การเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาล ปี 2565/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

การเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาล ปี 2565

 

ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ที่ทำวิจัยเรื่อง…คนกรุงเทพฯ ต้องการนายกรัฐมนตรีคนต่อไปแบบใด… มองดูจากผลโพลแล้วคิดว่าคนทั่วไปคงไม่เชื่อถือ ยิ่งกว่าโพลเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงขนาดอาจารย์ที่ปรึกษาศูนย์วิจัย อายจนต้องลาออก

เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ไม่ได้ ส.ส.กรุงเทพฯ แม้แต่คนเดียว

มาวันนี้ บอกว่าคนกรุงเทพฯ อยากให้หัวหน้าพรรค ปชป.เป็นนายกฯ ทำได้ไง

ทีมวิเคราะห์จึงขอประเมินการเมืองข้างหน้าแบบวิเคราะห์ โดยไม่ต้องทำสำรวจ แต่จะดูจากการเลือกตั้งในอดีต วิธีการเลือกตั้งครั้งหน้า กรอบรัฐธรรมนูญ ผลงานปัจจุบัน กระแสความนิยมของประชาชน อำนาจในมือของฝ่ายต่างๆ และกำลังทุนสนับสนุน ซึ่งน่าจะเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า มีความน่าเชื่อถือมากกว่า

ประเมินความสามารถแต่ละพรรคการเมืองภายใต้สมมุติฐานที่ว่า ไม่มีอุบัติเหตุทางการเมือง พรรคร่วมรัฐบาลยังต้องกลบความขัดแย้งไว้ รอแบ่งเสบียงอาหารที่จะปรุงเสร็จ ตั้งแต่ต้นปี จนถึงอย่างน้อยเดือนพฤษภาคม 2565

ดังนั้น การเลือกตั้งจะมีขึ้นระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม 2565 โดยวิธีใช้บัตร 2 ใบ ส.ส.เขตมี 400 เขต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มี 100 คน ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนประมาณ 52 ล้านคน ผู้มาใช้สิทธิ์และบัตรที่นับคะแนนได้อย่างสมบูรณ์นำมาคิดคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ จะอยู่ที่ประมาณ 36 ล้านใบ พรรคจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน ต้องมี 360,000 คะแนน

ตีคร่าวๆ ว่า 1 ล้านคะแนนได้ 3 คน

 

วิเคราะห์ความสามารถการแข่งขัน

ในสนามเลือกตั้ง 2565

 

พรรคเพื่อไทย

เดิมชนะเขต 136 เขต ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลยเพราะเป็นระบบบัตรใบเดียว

แต่ครั้งใหม่นี้ แม้ส่งลงครบทั้ง 400 เขต ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เปรียบในเขตที่เพิ่มขึ้น เพราะแต่เดิมเขตที่ไม่ส่งนั้นเป็นเขตอ่อน ที่ไม่ชนะ ดังนั้น ถึงจะส่งลงเกือบครบ ก็จะได้ ส.ส.เขตเพิ่มขึ้นอีกไม่มากบางเขต

อาจต้องเสียให้แนวร่วมอย่างก้าวไกล

บางเขตจะแพ้ให้พรรครัฐบาลจากการแข่งกันเอง

ส.ส.ตัวเต็งจะถูกฝ่ายรัฐบาลดูดไปก่อนสมัคร แต่จะได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มขึ้นจากเขตที่ไม่ชนะที่ 1 แต่ได้ที่ 2-3

ประเมินได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ชนะ ส.ส.เขต 150 เขต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 28 คน รวม 178 คน

 

พรรคพลังประชารัฐ (ถ้าไม่แตกกัน)

เดิมชนะเขต 97 เขต ในการเลือกตั้งครั้งใหม่น่าจะสูญเสียที่นั่งใน กทม.เกือบทั้งหมด

และยังเสียที่นั่งภาคใต้คืนไปให้ประชาธิปัตย์ด้วย

เพราะคำมั่นสัญญาและนโยบายของพรรคพลังประชารัฐแทบพูดได้ว่าไม่ได้ทำเลยสักข้อ ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำ โครงการมารดาประชารัฐ เงินเดือนของคนจบปริญญาตรี อย่าว่าแต่ได้เงินเดือนตามสัญญา แม้งานยังไม่มีทำ

