ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 พฤศจิกายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ต่างประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความต่างประเทศ
จับตาจีน
สร้างกองเรือรบจำลองในทะเลทราย
ภาพถ่ายทางดาวเทียมของแม็กซาร์ เทคโนโลจีส์ (Maxar Technologies) บริษัทเทคโนโลยีอวกาศสัญชาติอเมริกัน ที่ตกมาถึงมือสื่อเมื่อไม่กี่วันก่อน แสดงให้เห็นกลุ่มสิ่งก่อสร้างที่ถูกอ้างว่าเป็นแบบจำลองกองเรือรบของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ที่กองทัพจีนสร้างขึ้นมาในสัดส่วนขนาดเท่าของจริง
มีการตั้งข้อสันนิษฐานถึงความเป็นไปได้ของการสร้างกองเรือรบจำลองเหล่านี้ขึ้นมาว่า น่าจะใช้เป็นเป้าฝึกซ้อมโจมตีด้วยขีปนาวุธของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) ต่อเป้าหมายที่เป็นศัตรูเบอร์สำคัญของจีนอย่างสหรัฐอเมริกา
การวิเคราะห์จากภาพถ่ายทางดาวเทียมของแม็กซาร์ชี้ว่า หนึ่งในแบบจำลองกองเรือรบที่จีนสร้างขึ้นนั้น มีรูปร่างคล้ายกับเรือบรรทุกเครื่องบินชั้น Ford-class ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์ที่ทรงพลานุภาพในคลังแสงของสหรัฐ
ยังมีการสร้างแบบจำลองเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถีชั้น Arleigh Burke-class จำนวน 2 ลำ และมีเป้าโจมตีที่ดูเหมือนเป็นระบบขนส่งทางราง ที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอาจเป็นเป้าจำลองเรือรบขณะกำลังเคลื่อนที่ ซึ่งถูกสร้างขึ้นกลางทะเลทรายทากลามากัน ในมณฑลซินเจียง ทางภาคตะวันตกของจีน
ขณะที่สถาบันนาวีสหรัฐอเมริกา (ยูเอสเอ็นไอ) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านการทหารและความมั่นคงในสหรัฐ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า วิเคราะห์จากภาพถ่ายทางดาวเทียมดังกล่าว แสดงให้เห็นวิวัฒนาการตามลำดับว่า โครงสร้างจำลองเรือบรรทุกเครื่องบินในทะเลทรายทากลามากันนั้น ได้ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายนปี 2019 โดยโครงสร้างจำลองนี้ถูกสร้างขึ้นหลายครั้งและมีการรื้อทิ้งเป็นส่วนมากในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ก่อนจะกลับมาสร้างอีกครั้งในปลายเดือนกันยายนปีนี้ กระทั่งเสร็จสมบูรณ์เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
ยูเอสเอ็นไอยังอ้างข้อมูลของออลซอร์ส อนาลิซิส ระบุว่า พื้นที่ที่จีนใช้สร้างกองเรือรบจำลองดังกล่าว ที่ผ่านมายังถูกใช้เป็นสถานที่ทดสอบขีปนาวุธนำวิถีของกองทัพจีนอีกด้วย
การจับพบความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของกองทัพจีนในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการต่อกรเรือบรรทุกเครื่องบินของกองกำลังที่เป็นปฏิปักษ์กับจีน โดยเฉพาะการต่อกรกับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา
ซึ่งมีขึ้นท่ามกลางบรรยากาศการเผชิญหน้าในภูมิภาคระหว่างสองชาติมหาอำนาจโลกที่ยังคงเต็มไปด้วยความตึงเครียด
สําหรับโครงการขีปนาวุธนำวิถีต่อต้านเรือรบของกองทัพจีนนั้น เป็นโครงการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองกำลังจรวดแห่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเออาร์เอฟ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับคณะกรรมาธิการทหารกลาง (ซีเอ็มซี) ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยตรง
ในรายงานของเพนตากอน ซึ่งก็คือกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ที่เปิดเผยออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อนยังชี้ว่า กองทัพจีนกำลังเร่งพัฒนาอาวุธในคลังแสงให้ทันสมัย
โดยอาวุธส่วนใหญ่ของจีนมุ่งออกแบบมาให้ต่อกรกองเรือรบที่ทรงแสนยานุภาพของสหรัฐอเมริกา ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งขึ้นในภูมิภาค ซึ่งอาวุธเหล่านั้นของจีนหมายรวมถึง ขีปนาวุธ DF-21D ที่มีพิสัยโจมตีได้ในระยะมากกว่า 1,500 กิโลเมตร
นั่นทำให้ขีปนาวุธชนิดนี้มีขีดความสามารถที่จะโจมตีได้อย่างแม่นยำจากจีนแผ่นดินใหญ่ต่อเป้าหมายที่เป็นเรือรบต่างๆ ซึ่งรวมถึงเรือบรรทุกเครื่องบินที่เคลื่อนไหวอยู่นอกภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกได้
ก่อนหน้านี้ พล.ร.อ.ฟิลิป เดวิดสัน อดีตผู้บัญชาการกองเรือสหรัฐ กล่าวต่อวุฒิสภาสหรัฐเมื่อต้นปีว่า การที่กองทัพจีนนำขีปวุธเหล่านั้นมาใช้ในการซ้อมโจมตี ถือเป็นการส่งสารอย่างชัดเจนต่อทั้งภูมิภาคและต่อโลกว่าการซ้อมรบเต็มรูปแบบของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนนั้นมีความมุ่งหมายที่จะตอบโต้การยื่นมือเข้ามาแทรกแซงของมือที่สามในวิกฤตความขัดแย้งในภูมิภาค
ซึ่งวิกฤตความขัดแย้งในภูมิภาคที่ว่าก็คือพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้และในช่องแคบไต้หวัน ที่กองเรือของสหรัฐอเมริกาเข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งจีนถือว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของตน
ในขณะที่จีนอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ และถือไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน ที่วันหนึ่งจะถูกผนึกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่ แม้จะต้องใช้กำลัง หากจำเป็นก็ตาม!