เทียบปอนด์ต่อปอนด์ ยาเม็ดโควิด-19 ‘เมอร์ค-ไฟเซอร์’/บทความต่างประเทศ

FILE PHOTO: FILE PHOTO: An experimental COVID-19 treatment pill called molnupiravir being developed by Merck & Co Inc and Ridgeback Biotherapeutics LP, is seen in this undated handout photo released by Merck & Co Inc and obtained by Reuters May 17, 2021. Merck & Co Inc/Handout via REUTERS ATTENTION EDITORS - THIS IMAGE HAS BEEN SUPPLIED BY A THIRD PARTY. MANDATORY CREDIT. THIS IMAGE WAS PROCESSED BY REUTERS TO ENHANCE QUALITY, AN UNPROCESSED VERSION HAS BEEN PROVIDED SEPARATELY/File Photo

บทความต่างประเทศ

 

เทียบปอนด์ต่อปอนด์

ยาเม็ดโควิด-19 ‘เมอร์ค-ไฟเซอร์’

 

เวลานี้วัคซีนโควิด-19 ถูกผลิตและส่งไปฉีดให้กับประชากรโลกมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายสามารถต้านทานเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ในยามที่ติดเชื้อ

แต่สำหรับผู้ที่ติดเชื้อแล้วและมีอาการของโรคที่อาจนำไปสู่การป่วยหนักและเสียชีวิตได้ในเวลาต่อมาแล้วโลกยังไม่มี “อาวุธ” ที่จะใช้ในการต่อสู้กับโรคสำหรับคนกลุ่มนี้มากนัก

นำไปสู่การคิดค้น “ยาเม็ด” สำหรับผู้ติดเชื้อเพื่อลดโอกาสป่วยหนัก เข้าโรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตลงได้นั่นเอง

ล่าสุดในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่าน โลกกำลังจะมี “ยาเม็ด” อีกชนิดที่จะเป็นอีกอาวุธในการต่อสู้กับ “โควิด-19” โดยบริษัท “ไฟเซอร์” บริษัทยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ประกาศผลการทดลองยา “แพกซ์โลวิด” (PAXLOVID) ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

ยาเม็ด “แพกซ์โลวิด” นับเป็นยาโควิด-19 ชนิดที่สองแล้วที่โลกได้รู้จัก หลังจากก่อนหน้านี้ “บริษัทเมอร์ค” บริษัทยายักษ์ใหญ่จากประเทศเยอรมนี ก็เพิ่งประกาศความสำเร็จในการทดลองยาเม็ด “โมลนูพิราเวียร์” (Molnupiravir) ไปก่อนหน้านี้เช่นกัน เป็นความหวังให้กับวงการสาธารณสุขในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยกันทั้งคู่

คำถามก็คือ ยาโควิด-19 ทั้งสองชนิดนั้นแตกต่างกันอย่างไร ชนิดไหนมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน?

 

สื่อต่างประเทศรายงานและเปรียบเทียบประสิทธิภาพยาทั้งสองชนิดเอาไว้ โดยล่าสุดทั้งสองบริษัทได้มีการเปิดเผยตัวเลขประสิทธิภาพในการทดลองยาดังกล่าวพบว่า ยา “แพกซ์โลวิด” ของไฟเซอร์นั้นมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลฉบับสมบูรณ์ออกมา

สำหรับยาเม็ด “แพกซ์โลวิด” ของไฟเซอร์นั้น เป็นยาประเภท “โปรตีเนสอินฮิบิเตอร์” เป็นยาที่ทำงานในลักษณะเดียวกับยาต้านไวรัสเอชไอวี สามารถย่อยสลาย “เอนไซม์โควิด-19” ซึ่งเป็นส่วนที่ไวรัสใช้ยึดเกาะในจมูก คอ และปอดของมนุษย์

การรับประทานยาแพกซ์โลวิด 1 คอร์ส ทั้งหมด 30 เม็ด รับประทานต่อเนื่อง 5 วัน วันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น ครั้งละ 3 เม็ด โดยผลการทดลองเชิงคลินิก ซึ่งแบ่งผู้รับยาเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่รับยาภายใน 3 วันหลังแสดงอาการ 774 คน และกลุ่มที่ได้รับยาภายใน 5 วันหลังแสดงอาการ 1,219 คน

