ธงทอง จันทรางศุ | เรียงความ-ย่อความ ในมือคนรุ่นใหม่

ธงทอง จันทรางศุ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อผมและท่านผู้อ่านหลายคนเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาตอนเป็นเด็ก วิชาหนึ่งที่เราต้องเรียนคือวิชาภาษาไทย

ในวิชาดังกล่าวมีหลักสูตรว่าด้วยเรื่องของการเขียนเรียงความและการย่อความด้วย

น่าเสียดายที่ผมจำไม่ได้เสียแล้วว่าคุณครูสอนหลักในเรื่องนี้ว่าอย่างไร

จำได้แต่ว่าผมสนุกกับการเขียนเรียงความและการย่อความมาก อาจจะเป็นเพราะสายเลือดของตัวเองได้รับอิทธิพลเรื่องนี้มาจากแม่ซึ่งเป็นนักเขียนก็เป็นได้เหตุหนึ่ง

แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่น่าจะมีความสำคัญไม่แพ้กัน คือความเป็นคนชอบอ่านหนังสือ อย่างที่เคยบอกแล้วว่าแม่เป็นนักเขียนนวนิยาย แม่ของผมจึงเป็นนักอ่านตัวยง

ชีวิตวัยเด็กของผมจึงล้อมรอบไปด้วยหนังสือสารพัด ของขวัญวันเกิดแต่ละปีที่ได้รับจากพ่อ-แม่ส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือ มีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองครับ วรรณคดีสำคัญของเมืองไทยเกือบทุกเรื่องจึงไม่รอดเงื้อมมือผมไปได้

เอ! หรือว่าผมจะไม่รอดจากเงื้อมมือของวรรณคดีไปได้ก็ไม่รู้สิ

แต่นั่นแหละครับ ด้วยการที่ได้เรียนวิชาเรียงความย่อความมาจากโรงเรียนประกอบกับการอ่านหนังสือแบบอุตลุด ทำให้ผมได้เห็นงานเขียนจำนวนมากผ่านตา ได้เห็นแบบอย่างการใช้ภาษาไทยที่มีคุณภาพ และเกิดแรงบันดาลใจหรือความกำเริบใจคิดอยากจะเขียนหนังสือกับเขาบ้าง

ดูเหมือนผมได้เคยพูดมาบ้างแล้วว่า ถ้าเป็นคนไม่อ่านหนังสือก็ยากที่จะเขียนหนังสือได้

ยิ่งไปกว่านั้นถ้าเราชอบอ่านหนังสือที่ใช้ภาษาในระดับใด เมื่อถึงคราวเราเขียนหนังสือเองบ้าง “ระดับ” ของภาษาของเราก็จะอยู่ประมาณนั้น ไม่สูงไม่ต่ำไปกว่านั้นได้

ทุกวันนี้ในบ้านของผมมีหนังสือสะสมอยู่จำนวนไม่น้อย บรรณารักษ์จากห้องสมุดหลายแห่งเคยแวะมาเที่ยวที่บ้านและประมาณการด้วยสายตาว่าน่าจะมีหนังสืออยู่ตามชั้นหนังสือต่างๆ ในห้องทั้งห้าห้องที่ฝาผนังเต็มไปด้วยหนังสือจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 เล่ม

บางวันก็นึกกลุ้มใจอยู่เหมือนกันว่า ถ้าตัวเองตายไปแล้วหนังสือเหล่านี้จะไปไหน

พอตั้งสติได้ว่า เมื่อตัวเราตายแล้วจะไปห่วงอะไร เป็นเรื่องคนอื่นต้องห่วงต่อไปต่างหาก คิดได้แบบนี้แล้วก็สบายใจครับ ฮา!

เวลานี้ยังมีลมหายใจอยู่ก็ห่วงเล็กห่วงน้อยไปก่อนก็แล้วกัน

ความห่วงกังวลที่เกิดขึ้นในใจเมื่อไม่กี่วันมานี้อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่สำคัญอยู่ในสายตาของผม

เรื่องมีอยู่ว่าผมสอนหนังสือในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมมีความเห็นว่า ชีวิตของนักเรียนกฎหมายและยิ่งเมื่อเติบโตไปในวันข้างหน้าต้องเป็นนักกฎหมายด้วยแล้ว ความสามารถในการใช้ภาษาทั้งเรื่องของการเรียงความและการย่อความ ซึ่งต้องมีพื้นฐานทักษะในการจับประเด็น รู้ว่าเรื่องใดเป็นหลัก รู้ว่าเรื่องใดเป็นรอง เหตุผลสนับสนุนในแต่ละข้อแต่ละเรื่องมีอะไรบ้าง และเราสามารถนำเสนอได้อย่างเป็นระบบ ง่ายต่อความเข้าใจของผู้อ่าน เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ข้อสอบนิสิตปีหนึ่งของผมข้อแรกจึงกำหนดให้นิสิตเขียนเรียงความหนึ่งเรื่องโดยกำหนดหัวข้อแบบกว้างขวางครอบจักรวาล เพื่อให้นิสิตเขียนอะไรก็ได้ตามที่เขาคิดตามที่เขาเข้าใจ

