ้าจะทำผิด ก็ผิดแค่เรื่องเดียวคือวันที่เข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ 22 พฤษภาคม 2557”

เป็น 22 พฤษภาคม 2557 ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นที่รังเกียจของบางประเทศ

และไม่เชิญให้เดินทางไปเยือน

“คิดถึงจิตใจผมบ้าง” แม้จะเป็นคำตัดพ้อแบบทีเล่นทีจริงของ พล.อ.ประยุทธ์

แต่ก็สะท้อนถึง “ปมในใจ” ลึกๆ ด้วย โดยเฉพาะการไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติอย่างอียู สหรัฐ และออสเตรเลีย

อันเนื่องจากการ “รัฐประหาร”

ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อว่าการที่ทำ “รัฐประหาร” ก็เพื่อยุติความขัดแย้งและจะนำพาประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยตามโรดแม็ป

แต่ประเทศเหล่านั้นก็ไม่รับฟังและไม่ยอมรับ

เป็นปฏิกิริยาทางลบ ที่รบกวนอยู่ในใจของ พล.อ.ประยุทธ์ มาตลอด

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ก็พยายามทำความเข้าใจในแง่ดีว่า

“ที่ผมได้พูดว่ามีบางประเทศไม่เชิญไปเยือนอย่างเป็นทางการนั้น ขอให้เข้าใจว่ามี 2 อย่าง ถ้าเป็นเรื่องการประชุม เช่น การประชุมอาเซียน การประชุมจี 7 การประชุมจี 20 การประชุมเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน การประชุมสหประชาชาติ เป็นต้น ผมเดินทางไปหมด รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย ถ้าเป็นเรื่องการประชุมผมไปได้ทุกประเทศ แต่การเยือนอย่างเป็นทางการผมไปไม่ได้ เพราะเป็นผู้นำรัฐบาลแบบนี้ คนละประเด็นกัน”

“ไม่ใช่ว่าเขารังเกียจอะไร แต่กฎหมายเขาเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นสถานการณ์วันข้างหน้าที่ทุกอย่างจะกลับมาที่เดิมเป็นปกติ แต่วันนี้การค้า การลงทุน ความร่วมมือต่างๆ ทุกประเทศผ่านทางเอกอัครราชทูต สมาคมธุรกิจการค้า การลงทุน ทั้งสหรัฐอเมริกา อียู ออสเตรเลีย ทุกประเทศมาพูดคุยกันหมด อันนี้เป็นเรื่องทางการเมืองก็ต้องเข้าใจกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้ำ

และแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ ดูจะมี “กำลังใจ” ยิ่งขึ้น เพราะหลังจากเปิดความในใจไปในวันที่ 7 สิงหาคมแล้ว

ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 8 สิงหาคม

นายเร็กซ์ เวย์น ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าพบและหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์

พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการหารือว่า ทั้ง 2 ฝ่ายกล่าวยินดีที่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยนายกฯ ย้ำว่า ไทยให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์และความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาที่มีมาอย่างยาวนาน และเห็นว่าสหรัฐมีบทบาทอย่างมากในประชาคมโลก ทั้งในเรื่องความมั่นคง การค้ามนุษย์ การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยประเทศไทยพร้อมให้การสนับสนุน

พล.ท.วีรชน เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุด้วยว่า ส่วนการเดินทางเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการของนายกฯ และคณะ หวังว่าจะได้มีโอกาสต้อนรับนายกฯ และคณะ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในเร็วๆ นี้ ขณะนี้ทั้งสองฝ่ายกำลังหารือถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม

แม้รองโฆษกของไทยจะระมัดระวังด้วยการระบุอย่างกว้างๆ ถึงการจะเดินทางไปสหรัฐเพื่อพบปะ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่ายังอยู่ในระดับ “หารือ”

แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับออกมายืนยันด้วยตนเองว่า

“เบื้องต้นจะเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งทาง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไม่ได้ตั้งเงื่อนไขลดความสัมพันธ์อะไร เนื่องจากไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นมิตรประเทศร่วมกันมายาวนานนับร้อยปี ฉะนั้น เป็นเรื่องการหารือ การแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน ท่าทีต่างๆ เราก็แสดงชัดเจนไปแล้ว เราปฏิบัติตามมติพันธกรณีต่างๆ ของสหประชาชาติที่มีอยู่ พร้อมทั้งได้มีการประกาศท่าทีที่ชัดเจนไปในกรอบอาเซียนด้วยแล้ว เรื่องนี้อย่าให้มาเป็นเงื่อนไขกันเลย”

