เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ / จิตวิญญาณของแผ่นดิน

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

จิตวิญญาณของแผ่นดิน

 

เพลงฝรั่ง scarboraugh fair ที่ไซม่อนและการ์ฟังเกลแต่งและร้องนั้น โดดเด่นและโด่งดังเป็นอมตะก็เพราะนอกจากไพเราะแล้ว เนื้อหาของเพลงยังมีนัยยะให้ตีความไปหลากหลาย ได้อารมณ์ลึกซึ้งยิ่ง

จำได้ว่าฟังเพลงนี้ในยุคสงครามเวียดนาม ก่อให้เกิดกระบวนต่อต้านจากคนรุ่นใหม่ในอเมริกา เกิดกระแสฮิปปี้ให้คนรักเสรีสุดเหวี่ยง

สำคัญคือ เกิดศิลปินสร้างสรรค์งานศิลปะหลากหลาย โดยเฉพาะงานเพลงและบทกวีก้าวหน้า

เพลงสคาร์โบรอจแฟร์นี้เป็นหนึ่งในยุคนั้น และไซม่อนกับการ์ฟังเกลก็เป็นนักดนตรีและนักร้องแนวหน้าและแนวนำของยุคนั้นด้วย

ถึงวันนี้มีโอกาสได้ฟังเพลงนี้อีกยิ่งติดใจ ฟังซ้ำๆ ได้ไม่เบื่อ เรียกว่ายิ่งฟังยิ่งอิน เขามีคำร้องเป็นภาษาอังกฤษ และมีวงเล็บประกอบเหมือนจะแฝงนัยยะให้ตีความไว้ด้วย จำเพาะคำร้องนั้นแสนจะธรรมดา ครั้นสังเกตนัยยะจากคำในวงเล็บก็ยิ่งขยายความให้ได้ตีความไปตามอารมณ์ตามใจได้ดีนัก

โดยเฉพาะวรรคที่ร้องซ้ำๆ ว่า Parsley, Sage, Rosemarry, and thyme. คือพาสลีย์เซจ โรสแมร์รี่ แอนด์ ไธม์ นั้น นอกจากไพเราะนักหนา โหยหวน วังเวง เศร้าสร้อยแล้ว สำคัญคือ แปลไม่ได้เลยว่าหมายถึงอะไร

เพราะ Parsly นั้นแปลว่า ใบผักชีฝรั่ง sage แปลว่า ใบสะระแหน่ Rosemarry ก็คือดอกโรสแมร์ และ thyme คือใบโหระพา

เกี่ยวอะไรกับเพลงด้วยเล่า

 

บางคนพยายามนิยามว่าเป็นสัญลักษณ์ของสมุนไพร เช่น ผักชีฝรั่งหมายถึงความสิ้นทุกข์โศก สะระแหน่หมายถึงความเข้มแข็ง ดอกโรสแมร์รี่คือความสัตย์ซื่อในรัก และโหระพาคือความกล้าหาญ

ดูจะห่างไกลเกินนะ ไม่รู้ว่าเป็นสำนวนโวหารของฝรั่งหรือไม่อย่างไร

เราฟังแล้ว รู้คำแปลแล้วก็คิดเอาตื้นๆ ว่าเป็นคำรำพึงถึงกลิ่นอายจากงาน (แฟร์) ของเมืองสคาร์นั่นเอง

คำโบรอจนั้น ภาษาเยอรมันหมายถึง “เมือง” เช่น ฮัมบูร์ก คือเมืองฮัม เพราะบูรก์เป็นคำเดียวกับคำบาลี คือ “บุระ” หรือ “บุรี” ที่แปลว่าเมืองนั่นเอง เช่น กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี

สคาร์โบรอล ก็คือ สคาร์บุรี

คงมีงานทำนองตลาดพื้นบ้านที่มีพืชผักผลไม้ ผลผลิตของชาวบ้านชาวเมืองออกมาขายกันในวันงานนี้เป็นประจำ ดังเพลงทักถามด้วยประโยคแรกว่า

“คุณจะไปงานที่เมืองสคาร์หรือ” (Are you’r go to scarboraugh fair?)

นึกถึงภาพขณะผู้ร้องทักถามด้วยประโยคนี้ พลันก็ได้อวลกลิ่นหอมของพืชผักอันอุดมสมบูรณ์ อันเป็นกลิ่นอายดังเป็นสัญลักษณ์ของงานขึ้นมาทันที

 

นี่ก็คิดเรื่อยเปื่อย ตีความไปตามใจเอง อันเป็นสิทธิของผู้ฟัง ซึ่งก็เป็นพลังของงานศิลปะทุกประเภทที่เปิดโอกาสให้กับจินตนาการได้ไม่สิ้นสุด นี่เป็นเสรีทัศน์หรือเสรีภาพอย่างหนึ่งของงานศิลปะทุกประเภท…มิใช่หรือ

ทุกท่อนเพลงก็จะมีวรรคนี้เป็นดังสร้อยเพลงที่มาย้อนย้ำถึงบรรยากาศของงานนี้ ซึ่งจะคิดถึงต่อไปว่า “…จำฉันได้ไหม…ในงานนี้ ซึ่งมีเธอผู้เป็นรักแท้ของฉันอยู่…”

หลับตาฟังอีกทีในท่อนต่อๆ ไปในวงเล็บขยายความ เห็นภาพนักรบผู้จากบ้านมาแสนไกลอยู่ในสนามรบเวียดนามที่มีแต่เสียงปืนและการเข่นฆ่า ฝากบอกเธอด้วยนะ ฉันจะกลับมา ขอที่ใกล้ผืนน้ำและผืนทรายอย่างน้อยเป็นหลุมศพให้กระดูกได้มาฝังที่นี่ ที่มีใบไม้โปรยปรายและชะล้างด้วยน้ำตาใสบริสุทธิ์

“คุณกำลังไปงานที่เมืองนั้นใช่ไหม ฝากบอกเธอด้วยนะ”

นี่ไม่ใช่เพลงธรรมดาเลย มันให้ความหมายกินใจและได้แรงบันดาลใจไม่สุดสิ้น

จะฟังเอาไพเราะธรรมดาก็ได้

หรือจะเอาสาระให้คิดถึงใครและยุคสมัยโหดร้ายที่ผ่านมาแล้วผ่านไปก็ได้

 

ฟังซ้ำๆ จึงบันดาลใจให้แต่งเนื้อร้องใหม่จากทำนองนี้ เป็นคำไทยและเนื้อหาไทยๆ ชื่อเพลงว่า “เพลงขลุ่ยผิว” ดังมีเนื้อเพลงประกอบด้วยนี้

เนื้อหาไทยๆ คือ คิดถึงบ้านเราที่จากมา นั้นคือสังคมชนบท ทำไร่ทำนาเป็นหลัก และการจากมาของลูกหลานที่พลัดที่พลัดทางเข้ามาหลงเขาวงกตในเมืองกรุง

เหมือนจะเป็นแนวน้ำเน่า

แต่มันเป็นวงจรอุบาทว์ของสังคมไทย ที่ยังหาทางออกไม่ได้จนถึงวันนี้

อย่าว่าแต่สังคมชนบทเลย สังคมอะไรๆ ก็ล้วนไม่มีทั้งนั้น มีแต่สังคมมายาไปทุกที่ทุกทาง ทุกหนทุกแห่ง

กลายเป็นสังคมเสพสุขลูกเดียว

วิถีชีวิตที่อยู่กับการผลิต การทำดังสังคมเกษตรกรรมหายไป นับวันมีแต่จะตกเป็นเบี้ยล่างของต่างชาติและทุนนิยมสามานย์

ปัจจุบันตลาดสินค้าพื้นบ้านพื้นเมือง เช่น ถนนคนเดิน และตลาดพื้นที่วัฒนธรรมที่เริ่มจะมีในทุกเมืองนี้ดูจะเป็นความหวังของสังคมไทยในลักษณะเก่าต่อใหม่คือผลผลิตของคนในพื้นที่พื้นถิ่นนำมาทำให้ปรากฏใหม่ในสถานที่ใหม่ และกับผู้คนในยุคสมัยใหม่

นี้คือการกลับมาของภูมิปัญญาแผ่นดิน ให้ผู้คนได้ประจักษ์และตระหนักถึงจิตวิญญาณของแผ่นดิน

ที่ขาดหายและโหยหา

เพลงขลุ่ยผิว

ฝากคิดถึง ถึงคนที่อยู่ไกล

ห่างเพียงไหน หัวใจให้ห่วงหา

คิดถึงฟ้าครามสวยงามรุ้งเรืองหล้า

ขลุ่ย ผิวพา หัวใจไม่ห่างกัน

ฝากคิดถึง ถึงคนที่อยู่ไกล

ห่างเพียงไหน หัวใจไม่ห่างหัน

สวรรค์หาย เสียดาย เหมือนความรักเรานั่น

ผ่าน ผันพา หัวใจ ยอมไม่ยอม

ใฝ่ และหวัง หวังวันได้กลับมา

จะไปหา ไปหอบรวงข้าวหอม

ผืนน้ำ ผืนดิน ล้วนรินรักโอบอ้อม

ขลุ่ยพร้อมพา ผิวเพลงรักฝากเธอ ฯ

*ทำนองเพลงสคาร์โบรอจแฟร์ ของไซม่อน-การ์ฟังเกล