จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (26)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (26)

 

เส้นทางการล่มสลายของซ่งใต้ (ต่อ)

เหวินเทียนเสียงได้แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นขุนนางที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความกล้าหาญ และมีความรู้ความสามารถสูง ตอนที่ทัพมองโกลบุกตีจีนจนจีนยอมจำนนใน ค.ศ.1275 นั้นเหวินเทียนเสียงเป็นผู้แทนจีนในการเจรจากับมองโกลใน ค.ศ.1276

เขาได้แสดงท่าทีที่แข็งกร้าวต่อมองโกล และทำให้เห็นว่าตนพร้อมที่จะทำศึกกับมองโกลเสมอ

เมื่อเป็นเช่นนี้เหวินเทียนเสียงจึงถูกมองโกลควบคุมเอาไว้ก่อนส่งตัวกลับ ซ้ำยังปล่อยข่าวให้ร้ายเขาว่ายอมจำนนต่อราชวงศ์หยวนแล้วเพื่อให้ราชสำนักซ่งระแวง จนทำให้เขาต้องระเหเร่ร่อนด้วยความลำบากยากเย็น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเวลานั้นซ่งกงตี้ทรงยอมจำนนต่อหยวนไปแล้ว พระองค์ทรงถูกควบคุมไปยังเมืองต้าตู (คือเป่ยจิงในปัจจุบัน) ส่วนเหล่าเสนามาตย์ที่ยังคงอยู่ได้หนีไปตั้งฐานอยู่ที่เมืองฝูโจวในมณฑลฝูเจี้ยน

จากนั้นก็ราชาภิเษกจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นมาโดยมีฝูโจวเป็นเมืองหลวง

เหวินเทียนเสียงซึ่งตามมาที่ฝูโจวด้วยถูกส่งตัวไปจัดตั้งกองกำลังทหารที่เมืองเจี้ยนโจว ที่อยู่ในมณฑลนี้เช่นกัน โดยเขาได้เกณฑ์กำลังพล สะสมเสบียงอาหาร และเงินสำหรับจ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่ทหาร พร้อมกันนั้นก็ปลุกเร้าให้ทหารต่อสู้กับมองโกล แต่ก็มิอาจต้านได้

จนที่มั่นสุดท้ายของเหวินเทียนเสียงก็มาสิ้นสุดลงที่มณฑลฝูเจี้ยน ณ ที่นี้ทัพของเขาพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ ลูกและภรรยาของเขาต่างถูกมองโกลจับตัวไป

 

ฤดูใบไม้ผลิปีถัดมาจักรพรรดิซ่งสวรรคต เหล่าเสนามาตย์จึงได้ราชาภิเษกเชื้อพระวงศ์ซ่งพระนามว่า เจ้าปิ่ง (ค.ศ.1272-1279) ขึ้นเป็นจักรพรรดิใน ค.ศ.1278 ด้วยพระชนมายุเพียงหกชันษา

จากนั้นได้ย้ายราชสำนักไปยังมณฑลกว่างตง แต่ก็ยังคงถูกทัพมองโกลติดตามไล่ตีไม่ลดละ จนในที่สุดทัพจีนภายใต้การนำของเหวินเทียนเสียงก็พ่ายแพ้ และถือเป็นการพ่ายแพ้ครั้งสุดท้ายของเขา เพราะหลังจากนั้นเขาถูกจับกุมในฐานะเชลยและถูกนำตัวไปยังเมืองต้าตู

มองโกลจัดให้เขาอาศัยอยู่ในบ้านพักที่มีไว้ต้อนรับผู้ที่ยอมจำนน ที่พักนี้จึงหรูหราอัครฐาน และมีสุราอาหารปรนเปรอ จากนั้นก็ส่งอดีตมหาอำมาตย์จีนที่แปรพักตร์มาอยู่กับหยวนเกลี้ยกล่อมให้เขายอมจำนน แต่ก็ถูกเขาบริภาษอย่างรุนแรง

