รำลึกถึง ‘โกร่ง’ ผู้ยืนหยัด แม้ในกระแสการเมืองเชี่ยวกราก (1)/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

รำลึกถึง ‘โกร่ง’ ผู้ยืนหยัด

แม้ในกระแสการเมืองเชี่ยวกราก (1)

 

ดร.วีรพงษ์ (โกร่ง) รามางกูร เป็นเพื่อนสนิทที่เคยประกาศสัจจะร่วมกันว่าจะหายใจไปยาวๆ ด้วยกันเพื่อจะได้เห็นประเทศไทยพ้นจาก “กับดักแห่งความดักดาน” ก่อนเราจะแยกย้ายกันไป

จะเรียกว่า “โกร่ง” กับขรรค์ชัย “ช้าง” บุนปาน กับผมทั้งสามเคย “ดื่มน้ำสาบาน” ด้วยข้อตกลงเช่นนี้ก็ว่าได้

แต่ส่วนใหญ่เป็นการประกาศร่วมสัตยาบันในวงเหล้าตอนที่ต่างคนต่างยังหนุ่มแน่นเสียมากกว่า

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โกร่งชิงตัดช่องน้อยแต่พอตัว ทิ้งช้างกับผมเอาไว้ให้อยู่กับความสับสนวุ่นวายของบ้านเมืองต่อไป

ภาพนี้เป็นการพบกันของเราสามคนพร้อมหน้ากันครั้งสุดท้ายที่งานวันเกิดปีที่ 43 ของเครือมติชนเมื่อ 2 ปีก่อน

โกร่งยังอารมณ์แจ่มใส หัวเราะเสียงดังก้องกังวาน และวาทะแหลมคมเหมือนเดิม

อายุของเราทั้งสามไม่ห่างกันมากนัก โกร่งอาวุโสสุด ตามมาด้วยช้างและผมเป็นน้องสุดท้อง (78, 77, 75)

แต่เวลาเราถกแถลงเรื่องการบ้านการเมืองนั้นไม่มีการนับความเป็นอาวุโสกันแต่อย่างไร

ต่างคนต่างมีความคิดความอ่านของตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องพ้องกันในประเด็นใดๆ ทั้งสิ้น

ด้านเศรษฐกิจเรายกให้โกร่งเสมอ

แต่บางครั้งช้างก็จะส่งเสียงขัดคอด้วย “ปรัชญาชาวบ้านติดดิน” ที่ระดับด๊อกเตอร์เศรษฐศาสตร์จากอเมริกาอย่างโกร่งก็ต้องยอมแพ้

โกร่งกับช้างเป็นคู่หูกันเกือบทุกเรื่อง ตั้งแต่เราตั้งกลุ่มวิเคราะห์เศรษฐกิจในนามของ Nation Panel of Economists ที่พบปะกันเป็นประจำเพื่อวิพากษ์นโยบายของรัฐบาล (ไม่ว่ายุคไหน ไม่ว่าใครเป็นนายกฯ) ที่โรงแรมอิมพีเรียลของอากร ฮุนตระกูล ในยุค 1960s

เราชวนนักวิชาการ, นักธุรกิจและนักคิดนักปฏิบัติรุ่นราวคราวเดียวกันในสมัยนั้นมาปิดประตูบดขยี้นโยบายที่ล้มเหลวและเลอะเทอะกันอย่างกว้างขวางและหนักหน่วง

สมาชิกของกลุ่มจะเป็นคนวัยฉกรรจ์ทั้งจากภาคเอกชน, ภาครัฐและภาคไร้สังกัดทั้งหลาย

อากรจะส่งเสียงดัง กร้าวและดุดัน

โกร่งจะเสนอบทวิเคราะห์ที่ลุ่มลึก, รอบด้านและสุขุม

ช้างจะบันทึกประเด็นที่สำคัญเพื่อการนำเสนอผ่านสื่อในวันต่อไปให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงแนวทางที่ผิดเพี้ยนและเส้นทางที่ควรจะเป็น

รัฐบาลจะฟังหรือไม่ไม่สำคัญ

สำคัญว่าคนรุ่นนั้นได้ทำหน้าที่ของ “หนุ่มสาวร้อนวิชา” อย่างเต็มพิกัด

 

