จาก #ม็อบ10สิงหา63 ถึง ศาล รธน.10พฤศจิกา64 คำวินิจฉัย ประวัติศาสตร์ ‘ล้มล้างการปกครองฯ’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

จาก #ม็อบ10สิงหา63

ถึง ศาล รธน.10พฤศจิกา64

คำวินิจฉัย ประวัติศาสตร์

‘ล้มล้างการปกครองฯ’

เวทีชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน วันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ได้รับความความสนใจจากนักศึกษาและประชาชนจำนวนมาก เรียกได้ว่านับจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ครั้งนั้นคือการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุด

กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมระบุในหนังสือ ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า 10 สิงหา ตอนหนึ่งว่า เวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน คือส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะไปถึงรากเหง้าของปัญหาการเมืองไทย

ไฮไลต์กิจกรรมครั้งนั้นอยู่ที่เวทีปราศรัย พร้อมการปรากฏตัวของแกนนำอย่างนายอานนท์ นำภา และนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์

ช่วงท้ายการชุมนุม น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ขึ้นเวทีปราศรัยในฐานะแกนนำสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) อ่านประกาศของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 1 ระบุถึง 10 ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบัน

หลังสิ้นการอ่านคำประกาศ ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมในแง่มุมต่างๆ มีทั้งคัดค้าน เห็นด้วย และเป็นห่วง

ถัดจากนั้นเพียงแค่ 7 วัน วันที่ 18 สิงหาคม นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยการกระทำของกลุ่มแกนนำม็อบ #10สิงหาฯ

ประกอบด้วย นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก, น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ หรืออั๋ว, น.ส.สิริพัชระ จึงธีรพานิช, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ น.ส.อาทิตยา พรพรม

ก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณา 3 คน คือ ทนายอานนท์ ไมค์-ภาณุพงศ์ และรุ้ง-ปนัสยา ในประเด็นที่ว่า ผู้ถูกร้องทั้งสามได้ชุมนุมและปราศรัยทำกิจกรรม อันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

หลังกระบวนการไต่สวนผ่านมากว่า 1 ปี วันสำคัญก็มาถึง

ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เวลาบ่าย 3 โมงตรง

 

ในวันดังกล่าวกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แนวร่วม และประชาชนจำนวนหนึ่ง ได้มาปักหลักรอฟังคำวินิจฉัยบริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งวัฒนะ ตั้งแต่ช่วงบ่าย

ก่อนถึงเวลาอ่านคำวินิจฉัย รุ้ง ปนัสยาเดินทางมายังบริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ อ่านถ้อยแถลงปิดคดีนอกศาล โดยสรุปคือ ยืนยัน 10 ข้อเรียกร้องที่ประกาศบนเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้

ดังนั้น การกระทำของตนและพวก จึงไม่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างระบอบการปกครองฯ จึงขอให้ศาลวินิจฉัยยกคำร้อง

กระทั่งเวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญขึ้นบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย ขณะที่นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายอานนท์ นำภา แถลงต่อศาลว่า

ได้รับมอบจากนายอานนท์ ขอให้ศาลเปิดไต่สวนเพิ่มเติมก่อนมีคำวินิจฉัย เนื่องจากเป็นคดีใหญ่ที่คำตัดสินไม่เพียงส่งผลกระทบแค่ผู้ถูกร้อง 3 คน

แต่ส่งผลกระทบต่อทั้งประเทศ จึงขอให้มีโอกาสแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ทนายอานนท์ยังสั่งว่า หากศาลไม่เปิดไต่สวนเพิ่มเติม ก็ให้ทนายตัวแทนออกจากห้องพิจารณา โดยไม่ประสงค์จะรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยคำร้องนี้

เช่นเดียวกับนายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายผู้รับมอบอำนาจจากนายภาณุพงศ์ จาดนอก แถลงจุดประสงค์เดียวกัน

รวมทั้งรุ้ง ปนัสยาที่แสดงเจตนารมณ์ต้องการให้มีการไต่สวนเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงสรุปว่า ศาลพิจารณาคดีโดยใช้ระบบไต่สวน แสวงหาข้อเท็จจริงได้จากหลายฝ่าย เมื่อได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนที่จะวินิจฉัยได้ จึงสั่งงดการไต่สวนเพิ่ม ส่วนการไม่ประสงค์ฟังคำวินิจฉัย ถือเป็นสิทธิ