กับข้อสอบอีกข้อหนึ่ง ผมกำหนดให้นิสิตย่อความจากบทความยาวสามหน้าที่ผมแนบให้ไปพร้อมกับข้อสอบ

นิสิตส่วนใหญ่ทำข้อสอบได้ดีครับ แต่ก็มีบางคนที่ทำให้ผมอึ้งกิมกี่ไปเหมือนกัน

เวลาสำหรับทำข้อสอบทั้งสองข้อมีอยู่ 1 ชั่วโมงครึ่ง หารสองแล้ว ก็แปลว่านิสิตมีเวลาทำข้อสอบข้อละประมาณ 45 นาที

นิสิตคนหนึ่งเขียนข้อสอบเรียงความมีความยาวตั้งแต่ต้นจนจบห้าบรรทัด

ส่วนนิสิตอีกคนหนึ่งนำบทความที่ผมแนบให้พร้อมข้อสอบมาวางเป็นคำตอบ แล้วใช้วิธีขีดฆ่าคำหรือวลีหรือประโยคที่เขาไม่ต้องการออก เหลือผลสุดท้ายเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า ย่อความ

เรื่องมันยังไงๆ อยู่นะครับ เพราะสำหรับผมแล้วย่อความคือการอ่านเรื่องทั้งหมดแล้วจับใจความให้ได้ประเด็นสำคัญ จากนั้นจึงนำมาเรียบเรียงใหม่ด้วยสำนวนภาษาของเราเอง ไม่ใช่โดยการขีดฆ่าทิ้งกันแบบนั้น

ไม่เป็นไรครับ เรายังมีเวลาเรียนหนังสือด้วยกันอีกสามปีครึ่ง กว่าจะเรียนจบเป็นบัณฑิตเห็นจะคาดคั้นกันได้มากกว่านี้อีกเยอะ

แต่ปรากฏการณ์ครั้งนี้ทำให้ผมได้คิดว่า ทักษะการเขียนเรียงความก็ดี การย่อความก็ดี ไม่ใช่เรื่องที่คนรุ่นปัจจุบันคุ้นเคยเสียแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเด็กรุ่นหลังของเราจะ “ห่วย” ไปเสียทุกเรื่องเสียเมื่อไหร่

เรื่องที่เขามีทักษะทำได้ดีก็ยังมีอีกมาก ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมเปลี่ยนโจทย์เป็นว่า ให้นิสิตทำ Power point หรือ Info-graphic มานำเสนอแทนการเขียนเรียงความหรือย่อความ ผมอาจได้เห็นผลงานดีๆ ควรค่าแก่เหรียญรางวัลชนะเลิศก็เป็นได้

และถ้าคิดย้อนกลับให้ผมไปทำงานแบบนั้นผมก็อาจจะได้คะแนนไม่มากเท่าไหร่ก็เป็นได้เหมือนกัน

ประเด็นอยู่ตรงนี้ครับ

อยู่ที่ว่าคนเราแต่ละคนต้องการทักษะแตกต่างกันตามความจำเป็นของชีวิต จนถึงขณะนี้ผมยังมีความเห็นว่าคนจะเป็นนักกฎหมายควรเขียนเรียงความและย่อความได้ดี แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคนไทยทุกคนควรเขียนเรียงความและย่อความได้ดีนะครับ

การทำให้มนุษย์กลายเป็นผลผลิตที่เป็นพิมพ์เดียวกันเหมือนผลิตภัณฑ์ที่ออกมาจากโรงงาน ไม่น่าจะเป็นจุดหมายปลายทางที่ถูกต้องของการศึกษา

ถูกล่ะครับว่า การศึกษาที่เป็นพื้นฐานจริงๆ ต้องปูพื้นที่มั่นคงเพียงพอสำหรับลูกหลานเราที่จะเติบโตไปใช้ชีวิตตามวิถีต่างๆ ที่มีความหลากหลาย แต่ขณะเดียวกันการมีระบบที่ทำให้ลูก-หลานของเราแต่ละคนสามารถใช้ศักยภาพและแสดงความเป็นตัวตนที่แท้ของเขาออกมาได้อย่างเต็มที่ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

มนุษย์แต่ละคนควรได้รับโอกาสที่จะมีทั้งความรู้พื้นฐานตลอดไปจนถึงความรู้และทักษะ ประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับการประกอบอาชีพการงานตามความถนัดของเขา และจะดีมากถ้าเราได้รับโอกาสที่จะทำงานที่เราถนัดและเรารัก อะไรที่ไม่ถนัดก็ปล่อยให้คนอื่นเขาทำไปเถิด

การให้คนที่มีความถนัดอย่างหนึ่ง ต้องไปตกที่นั่งลำบากต้องทำอะไรอีกอย่างหนึ่งที่ไม่สันทัด จะลาออกก็ไม่ได้ จะอยู่ต่อไปก็ไม่ดี แบบนี้ลำบากไปหมดครับ ทั้งลำบากตัวเองและลำบากคนอื่น

สาบานว่านี่พูดถึงนิสิตจริงๆ เลยครับ อย่าไปนึกถึงใครอื่นนะ

แน่ะ! นึกถึงใครอยู่ล่ะครับ