แต่กำลังคน อำนาจ และเสบียงกรัง จะสามารถไปชนะในบางเขตได้ที่ภาคอื่น

น่าจะรักษา 97 เขตไว้ได้ส่วน ปาร์ตี้ลิสต์น่าจะได้ประมาณ 21 คน

รวม 118 คน

 

พรรคก้าวไกล

เดิมชนะเขต 31 เขต แต่มีกว่า 20 เขตที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งแข่ง จึงไม่มีการตัดคะแนนกันในปี 2562

แต่ครั้งใหม่นี้ถ้าเพื่อไทยส่งแข่งอาจทำให้แพ้ทั้งสองพรรค

ถ้ากระแสพรรคก้าวไกลยังแรงต่อเนื่องก็มีโอกาสที่จะไปชนะในเขตใหม่ๆ แต่ก็ไม่ง่ายเพราะครั้งนี้พรรคคู่แข่งเตรียมตั้งรับอย่างไม่ประมาท

ประเมินว่าน่าจะชนะ ส.ส.เขตได้ถึง 31 เท่าเดิม

ส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์นั้นต่อให้มีคะแนนมากกว่าเดิมจาก 6.3 ล้าน เป็น 8 ล้าน (ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใหม่ประมาณ 900,000 คน) จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แค่ 24 คน

รวม 55 คน

 

พรรคภูมิใจไทย

เดิมชนะเขตเลือกตั้ง 39 เขต จะต้องไปแย่ง ส.ส.เขตกับพวกเดียวกันเองคือ ปชป. และพลังประชารัฐ บางเขตอาจเสียไป เช่น ภาคใต้และบางส่วนอาจได้เพิ่มกลับมา

ภูมิใจไทยเองการเป็นรัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่มีผลงานชัดเจน

เรื่องเด่นคือเรื่องกัญชานั้นก็จะต้องถูกนำมาโจมตี เพราะการปฏิบัติ ประชาชนไม่สามารถปลูกกัญชาได้จริงตามที่บอก นโยบายกัญชากลายเป็นการจัดไว้ให้กลุ่มทุนใหญ่หาผลประโยชน์ ส่วนประชาชนถ้าทำบ้างอาจถูกจับเพราะทำผิดกฎหมาย

การแก้ปัญหาโควิดก็จะไม่ได้คะแนน แถมจะถูกโจมตีซ้ำ การรักษากำลังเก่าไว้ได้ก็ถือว่าเก่งแล้ว ซึ่งจะต้องใช้วิธีดูด ส.ส.เก่า

ดังนั้น ประเมินว่าน่าจะได้ ส.ส.เขต ประมาณ 40 เขต ส่วนคะแนนปาร์ตี้ จะได้ ส.ส. 12 คน

รวม 52 คน

 

พรรคประชาธิปัตย์

เดิมได้ ส.ส.เขต 33 เขต ครั้งนี้คงจะได้ ส.ส.จากภาคใต้เพิ่มขึ้น แต่อาจจะไปแพ้ในภาคอื่นๆ แทบทุกภาคเพราะต้องไปแข่งกันเองกับพลังประชารัฐและภูมิใจไทย

ปชป.ไม่มีอะไรเป็นจุดขายเพิ่มขึ้น คนในพรรคมีแต่แตกออกไป

เรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตยก็ขายไม่ได้แล้ว เรื่องผลงานที่ผ่านมาก็ไม่มีอะไรเด่น แถมยังมีพรรคกล้าออกมาดึงคะแนน

ดังนั้น น่าจะได้ ส.ส.เขตประมาณเท่าเดิมคือ 33 คน ต่อให้ได้คะแนนเพิ่มจาก 3.9 ล้านเป็น 4 ล้านกว่า จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 14 คน

ได้ ส.ส.รวมลดลง เหลือแค่ 47 คน

ชาติไทยพัฒนา เดิมชนะ 6 เขต น่าจะเหมือนเดิมแต่จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เหลือแค่ 2 คน จะมี ส.ส.รวม 8 คน

พรรคประชาชาติ ถ้าไม่ไปรวมกับพรรคเพื่อไทยจะยังรักษา 6 ที่นั่งเอาไว้ได้ ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน รวม 7 คน