ถือเป็นความชัดเจนที่ออกมาจากปากนายกรัฐมนตรีไทยเอง

อันเป็นความพยายามที่จะขจัดความกำกวม หลังจากที่เรื่องนี้มีความไม่ชัดเจนมานานหลายเดือน

ย้อนกลับไปเมื่อ 30 เมษายนที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้โทรศัพท์มาถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

ท่ามกลางการวิเคราะห์ว่า สหรัฐต้องการที่จะได้เสียงสนับสนุนจากไทยในการแก้ไขข้อพิพาทเกาหลีเหนือ และเป็นการถ่วงดุลจีนที่พยายามรุกเข้ามามีบทบาทนำในเอเชีย

จึงทำให้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ยอมหรี่ตาลงข้างหนึ่งด้วยการมองข้าม “การรัฐประหาร” ในไทย และยื่นมือมาให้จับ

พร้อมทั้งยังเชิญให้ พล.อ.ประยุทธ์ ไปเยือนสหรัฐด้วย

ซึ่งนี่ถือเป็น “สัญญาณที่ดียิ่ง” สำหรับไทย ที่ต้องการลบภาพประเทศที่ปกครองด้วยทหาร โดยสหรัฐเป็นมหาอำนาจที่แสดงออกถึงการ “ยอมรับ” นั้นด้วยตนเอง

จึงมีการขานรับจากฝ่ายไทยอย่างเอิกเกริก

และเฝ้ารอวันนัดหมายอย่างใจจดใจจ่อ

แต่ผ่านมาหลายเดือนก็ไม่มีอะไรคืบหน้า แถมยังมีกระแสในทางลบว่า ผู้นำสหรัฐอาจจะยังไม่พบผู้นำไทยในปีนี้

Vice President Mike Pence (L) and Speaker of the House Paul Ryan (R) listen as US President Donald J. Trump (C) delivers his first address to a joint session of Congress from the floor of the House of Representatives in Washington, DC, USA, 28 February 2017. / AFP PHOTO / EPA POOL / JIM LO SCALZO

ทำเอา พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาล ผิดหวังอยู่ลึกๆ

และนำมาสู่ “การเปิดใจ” ทำนองว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้รับเชิญไปเยือนต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลังการมาเยือนของ นายเร็กซ์ เวย์น ทิลเลอร์สัน ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เปลี่ยนไป

เปลี่ยนไปพร้อมกับการเปิดเผยด้วยตนเองว่า มีกำหนดจะเดินทางไปเยือนสหรัฐในเดือนตุลาคมนี้

หากเป็นอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุจริง ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีของหัวหน้า คสช.

เพราะในประเทศนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ค่อนข้างมั่นใจว่า ปฏิบัติการของแม่น้ำ 5 สาย ได้ปูทางให้เส้นทางแห่งอำนาจ “ราบรื่น” และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

ขณะที่ “ฝ่ายตรงข้าม” โดยเฉพาะพรรคการเมือง นักการเมือง และกลุ่มมวลชน กำลังเผชิญกับการถูกดำเนินคดีต่างๆ อย่างหนักหน่วงและต่อเนื่องจนแทบจะโงหัวไม่ขึ้น

ในส่วน “ประชาชน” กลไกทั้งที่ผ่านกองทัพ รัฐบาล ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในความ “นิยม” และไม่มีคู่แข่ง

ซึ่งหากได้แรงหนุนจากต่างประเทศ โดยสหรัฐ ที่ถือเป็นจุดอ่อนสุด ก็จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นพยัคฆ์เสียบปีกมากกว่าเดิม

แรงหนุนทั้งจากภายในและภายนอกเช่นนี้ย่อมทำให้เสียงเรียกร้องให้อยู่ต่อ หรือ ลุงตู่สู้สู้ กระหึ่มยิ่งขึ้น

และอาจจะทำให้ความวาดหวังที่จะครองอำนาจ “นานๆ” มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

แต่กระนั้น ต้องไม่ลืมว่า สถานการณ์การเมืองมีความผันแปรอยู่ตลอด

สิ่งที่ไม่คาดหมายเกิดขึ้นได้เสมอ

เอาแค่กำหนดไปสหรัฐ ข้อมูลของ พล.อ.ประยุทธ์ และทีมโฆษก ก็ยังแตกต่างกัน

และยิ่งเมื่อมองไปถึงห้วงเวลาเดือนตุลาคม ที่จะต้องมีงานสำคัญของชาติมากมาย

การเดินทางไปสหรัฐ จะมีขึ้นจริงหรือ ยังเป็นคำถาม

และเป็นภาระให้กองเชียร์ลุงตู่ ตะโกน สู้สู้ เป็นกำลังใจต่อไป จนกว่าความหวังจะเป็นจริง?