ธนาคารสองแผ่นดิน/วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

ธนาคารสองแผ่นดิน

 

เวลากล่าวถึงธนาคารใหญ่ในสังคมไทย หนึ่งในนั้นต้องมีธนาคารกรุงเทพอยู่ด้วย

อย่างที่ว่าไว้ แต่จะมองแค่สังคมไทยคงไม่ได้

อ้างอิงรายงานนำเสนอล่าสุด (Bangkok Bank Investor Presentation For 3Q21) ย้ำถึงเครือข่ายธุรกิจใน 14 ประเทศ (“Long-standing international presence in 14 economies”) ซึ่งว่าด้วยภาพกว้างๆ เป็นธนาคารไทยที่มีเครือข่ายในต่างประเทศมากที่สุด โดยให้ความสำคัญเป็นการเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน กับเอเชียใต้ เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จะพบภาพใหม่ที่แตกต่าง

ภาพที่โฟกัส–ธนาคารกรุงเทพมีฐานธุรกิจอย่างมั่นคงใน 2 ประเทศ 2 ระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ในอาเซียน

 

นั่นคือฐานเดิมอันมั่นคงที่ประเทศไทย ตลอด 77 ปีที่ผ่านมา และตระกูลธุรกิจเดียวเกี่ยวข้องมีอำนาจบริหารค่อนข้างต่อเนื่องจนผ่านมาสู่รุ่นที่ 3 กับแผนการใหม่ที่ไม่เกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ธนาคารแห่งนี้

“ในปี 2563 ธนาคารกรุงเทพได้รับโอนกรรมสิทธิ์การถือหุ้นในธนาคารเพอร์มาตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำและเป็นผู้นำด้านดิจิตอลแบงกิ้งและระบบเทคโนโลยีการชำระเงินในประเทศอินโดนีเชีย โดยธนาคารกรุงเทพได้ทำการควบรวมสาขาของธนาคารในประเทศอินโดนีเซียเข้ากับธนาคารเพอร์มาตา จนกลายเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 10 อันดับแรกในประเทศอินโดนีเซีย…” ดังบทสรุปจากข้อมูลที่ธนาคารระบุไว้ และเคยอ้างไว้

ในบรรดาบทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจของธนาคารนั้น ผมมักให้ความสนใจเป็นพิเศษกับมุมมองของธนาคารกรุงเทพ ด้วยถือว่าเป็นบทวิเคราะห์ภาพใหญ่ที่หลักแหลม ดังนั้น จึงควรพิจารณาภาพกว้างระบบเศรษฐกิจซึ่งธนาคารแห่งนี้ปักหลักอยู่

โดยเปรียบเทียบ ฐานใหม่ ให้ภาพแห่งโอกาส ในบางมิติที่เปิดกว้างขึ้น จากภูมิศาสตร์เศรษฐกิจที่มีประชากร 67 ล้านคน (ไทย) เปิดสู่พื้นที่ใหม่ที่กว้างขวางขึ้นด้วยประชากรที่มากกว่า 3 เท่า และเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากจีน สหรัฐ และอินเดีย ด้วยจำนวนถึง 276 ล้านคน (อินโดนีเซีย) ที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นที่นั่น ผู้คนส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ด้วยอายุเฉลี่ยเพียง 30 ปี ว่ากันด้วยว่าชนชั้นกลาง (middle class) กำลังเติบโต

ในขณะที่สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงวัยไปแล้ว กล่าวกันว่าสิ้นปีนี้ (2564) ประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี จะมีสัดส่วนถึง 20% แล้ว ทั้งอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทย ก็ได้ลดลงตามลำดับ

Bank Permata ก่อตั้งขึ้นจากรากเหง้าธนาคารเก่าแก่ในกระแสคลื่นการเกิดขึ้นอย่างเป็นขบวนการธนาคารท้องถิ่นในภูมิภาค ในนาม PT Bank Bali Tbk – ตั้งแต่ปี 2497 ผ่านช่วงการเปลี่ยนแปลงหลายช่วง ก่อนจะมาเผชิญมรสุมครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจาก “วิกฤตต้มยำกุ้ง” รัฐบาลอินโดนีเซีย มีแผนการแก้ไขวิกฤต และสร้างธนาคารท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ด้วยการควบรวมธนาคารท้องถิ่นเล็กๆ เข้าด้วยกัน

หนึ่งในกรณีนั้น มีธนาคาร 5 แห่ง รวมทั้ง PT Bank Bali Tbk ด้วย กลายมาเป็น Bank Permata ในช่วงปี 2545

ถือเป็นช่วงเดียวกัน ทำนองเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจธนาคารไทย กรณีเริ่มต้นสำคัญในปี 2541 การก่อตั้ง ธนาคารรัตนสิน เพื่อควบรวมกิจการทางการเงินที่มีปัญหาเข้าด้วยกัน และอีกกรณี ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ ถูกทางการสั่งปิดกิจการ เข้าควบรวมกับ ธนาคารกรุงไทย

อีกกระแสหนึ่งเป็นไปทำนองเดียวกันเช่นกัน การเข้ามาของธนาคารต่างชาติ ธนาคารหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องทั้งไทยและอินโดนีเซียโดยเฉพาะในกรณีนี้ด้วย คือ Standard Chartered Bank ธนาคารเก่าแก่อายุกว่า 150 ปีในสหราชอาณาจักร ซึ่งเริ่มต้นมีบทบาทสำคัญในอาณานิคม มีบทบาทในภูมิภาคโลกตะวันออก ไม่ว่าอินเดีย ออสเตรเลีย และฮ่องกง ปัจจุบันมีเครือข่ายสาขาทั่วโลกมากกว่า 70 ประเทศ

โดยในปี 2542 Standard Chartered Bank เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในธนาคารนครธน (ธนาคารหวั่งหลี เดิม) และอีกขั้น กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เบ็ดเสร็จ (ปี 2545) จนเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ในจังหวะใกล้เคียงกัน (ปี 2547) ร่วมมือเครือข่ายธุรกิจใหญ่ในตำนานไทปัน มีฐานในฮ่องกง-Jardine Matheson ผ่านกิจการในอินโดนีเซีย เข้าซื้อกิจการ Bank Permata ต่อมาในปี 2549 ทั้งสองกิจการสามารถเข้าครอบครองหุ้นใน มากถึง 89%

ว่าด้วยธนาคารระดับโลก กับจังหวะและโอกาสทางธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ บทเรียนในประเทศไทยก็มีให้เห็นหลายกรณี กรณี Standard Chartered Bank เองเคยขายธุรกิจลูกค้ารายย่อยของธนาคารในประเทศไทยออกไป (ปี 2549)

ก่อนจะมาถึงโอกาสที่เกี่ยวข้องกับธนาคารกรุงเทพกับกรณี Bank Permata ในที่สุด

 

Bank Permata ระบุว่ามีฐานลูกค้ากว่า 4 ล้านราย มีสาขาประมาณ 300 แห่ง มีขนาดพอๆ กับธนาคารขนาดกลางของไทย ด้วยสินทรัพย์กว่า 400,000 ล้านบาท ที่น่าสนใจ ภายใต้กระแสการปรับโฉมธนาคารใหญ่ครั้งใหญ่ ตามแรงกระเพื่อมของสองธนาคารคู่แข่ง-ธนาคารไทยพาณิชย์ กับธนาคารกสิกรไทย นั้น Bank Permata ในเงื้อมมือธนาคารกรุงเทพ ก็มีมิติที่น่าสนใจเช่นกัน

เรื่องราวธุรกิจธนาคาร (ผ่าน https://www.permatabank.com/en อย่างเป็นทางการ) มีบางตอนที่สำคัญ ระบุว่า Bank Permata เป็นผู้บุกเบิก mobile banking ในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เรียกว่า E-Bond และเป็นธนาคารแรกที่นำเสนอ Touch ID และ Face ID ในแอพพ์ mobile banking ตั้งแต่ปี 2561

Bank Permata เข้ามาอยู่ในเงื้อมมือธนาคารกรุงเทพ มีขั้นตอนค่อนข้างกระชั้น แทบจะทันทีเมื่อลงนามซื้อกิจการ ชาติศิริ โสภณพนิช ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพได้เข้ามามีบทบาทในฐานะประธานกรรมการ (ที่นั่น เรียก President Commissioner) Bank Permata (20 พฤษภาคม 2563) ตามมาด้วยการแต่งตั้งผู้จัดการใหญ่ (President Director) เป็นคนของธนาคารกรุงเทพ (9 มิถุนายน 2564) ซึ่งเพิ่งผ่านมาไม่กี่เดือน

ธนาคารกรุงเทพมีธรรมเนียมการบริหารที่แตกต่างจากธนาคารทั่วไป คงรักษาความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รุ่นที่ 2 ของตระกูลโสภณพนิช โปรดสังเกตจากรายงานของผู้บริหาร รายงานประจำปี 2563 (หัวข้อ “สารจากประธานกรรมการ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่”) ซึ่งมีผู้ลงนามถึง 3 คน ได้แก่ ปิติ สิทธิอำนวย (วัย 87 ปี) เดชา ตุลานันท์ (วัย 86 ปี) และ ชาติศิริ โสภณพนิช (วัย 61 ปี)

จะด้วยเหตุนี้หรือไม่ก็ตาม หรือเป็นไปตามจังหวะเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น ผู้บริหารคนใหม่ในฐานะตัวแทนธนาคารกรุงเทพใน Bank Permata จึงเป็น ชลิต เตชัสอนันต์ (วัย 68 ปี) ผู้มีประสบการณ์ทำงานกับธนาคารกรุงเทพมาอย่างยาวนานถึง 4 ทศวรรษ โดยเฉพาะมีบทบาทในการบริหารเครือข่ายในภูมิภาค ทั้งประเทศมาเลเซีย จีน และโดยเฉพาะในอินโดนีเซีย มีบทบาทต่างกรรมต่างวาระถึง 15 ปี ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการทั่วไป ธนาคารกรุงเทพ อินโดนีเซีย

“สำหรับงวด 9 เดือน ปี 2564 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารมีจำนวน 20,189 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,406 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ส่วนใหญ่จากผลของการรวมธนาคารเพอร์มาตาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563” (อ้างจาก “สรุปผลการดำเนินงานของธนาคารและบริษัทย่อยสำหรับไตรมาสและงวดเก้าเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2564” แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ)

แม้ว่าผลประกอบการข้างต้นจะดีขึ้นบ้าง แต่ยังตามหลังอีก 2 ธนาคาร อย่างไรเชื่อกันว่าอีกไม่นาน สถานการณ์ “ธนาคารสองแผ่นดิน” จะดีขึ้นกว่านี้