อำนาจอ่อน/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

อำนาจอ่อน

 

อํานาจอ่อน หรือ Soft Power ในภาษาอังกฤษ กำลังมีการพูดถึงกันมาก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย

บ้านเรา อำนาจอ่อนพูดกันมานานแล้วในวงการภาพยนตร์และกิจการระหว่างประเทศ แต่ยังไม่มีการนำอำนาจอ่อนมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

ไม่มีการใช้อำนาจอ่อนเป็นพลังอำนาจของชาติไทยเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านกิจการระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในบ้านเราและจริงๆ ในนานาชาติ มักอ้างถึงความสำเร็จ/ความล้มเหลว ระคนกับความสงสัยต่อพลังอำนาจที่แท้จริง ที่มาของอำนาจนั้น

โดยเฉพาะการเสริมสร้างสรรถนะให้อำนาจอ่อนเป็นแต้มต่อของอุตสาหกรรมและวงการทูต

ใครๆ ก็อ้าง จีน สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา งานสั้นๆ ชิ้นนี้จึงทำได้แค่ตั้งข้อสังเกตบางประการเท่านั้น

 

อำนาจอ่อนของจีน

แม้งานหรือเรื่องอำนาจอ่อน ปรากฏอยู่นับล้านๆ ชิ้นและล้านๆ เรื่องราว แต่เมื่อจะพูดถึงเราอาจย่นย่อความเข้าไปที่ อำนาจอ่อนของจีน อย่างย่อจากผลงานบางชิ้น เช่น ไม่ระแวงอำนาจอ่อนจีน ได้แก่ งานของ Shambaugh1 เขาเสนอว่า จีนครอบครองอำนาจอ่อนเล็กน้อย เพราะจีนไม่ได้เสนอรูปแบบนี้ต่อประเทศอื่นๆ เพื่อให้เท่าเทียมหรือเหนือกว่าทางวัฒนธรรม ภาพลักษณ์จีนในโลก ไม่ได้เป็นบวก จีนไม่สามารถกำหนดทิศทางต่างๆ ของโลกและสังคม

เขาเห็นว่า แหล่งใหญ่ของอำนาจอ่อนไม่ใช่รัฐบาลจีน แม้แต่การทูตสาธารณะ (Public Diplomacy) ใช้เพื่อปรับภาพลักษณ์ (Image) ของจีน

ความคิดที่ตรงกันข้ามดูได้จากงานของ Kurlantzick2 อำนาจอ่อนทำให้อิทธิพลจีนที่เพิ่มมากขึ้น หรือการรุกด้วยหว่านเสน่ห์อย่างรวดเร็วในส่วนต่างๆ ของโลกเกิดขึ้นมากมาย ความจริงแล้วนักวิชาการท่านนี้เห็นคือจริงๆ แล้ว จีนรับรู้เรื่องอำนาจอ่อนกว้างขวางขึ้นมากกว่าอะไรๆ ที่ Joseph S. Nye นักวิชาการอเมริกันผู้บุกเบิกเรื่องอำนาจอ่อนเอาไว้มากมาย ตอนนี้ยากเสียแล้วจะมองเห็นความแตกต่างระหว่างอำนาจอ่อนกับอำนาจแข็ง (Hard Power)

นักวิชาการอีกท่าน Wang3 เสนอว่า เพื่อจับให้มั่นถึงพลวัตที่อยู่เบื้องหลังอำนาจอ่อนของจีน เราต้องก้าวให้พ้นการทูตสาธารณะ และตรวจทานยุทธศาสตร์ใหญ่ (Grand Strategy) จีนด้วยบทเรียนต่างๆ จากประวัติศาสตร์

 

เหล่าผู้นำจีนยอมรับความจริงว่าเพื่ออำนาจนำ (Hegemony) จีนต้องมีเหตุผล ชอบธรรม และโอบกอดอำนาจนำอย่างโยงกับยุทธศาสตร์ใหญ่จีน และผลของการทูตสาธารณะ หากจะประสบความสำเร็จต้องมีเป้าหมาย 3 เป้าหมาย

– วางสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศให้เข้ากันได้ดี และเป็นระบบ เพื่อจุดประกายให้การทะยานขึ้นของจีน

– สร้างภาพลักษณ์ระหว่างประเทศ ซึ่งสะท้อน ความอ่อนโยน และเมตตากรุณาของจีน

– สร้าง อำนาจอ่อนจีน ด้วยปทัสถานและคุณค่าต่างๆ

หากเราย้อนศึกษาหนทางให้เกิดการยอมรับและมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ จีนได้ผลักดันการทูตสาธารณะอย่างแข็งขันตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 จีนพยายามวาดภาพ ภาพลักษณ์เชิงบวก ในกิจการระหว่างประเทศเพื่อเลี่ยงแนวคิดมองจีนเป็นภัยคุกคาม (threat) และเพื่อเป้าหมายก้าวหน้าเหล่านี้คือ ก้าวขึ้นอย่างสันติ (Peace Rise) พัฒนาอย่างสันติ (Peaceful Development) สังคมที่จัดการอย่างดี (Harmonous Society) ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ปี 2004 นโยบายต่างประเทศจีนสร้างยุทธศาสตร์การทูตเพื่อเร่งการทูตวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุด ประกาศความกังวลเกี่ยวกับระบบระหว่างประเทศที่ไม่เป็นธรรม

เพื่อเร่งผลักการทูตเศรษฐกิจในกิจการระหว่างประเทศ ปี 2007 ประธานาธิบดีหูจิ่นเทา (Hu Jintao) เน้นให้การผลักดันเกิดอำนาจอ่อนด้วยวัฒนธรรม เพื่อทำให้จีนมีอิทธิพลทางการเมือง เพื่อจีนมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจมากขึ้น ให้ปรากฏจีนเป็นภาพลักษณ์และมีจิตใจศีลธรรมมากขึ้น กิจกรรมการทูตวัฒนธรรมและเศรษฐกิจได้ใช้อย่างกว้างขวางเพื่อสนับสนุนอำนาจอ่อน

 

ในแง่การทูตวัฒนธรรม จีนดำเนินการดังนี้

– เปิดสถาบันขงจื๊อทั่วโลก เพื่อทำหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนอำนาจอ่อนจีน อีกด้านหนึ่ง กิจกรรมการทูตเศรษฐกิจจีนก่อตัวเป็นเสาหลักของการทูตจีน

– ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่กิจการการทูตเศรษฐกิจจีน วิวัฒน์มาจากความเกี่ยวพันกับระบบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ โดยบูรณาการและต่อจากนั้นได้เข้าร่วม

ช่วงต้นวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลก 2008 ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง (Xi Jinping) เริ่มผลักดันกิจกรรมการทูตเศรษฐกิจในช่วงแรกของการดำรงตำแหน่งของท่าน โดยให้ความสำคัญกับแนวคิดความฝันของจีน (China Dream) และปักหมุดเรื่องความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะแอฟริกาและเอเชีย-แปซิฟิก จีนรักษาความผูกพันใกล้ชิดกับประเทศต่างๆ ในแอฟริกา ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนเป็นคู่ค้าใหญ่ที่สุดของแอฟริกา เพื่อให้พอใจกับการตอบสนองความต้องการพลังงานของจีน แม้ความเกี่ยวข้องกับแอฟริกามีความเสี่ยงกับเรื่องการเมืองและความมั่นคง

จีนยังเปิดเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจในส่วนต่างๆ ของโลก อันแสดงถึงความกระตือรือร้นและความเป็นนานาชาติ (Internationalization) อย่างมีประสิทธิภาพของรัฐจีน อีกผลกระทบหลักต่อเนื่องของกิจกรรมการทูตทางเศรษฐกิจจีนคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง รักษากิจกรรมการทูตทางเศรษฐกิจของจีน โดยเน้นตัวแทนและเสียงของจีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยก่อตั้งระบบนานาชาติและการบริหารปกครองจากประวัติศาสตร์ คือ ข้อริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI)

 

อำนาจอ่อนของไทยคืออะไร?