ในวงเสวนานั้นมีนักคิดนักปฏิบัติจากทุกสาขาวิชาชีพไม่ว่าจะเป็นปัญญาชนจากมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่ง, คนรุ่นใหม่หรือ Young Turks ทางด้านความคิดอ่านจากแบงก์ชาติ, สภาพัฒน์, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงสาธารณสุข แล้วแต่ใครจะชวนใครที่ “มีความคิดที่น่าสนใจ” มาร่วมวง

บางครั้งเราเชิญทหารรุ่นใหม่ที่มีความคิดจะปฏิรูปกองทัพ แต่หาเพื่อนร่วมคิดในค่ายทหารไม่ได้ จึงมาร่วมจิบเบียร์ในวงสนทนานี้เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับบ้านเมือง

ในเวทีวิวาทะนี้ โกร่งจะเป็นผู้นำเสนอความคิดเห็นที่เป็นระบบ เล่าเรื่องยากเป็นเรื่องง่าย ย่อยทฤษฎีมาเป็นรายละเอียดที่เข้าใจได้

บ่อยครั้งก็นำไปสู่การปะทะทางความคิดที่ดุเดือดร้อนแรง

แต่ไม่มีใครเคืองใคร ไม่มีใครมองใครเป็นศัตรูเพียงเพราะมีความเห็นต่าง

แต่ไม่ว่าจะมีความเห็นขัดแย้งกันไปกี่ทิศทาง ท้ายที่สุดโกร่งก็จะเป็นผู้สรุปให้ได้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าทางเลือกของบ้านเมืองมีอะไรบ้าง สมควรจะแบ่งปันความคิดความอ่านเหล่านั้นให้กับประชาชนคนไทยที่เป็นเจ้าของประเทศอย่างไร

และเมื่อโกร่งไปเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ หรือรัฐบาลใดก็จะต้องมาบอกกล่าวกับเพื่อนฝูงในวงนี้เป็นระยะๆ

 

โกร่งเป็นคนเคารพในความเห็นต่างของเพื่อนเสมอ ไม่เคยเห็นอารมณ์ขุ่นข้องหมองใจเมื่อถูกซักถูกไล่ต้อน

บางครั้งเมื่อรัฐบาลที่โกร่งไปเป็นที่ปรึกษาหรือแม้เป็นรองนายกฯ หรือรัฐมนตรี (นับไปนับมารวมกันถึง 7 รัฐบาลเลยทีเดียว) หากมาเจอเพื่อนฝูงในกลุ่มเสวนานี้ก็จะเป็นเพียงหนึ่งเสียงในวงการแลกเปลี่ยนเท่านั้น

บางครั้งมีเสียงตะโกนจากกลางวงว่า “เฮ้ยโกร่ง…รัฐบาลนี้ไม่ไหวแล้วว่ะ เอ็งลาออกมาได้แล้ว!”

หลายเสียงอาจจะสนับสนุน บางเสียงก็จะแย้งว่าต้องฟังโกร่งเขาก่อน

โกร่งก็จะยิ้มกว้าง บอกเพื่อนว่า “ใจเย็นๆ ขอไปล้วงข้อมูลภายในก่อนว่าเรื่องมันเป็นอย่างไร…”

ว่าแล้วทุกคนก็จะพยักหน้า เพราะรู้ดีว่าโกร่งจะไม่ยอมเป็นส่วนไหนของความเหลวแหลกของนักการเมืองหากมันเป็นเรื่องไม่ชอบมาพากล

เพื่อนๆ เคารพในวิจารณญาณของโกร่งเสมอ

เพราะเขาพิสูจน์ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของผู้บริหารประเทศและผู้มีอำนาจ แต่เขาไม่เคยใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการทำสิ่งที่ผิดเพี้ยนไปจากหลักปฏิบัติที่คนรุ่นใหม่สมัยนั้นยืนหยัดที่จะเห็นความถูกต้องเป็นธรรมสำหรับสังคมเสมอ

 

วันที่ “ป๋าเปรม” ต้องตัดสินใจว่าจะลดค่าเงินบาทหรือไม่ในปี 2527 โกร่งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ

โกร่งเล่าให้ผมฟังว่า วันหนึ่งป๋าเปรมเรียกไปพบในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญวิกฤตเรื่องขาดดุลการค้า, ดุลการชำระเงินและดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนัก

โกร่งได้ศึกษาข้อมูลทั้งหมดแล้ว มีความเห็นว่าควรจะต้องลดค่าเงินบาทเพื่อไม่ให้ประเทศชาติต้องล่มสลาย

