ผายมือไปที่แพะ/มิตรสหายเล่มหนึ่ง นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

ผายมือไปที่แพะ

 

1 กาลครั้งหนึ่ง ณ เกาะเซนต์กิลด้า ชาวเกาะซึ่งไม่มีผู้นำ ไม่มีสภา ไม่มีระบบเงินตรา ไม่เสียภาษี มีชีวิตอยู่โดยอาศัยนกทะเลเป็นอาหารหลัก พวกเขาไต่ตามหน้าผาด้วยความว่องไว วางกับดักและเก็บไข่นกอย่างชำนาญการ ทว่าพวกเขามิใช่นักเดินเรือและชาวประมง

ครั้งหนึ่งในปี 1840 ชาวเกาะที่ออกทะเลแล้วเผชิญกับพายุลูกใหญ่ต้องจบชีวิตลงเมื่อคลื่นยักษ์ซัดเรือล่ม

สองวันจากนั้นซากผู้เสียชีวิตเริ่มถูกซัดเกยฝั่ง หนึ่งในนั้นมีสิ่งมีชีวิตรูปร่างประหลาดที่ยังไม่ตาย มันคือนกอ๊อกใหญ่ (Great Auk) นกบินไม่ได้ขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปแล้ว

ชาวเกาะเองก็ไม่เคยเห็นมันมาก่อน ชายสองคนจึงจับนกตัวนั้นไว้ แล้วนำไปที่โบสถ์ของชุมชน มันถูกตัดสินว่าเป็นลางร้ายผู้นำพายุมาสู่เกาะ วินาศภัยครั้งนี้เป็นความผิดของมัน

เมื่อการไต่สวนนกสิ้นสุดลง มันถูกตัดสินว่าผิดจริง และถูกปาหินใส่จนตาย

ชาร์ลี แคมป์เบลล์ เล่าเรื่องนี้ในหนังสือ Scapegoat เพื่อต้องการสื่อสารว่า เมื่อมนุษย์มีความกลัว โกรธ และความไม่รู้ พวกเขามักมองหา ‘คนนอก’ มารับผิดชอบกับหายนะที่เกิดขึ้นเสมอ

 

2 แล้วสำหรับในชุมชนที่ไม่มีใครให้ผายมือเพื่อส่งความผิดไปให้เลยล่ะ?

ในหนังสือ Collapse ของจาเร็ด ไดมอนด์ เล่าเรื่องราวการโค่นต้นไม้บนเกาะอีสเตอร์ในช่วงปี 1400 ถึง 1600 เพื่อนำมาใช้งานและขนย้ายรูปสลักหินยักษ์ที่เรารู้จักกันในนาม ‘โมอาย’ กระทั่งไม่เหลือต้นไม้ใหญ่ให้ใช้งานอีกต่อไป

ไม่มีเชื้อเพลิงใช้เผาศพ ไม่มีไม้มาทำเรือแคนูเพื่อออกหาปลา และไม่สามารถสร้างรูปสลักเทพเจ้าได้เหมือนแต่ก่อน

ผลสืบเนื่องต่อมาคือความอดอยาก ประชากรลดลงอย่างรุนแรง และอาจมีการกินเนื้อมนุษย์กันเองเกิดขึ้นด้วย

เชื่อกันว่าการที่รูปสลักหินมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นั้นสัมพันธ์กับสถานการณ์วิกฤตของชาวเกาะ

พวกเขาพยายามขอความช่วยเหลือจากทวยเทพด้วยการสร้างรูปสลักใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม แต่แล้วก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ กลับย่ำแย่ลงไปอีก

เมื่อรู้สึกว่าถูกเทพเจ้าทอดทิ้ง ชาวเกาะผู้โกรธแค้นจึงเริ่มโค่นบรรดาเทพเจ้าหินที่ตนเคยสร้างลง