ครั้นส่งอดีตจักรพรรดิซ่งที่ตกเป็นเชลยไปเกลี้ยกล่อมอีก เขายังคงปฏิเสธที่จะยอมจำนน

เมื่อมิอาจทลายความจงรักภักดีของเหวินเทียนเสียงลงได้ หยวนแห่งมองโกลจึงลงโทษเขาด้วยการทรมาน ระหว่างนั้นก็ให้น้องชายของเขาที่ยอมจำนนมาเข้าเยี่ยม และนำจดหมายของภรรยาและลูกของเขาที่ยอมจำนนเช่นกันมาเกลี้ยกล่อม

แต่ก็ยังมิอาจเปลี่ยนใจของเขาไปได้เช่นเคย

เมื่อเป็นเช่นนี้เหวินเทียนเสียงจึงถูกประหารชีวิตใน ค.ศ.1283 การยืนหยัดจงรักภักดีของเขาจึงสิ้นสุดลง ทิ้งไว้แต่ถ้อยกวีที่เขาเคยรจนาเอาไว้ว่า “แม้นมวลมนุษย์มิอาจอยู่ยั้งยืนยง แต่จิตจงรักแห่งตนจักส่องสว่างชั่วตำนาน”

ถ้อยกวีนี้จึงสะท้อนตัวตนของเหวินเทียนเสียงได้เป็นอย่างดี

 

ข้างฝ่ายขุนนางซ่งที่ยังเหลืออยู่นั้น หลังจากที่เหวินเทียนเสียงถูกจับกุมตัวไปแล้ว ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีจากทัพมองโกลไปได้ ทั้งทหารและพลเรือนชาวจีนราว 200,000 คนหนีการไล่ล่าของทัพมองโกลมาจนถึงริมทะเล ที่ปัจจุบันคือจังหวัดซินฮุ่ยในมณฑลกว่างตง

ชาวจีนทั้งหมดนี้ต่างล้อมจักรพรรดิองค์น้อยเอาไว้เพื่อปกป้อง จากนั้นก็ลงเรือเพื่อมุ่งไปยังเกาะแห่งหนึ่งของภูผาสูง (ไย๋ซัน, Cliff Hill) ทัพมองโกลไล่มาทันในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ.1279 จากนั้นการศึกก็เกิดขึ้น

ชาวจีนเหล่านี้ถูกทัพมองโกลเข่นฆ่าอย่างไร้ความปรานี ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากการสู้รบ จำนวนไม่น้อยเสียชีวิตจากการจมน้ำหรือไม่ก็จงใจให้ตนจมน้ำตาย ผู้จงรักภักดีเหล่านี้ยอมทุกข์ทรมานหรือไม่ก็เลือกที่จะตายในเชิงศีลธรรม เพื่อแทนการอยู่ใต้การปกครองของมองโกล

ในขณะที่เหล่าแม่บ้านในครัวเรือนก็กระทำอัตวินิบาตกรรมหมู่เช่นกัน ส่วนจักรพรรดิองค์น้อยทรงเกาะหลังขุนนางแล้วนำพระองค์กระโดดลงทะเลไป การสิ้นพระชนม์ของจักรพรรดิองค์สุดท้ายทำให้ราชวงศ์ซ่งใต้ล่มสลายลง โดยมีจักรพรรดิปกครองรวมแล้วเก้าองค์

เหตุการณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าวถูกเรียกกันต่อมาว่า ยุทธนาวีหยาเหมิน (หยาเหมินไห่จั้น, Naval Battle of Yamen) อนึ่ง หยาในพยางค์แรกของชื่อสถานที่นั้นในอดีตอ่านว่า ไย๋ อันเป็นคำเดียวกับคำว่า ไย๋ซัน

บางที่จึงเรียกศึกนี้ว่า ยุทธนาวีภูผาสูง (หยาซันไห่จั้น, Naval Battle of Mount Ya)

 

เล่ากันว่า หลังเหตุการณ์ผ่านไปเจ็ดวัน ศพจำนวนหลายพันได้ลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำ ส่วนพระศพของจักรพรรดิองค์น้อยถูกพบที่ชายฝั่งของเมืองเซินเจิ้นในปัจจุบัน เวลาผ่านไปอีกหลายปีต่อมา สถานที่ที่เกิดโศกนาฏกรรมนี้ได้มีอารามและอนุสรณ์สถานถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงราษฎร ขุนนาง ขุนศึก และจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ซ่ง