ทำให้รุ้ง ปนัสยา และทนายความตัวแทนทนายอานนท์ และไมค์ ภาณุพงศ์ เดินออกจากห้องพิจารณาไป

 

จากนั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มอ่านคำวินิจฉัยระบุ

ประเด็นที่ต้องพิจารณามีว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

มาตรา 49 มีเจตนารมณ์ปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศ ให้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจง พยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งบันทึกเสียงการปราศรัยของผู้ถูกร้อง 1-3 ฟังเป็นที่ยุติว่า

ผู้ถูกร้องที่ 1-3 อภิปรายในที่สาธารณะหลายครั้งหลายสถานที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เรียกร้องให้แก้ไขเกี่ยวกับสถาบัน จนมาถึงการชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563

พิจารณาแล้วเห็นว่า พระมหากษัตริย์กับชาติไทยดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน และจะต้องดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคตเพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ปวงชนชาวไทยจึงถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1-3 เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนอื่นที่เห็นต่างด้วย

อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้บุคคลอื่นกระทำตาม ยิ่งกว่านั้นการกระทำของผู้ถูกร้องดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย

แม้การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1-3 จะผ่านไปแล้ว หลังจากผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ยังปรากฏว่าผู้ถูกร้องที่ 1-3 ยังคงร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคล กลุ่มต่างๆ โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์ไม่มีแกนนำที่ชัดเจน

โดยมีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่องด้วยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน

 

นอกจากนี้การเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องที่ 1-3 และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีลักษณะเป็นขบวนการเดียวกันที่มีเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรก

ผู้ถูกร้องที่ 1-3 มีพฤติการณ์กระทำซ้ำและกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกระทำกันเป็นขบวนการ ซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ

มีลักษณะของการก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทำลายหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ นำไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในที่สุด

อีกทั้งเป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลาย ไม่ว่าจะโดยการพูดการเขียนหรือการกระทำต่างๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันอีกด้วย

แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว

แต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป

ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการ

ให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

โดยการวินิจฉัยครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 เสียง วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้อง 1-3

เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองฯ

ส่วนตุลาการฯ เสียงข้างน้อย 1 เสียงคือ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม

 

นายณฐพร โตประยูร ในฐานะผู้ร้องเผยว่า ไม่ได้อยากดำเนินคดีกับกลุ่มนักศึกษาแต่อยากดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำหรือผู้อยู่เบื้องหลัง

กระบวนการหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของตำรวจและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง รวมถึงอัยการที่จะนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปดำเนินคดีอาญา

สำหรับข้อเสนอการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของฝ่ายการเมือง ยืนยันจากคำวินิจฉัยจะทำให้คำร้องเอาผิดและยุบพรรคก้าวไกลดำเนินการได้ หลังยื่นคำร้องกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไว้ตามมาตรา 92

เชื่อว่า กกต.จะขอคัดถ่ายสำเนาคำวินิจฉัยและไปดำเนินการ เนื่องจากพรรคการเมืองและ ส.ส.พรรคดังกล่าวสนับสนุนทางการเงินและการประกันตัวผู้ต้องหา รวมถึงไปร่วมชุมนุมที่ถือเป็นความผิด

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ จะเป็นสารตั้งต้นในการฟ้องร้องเอาผิดผู้กระทำการละเมิดต่อสถาบัน อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุ

กล่าวกันว่าคำวินิจฉัย 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญได้สร้างบรรทัดฐานขึ้นใหม่ในการชุมนุมทางการเมือง ทั้งยังส่งผลให้กลไกในรูปแบบสันติวิธีผ่านการรณรงค์เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นไปอย่างยากลำบาก หรือแทบเป็นไปไม่ได้

เรื่องใหญ่ที่จะตามมาคือเกิดความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดร้าวลึกกว่าเดิมระหว่างคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุน 10 ข้อเรียกร้อง กับคนรุ่นเก่าที่คัดค้านแบบหัวชนฝาโดยแยกไม่ออกว่าอะไรคือความหมายของคำว่าล้มล้าง อะไรคือปฏิรูป

แน่นอนว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่จะยังคงเคลื่อนไหวต่อไป แต่โจทย์การบ้านข้อใหญ่คือจะสื่อสารข้อเรียกร้องเดิมด้วยวิธีไหน รูปแบบอย่างไร

เป็นเรื่องต้องเฝ้าจับตากันต่อไป