เดิมพัน ‘เปิดประเทศ’/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

เดิมพัน ‘เปิดประเทศ’

 

การตัดสินใจเปิดประเทศ ต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งของไทย ได้รับความสนใจจากสื่อระดับโลกไม่น้อย

นั่นอาจเป็นอย่างที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กจากสหรัฐอเมริการะบุเอาไว้ เมื่อ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า การเปิดประเทศของไทยในครั้งนี้ ถือเป็น “เดิมพันครั้งใหญ่ที่สุดในเอเชีย”

ที่อาจกลายเป็น “จุดผกผัน ทำให้การท่องเที่ยวขนานใหญ่กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งหลังการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19

ในขณะที่ร็อด แมกเกิร์ก และเดวิด ไรซิง แห่งเอพี รายงานไว้ในวันเดียวกัน ชี้ให้เห็นว่า การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง เป็นความหวังของรัฐบาลที่ต้องการเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่ง “จำเป็นอย่างยิ่ง” เกิดขึ้นเนื่องจากการนี้

ก่อนที่จะเกิดการระบาด การท่องเที่ยวมีสัดส่วนในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทย มากถึงราว 20 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ส่งผลให้เกิดการว่างงานและการตกระกำลำบากครั้งใหญ่ขึ้นในประเทศ

เอพีชี้ให้เห็นว่า ในปี 2019 ก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาด นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากถึง 40 ล้านคน ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2020 ไทยก็ยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากถึง 6.69 ล้านคน ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นตามมาจนต้องมีมาตรการล็อกดาวน์เข้มงวด

ผลก็คือ เกือบตลอดปี 2021 มีคนต่างชาติเดินทางเข้าไทยมาเพียงไม่ถึง 100,000 คนเท่านั้น

 

เอพีและบลูมเบิร์กเห็นตรงกันว่า การเปิดประเทศในครั้งนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาจาก “โครงการนำร่อง” ที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งอย่าง “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ของรัฐบาล ที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยมาเกือบๆ 60,000 คนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ทั้งๆ ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศอยู่ในเวลานั้น

บลูมเบิร์กบอกเอาไว้ว่า “เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับทั้งนักท่องเที่ยวและสาธารณชนทั่วไป ทางการไทยเชื่อมโยงการเปิดประเทศหนนี้เข้ากับอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในทัศนะของอามาร์ ลัลวานี ประธานบริษัท สแตนดาร์ด อินเตอร์เนชันแนล ผู้บริหารบูติกโฮเต็ลจากสหรัฐอเมริกา นี่เป็นมาตรการที่มีตรรกะที่ถูกต้องรองรับอยู่สูงมาก”

“คุณเห็นตัวอย่างได้จากหลายพื้นที่ อาทิ เม็กซิโกและตุรกี ซึ่งใช้วิธีการเปิดกว้างมากทีเดียว มีข้อจำกัดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และธุรกิจที่นั่นก็กำลังบูม”

“ประเทศในเอเชีย รวมทั้งไทย ให้ความสำคัญด้านสุขภาพเป็นอันดับหนึ่ง ตอนนี้ถือได้ว่าปัญหาอยู่ในความควบคุมแล้ว ทำให้รู้สึกสบายใจได้มากขึ้นกับการเปิดประเทศ”

ลัลวานีบอกกับบลูมเบิร์ก

 

อย่างไรก็ตาม เอพีบอกว่า การเปิดประเทศของไทยก็ยังคงมีบางประเด็นให้เป็นกังวล

สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ยืนยันว่า ข้อน่ากังวลไม่ใช่เรื่องที่ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเป็นตัวการก่อให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ เพราะเห็นว่ามาตรการกลั่นกรองที่ไทยใช้อยู่ รวมทั้งอัตราการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นมากนั้นเมื่อผสมผสานกันแล้วก็ถือว่าดีพอ

ปัญหาที่น่ากังวลกลับอยู่ที่การกลับมาอนุญาตให้ผับ บาร์ และบันเทิงสถานต่างๆ เปิดดำเนินการได้เต็มที่อีกครั้งตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป

เพราะการแพร่ระบาดภายในประเทศหลายระลอกที่ผ่านมา เริ่มต้นขึ้นทุกครั้งที่รัฐบาลอนุญาตให้ผู้คนรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่กิจกรรมทางศาสนาเรื่อยไปจนถึงงานแต่งงาน

“เมื่อคนรวมตัวกันมากๆ ชวนกันดื่ม ชวนกันกิน ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ขึ้นอีก คลับ ผับ บาร์ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปิดภายในอาคารที่ระบบระบายอากาศแย่ ทำให้ง่ายต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในทันทีที่กลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง”

ทำอย่างไรรัฐบาลจึงจะสามารถปิดช่องโหว่ กลบความกังวลในกรณีนี้ได้?

 

บลูมเบิร์กตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า การเปิดประเทศครั้งนี้อาจดึงดูดเอานักท่องเที่ยวหลายแสนคนกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้ แม้ว่าจะยังคงไม่มีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ที่เคยเป็นชาติที่มีคนเข้ามาท่องเที่ยวในไทยสูงสุดก่อนหน้านี้

เหตุผลก็คือ แม้จะไม่ถูกกักตัวตามมาตรการเปิดประเทศของไทย แต่ชาวจีนทุกคนที่เดินทางกลับเข้าประเทศจีน ยังคงต้องปฏิบัติการตามมาตรการของรัฐบาลจีน ที่กำหนดให้กักตัวนานถึง 21 วันอยู่ดี

บลูมเบิร์กชี้ว่า ในการสำรวจความคิดเห็นเรื่องปิด-เปิดประเทศ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 90 เปอร์เซ็นต์มีความกังวลไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้

แต่หากคำนึงถึงว่า เศรษฐกิจไทยติดลบมากถึง 6.1 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่ผ่านมา แย่ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 1998 และส่งผลกระทบต่อคนหลายล้านคนที่พึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่

การเปิดประเทศครั้งนี้ ดูจะช้าไปเสียด้วยซ้ำ!