Soil and Stones, Souls and Songs รวมมิตรศิลปะชามโต ของศิลปินหลากหลายชาติพันธุ์ (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ย้อนอ่านตอนแรก คลิก

ผลงานชิ้นที่สามของนิทรรศการ Soil and Stones, Souls and Songs ติดบนผนังกลางห้องแสดงงานตรงข้ามกับประตูทางเข้าคือ Eyes and Storms (2012-2013) ผลงานภาพถ่ายทางอากาศสามภาพ ของศิลปินชาวสิงคโปร์ ซิมริน กิล ที่เป็นภาพของเหมืองถ่านหิน เขื่อน และการขุดเจาะปิโตรเลียมในออสเตรเลีย

ที่ถึงแม้จะดูสวยงามน่าตื่นตา

หากแต่ในทางกลับกัน มันก็แสดงออกถึงความเป็นมลภาวะและการกระทำชำเราต่อธรรมชาติและโลกของเราอย่างน่าสยดสยองอย่างยิ่งยวดเช่นกัน

ผลงานชิ้นที่สี่ที่โดดเด่นเป็นสง่าอยู่บนผนังกลางห้องแสดงงานใหญ่ คือ ภาพพิมพ์เลเซอร์ขนาดใหญ่ยักษ์ของ มาเรียน่า กาสติโย่ เดบาล ที่เป็นภาพของหน้ากากจากคอลเล็กชั่นศิลปะเมโซอเมริกัน (เม็กซิโกตอนใต้และกัวเตมาลา) ของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณาในเบอร์ลิน

ซึ่งเป็นการนำเสนอที่ผิดจากขนบของการแสดงงานศิลปะวัตถุในพิพิธภัณฑ์

กล่าวคือ แทนที่จะแสดงให้เห็นด้านหน้าของหน้ากาก แต่กลับแสดงส่วนหลังด้านในของหน้ากากที่สัมผัสกับหน้าของผู้สวมใส่แทนซะอย่างงั้น

ผลงานชิ้นที่ห้า เป็นศิลปะจัดวางของ ของ ปรัชญา พิณทอง ศิลปินไทยผู้ทำงานศิลปะคอนเซ็ปช่วลผู้เคยแสดงงานในมหกรรมศิลปะนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Documenta ชื่อ One of them (02) (2012) ที่ประกอบด้วยประติมากรรมทรงกลมเหมือนลูกบอลขนาดราว 10 ซ.ม. ที่ทำจากแร่อิตเทรียม และภาพถ่ายพิมพ์อิงก์เจ๊ตบนกระดาษเอสามที่วางบนหิ้งอะลูมิเนียม

ผลงานชิ้นนี้อ้างอิงถึงเครื่องวัดแผ่นดินไหวเครื่องแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นในจีนเมื่อเกือบสองพันปีที่แล้ว ที่ทำจากแร่ธาตุหายากที่มักพบในการผลิตเชิงอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งจีนครอบครองตลาดแร่ธาตุหายากในโลกมากกว่าร้อยละ 90

งานประติมากรรมทรงกลมจากแร่หายากชิ้นนี้แสดงคู่กับภาพถ่ายดาวเทียมของเหมืองแร่ธาตุหายากของจีนในมองโกเลีย ซึ่งการสืบย้อนไปยังต้นตอของแหล่งที่มาและประวัติศาตร์เชิงลึกของวัตถุและสิ่งมีชีวิต เช่นนี้นี่เองที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นในผลงานของปรัชญา

ผลงานชิ้นที่หกเป็นของศิลปินชาวไทย จุฬญาณนนท์ ศิริผล ชื่อ Myth of Modernity (2014) ผลงานศิลปะวิดีโอ ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับภาพการชุมนุมทางการเมือง คู่ขนานไปกับภาพของไตรภูมิในพุทธศาสนานิกายเถรวาท และรูปทรงสามเหลี่ยมพีระมิดที่เชื่อมโยงโลกทั้งสอง (เบื้องล่างโลกมนุษย์ และเบื้องบน สรวงสวรรค์) เข้าไว้ด้วยกัน

ซึ่งศิลปินกล่าวว่ามันเป็นส่วนสำคัญของเครื่องมือทางความเชื่อในลัทธิชาตินิยมไทย และการแตกแยกเป็นสองขั้วอำนาจทางการเมืองไทยในปัจจุบัน

อ้อ รูปทรงสามเหลี่ยมพีระมิดนี้ ศิลปินกล่าวแบบทีเล่นทีจริงว่าได้แรงบันดาลใจจากสถานปฏิบัติธรรมอันแหวกแนวอย่างบ้านสวนพีระมิดนั่นเอง (อ.อุบล ช่วยด้วย!!)