แต่บรรยากาศการเมืองสมัยนั้น ใครเอ่ยถึงเรื่องลดค่าเงินบาทเป็นเรื่องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย

เพราะนักการเมืองและนักธุรกิจบางกลุ่มถือว่าการลดค่าเงินบาทเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ละเอียดอ่อนเป็นอย่างยิ่ง และไม่มีนักการเมืองคนไหนจะกล้าทำเพราะประชาชนจะลุกขึ้นมาต่อต้านจนรัฐบาลอยู่ไม่ได้

แต่โกร่งมองในฐานะนักวิชาการที่ยึดเอาหลักการและข้อมูลเป็นหลัก เรื่องผลประโยชน์การเมืองต้องมาทีหลัง

ป๋าเปรมบอกโกร่งว่าป๋าไม่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจ แต่รู้ว่าถ้าตัดสินใจลดค่าเงินบาทจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตการเมืองแน่นอน

โกร่งรู้ว่าหากป๋าเปรมประกาศลดค่าเงินบาท สถานภาพทางการเมืองของป๋าเปรมจะง่อนแง่น เพราะพรรคร่วมรัฐบาลย่อมจะต้องถือว่าเป็นการสร้างความไม่พอใจในหมู่ผู้คนจำนวนไม่น้อย

แต่โกร่งยืนยันว่าเพื่อผลประโยชน์ของประเทศต้องลดค่าเงินบาท

 

ป๋าเปรมรู้ว่ารัฐมนตรีคลังสมัยนั้นคือสมหมาย ฮุนตระกูล ไม่เห็นด้วยกับการลดค่าเงินบาท

โกร่งเป็นเพียงที่ปรึกษา แต่สมหมายคือรัฐมนตรีคลังที่รับผิดชอบนโยบายการเงินโดยตรง

แน่นอนว่าโดยหลักแล้ว ป๋าเปรมต้องฟังรัฐมนตรีมากกว่าที่ปรึกษา

หน้าที่ของโกร่งคือนำเสนอความเห็นที่ตรงไปตรงมา แม้จะมีคนไม่ชอบหรือไม่เป็นที่นิยมชมชื่นของคนไทยไม่น้อยก็ตาม

ป๋าเปรมฟังโกร่งแล้ว บอกให้โกร่งไปคุยกับคุณศุลี มหาสันทนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีประสบการณ์การบริหารองค์กรเอกชนมาอย่างโชกโชน และเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ป๋าเปรมไว้วางใจ

ป๋าบอกให้โกร่งไปเล่าให้รัฐมนตรีศุลีฟังเหมือนที่เสนอกับป๋า

พูดง่ายๆ คือ ป๋าเปรมต้องการฟังความรอบด้านก่อนจะตัดสินใจ

เมื่อความเห็นของรัฐมนตรีกับที่ปรึกษาไปคนละทาง ก็ต้องหา “ความเห็นที่สาม” และให้โกร่งไปนำเสนอเอง

โกร่งบอกว่า “ผมรู้ว่าป๋าต้องการให้รัฐมนตรีศุลีซักผมให้จน”

คุณศุลีซักโกร่งทุกรายละเอียด สรุปว่าเห็นพ้องกับที่ปรึกษา

ป๋าเปรมฟังรัฐมนตรีคลัง, ที่ปรึกษา และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

โกร่งบอกผมว่า “ป๋าเปรมจะให้ใครไปหาเพื่อนำเสนอเรื่องนี้อีกผมไม่รู้ รู้แต่ว่าป๋าเรียกปู่สมหมาย, คุณศุลีไปคุยต่ออีก…ลงท้ายก็เสนอในคณะรัฐมนตรีให้ลดค่าเงินบาท…”

สำหรับผม โกร่งมีคุณูปการต่อประเทศชาติด้วยการทำหน้าที่ของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีสำนึกในความรับผิดชอบด้วยการพูดความจริงบนพื้นฐานของข้อมูลและความรู้

และไม่ว่านายกฯ แต่ละคนใน 7 รัฐบาลนั้นจะเป็นทหาร, พลเรือน จะมีแนวทางการเมืองซ้าย, ขวา, หน้า, หลัง

โกร่งก็ยืนอยู่ตรงที่ควรยืนตลอดชีวิต

นั่นคือจุดที่ตอบสนองประโยชน์แห่งสาธารณะเท่านั้น!