จากการทดลองโดยแบ่งกลุ่มผู้ได้รับยาจริงและยาหลอกแล้วผลปรากฏว่ายาแพกซ์โลวิดของไฟเซอร์ สามารถลดโอกาสเข้าโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตของผู้มีอาการจากการติดเชื้อโควิด-19 และมีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักได้ถึง 89% ในกลุ่มที่ได้รับยาภายใน 3 วัน

ขณะที่กลุ่มได้รับยาภายใน 5 วันหลังมีอาการลดโอกาสเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ 85%

 

ส่วนยาเม็ด “โมลนูพิราเวียร์” ของเมอร์ค เป็นยาที่มีสรรพคุณในการยับยั้งการแบ่งตัวและแพร่พันธุ์ของไวรัสด้วยการจัดการกับสารพันธุกรรมของไวรัสทำให้ไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้

“โมลนูพิราเวียร์” 1 คอร์สผู้ป่วยต้องกินทั้งหมด 40 เม็ด ต่อเนื่อง 5 วัน วันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น มื้อละ 4 เม็ด ส่วนผลการทดลองกับกลุ่มประชากรวัยผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง และเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่จะป่วยหนักเนื่องจากมีโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจจำนวน 775 คน มีการแบ่งกลุ่มเพื่อให้ยาจริงและยาหลอกเช่นกัน

เมอร์คเปิดเผยผลการทดลองเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมพบว่า ยาเม็ด “โมลนูพิราเวียร์” ลดความเสี่ยงในการป่วยหนักหรือเสียชีวิตลง 50% หลังจากให้ยากับกลุ่มตัวอย่างไป 5 วันหลังมีอาการ

อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลในกรณีที่ให้ยาหลังจากมีอาการ 3 วัน

 

สําหรับความปลอดภัยในยารักษาโควิดนั้น ทั้ง “ไฟเซอร์” และ “เมอร์ค” มั่นใจว่ายาจะมีความปลอดภัยแม้จะยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลออกมามากนักในเวลานี้

โดยไฟเซอร์ระบุว่า มีผู้ป่วยราว 20% ในกลุ่มที่รับยาจริงและยาหลอกที่เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นอาการเพียงเล็กน้อย ส่วนการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงพบในกลุ่มผู้ได้รับยาจริงราว 1.7% เท่านั้น

ทางด้านเมอร์คระบุว่า มีผู้ได้รับยาจริง 12% และผู้ได้รับยาหลอก 11% ที่เกิดผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ ส่วนกรณีที่มียาใน “คลาส” เดียวกันกับยา “โมลนูพิราเวียร์” ส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ผิดปกติในสัตว์นั้น เมอร์คระบุว่า ผลการทดลองของ “โมลนูพิราเวียร์” ที่ทำในลักษณะเดียวกันนั้นพบว่ายาไม่ได้ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ผิดปกติหรือโรคมะเร็งตามมาแต่อย่างใด

สำหรับปริมาณการผลิตยานั้น ไฟเซอร์และเมอร์คระบุว่า กำลังพยายามขยายการเข้าถึงยาเม็ดโควิด-19 ทั่วโลก โดยไฟเซอร์คาดว่าจะผลิตยา “แพกซ์โลวิด” ได้จำนวนมากกว่า 180,000 คอร์สภายในสิ้นปีนี้ และคาดว่าจะผลิตอีก 50 ล้านคอร์สภายในปี 2022 นี้

ด้านเมอร์คระบุว่า วางแผนที่จะผลิตยาเม็ด “โมลนูพิราเวียร์” ในปีนี้ให้ได้จำนวน 10 ล้านคอร์ส ขณะที่ในปี 2022 วางแผนไว้ที่ 20 ล้านคอร์ส

 

สําหรับยา “แพกซ์โลวิด” ของไฟเซอร์นั้น อยู่ระหว่างการยื่นเรื่องให้กับองค์การอาหารและยา (เอฟดีเอ) สหรัฐพิจารณาขึ้นทะเบียน ขณะที่รัฐบาลไทยเอง กรมการแพทย์ก็อยู่ระหว่างการหารือกับไฟเซอร์ เพื่อจัดหายาเข้าใช้ในประเทศไทย

ส่วนยา “โมลนูพิราเวียร์” นั้น เมอร์คอยู่ระหว่างการยื่นขอขึ้นทะเบียนกับเอฟดีเอสหรัฐ ขณะที่การหารือระหว่างกรมการแพทย์กับเมอร์คนั้นคืบหน้าไปมาก โดยคาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาของไทย

และสามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้ในช่วงต้นปี 2565 นี้