โกฐจุฬาลัมพา (2)/สมุนไพรเพื่อสุขภาพ โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย

www.thaihof.org

 

โกฐจุฬาลัมพา (2)

 

โกฐจุฬาลัมพาชนิดที่มีชื่อภาษาจีนว่า “ชิงเฮา” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia annua L. เป็นโกฐจุฬาลัมพาที่เป็นเครื่องยาในตำรับยาไทย

แต่ในท้องตลาดเครื่องยาไทยกลับพบว่ามีโกฐจุฬาลัมพาชนิด Artemisia vulgaris L. ปนเข้ามาอยู่ด้วยซึ่งเป็นชนิดที่มักเรียกว่า “โกฐจุฬาลัมพาไทย” มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า mugwort หรือ common wormwood, felon herb, chrysanthemum weed, wild wormwood, old Uncle Henry, sailor’s tobacco, naughty man, old man หรือ St. John’s plant มีชื่อในท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศไทยหลายชื่อ เช่น พิษนาศน์ พิษนาด (ราชบุรี) โกฐจุฬาลำพา (กรุงเทพฯ) ตอน่า (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)

แม้ว่าโกฐจุฬาลัมพาทั้ง 2 ชนิดจะอยู่ในสกุลเดียวกัน แต่ปรากฏว่ามีสรรพคุณแตกต่างกัน ในเอกสารต่างๆ ของไทยจึงมีความสับสนในเรื่องสรรพคุณของโกฐจุฬาลัมพาทั้ง 2 ชนิดนี้

โกฐจุฬาลัมพาไทยเป็นพืชท้องถิ่นในยุโรป เอเชีย แอฟริกาเหนือ และรัฐอะแลสกา รวมทั้งในอเมริกาเหนือ ในอเมริกาจัดว่าเป็นวัชพืช และตามภูมิปัญญาดั้งเดิมนำมาใช้หมักทำเบียร์

ในเวียดนามใช้แต่งกลิ่นอาหาร

ในประเทศจีนนิยมนำหน่ออ่อนมาผัดกินเป็นอาหาร

ในเนปาลเรียกว่า ไตตีปาติ (titepati) หมายถึงใบไม้ที่มีรสขม นำมาใช้เป็นเครื่องบูชาเทพเจ้าและเป็นเครื่องหอมช่วยให้บรรยากาศในบ้านหอมสดชื่น บางที่ก็ทำเป็นไม้กวาดหรือนำมาแขวนไว้ตามประตูบ้าน ใบแห้งใช้มวนบุหรี่สูบหรือทำชาชงดื่มช่วยให้หลับสบาย

ในญี่ปุ่นและเกาหลีนิยมนำใบไปสกัดให้สีเขียวใช้แต่งสีในแป้งเกี๊ยว

ภูมิปัญญาดั้งเดิมใช้โกฐจุฬาลัมพาไทยเป็นยาขับพยาธิออกจากลำไส้และฟื้นฟูการไหลเวียนของเลือด มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสารสกัดสามารถทำให้หนูทดลองมีความสามารถในการสืบพันธุ์ลดลงหรือเป็นหมัน โดยไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อร่างกายของหนู ในอดีตสมัยกลางหรือยุคกลาง (middle age) ของยุโรป

นักเดินทางบางคนเชื่อว่าโกฐจุฬาลัมพาไทยช่วยให้หายจากการเมื่อยล้าและป้องกันไม่ให้สิ่งชั่วร้ายเข้ามากล้ำกรายได้ มีหลักฐานจากการแสดงของเช็กสเปียร์ที่แสดงให้เห็นว่ามีการใช้โกฐจุฬาลัมพาไทยเพื่อการหย่านมของทารก โกฐจุฬาลัมพาไทยทั้งสดและแห้งนิยมใช้ในการไล่แมลงซึ่งมีงานวิจัยบางชิ้นที่แสดงว่าใช้เป็นยาฆ่าลูกน้ำยุงได้

เนื่องจากโกฐจุฬาลัมพาไทยมีสารพิษในกลุ่มทูโจน (thujone) ที่พบได้มากในการผลิตเหล้าปีศาจ ดังนั้น ถ้าบริโภคในปริมาณมากหรือใช้ต่อเนื่องเวลานานอาจก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้

โดยเฉพาะผู้หญิงตั้งครรภ์จะทำให้แท้งบุตรได้

นอกจากโกฐจุฬาลัมพาไทยจะมีการปนเข้ามากับเครื่องยาโกฐจุฬาลัมพาแล้วบางครั้งยังพบว่ามีโกฐจุฬาลัมพาชนิดอื่นๆ ปะปนเข้ามาด้วย เช่น ชนิด Artemisia argyi H.L?v. & Vaniot, ชนิด Artemisia pallens Wall. ex DC.) และชนิด Artemisia princeps Pamp.

โกฐจุฬาลัมพาชนิด Artemisia argyi H.L?v. & Vaniot มีถิ่นกำเนิดกระจายตั้งแต่รัสเซียตะวันออกจนถึงจีน ในภาษาจีนเรียกว่า เฮียเฮียะ หรือ เหี่ยเฮี้ยะ ภาษามลายูเรียกอูลัมมักวัน เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี เป็นพืชที่มีกลิ่นหอมแรง

ชาวจีนภาคใต้ (ตอนใต้ของแม่น้ำแยงซี) ใช้ร่วมกับใบว่านน้ำแขวนหน้าประตูในช่วงเทศกาลเรือมังกรเพื่อปัดเป่าวิญญาณร้าย ส่งกลิ่นหอมระเรื่อ ใช้กินเป็นอาหารด้วย เช่น อาหารพื้นเมืองชนิดหนึ่งทางตอนใต้ของจีนบริเวณมณฑลเจ้อเจียง ทำขนมนึ่งเรียกว่า ชิงถวาน ที่ใส่เฮียเฮียะ โดยการบดนวดแป้งข้าวเหนียวไปพร้อมกับใบเฮียเฮียะสด อาจผสมด้วยถั่วลิสงหรือถั่วเขียว งา น้ำตาล และอื่นๆ นำมานึ่งกินก่อนและหลังเทศกาลเช็งเม้ง

อาหารจีนแคะ เรียกว่า “เฉาอากุ้ย” ใช้ก้อนแป้งผสมเฮียเฮียะ อัดลงแม่พิมพ์พร้อมใส้ ทำเป็นรูปต่างๆ นึ่งกิน ในลุ่มน้ำตงเจียงในกวางตุ้ง เก็บใบเฮียเฮียะสดและยอดอ่อนในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิกินเป็นผัก

ในทางการแพทย์แผนจีน ถือว่ามีคุณสมบัติขม ฉุน และอุ่น และใช้รักษาตับ ม้าม และไต ใบใช้เป็นยาแก้ไอขับเสมหะ ใช้เป็นยาห้ามเลือด บรรเทาปวด ช่วยการเพิ่มปริมาณเลือดไปยังบริเวณอุ้งเชิงกรานและกระตุ้นการมีประจำเดือน ช่วยรักษาภาวะมีบุตรยาก โรคหอบหืด และไอ นอกจากนี้ อาจใช้ในการรมยา (moxibustion) ซึ่งเป็นรูปแบบการรักษาด้วยการเผาสมุนไพรเฮียเฮียะหรือโกฐจุฬาลัมพา ในรูปกรวยหรือแท่ง หรือเป็นลูกกลมอัด โดยเสียบไว้กับปลายเข็มฝัง เพื่อรมบริเวณจุดฝังเข็มตามตำแหน่งของเส้นลมปราณ ชาวโอรังอัซลีในรัฐเปรักและชาวมาเลเซียใช้ใบสดเคี้ยวแก้ไอ

น้ำมันระเหยที่สกัดจากใบ นำมาใช้กับโรคหอบหืดและหลอดลมอักเสบ โดยฉีดพ่นลงบนหลังลำคอ ทำให้ช่วยบรรเทาอาการได้อย่างรวดเร็ว ใบมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพในการต่อต้านแบคทีเรีย เช่น Staphylococcus aureus, Bacillus dysenteriae, Bacillus subtilis, Bacillus typhi, Escherichia coli และ Pseudomonas ได้เป็นอย่างดี

โกฐจุฬาลัมพาชนิด Artemisia pallens หรือโกฐจุฬาลัมพาแขก มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย มีชื่อภาษาสันสกฤตว่า ธรรมนาคา (damanaka) ปัจจุบันสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยจากดอกและใบมาทำน้ำหอมเรียกว่า น้ำมันดาวานา (Davana oil) น้ำหอมนี้เมื่อสัมผัสผิวของแต่ละคนจะให้กลิ่นที่แตกต่างกันออกไป มีงานวิจัยพบว่าสารสกัดจากทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์ สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองได้

โกฐจุฬาลัมพาชนิด Artemisia princeps Pamp.หรือโกฐจุฬาลัมพาญี่ปุ่น ถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ในจีน ญี่ปุ่นและเกาหลี ได้นำเข้าไปปลูกในเบลเยียมและเนเธอร์แลนด์ ใบและต้นอ่อนนำมากินเป็นผักสดหรือใช้ปรุงอาหารด้วยความร้อน รสผักนี้ค่อนข้างขม ทางการแพทย์แบบดั้งเดิมในจีน เกาหลี มองโกเลีย ทิเบต เนปาลและเวียดนามใช้เป็นยารม (moxibustion)

โกฐจุฬาลัมพามีหลายชนิดและที่นำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันก็ยังมีในรูปแบบต่างๆ กัน แต่ในเวลานี้เฉพาะชนิด Artemisia annua L. เท่านั้นที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แสดงถึงคุณสมบัติที่ดีในการลดไข้ และมีสารต้านโควิด-19 ได้

นอกจากนี้ ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมส่วนใหญ่ไม่นิยมนำมาใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยว หากจะพัฒนาการใช้โกฐจุฬาลัมพาเพื่อบำบัดโรคต่างๆ รวมทั้งโควิด-19 ควรมีแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อการใช้สมุนไพรอย่างปลอดภัยและได้ผลดีด้วย