ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 พฤศจิกายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
บทความในประเทศ
สภา TOXIC
ล้ม ‘ตู่’
คนใจร้าย…
คําให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี น่าสนใจยิ่ง
เป็นคำให้สัมภาษณ์ที่สืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์
ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 299/2564 เรื่องปรับปรุงองค์ประกอบในคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร
แต่งตั้งนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ เขตเลือกตั้งที่ 6 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้เป็นประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลคนใหม่ (วิปรัฐบาล) แทนนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกคำสั่งของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในคดีทุจริตสร้างสนามฟุตซอล
แต่ก่อนไปถึงคำสัมภาษณ์นั้น รู้จักนายนิโรธกันก่อน
นายนิโรธ ปัจจุบันอายุ 68 ปี
เริ่มต้นงานการเมืองโดยการเป็นสมาชิกสภาจังหวัดนครสวรรค์ 2 สมัย
ปี 2544 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.นครสวรรค์ สังกัดพรรคชาติไทย
ต่อมาย้ายไปพรรคไทยรักไทยจนได้รับเลือกตั้ง ส.ส.สมัยที่ 2 ในปี 2548
จากนั้นปี 2550 ย้ายกลับมาสังกัดพรรคชาติไทยได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.นครสวรรค์ สมัยที่ 3
พอปี 2554 นายนิโรธได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคชาติไทยพัฒนา แต่สอบตก
ปี 2561 นายนิโรธย้ายมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยที่ 4 ในนามพรรคพลังประชารัฐ เมื่อปี 2562
ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร
และล่าสุด ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานวิปรัฐบาล
การเป็นประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ของนายนิโรธนี้ ว่ากันว่า พล.อ.ประยุทธ์มีส่วนสำคัญในการพิจารณาเลือก
ซึ่งนอกจากพิจารณาคุณสมบัติที่ต้องครบเครื่อง ทันเกม แก้เกมเฉพาะหน้าในสภา เพราะสมัยประชุมนี้ มีกฎหมายสำคัญของรัฐบาลเตรียมเข้าพิจารณาหลายฉบับ
อาทิ พ.ร.บ.ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่…) พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่…) พ.ศ. … ร่าง พ.ร.บ.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่…) พ.ศ. … รวมถึงการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อที่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลจะเสนอเป็นพระราชกำหนด หรือร่างกฎหมายปกติ เป็นต้น
จึงต้องมั่นใจว่าผู้ที่จะมาขับเคลื่อนเกมในสภาจะต้องกุมสภาพได้โดยไม่สะดุด
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น
พล.อ.ประยุทธ์ต้องไว้ใจได้
บทเรียนหมาดๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งที่ผ่านมา ที่ พล.อ.ประยุทธ์เผชิญเกมโหวตสวนของขาใหญ่ในพลังประชารัฐ จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก
ซึ่งว่ากันว่า ในครั้งนั้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ส่อถูกลอยแพจากคนในอีกฝั่งฟากในพรรคพลังประชารัฐ