แต่ถ้าไปรวมกับพรรคเพื่อไทย เขตแถว 3 จังหวัดภาคใต้จะแพ้ประชาธิปัตย์

พรรคเสรีรวมไทย เดิมไม่ชนะเขตเลยได้ 8 แสนกว่าคะแนน ต้องถือว่าเป็นความสามารถของท่านหัวหน้าพรรค เสรีพิศุทธ์ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 10 คน แต่ครั้งนี้ ส.ส. 1 คนต้องใช้ถึง 3.6 แสนคะแนน โอกาสจะได้ ส.ส.คงมีเพียงแค่ 3 คน

ยกเว้นไปชนะเขตเลือกตั้งบางเขตมาได้ก็จะได้เพิ่มขึ้น

 

โอกาสเกิด และเติบโตของพรรคใหม่

ขณะนี้กลุ่มมีที่แยกออกไปตั้งพรรคใหม่เพราะคาดว่าจะมีกลุ่มผู้ลงคะแนนจำนวนหนึ่งอยากไปเลือกพรรคใหม่ๆ เดิมทุกกลุ่มคิดว่าเป็นเลือกตั้งบัตรใบเดียวก็ไม่ยาก แต่พลังประชารัฐ และกลุ่มอำนาจเก่า ต้องการสกัดพรรคก้าวไกล จึงขอแก้รัฐธรรมนูญให้เป็น 2 ใบแบบเก่า

ดังนั้น พรรคไม่เด่น คนนำไม่ดีจริง จะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่กี่คน โดยถ้าจะเกิดเป็นพรรคขนาดกลางได้ (มี ส.ส. 40-50) ในสมัยแรก ก็จะต้องใช้ทุนในการแข่ง ส.ส.เขตมากพอควร

2565 มีเขตเลือกตั้งเพิ่มมา 50 เขตจากครั้งก่อน ยังมีช่องว่างของคะแนนที่จะได้ ส.ส.อีกประมาณ 35 คน จะเห็นว่าครั้งที่แล้วไม่มีพรรคขนาดประมาณ 20-30 เสียง

ซึ่งครั้งนี้ถ้าจะเกิดขึ้นได้ พรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่ต้องมีผู้นำที่พอมีชื่อเสียงมีคุณสมบัติที่ทำให้ประชาชนเชื่อว่าเป็นคนดี มีความสามารถพอสมควร และจะต้องมีผู้สนับสนุนกำลังทุนมากพอ จึงจะมีโอกาสทำให้ได้ ส.ส.เกิน 20 ขึ้นไป เพราะจะต้องส่ง ส.ส.จำนวนมากเกินกว่า 200 เขต

ขณะนี้มีผู้ลงคะแนนส่วนหนึ่งถอยออกมาจากพรรคเดิม ทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้าน ยังมีผู้ที่ไม่ใช้สิทธิ์ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย การเลือกแต่ละครั้งมีบางคนถึงกับเป็นกาบัตรทิ้งทำให้บัตรเสีย รวม 2 ล้านใบ แต่คราวนี้สภาพเศรษฐกิจและความเดือดร้อน อาจทำให้เขาอยากหาพรรคที่ตัวเองถูกใจลงคะแนนให้

ดังนั้น การจัดองค์ประกอบของพรรคใหม่ซึ่งมีทั้งตัวบุคคลและนโยบายก็จะต้องถูกใจผู้เลือก เหล่านี้ คนที่มีแนวโน้มว่าจะขึ้นมานำพรรคใหม่ได้จริงขณะนี้คือ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จาตุรนต์ ฉายแสง และกรณ์ จาติกวณิช

ประวัติในอดีตของแต่ละคน ทำให้คนเลือกสนับสนุนได้ตามจุดยืน และรสนิยมของตนเอง

ถ้าใครทำได้ไม่ว่าจะ10- 20 เสียง หรือรวมกันแล้วเป็น 30 เสียง จะกลายเป็นเสียงชี้ขาดในการจัดตั้งรัฐบาล และจะมีบทบาทเติบโตได้ต่อไปถ้ามวลชนเชื่อถือ

 