ย้อนไปที่บรมครู Joseph S. Nye งานช่วงแรกเขาเสนอว่า อำนาจอ่อนของประเทศเป็นแนวทางอ้อม ใช้อำนาจที่มีอยู่ทำให้คนอื่นทำตามที่ตนต้องการ

อำนาจอ่อนสามารถวางอเจนด้า และกำหนดกรอบการถกเถียงด้วยทรัพยากรอำนาจที่จับต้องไม่ได้ (intangible) เช่น วัฒนธรรม อุดมการณ์ และสถาบันต่างๆ4

งานชิ้นหลังของเขาเสนอว่า อำนาจอ่อนคือ ความสามารถผลักดันต่อคนอื่นๆ ผ่านวิธีการต่างๆ ผลักดันและล้วงเอาความชื่นชมเชิงบวกออกมา เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่พึงพอใจ5

งานอีกชิ้น เขาเสนอ Smart Power โดยเน้นให้ผสมกันทั้งอำนาจอ่อนและอำนาจแข็ง เป็นที่ต้องการของนโยบายต่างประเทศและเขา แนะนำว่า สหรัฐอเมริกาเป็น Smart Power ได้โดยทุ่มลงทุนในสินค้าสาธารณะโลก (Global Public Goods) ที่เป็นผลประโยชน์ของทุกๆ ประเทศ6

มองได้ว่า สหรัฐอเมริกามีพลังอำนาจอ่อนของตนผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดซึ่งตอนหลังผ่านและถ่ายทอดผ่านเน็ตฟลิกซ์

ผ่านรสชาติอาหารจานด่วนแมคโดนัลด์ โค้ก และเป๊ปซี่ พันธมิตรค่อนโลกคลั่งไคล้วัฒนธรรมอเมริกันชน

ส่วนจีนไม่น้อยหน้า หมีแพนด้า ลัทธิและภาษาจีนผ่านสถาบันขงจื๊อ สินค้าจีน หนังกำลังภายในจีน ข้อริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งถนน รวมทั้งวัคซีนจีนต้านโควิค-19

ส่วน คลื่นเกาหลี ทั้งหนังซีรีส์แดจึมกึง อาหารเกาหลี โทรศัพท์ และเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้อเกาหลีกำลังแซงหน้าอเมริกันชนที่เริ่มเชยล้าสมัย

ส่วนจีนยังแก้ไม่ตกเรื่อง โวหารชิงชังจีน ที่แฝงฝังอยู่และแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก

ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และเกาหลี ล้วนมีทรัพยากรแห่งอำนาจอยู่ในคลังได้แก่ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและอุดมการณ์

แต่ไทยก็มีประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและอุดมการณ์เหมือนกัน แต่แน่ใจหรือว่า อำนาจอ่อนไทย อ่อนปวกเปียก ในเวทีโลกหรือเปล่า อาหาร รถตุ๊กตุ๊ก เริ่มขายไม่ได้ น้องลิซ่าก็ไม่ใช่คนไทย

ผมสงสัย อะไรคือความเป็นไทย พอสรุปกันได้หรือยัง ก่อนร่วมกันปลูกผักชีโรยหน้าอำนาจอ่อนไทยในเวทีโลก

อำนาจอ่อนไทยคืออะไร?

1David L. Shambaugh, China Goes Global! : The Partial Power (Oxford : Oxford University Press, 2013)

2Joshua Kurlantzick, Charm Offensive : How China’s Soft Power is transforming the World, (New Haven, Yale University Press, 2007)

3Yiwen Wang, “Public Diplomacy and the Rise of Chinese Soft Power” The Annuals of the American Academy of Political Sciences Vol.616, No. 1, 2008.

4Joseph S. Nye, Bound to lead : The Changing Nature of American Power, (Basic Book,1990)

5Joseph S. Nye, The Future of Power, (New York, Public Affairs, 2011), 20-21.

6Joseph S. Nye, “Get Smart : Combining Hard and Soft Power” Foreign Affairs July-August 2009, 160-163.