นายนิโรธได้ทำหน้าที่เป็นองครักษ์พิทักษ์ พล.อ.ประยุทธ์ คอยยกมือประท้วง และอภิปรายตอบโต้ฝ่ายค้านอย่างแข็งขัน
และในช่วงเกิดความขัดแย้งในพลังประชารัฐ มีความเคลื่อนไหวจะโหวตล้มนายกฯ ในสภา
นายนิโรธเป็นหนึ่งในแกนนำที่ต่อสายไปยังกลุ่ม ส.ส.ภาคเหนือ รวมถึง ส.ส.นครสวรรค์ ให้ช่วยโหวตไว้วางใจ “พล.อ.ประยุทธ์” ปฏิบัติการของนายนิโรธถือว่าได้ใจ พล.อ.ประยุทธ์
จนถือเป็นสายตรงทำเนียบฯ อีกราย
ยิ่งกว่านั้น นายนิโรธถูกระบุว่า มีความสัมพันธ์เกี่ยวดองกับ “เสธ.” ข้างกายนายกฯ บนตึกไทยคู่ฟ้า จึงเพิ่มความแน่นแฟ้นกับ พล.อ.ประยุทธ์มากยิ่งขึ้น
แม้ระยะหลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จะพยายามเข้าไปมีบทบาทในกลุ่ม ส.ส.นครสวรรค์
แต่นายนิโรธก็ไม่ได้เข้าสังกัดซุ้ม ร.อ.ธรรมนัส
นี่จึงเป็นคำตอบส่วนหนึ่งว่าไฉนประธานวิป จึงออกมาที่นายนิโรธ
พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการแต่งตั้งนายนิโรธ สุนทรเลขา ว่า
“…สิ่งสำคัญที่สุดคือให้สภาสามารถทำหน้าที่ได้ แต่ทั้งหมดคงไม่ใช่ประธานวิปรัฐบาลเพียงคนเดียว วิปของทุกพรรคการเมืองต้องร่วมมือกัน ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาของความยากลำบากที่ควรจะต้องร่วมมือกันหรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องกฎหมายที่จำเป็นและสำคัญ มากกว่าจะเอามาเป็นความขัดแย้งกัน สภาควรจะเป็นเช่นนั้น ผมไปบังคับอะไรไม่ได้อยู่แล้ว”
ผู้สื่อข่าวถามว่าสบายใจขึ้นหรือไม่กับเรื่องในสภา หลังจากได้นายนิโรธมาเป็นประธานวิปรัฐบาล
พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า “ถ้าถามว่าสบายใจหรือไม่ อย่าลืมว่าผมควบคุมอะไรในสภาไม่ได้ ผมควบคุมเองไม่ได้ และไม่ได้เป็นคนคุม และบอกมาตลอดว่าเป็นเรื่องของวิป ทางวิปฝ่ายรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านก็ต้องคุยกันให้รู้เรื่อง เรื่องไหนสำคัญ เรื่องไหนจำเป็นต้องออกมา อันไหนที่เป็นกฎหมายที่จะเพิ่มขีดความสามารถ ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อม หรือการศึกษา รวมทั้งการปฏิรูปต่างๆ เหล่านี้ต้องออกมา”
“ไม่ใช่จะบอกว่าไม่ออก เพื่อให้รัฐบาลล้ม ผมว่าใจร้ายเกินไป ใจร้ายกับประเทศเกินไป ผมว่านะ”
คําให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์นี้ คงต้องย้อนไปข้างต้น ที่ระบุว่าเป็นคำให้สัมภาษณ์ที่น่าสนใจ
น่าสนใจว่า ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ถึงเลือกนายนิโรธ
แน่นอนย่อมสัมพันธ์กับการที่ พล.อ.ประยุทธ์ยอมรับเองว่า “ผมควบคุมอะไรในสภาไม่ได้ ผมควบคุมเองไม่ได้ และไม่ได้เป็นคนคุม”
และยิ่งกว่านั้น ยังมีคน “ใจร้าย”
ใจร้ายที่จะขัดขวางไม่ให้กฎหมายสำคัญของรัฐบาลออกมา
อันอาจบานปลายที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นในสภา จนนายกฯ ต้องลาออกหรือยุบสภา
คำว่าใจร้าย
คงมิได้หมายถึงพรรคฝ่ายค้าน ที่อย่างไรเสียก็คอยจ้องล้มรัฐบาลอยู่แล้วเท่านั้น
แต่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ปรารภว่า “วิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านต้องคุยกันให้รู้เรื่อง เรื่องไหนสำคัญ เรื่องไหนจำเป็นต้องออก ไม่ใช่ว่าไม่ออกเพื่อให้รัฐบาลล้ม ผมว่าใจร้ายเกินไป ใจร้ายกับประเทศเกินไป”
