ในประเทศ : ป.ป.ช.กลางเขาควาย พธม.-นปช.อุทธรณ์ สลายม็อบ “เหลือง-แดง”

เกิดปฏิกิริยาสะท้อนกลับทันที

ทั้งจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เสื้อเหลือง และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เสื้อแดง

ภายหลังวันที่ 2 สิงหาคม 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษา “ยกฟ้อง” จำเลยคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ 7 ตุลาคม 2551

ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.

ด้วยเหตุว่า เป็นการสลายการชุมนุมตามขั้นตอนกฎหมาย ด้วยมาตรการเบาไปหาหนัก

อีกทั้งการใช้ “แก๊สน้ำตา” ผลักดันผู้ชุมนุม ไม่พบว่ามีเจตนาหรือเจตนาพิเศษสั่งทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายบาดเจ็บและเสียชีวิต

รวมถึงการชุมนุมของพันธมิตรฯ ไม่ได้เป็นการชุมนุมโดยสงบ

เนื่องจากมีการระดมมวลชนปิดล้อมรัฐสภา ขัดขวางไม่ให้นายกฯ ในขณะนั้นแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

ภายหลังคำพิพากษา “ยกฟ้อง” ปฏิกิริยาแรกจากแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ คือการประกาศ “น้อมรับ” แต่ “ไม่เห็นด้วย” กับคำพิพากษา

ขณะที่ปฏิกิริยาจากฝ่าย นปช. มุ่ง “เทียบเคียง” กับเหตุการณ์สลายการชุมชุมกลุ่ม นปช. เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ในยุครัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีคนตายร่วมร้อยคน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน

“ฟีดแบ็ก” ทั้งสองสายพุ่งตรงเข้าใส่ ป.ป.ช. กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” ในทันที

 

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Banrasdr Photo


หลังศาลฎีกาฯ อ่านคำพิพากษา

วันที่ 4 สิงหาคม แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งรุ่น 1 รุ่น 2 นัดหารือร่วมกันที่บ้านพระอาทิตย์ เพื่อกำหนดท่าทีต่อคำพิพากษา ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง

จากนั้นออกแถลงการณ์ สรุปว่า กลุ่มพันธมิตรฯ เคารพคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ที่ตัดสินยกฟ้อง แต่ไม่เห็นพ้องด้วย กลุ่มพันธมิตรฯ และผู้เสียหาย เห็นว่ายังไม่ได้รับความเป็นธรรม และมีความคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงหลายประการ

จึงเห็นสมควรต้องอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

แต่เนื่องจากกฎหมายไม่เปิดช่องให้สามารถยื่นอุทธรณ์ได้เอง จึงมอบหมายให้ นายวีระ สมความคิด และผู้เสียหาย เป็นตัวแทน

เข้ายื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ในฐานะโจทก์ผู้ฟ้องคดี เพื่อให้ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 195

โดยประเด็นที่กลุ่มพันธมิตรฯ หยิบยกขึ้นมา

กรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อเดือนตุลาคม 2555 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักนายกรัฐมนตรี จ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เสียหาย เป็นเงินกว่า 32 ล้านบาท เนื่องจากการสลายการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามหลักสากล ปัจจุบันคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด รอนัดอ่านคำพิพากษา

แกนนำยังตั้งข้อสงสัยการต่อสู้คดีของ ป.ป.ช. ด้วยว่าได้ทำอย่างเต็มที่ สมศักดิ์ศรีหรือไม่ เนื่องจาก 1 ใน 4 จำเลย คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม

อีกทั้ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ยังมีสายสัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับ “ผู้ใหญ่” คนสำคัญในรัฐบาล คสช. อีกด้วย

“หาก ป.ป.ช. ไม่ยื่นอุทธรณ์ กลุ่มพันธมิตรฯ จะเดินหน้าต่อ จะใช้ทุกช่องทางตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรม” นายวีระ สมความคิด ระบุหลังยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา

 

ภายใต้คำพิพากษาเดียวกัน ยังก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวจากกลุ่มการเมืองอีกฟากฝั่ง

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ระบุการที่กลุ่มพันธมิตรฯ ยื่นขอให้ ป.ป.ช. อุทธรณ์คำพิพากษา ถือเป็นสิทธิกระทำได้ตามช่องทางกฎหมาย

แต่หลังจากแกนนำพันธมิตรฯ ยื่นแล้ว แกนนำ นปช. ก็จะยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. ขอให้หยิบยกคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ที่ ป.ป.ช. ชุดก่อนเคย “ตีตก” ไปแล้ว ขึ้นมาพิจารณาใหม่เช่นกัน

โดยฝ่ายกฎหมาย นปช. ได้รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐาน เทียบเคียงคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ปี 2551 กับกรณีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ปี 2553 เตรียมยื่นต่อ ป.ป.ช. เนื่องจากยังติดใจบทบาทการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช.

เพราะสำนวนคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ อัยการสูงสุดชี้ว่าไม่ควรฟ้อง แต่ต่อมา ป.ป.ช. กลับยื่นฟ้องเอง กระทั่งศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษายกฟ้อง

แต่กรณีสลายการชุมนุม นปช. ปี 2553 ป.ป.ช. ตีตกสำนวน ไม่ส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาส่งฟ้องต่อศาล ทำให้คดีต้องยุติลงตั้งแต่ในขั้นตอนของ ป.ป.ช. ทั้งที่เป็นคดีมีประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก

ส่วนที่ ป.ป.ช. หยิบยกข้อกฎหมายขึ้นมาอ้างว่า ไม่สามารถรื้อฟื้นสำนวนคดีสลายการชุมนุม นปช. ปี 2553 ได้ หากไม่มีพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญในการไต่สวน

ประเด็นนี้ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. ยืนยันว่าในกรณีนี้มี “ข้อมูลใหม่” ที่เป็นสาระสำคัญให้ ป.ป.ช. นำสำนวนกลับมาทบทวนใหม่ได้

นั่นคือคำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้ ถึงสาเหตุการตาย 6 ศพในวัดปทุมวนาราม ว่ามาจากกระสุนปืนฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส ตามคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.

รวมถึงผลศึกษาของคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนฯ สมัยนั้น ตรวจสอบว่ามีการใช้ “กระสุนจริง”ในการขอคืนพื้นที่จากผู้ชุมนุม โดยมีการเบิกกระสุนมากกว่า 200,000 นัด

แม้แต่บทความในวารสาร “เสนาธิปัตย์” กรมยุทธศึกษาทหารบก เกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหาร ยังระบุถึงความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการปราบปราม

สิ่งที่แกนนำ นปช. จับตาต่อจากนี้ หาก ป.ป.ช. ยื่นอุทธรณ์คดีใช้ “แก๊สน้ำตา” สลายการชุมนุมปี 2551

แล้วจะพิจารณาการใช้ “กระสุนจริง” สลายการชุมชุมปี 2553 อย่างไร

 

สําหรับท่าทีของรัฐบาล คสช. หลังคำพิพากษาศาลฎีกาฯ 2 สิงหาคม ดูเหมือนจะ “แข็งกร้าว” กับความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ มากเป็นพิเศษ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวถึงการยื่นอุทธรณ์ว่าเป็นเรื่องของ ป.ป.ช. ที่ต้องให้เกียรติกัน

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ชี้ว่าผลจากคำพิพากษา ทำให้ต่อจากนี้การชุมนุมจะทำเหมือนเดิมไม่ได้ ทุกอย่างต้องได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว

รวมถึงประกาศคำสั่ง คสช. ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งยังบังคับใช้อยู่

พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ย้ำว่า การชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองตอนนี้ ไม่สามารถทำได้ ถ้าผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินคดีเท่าเทียมกันทุกฝ่าย

“ผมไม่รู้จักใคร และไม่ต้องเกรงใจใคร”

ตบท้ายด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. ที่มีจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ตลอด 3 ปีกว่าที่ผ่านมา ครั้งนี้ได้ออกมากล่าวในทำนองเรียกร้องให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยอมรับคำพิพากษาศาลฎีกาฯ

นอกจากระบุว่านายสุเทพ คือคนที่ “แทงข้างหลัง” กลุ่มพันธมิตรฯ มาโดยตลอด

นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ทายาทนายสนธิ อดีตแกนนำคนสำคัญกลุ่มพันธมิตรฯ ยังมองว่าเบื้องหลังคดีสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 แท้จริงก็คือ

“ยุทธศาสตร์ พิฆาต พันธมิตร”

ถูกจัดวางมาอย่างเป็นระบบ โดยมีแกนกลางคือผู้ถืออำนาจรัฐ กับ ป.ป.ช. ที่ “ระดับบิ๊ก” มีสัมพันธ์แนบแน่นอยู่กับ “จำเลย” และ “ผู้ใหญ่” ในรัฐบาล คสช.

มีการอาศัยคำพิพากษาคดีศาลฎีกาฯ สร้างภาพให้สังคมเกิดความรู้สึกไม่ดีกับกลุ่มพันธมิตรฯ ว่ากำลังจะเคลื่อนไหวอีกครั้งเพื่อต่อต้านคำพิพากษาศาล ทำให้กลุ่มพันธมิตรฯ สูญเสียความชอบธรรม

การที่กลุ่มอำนาจแต่ละส่วนให้สัมภาษณ์ขู่จะใช้ “ไม้แข็ง” กับกลุ่มพันธมิตรฯ หากออกมาเคลื่อนไหวชุมนุม ยังเป็นการปรามกลุ่ม นปช. ไปในตัว แบบที่เรียกว่า “เชือดไก่ให้ลิงดู” ในห้วงเวลาที่กำลังจะตัดสินคดีจำนำข้าว

สิ่งที่ตามมาภายหลังวันที่ 2 สิงหาคม อย่างหนึ่งคือการสะท้อนสถานการณ์ของ ป.ป.ช. ว่า ไม่ต่างจากยืนอยู่ “ระหว่างเขาควาย” หากรักษาสมดุลร่างกายไม่ได้

เอียงเมื่อไหร่ มีสิทธิ์เจ็บตัวเมื่อนั้น