ภาษาโซ่ (ทะวืง) อักษรไทย : มองไทยใหม่

ภาษาโซ่ (ทะวืง) เป็นภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในประเทศไทย คนทั่วไปรู้จักกันในนามภาษาโซ่ (โส้) หรือ ข่า

ชาวโซ่ (ทะวืง) มีถิ่นเดิมอยู่ที่เมืองคำเกิด คำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้เดินทางมาอยู่ที่ประเทศไทย เมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมาแล้ว

ต่อมาพบว่าเคยมีชาวโซ่ (ทะวืง) อาศัยอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์และสกลนคร ปัจจุบันมีเฉพาะที่ในจังหวัดสกลนครเท่านั้น

ภาษาโซ่ที่พูดในจังหวัดสกลนครมี ๒ แบบคือ ภาษาโซ่ ที่อำเภอกุสุมาลย์ และที่อำเภอส่องดาว

จากรายงานการสำรวจของโครงการแผนที่ภาษากลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย กล่าวว่า คำว่า โซ่ ใช้เรียกภาษาและกลุ่มคน ๓ กลุ่มในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า บรู อยู่ในจังหวัดมุกดาหาร

กลุ่มที่ ๒ คือ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า โซ่ อยู่ในอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร คนทั่วไปเขียนชื่อคนกลุ่มนี้ว่า โส้

และกลุ่มที่ ๓ คือกลุ่มที่อยู่ที่อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร คนกลุ่มที่ ๓ อพยพมาจากหมู่บ้านทะวืงในแขวงคำเกิด คำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จึงมีผู้เรียกชื่อไปต่างๆ กัน เช่น โซ่ ข่า หรือ ทะวืง

ระบบการเขียนภาษานี้จึงตกลงให้ใช้ว่าภาษาโซ่ (ทะวืง) เพื่อแสดงความสัมพันธ์ของภาษานี้ในประเทศไทยที่เรียกว่า โซ่ และในประเทศลาวที่เรียกว่า ทะวืง

จากรายงานการวิจัยโครงการ “การอนุรักษ์และฟื้นฟูภาษา ประเพณี วัฒนธรรมของชาวไทยโซ่ (ทะวืง)” พบว่า ปัจจุบันชาวโซ่ (ทะวืง) ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หมู่บ้านหนองแวง บ้านหนองเจริญ บ้านหนองม่วง และบ้านดงสร้างคำ ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร มีประชากรประมาณ ๒,๔๐๐ คน โดยอาศัยรวมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น ญ้อ ลาวอีสาน ภูไท ชาวโซ่ (ทะวืง) มีอาชีพทำนา ทำไร่ ปลูกยางพารา รับจ้าง รวมทั้งทำงานหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น สานเสื่อใบเตย ทอผ้า ส่วนเรื่องอาหารการกิน การนับถือพุทธศาสนา และความเชื่อเรื่องต่างๆ มีความคล้ายคลึงกับชาวอีสานทั่วไป

สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย (เดิมคือ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท) มหาวิทยาลัยมหิดลนำโดย ศ.ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ เป็นต้นมา เพื่อเตรียมชุมชนให้มีความพร้อมในการทำงานวิจัยด้านการฟื้นฟูภาษาด้วยตนเอง

สถาบันวิจัยภาษาฯ ได้ร่วมมือกับชุมชนชาวโซ่ (ทะวืง) เพื่อพัฒนาตัวเขียนภาษาโซ่ (ทะวืง) โดยใช้อักษรไทยเป็นเบื้องต้น ที่บ้านหนองแวงและบ้านหนองม่วง ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร

ชาวโซ่ (ทะวืง) ได้นำระบบเขียนที่ร่วมกันสร้างนี้ไปใช้เขียนหนังสือและนิทานต่างๆ เป็นจำนวนมาก

ต่อมาสถาบันวิจัยภาษาฯ ได้เสนอระบบเขียนดังกล่าวมาให้ คณะกรรมการจัดทำระบบเขียนภาษาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยอักษรไทย ราชบัณฑิตยสภา พิจารณาเพื่อจัดทำคู่มือ ดังเช่นที่เคยจัดทำมาแล้ว ๕ ภาษา คือ คู่มือระบบเขียน ภาษามลายูปาตานีอักษรไทย (๒๕๕๓) คู่มือระบบเขียน ภาษาชองอักษรไทย (๒๕๕๕) คู่มือระบบเขียน ภาษาเขมรถิ่นไทยอักษรไทย (๒๕๕๖) คู่มือระบบเขียน ภาษาเลอเวือะอักษรไทย (๒๕๕๘) และ คู่มือระบบเขียน ภาษาญัฮกุรอักษรไทย (๒๕๕๘)

ใน คณะกรรมการจัดทำระบบเขียนภาษาท้องถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยอักษรไทย นอกจากกรรมการของราชบัณฑิตยสภาแล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญภาษาโซ่ (ทะวืง) มาช่วยกันจัดทำคู่มือฉบับนี้อีก ๙ คน คือ ดร.ปรีดาพร ศรีสาคร นายศาลา คำเรืองโคตร นางเนตร จันโคตรแก้ว นายบุญมี คำเรืองโคตร นายเทวี โคตรสละ นายปริญา ภูเวียนวงศ์ นายสมปอง ต้นประทุม นายวิเวศ คำเรืองโคตร และ นายกล้า พัดคำตัน

รายละเอียดจะหาอ่านได้ในคู่มือดังกล่าว ซึ่งมีแผ่นซีดีที่บันทึกเสียงภาษานี้ไว้ให้ฟังด้วย