ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | วางบิล |
เผยแพร่ |
เรื่องสำคัญที่ผู้นำท้องถิ่นหรือผู้บริหารเมืองต้องรู้ และต้องจัดให้มีขึ้นในท้องถิ่น คือเรื่องการศึกษา
หัวข้อเรื่องการศึกษาไทย ผู้บรรยายคือ ดร.สุภัทร จำปาทอง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เริ่มจากระบบกฎหมายไทยที่มีผลต่อการปฏิรูปการศึกษาไทยในทศวรรษที่ผ่านมา ประกอบด้วย
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2541 ที่ให้รัฐไทยต้องปฏิรูประบบการศึกษาทั้งเชิงโครงสร้างและกระบวนการเรียนรู้ทุกระดับการศึกษา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และฉบับที่ 2 พ.ศ.2545 การศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม
ส่งเสริมการขยายโอกาสทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพให้ประชาชนด้วยความเสมอภาค
สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทางการศึกษาจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กร ชุมชนและสถาบันศาสนา
ขณะที่ต้องจัดการศึกษา 3 รูปแบบ คือการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงให้การศึกษาในระบบ 2 ระดับ คือระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับอุดมศึกษา กับต้องระดมทรัพยากรจากหลายแหล่งมาใช้ ซึ่งรัฐต้องให้การสนับสนุนด้านเงินทุน การลดหย่อนภาษี หรือการเว้นภาษี และสิทธิประโยชน์อย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ทางการศึกษา
พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 คือการปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานระดับกรมจาก 14 กรม เป็น 5 ส่วน คือสำนักงานเลขาธิการ รวมถึงโครงสร้างบริหารองค์การในรูปแบบคณะกรรมการ และการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา และเขตพื้นที่การศึกษา (ปัจจุบันปรับเปลี่ยนใหม่อีกครั้งกลับไปเป็นอย่างเดิมคือใช้คณะกรรมการการศึกษาจังหวัด)
การจัดโครงสร้างบริหารองค์การแบบคณะกรรมการ
การกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาและเขตพื้นที่การศึกษา (ยกเลิกจากมาตรา 44)
ทั้งยังจัดบทบาทการเข้ามามีส่วนร่วมจัดการสถานศึกษาจากภายนอก : ธุรกิจเอกชน ชุมชนท้องถิ่น ประชาสังคม
กระทรวงศึกษาธิการมีโครงสร้าง 5 องค์กรหลัก คือ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
ส่วนกรมการศึกษานอกโรงเรียนที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัยสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
การให้บริการการศึกษาไทย เพื่อการปฏิรูปและขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และระบบการศึกษาไทยแบ่งเป็นช่วงอายุ ตั้งแต่ 0-3 ปี และ 3-6 ปี เป็นช่วงเด็กเล็กและปฐมวัย ปัญหาที่พบคือ
ศูนย์เด็กเล็กไม่ได้มาตรฐาน การจัดการศึกษาและระดับปฐมวัยมีความแตกต่าง และไม่ได้รับการดูแลให้ความรู้และพัฒนาการที่เหมาะสม
ช่วงอายุ 6-12 ปี และ 12-15 ปี คือประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ปัญหาที่พบ คือ
นักเรียนเรียนในห้องเรียนมากเกินไป (จัดใหม่เป็น ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้) การบ้านมาก นักเรียนและผู้ปกครองเครียด การเรียนการสอนยังไม่ส่งเสริมให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ นักเรียนอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ อ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ
ช่วงอายุ 15-18 ปี มัธยมศึกษาตอนปลาย ประกาศนียบัตรวิชาชีพ และวิชาชีพชั้นสูง ปริญญาตรีสายปฏิบัติ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ปัญหาที่พบ คือ
คนไทยไม่นิยมเรียนสายอาชีพ การผลิตกำลังคนไม่ตรงกับความต้องการทั้งปริมาณและคุณภาพ ผู้เรียนขาดทักษะอาชีพ
ช่วงอายุ 18-22 ปี ป.วช. ปว.ส. ปริญญาตรีสายปฏิบัติ และการศึกษนอกระบบ ปัญหาที่พบ คือ
ขาดแคลนครูดี ครูเก่ง ครูไม่ครบชั้นเรียน ครูไม่ตรงสาขาวิชาเอก และนักเรียนเก่งไม่เรียนวิชาครู
ช่วงอายุ 22 ปีถึงตลอดชีวิต ปัญหาที่พบ คือ
ประชาชนไม่จบการศึกษาภาคบังคับ ประชาชนยากจน อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ ขาดทักษะชีวิต และขาดการแสวงหาความรู้
จํานวนสถานศึกษาในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ มีโรงเรียนเอกชน 3,537 โรง การศึกษาขั้นพื้นฐาน 31,008 โรง อาชีวศึกษา 889 แห่ง ของรัฐ 425 แห่ง เอกชน 464 แห่ง อุดมศึกษา 150 แห่ง
ทิศทางนโยบายอนาคตการศึกษาไทย ตามที่รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการบรรยาย คือ โครงสร้างประชากรเปรียบเทียบระหว่างปี 2537 และปี 2557 เห็นว่า ปี 2537 จะมีลักษณะโปร่งตรงกลาง คือช่วงอายุ 14-39 ปี ส่วนปี 2557 มีลักษณะโปร่งมีลักษณะคล้ายขวด คืออายุ 14-59 ปี ในคนช่วงอายุเดียวกันเมื่อผ่าน 20 ปี ผู้ที่อยู่ระหว่างอุดมศึกษามีปริมาณน้อยลง
บทบาทของสถาบันอุดมศึกษาในการพัฒนาประเทศ 3 ประการ คือ
การผลิตบัณฑิต สร้างความรู้ใหม่เพื่อการพัฒนาประเทศ ให้เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น ทั้งภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ภาคท้องถิ่น และชุมชน รวมถึงความเป็นเลิศทางวิชาการ
สิ่งที่ต้องเผชิญ คือ กลุ่มประเทศพัฒนา ที่เป็นผู้นำ มี การวิจัยและเทคโนโลยี การพัฒนาต่อยอด การออกแบบสร้างสรรค์ การตลาดและการขาย การจัดการและ Supply chain กลุ่มประเทศที่เป็นผู้ตามซึ่งพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ทักษะ เทคโนโลยีใหม่ๆ ตามทันสินค้า ผลิตภัณฑ์ใหม่ เรียนรู้นวัตกรรม พัฒนาตนเองและสื่อสารนานาชาติ
ส่วนกระแสโลกที่ต้องเผชิญในศตวรรษที่ 21 มีการค้า เศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว การมีเครือข่ายและการเชื่อมต่อ การจัดการสภาพแวดล้อมพลังงาน มีชุมชนเมือง รวมถึงการเน้นเพื่อสุขภาพ
ประการสำคัญ คือทักษะของพลโลกในทศวรรษที่ 21 ต้องมีทักษะด้านเทคโนโลยีด้านไอที ด้านครีเอทีฟ การมีความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิเคราะห์และการแก้ปัญหา การสร้างผลผลิตและนวัตกรรม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ การมีทักษะหรือการมีจิตวิทยา และรู้จักพหุวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงของโลก
เป็นอันจบการบรรยายอย่างย่นย่อของรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.สุภัทร จำปาทอง