สุดท้ายแล้วเกาะอีสเตอร์สูญเสียต้นไม้ใหญ่ไปทั้งหมด ผมมีโอกาสได้ไปเยือนเมื่อสองปีก่อน พบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะยังคงเป็นทุ่งโล่ง ปราศจากไม้ใหญ่ และในช่วงเวลานั้นประชากรถึงร้อยละเก้าสิบล้มตายไป ด้วยความที่เป็นเกาะ ไม่มีศัตรู ไม่มีคนต่างชาติต่างศาสนา ไม่มีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง สิ่งเดียวที่พวกเขานึกออกว่าน่าจะเป็นต้นตอของความวินาศต้องเป็นเทพเจ้าแน่ๆ โทษจึงถูกผลักขึ้นสู่ทวยเทพบนท้องฟ้า

ราวกับว่าความผิดไม่เคยเป็นของ ‘พวกเรา’

3 คำว่า ‘แพะรับบาป’ หรือ Scapegoat ถูกใช้ครั้งแรกโดยวิลเลียม ทินเดล ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลฉบับปี 1530 เพื่ออธิบายพิธีกรรมวันไถ่บาปของชาวยิวในหนังสือเลวีนิติที่มีการบูชายัญแพะสองตัว

ตัวแรกใช้บูชายัญถวายพระยาห์เวห์ พระเจ้าของชาวยิว เพื่อไถ่บาปให้มนุษย์ (ยกโทษให้ชาวอิสราเอล)

แพะตัวที่สองอุทิศให้อาซาเซล เทพเจ้าแห่งโลกหลังความตาย

แพะตัวนี้ถูกล่ามด้วย ‘ความไร้ศีลธรรมทุกประการของลูกหลานแห่งอิสราเอล และฝ่าฝืนความผิดบาปทั้งปวงของพวกเขา’

มันจะถูกขับไล่ไปสู่เขตแดนทุรกันดาร มีพู่สีแดงผูกเขาทั้งสองข้าง เมื่อสีของพู่ถูกแดดเลียจนซีดจึงถือว่าบาปทั้งหลายถูกลบล้างแล้ว ความรู้สึกผิดของคนที่มารวมตัวกันก็จะถูกขับออกไปจากชุมชน

ชาร์ลี แคมป์เบลล์ ยังอธิบายอีกว่าพิธีกรรมแพะรับบาปนับย้อนไปได้จนถึงจุดเริ่มต้นของมนุษยชาติเลยทีเดียว ทุกวัฒนธรรมยุคแรกๆ มีพิธีนำบาปออกไปจากชุมชน ซึ่งมีวิธีการแตกต่างกันไป ดูเหมือนมนุษย์เป็นสายพันธุ์ที่หมกมุ่นกับ ‘ความบริสุทธิ์ผุดผ่อง’

เราอาศัยความเชื่อต่างๆ เพื่อให้เรากลับไปสู่สภาวะบริสุทธิ์ไร้มลทินอีกครั้ง

ผู้คนในหมู่เกาะอีสต์อินเดียเชื่อว่าสามารถลำเลียงวิญญาณร้ายผ่านไปสู่ใบไม้ที่อยู่เหนือร่างผู้ป่วย จากนั้นเพียงนำใบไม้นั้นไปทิ้งก็เท่ากับกำจัดสิ่งร้ายไป

ในจีนมีการใช้ว่าวปัดเป่าความป่วยไข้ออกไป

ที่อินโดนีเซีย ชาวชวาสร้างบ้านเรือลำเล็กๆ ไว้ลอยปีศาจออกไป

ที่อินเดียมีการเก็บบาปใส่ไว้ในไห ในแถบหิมาลัย สุนัขจะโดนปาหินจนตายเพื่อชดใช้บาป

ส่วนอียิปต์นั้นใช้วัวบูชายัญ

เหล่านี้คือสิ่งที่มีมาเนิ่นนานในสังคมมนุษย์ ก่อนที่มนุษย์จะใช้มนุษย์ด้วยกัน ‘รับบาป’ เพื่อให้ตัวเองผุดผ่อง

 