การจัดตั้งรัฐบาล ปี 2565 อาจยุ่งยาก

เนื่องจากกำลังของฝ่ายรัฐบาลเดิมเมื่อรวมกันแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 230 แม้ฝ่ายค้านเดิมรวมได้เกิน 250 ก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้เพราะไม่มี ส.ว.สนับสนุนให้มีเสียงถึง 376 เสียง

ภายใต้สถานการณ์อย่างนี้จะต้องหาทางออกโดยการตั้งรัฐบาลผสม ถ้าพลังประชารัฐไม่แตกกันและยังมีประยุทธ์เป็นผู้นำ เมื่อกระแสประชาชนต่อต้านสูง โอกาสเป็นผู้นำของประยุทธ์ก็จะหมดลงทันที จะต้องไปหาคนอื่น ซึ่งต้องให้พรรคฝ่ายค้านบางพรรคยอมรับด้วย

แต่ถ้า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แยกกับ พล.อ.ประยุทธ์ แยกอยู่คนละพรรค สมมุติว่าได้ ส.ส.ฝ่ายละประมาณ 60 คน การร่วมรัฐบาลของพรรค พล.อ.ประวิตรกับพรรคเพื่อไทยอาจเป็นไปได้

แต่นั่นหมายความว่า พล.อ.ประวิตรต้องดึง ส.ว.มาร่วมสนับสนุนไม่น้อยกว่า 70-100 คน

คะแนนของพรรคการเมืองระดับกลางและระดับเล็กจะมีความหมายทุกพรรค เพื่อให้ได้เสียงรวม 376 เสียง

แต่การร่วมรัฐบาลแบบนี้ใช่จะมีผลดีทั้งหมด ถ้ารัฐบาลผสมชุดนี้มีปัญหา พรรคเพื่อไทยก็จะเสื่อมไปด้วย นั่นหมายความว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปขนาดของพรรคจะเล็กลงอีกในขณะที่พรรคก้าวไกลจะเติบโตขึ้น

ต้องอย่าลืมว่าบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า อายุของวุฒิสภาชุดนี้มีกำหนดห้าปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา เริ่มตั้งแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง (11 พฤษภาคม 2567)

ตามมาตรา 272 ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ (24 พฤษภาคม 2562) การเลือกนายกฯ มาจากสองสภา แสดงว่าในปี 2565 ส.ว.ยังเลือกนายกฯ ร่วมกับ ส.ส.ได้

ถ้ารัฐบาลใหม่ที่เลือกในปี 2565 อยู่ได้ประมาณ 2 ปีหรือ 3 ปี หลังพฤษภาคม 2567 การเลือกตั้งใหม่จะชี้ขาดการเลือกนายกฯ เฉพาะ ส.ส.เท่านั้น เพราะ ส.ว.จะหมดอำนาจ

 

นี่คือทิศทางการเติบโตของกระแสประชาธิปไตยแบบค่อยเป็นค่อยไปที่เกิดขึ้น คล้ายๆ หลังพฤษภาทมิฬ 2535 รัฐบาลแต่ละครั้งที่ตั้งขึ้นมาเป็นรัฐบาลผสมและอยู่ได้ประมาณ 2 ปี แต่ก็จะสามารถพัฒนาระบอบประชาธิปไตยและเศรษฐกิจไปได้ มีการยุบสภาหรือนายกฯ ลาออกสลับกันไป ช่วงนั้นเราได้นายกฯ เช่น ชวน หลีกภัย บรรหาร ศิลปอาชา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และสุดท้ายก็เป็นทักษิณ ชินวัตร พออยู่ถึงสมัยที่ 2 ก็ถูกรัฐประหาร ในขณะที่ประเทศกำลังก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างมาก

การแก้ปัญหาระยาวคือคนทุกชั้น ทั้งคนรวย คนชั้นกลาง คนจน จะต้องสนับสนุนคนและพรรคที่มีความสามารถ มีความซื่อสัตย์สุจริตอยู่ในระดับมาตรฐาน เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยให้มั่นคง

และจะต้องสร้างกระบวนการยุติธรรมที่มีมาตรฐานตรวจสอบได้ ขึ้นมาให้ได้

อย่าให้กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแย่งชิงอำนาจรัฐของประชาชน