ตราบจนทศวรรษที่ 80 ของศตวรรษที่ 20 อนุสรณ์สถานของจักรพรรดิเจ้าปิ่งได้ถูกสร้างขึ้นที่เมืองเซินเจิ้น เพื่อรำลึกถึงพระองค์อย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ การรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวยังแสดงผ่านอาหารรายการหนึ่งที่มีชื่อว่า น้ำแกงรักษ์ปิตุภูมิ (ฮู่กว๋อไฉ่, Patriotic soup) อาหารรายการนี้ปรุงจากผักใบเขียว เล่ากันว่า เป็นอาหารที่จักรพรรดิน้อยองค์สุดท้ายทรงโปรดเสวย

แต่ข้อมูลบางแหล่งให้รายละเอียดว่า แกงรักษ์ปิตุภูมินี้เป็นอาหารที่ปรุงจากผักใบเขียวเป็นหลัก โดยต้มกับน้ำกระดูกหรือเนื้อสัตว์อื่นๆ ตั้งแต่ราชวงศ์หมิงเป็นต้นมาได้ใช้ใบของมันหวาน ผักขมใบแดง ผักขมใบเขียว และผักบุ้งในการปรุง บางครั้งก็ใส่ไข่ทอด (beaten eggs ไข่เจียวหรือไข่ดาว?) ลงไปด้วย

แต่ในครัวเรือนของชาวจีนกว่างตงเชื่อว่า ต้นแบบของอาหารรายการนี้ปรุงด้วยผักล้วน ซึ่งรวมถึงน้ำแกงก็เป็นน้ำต้มผัก

ผู้ปรุงและสืบทอดอาหารรายการนี้เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว (เฉาโจว) จนปัจจุบันนี้ถือเป็นรายการอาหารที่ปรุงขึ้นและบริโภค ทั้งเพื่อรำลึกและถวายพระเกียรติแด่จักรพรรดิองค์นี้

ราชวงศ์ซ่งได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้วโดยดุษณี เป็นประวัติศาสตร์ที่เริ่มต้นด้วยความรุ่งเรืองเสมือนการสร้างชาติใหม่ของจีน แล้วก็จบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่ดูเหมือนต่างจากราชวงศ์ก่อนหน้านี้

โดยเฉพาะกรณีจักรพรรดิองค์น้อยที่เกาะหลังขุนนางและชาวจีนนับแสน ที่ต่างกระโจนลงทะเลไปนั้นถือเป็นภาพที่สะเทือนใจยิ่ง

 

การปกครองในสมัยซ่ง

นับแต่ช่วงกลางสมัยราชวงศ์ถังเรื่อยมา โครงสร้างของสังคมจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลที่เป็นขุนนางกับทหาร ทาส ช่างฝีมือ และขันที ก็ได้เปลี่ยนไปเป็นเสนามาตย์ที่ครอบครองที่ดินเอาไว้มาก เจ้าที่ดินที่ให้ชาวนาเช่าที่ดิน

นอกจากนี้ ก็ยังประกอบไปด้วยชาวบ้านในชนบท ช่างฝีมือ แรงงาน และสาวใช้ เป็นต้น ส่วนพ่อค้าก็มีฐานะทางสังคมที่สูงขึ้น ในขณะที่การถือครองที่ดินก็เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน มีการซื้อขายที่ดิน การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน การจำนองที่ดิน

โดยการเช่าที่ดินแล้วได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ของเจ้าที่ดินกับชาวนา มาเป็นความสัมพันธ์ของผู้ให้เช่ากับผู้เช่า ซึ่งมิใช่ความสัมพันธ์แบบกดขี่อีกต่อไป

ส่วนเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หัตถกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การคมนาคมทั้งทางบก ทางทะเล และเส้นทางสายไหมเจริญก้าวหน้ากว่าเดิม การค้าก็เจริญรุ่งเรือง

ความเปลี่ยนแปลงกับความเจริญนี้ดำรงต่อเนื่องผ่านยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐจนถึงราชวงศ์ซ่ง และซ่งได้แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาในด้านต่างๆ ที่มีความก้าวหน้าและเป็นระบบเช่นกัน

ซึ่งการศึกษาในที่นี้จะได้กล่าวถึงโดยลำดับต่อไป