4 เหตุผลที่เลิกใช้แพะบูชายัญแล้วหันมาใช้คนเป็น ‘แพะรับบาป’ แทนฟังดูน่าเศร้า เพราะแพะเริ่มมีราคาและมีค่ามากขึ้น คนจึงหันไปหา ‘คนชายขอบ’ ของสังคมอย่างอาชญากรหรือคนพิการแทน

ส่วนวิธีการก็มีตั้งแต่ขับออกจากหมู่บ้าน ทุ่มด้วยหิน โยนลงแม่น้ำ หรือผลักตกหน้าผา โดยเชื่อว่าคนผู้นั้นจะนำเอาความป่วยไข้ของผู้คนในชุมชนออกไปด้วย

พิธีกรรมเช่นนี้มีอยู่ในหลายอารยธรรม ตั้งแต่อาณาจักรบาบิโลน กรีกโบราณ โรมัน เมื่อเวลาผ่านไป นอกจาก ‘แพะ’ จะทำหน้าที่นำพาโรคร้ายออกไป คนเหล่านั้นยังกลายมาเป็นภาชนะรองรับความโกรธแค้นของประชาชนจากเหตุการณ์เลวร้ายด้วย

แต่เมื่อวันเวลาผันเปลี่ยน แพะรับบาปไม่ใช่การกระทำในพิธีกรรมอีกต่อไป มันกลายเป็น ‘พฤติกรรม’ ที่ใช้ปกป้องผู้คนจากความผิดแทน

เมื่อมีเหตุหายนะคนส่วนมากจะชี้นิ้วไปที่คนส่วนน้อยที่กลายเป็นเหยื่อทั้งที่อาจไม่ได้กระทำผิด

 

5 มองด้วยแว่นจิตวิทยา การโทษคนอื่นดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่มนุษย์ใช้จัดการกับความสับสนในตัวเอง

มีการทำวิจัยที่ระบุว่าชาวออสเตรเลียร้อยละ 85 ประเมินการปฏิบัติงานของตนเองสูงกว่าค่าเฉลี่ย เช่นประเมินว่าขับรถดีเลิศ แต่ผลออกมาว่าสถิติอุบัติเหตุพุ่งกระฉูด

ดูเหมือนว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ

เมื่อบวกรวมกับความกลัวที่จะถูกลงโทษไม่ว่าจากสิ่งที่มองเห็นหรือมองไม่เห็น จึงไม่แปลกอะไรที่เราจะรีบโยนความผิดไปให้ ‘แพะ’ สักราย ที่เราล้มเหลวผิดพลาดห่วยแตกมันเป็นเพราะคนอื่น โดยเฉพาะที่อยู่ต่ำกว่าเรา ซึ่งไม่ได้หมายถึงเชิงตำแหน่งเสมอไป แพะที่ว่านี้อาจต่ำต้อยกว่าในแง่คุณธรรม หัวหน้าหรือเจ้านายก็อาจตกเป็นแพะได้ไม่แพ้ลูกน้อง

แคมป์เบลล์อธิบายว่า เราพัฒนาความสามารถในการโทษคนอื่นตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของชีวิต ลองนึกย้อนกลับไปสมัยเด็กก็ได้ เวลาทะเลาะกับพี่น้องแล้วแม่เดินมาเป็นผู้พิพากษา เราจะรีบชี้นิ้วไปที่คู่กรณีแล้วบอกว่า “เขาเริ่มก่อน” แทนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วจะใช้วิธีนี้น้อยลง เรากลับใช้มันบ่อยขึ้นด้วยซ้ำ

ในทางจิตวิทยา การชี้นิ้วโยนโทษไปให้ผู้อื่นเป็นการลดทอนความตึงเครียดที่เกิดขึ้นในตัวเอง ระหว่างกำลังสับสน พอนิ้วชี้ไปที่เหยื่อ ความสับสนนั้นก็จบลง ชัดๆ กันไปว่าเราไม่ผิด

ในสถานการณ์ที่โทษใครไม่ได้ เราก็ยังหา ‘แพะ’ เป็นอย่างอื่นอยู่ดี “วันนั้นผมเมา” หรือ “วันนั้นฉันไม่ค่อยสบาย” เอาเป็นว่าตัวข้าพเจ้าไม่เคยผิด แต่เป็นเพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์หรือเชื้อไวรัสตัวร้ายต่างหากเล่า

แคมป์เบลล์บอกว่า กระบวนการสร้างแพะนั้นเกิดจากความคิดว่าคนเหล่านี้ต่ำต้อยกว่าเรา กระทั่งพัฒนาไปเป็นความคิดว่าพวกเขาสมควรได้รับการปฏิบัติแบบนั้น ควรถูกลงโทษ ควรได้รับคำด่า ความเกลียดชัง การโดนคว่ำบาตร

 

6ขณะที่คาร์ล ยุง เชื่อว่าเราทุกคนล้วนมีภาพแทนในเงามืด (shadow) เหมือนๆ กัน มันเป็นโครงสร้างทางจิตที่ใช้รองรับทุกสิ่งที่เราไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับตัวเราเอง เพราะเราอาจปฏิเสธคุณสมบัติเหล่านี้ มันจึงเป็นภาพแทนของศัตรูและอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด เหมือนที่เราโผเข้าหาแม่ แล้วถอยห่างจากคนแปลกหน้าด้วยความกลัว

เราปฏิเสธการมีอยู่ของ ‘เงา’ หรือ ‘ด้านมืด’ ในตัวเอง และโยนคุณสมบัตินี้ไปให้คนอื่น เพื่อให้ตัวเองสามารถคงความรู้สึกถึงความดีของตนเอาไว้ได้

ยุงเชื่อว่าเงามีหลายระดับชั้น ชั้นต่างๆ บนยอดเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน หรือคุณสมบัติที่คนนั้นเก็บกดไว้ แต่ชั้นล่างสุดเป็นคุณสมบัติร่วม และสิ่งนี้เองที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในวัฒนธรรมแบบรวมหมู่จนกลายเป็นวัฒนธรรมสร้างแพะรับบาป

ว่าง่ายๆ คือ ในแต่ละสังคมย่อมมี ‘ด้านมืด’ ที่ผู้คนปฏิเสธว่าตนเองไม่ได้เป็นเช่นนั้น เช่น ขี้โกง ขี้เกียจ ขี้โมโห ฯลฯ เหล่านี้อาจเป็น ‘ด้านมืดร่วม’ ที่เราไม่ยอมรับว่ามีอยู่ในตัวเรา เพราะส่องกระจกแล้วเรามองเห็นแต่ความดีงามของตัวเองที่อยากมอง เราจึงผลักไสคุณสมบัติห่วยๆ เหล่านี้ไปให้กับคนอื่น ไปให้ฝ่ายตรงข้าม

ไปให้ ‘แพะ’

เรื่องนี้เป็นสิ่งน่าคิดทบทวน เมื่อใดที่เราผายมือโยนความผิดที่เราไม่พึงพอใจไม่ว่าเรื่องใดก็ตามไปที่ใครสักคน อาจลองถามตัวเองเบาๆ ในใจว่า เรามีคุณสมบัติคล้ายๆ ‘แพะ’ ที่เรากำลังด่าอยู่ด้วยหรือเปล่า

การตระหนักถึง ‘ด้านมืด’ ของตัวเองจะช่วยลดโอกาสที่เราจะโยนความผิดให้คนอื่นได้ และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ มันเป็นวิถีทางที่จะทำให้ด้านมืดในตัวเราสว่างขึ้นกว่าเดิม

มิเช่นนั้น เราย่อมไม่ต่างอะไรกับชาวเกาะที่เอาก้อนหินเขวี้ยงนกจนตาย ซึ่งอาจสบายใจชั่วครู่ชั่วยาม แต่ถึงที่สุดแล้วก็ไม่สามารถหลบเลี่ยงความวินาศจากพายุใหญ่ในครั้งหน้าได้ เมื่อไม่หันมองความบกพร่องของตนเอง

การโยนความผิดไปให้แพะคือการเก็บงำด้านมืดของตัวเองต่อไป