จึงมิน่าจะเป็นการสื่อไปยัง “ฝ่ายค้าน” เท่านั้น
หากแต่เน้นไปที่ปัญหาจาก “ภายใน” ของรัฐบาลเป็นด้านหลักด้วย
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม พล.อ.ประยุทธ์นอกจากตั้งนายนิโรธ ที่ประเมินว่าอยู่ฝั่งฟากเดียวกันมาช่วยคุมสภาแล้ว
ยังสั่งการให้ย้ายการประชุมวิปรัฐบาลจากสภา มายังทำเนียบรัฐบาล
เป็นทำเนียบรัฐบาลที่ถือเป็นฐานที่มั่นของ พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง
อันจะสามารถสื่อสารและชี้นำได้โดยใกล้ชิด
ต่างจากการให้การประชุมวิปรัฐบาลไปอยู่ที่สภา
สภาที่มีพรรคการเมืองเป็นฝ่ายชี้นำ
โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ที่ศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรค
และที่สำคัญ เลขาธิการพรรค คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 171 ปลดรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ มาแล้ว
ยิ่งกว่านั้น ยังมีความพยายามจากทำเนียบ ที่เคลื่อนไหวผ่าน 6 รัฐมนตรี จะให้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐใหม่ เพื่อให้ ร.อ.ธรรมนัสพ้นจากเลขาธิการพรรค
แต่ พล.อ.ประวิตรไม่สุกงอมกับการทำเช่นนี้ และตัดสินใจที่จะอุ้ม ร.อ.ธรรมนัสต่อไป
ทำให้เกิดรอยแผลร้าวลึกขึ้นในพรรคและในทำเนียบรัฐบาล
แม้จะมีความพยายามไกล่เกลี่ยรอมชอม แต่ดูเหมือนจะไร้ผล
ร.อ.ธรรมนัสยังอาศัยอำนาจเต็มของเลขาธิการพรรค ขับเคลื่อนทางการเมืองอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง
ทั้งการวางตัวผู้สมัคร ทั้งการวางฐานอำนาจ ทั้งการวางอนาคตของพรรคพลังประชารัฐ ที่ ร.อ.ธรรมนัสประกาศว่าสนองต่อ พล.อ.ประวิตรในฐานะหัวหน้าพรรค
ขณะที่ไม่ให้ความแน่นอนใดๆ ต่อสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์
ทั้งในฐานะฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในสมัยหน้า
ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีที่จะต้องผลักดันกฎหมายต่างๆ ผ่านสภา
แน่นอน นี่ย่อมเป็นผลแห่งความขัดแย้งที่ตกค้างอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ
ดังนั้น เมื่อนายวิรัช รัตนเศรษฐ ต้องพ้นจากการเป็นประธานวิปรัฐบาล ทำให้ต้องเสาะหาประธานวิปรัฐบาลใหม่
เปิดช่องให้ พล.อ.ประยุทธ์ยื่นมือนำเสนอชื่อนายนิโรธขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานวิปรัฐบาลคนใหม่
แม้ พล.อ.ประวิตรจะยินยอมประนอมประโยชน์กับ พล.อ.ประยุทธ์ในเบื้องต้น
แต่กระนั้นก็ยังเป็นคำถามต่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าจะสุกงอมด้วยหรือไม่
นี่จึงเป็นเหตุให้มีคำปรารภจาก พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นมาว่า คนจะไม่มีใครไม่ (ยอม) ให้ออกกฎหมาย เพื่อให้รัฐบาลล้ม “ผมว่าใจร้ายเกินไป ใจร้ายกับประเทศเกินไป”
ถือเป็นการชูประโยชน์ส่วนรวมให้เหนือกว่าประโยชน์ของตัวเอง หรือของกลุ่มในพรรค
กล่าวคือ ไม่ควรใช้เกมในสภา จนทำให้สภาเป็นพิษ
พิษที่สร้างผลกระทบต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การบริหารประเทศ
จนอาจบานปลายไปสู่การล้มรัฐนาวาตู่ ด้วยฝีมือของคนกันเองได้!