ผลงานชิ้นสุดท้ายที่จะพูดถึง ซึ่งเป็นไฮไลต์ของนิทรรศการครั้งนี้ก็คือผลงานของศิลปินอเมริกันชื่อดัง จิมมี่ เดอแรม ประติมากรและศิลปินศิลปะจัดวาง ผู้โดดเด่นในการสร้างงานที่ปลุกกระแสสิทธิพลเมืองของชาวแอฟริกันอเมริกันและชาวอเมริกันพื้นเมืองในช่วงปี 1960 และ 1970 ของสหรัฐอเมริกา (เอาไว้เราจะกล่าวถึงเขาในภายหลัง)

ผลงานของเขาที่นำมาแสดงในนิทรรศการครั้งนี้เป็นประติมากรรมผสมผเส (Assemblage) ชื่อ The Isle of Man (2016) ที่ประกอบด้วยกะโหลกแกะสี่เขา และวัสดุหลากหลายอย่าง เปลือกหอย หินหายาก เครื่องแก้ว หนัง ไม้ กระจกข้างรถบรรทุก หม้อ ฯลฯ ที่ประกอบขึ้นในรูปแบบคล้ายกับศิลปะของชาวพื้นเมือง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของผลงานของเขานั่นเอง

ว่ากันพอหอมปากหอมคอก็แล้วกัน

เพราะนอกจากงานที่ยกมาพูดถึงเหล่านี้ ในนิทรรศการนี้ก็ยังมีผลงานที่น่าตื่นตาอีกหลายต่อหลายชิ้น

ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดลายเส้นที่หยิบมาจากวรรณคดีรามเกียรติ์ ตอน หนุมานข้ามกรุงลงกา ในแบบกึ่งประเพณีกึ่งร่วมสมัย ขนาดใหญ่ยักษ์เต็มฝาผนังประกอบกับศิลปะจัดวางที่ทำจากประติมากรรมดินเผาของศิลปินอินเดีย ประภาการ์ พัชปุเต

ก้อนอิฐที่ผลิตด้วยกระบวนการผลิตที่เขียนอยู่ในหนังสือสารนุกรมสมัยราชวงศ์หมิงของศิลปินจีน โหว ซิว-กี หรือห้องลับที่ซ่อนอยู่ด้านข้างห้องนิทรรศการที่มีผลงานวิจัยและศิลปะจัดวางเชิงรหัสยะวิทยาของนักวิชาการชาวมาเลเซีย

ภาพลายเส้นรูปฉลามขนาดมหึมาในตู้กระจก ของศิลปินชาวมองโกเลีย โตกุลดูร์ ยอนโดนัมตส์ ไปจนถึงเครื่องเคาะหน้าตาประหลาดที่ทำจากก้อนหินของศิลปินชาวฝรั่งเศส ตาเร็ก อาตุย

และผลงานศิลปะของศิลปินหลากชาติพันธุ์อีกมากมายหลายสิ่งอัน ครบถ้วนในแทบทุกสื่อ ทั้งภาพวาด ภาพลายเส้น ภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว ศิลปะวิดีโอ ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง และงานหัตถกรรม งานศิลปะพื้นบ้าน งานดนตรีทดลอง และงานวิจัยทางวิชาการ

จนเปรียบเหมือนเป็นรวมมิตรศิลปะชามโตเลยก็ว่าได้ เรียกว่าไปงานเดียว ได้เสพศิลปะร่วมสมัยกันจนอิ่มเอมเปรมใจกันเลยทีเดียวเชียวแหละ

นิทรรศการ Soil and Stones, Souls and Songs จัดแสดงที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน (The Jim Thompson Art Center) ซอยเกษมสันต์ 2 สถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ถึง 20.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ใครสนใจไปชมก็สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2612-6741 อีเมล : [email protected] เว็บไซต์ : www.jimthompsonartcenter.org เฟซบุ๊ก : the Jim Thompson Art Center

ขอบคุณภาพจากหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน