ฟ้า พูลวรลักษณ์ : วันที่ฉันดูคลิปโต้วาทีของ”เนติวิทย์” ฉันคิดว่า…

ฟ้า พูลวรลักษณ์

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๑๘๑)

วันหนึ่งฉันดูคลิปการโต้วาทีเรื่องการรับน้องใหม่ในจุฬาฯ ที่ถูกจัดโดยเนติวิทย์ โดยมีรุ่นพี่ของคณะศิลปกรรม มาร่วมแสดงความคิดเห็น

ฉันดูแล้ว คิดว่าประเด็นของเรื่องมีอยู่เพียงคำเดียว คือคำว่าสิทธิมนุษยชน ทำอย่างไรจึงจะสามารถพูดถึงสิ่งนี้ให้ชัดเจน กระจ่าง

สิทธิมนุษยชน เป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ ที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และถูกประกาศอย่างเป็นทางการในปี 1948 แม้รากฐานทางความคิดนี้จะมีมาก่อนช้านาน แต่ยังไม่ชัดเจน ต้องผ่านสงครามมากมาย ผ่านความโหดร้ายมากมาย จึงก่อตัวขึ้น

คงไม่มีใครบอกให้ยกเลิกประเพณีรับน้องใหม่ เพราะประเพณีนี้ก็มีข้อดี มันเป็นงานที่สนุกสนาน อาจทำให้เกิดมิตรภาพ ความรัก ความประทับใจ ปัญหาอยู่ที่ว่าจะจัดอย่างไรให้ไม่ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทางออกน่าจะเรียบง่าย แค่ให้มีการบันทึกวิดีโอตลอดงาน การบันทึกนี้มีข้อดีคือ

๑ เก็บไว้เป็นความทรงจำ

๒ หากมีการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็จะเป็นหลักฐานเอาผิดรุ่นพี่ได้

๓ หากรุ่นน้องคนไหนรู้สึกตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ฟ้องร้องได้ โดยมีบันทึกวิดีโอนี้เป็นหลักฐาน

๔ มีคณะกรรมการคอยตรวจสอบ มีความโปร่งใส

๕ รุ่นพี่เมื่อรู้ว่า หากทำผิดจะถูกลงโทษ และหนีไม่พ้น ก็จะมีความยับยั้งชั่งใจ เพราะรุ่นพี่ ที่จริงก็ยังเป็นวัยรุ่น อาจเกิดความคึกคะนอง บางคนอาจเล่นแผลงๆ โดยไม่ทันคิด บัดนี้พวกเขาจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ มีหลักฐานครบถ้วน

เพียงเท่านี้ ปัญหานี้ก็จะหมดไป

ฉันสังเกตว่า รุ่นพี่มักจะบอกว่า คนที่คัดค้านคือคนที่ไม่รู้จริง ไม่มีข้อมูล เป็นเพียงคนที่อ่านตำรามาก ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมจริง

ประเด็นนี้เองที่น่าสนใจ เพราะมันคือปัญหาของคำว่าสิทธิมนุษยชน

วิธีคิดง่ายๆ ให้คิดถึงพ่อแม่ที่เลี้ยงลูก

ปัจจุบันนี้ หากพ่อแม่คนไหนที่ขับรถยนต์แล้วไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยให้ลูกที่ยังเล็กอยู่ จะด้วยเจตนา หรือเผอเรอ หากเกิดอุบัติเหตุ และลูกได้รับอันตราย พ่อแม่จะติดคุกทันที

พ่อแม่บางคนอาจหงุดหงิด เหมือนถูกคุกคาม

หรือพ่อแม่คนไหนที่ทารุณลูก ทำร้ายจิตใจลูกมากเกินไป ก็มีความผิด เช่น เฆี่ยนตีลูกรุนแรง กักขัง ล่ามโซ่ จับลูกไปแขวนเหมือนสัตว์ หรือทำให้ลูกอับอายในที่สาธารณะ มากเกินไป ก็ล้วนละเมิดกฎของสิทธิมนุษยชน

ในสังคมที่เจริญแล้ว จะมีหน่วยงานที่คอยรับเรื่อง คอยตรวจสอบ เพราะเด็กย่อมไม่กล้าฟ้องร้องพ่อแม่ของตัวเอง เด็กย่อมกลัวพ่อแม่จะยิ่งทำร้ายตัวเองหนักขึ้น กลัวพ่อแม่จะทอดทิ้งตนเองไป

ยุคโบราณ พ่อแม่จะเอาลูกไปขายก็ยังได้ จะฆ่าทิ้งก็ยังได้ ไม่ต้องพูดถึงว่าจะไม่เลี้ยง ไล่ตะเพิดออกจากบ้าน

ที่แปลกคือ ฉันได้ยินเสียงรุ่นพี่บางคน หรืออาจารย์บางคนพูดจาเหมือนพ่อแม่ยุคโบราณ

พ่อแม่ย่อมสามารถโต้เถียงได้ ว่าความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูก ย่อมลึกซึ้งเกินคำบรรยาย คนภายนอกไม่อาจล่วงรู้ ไม่อาจเข้าใจได้หมด คิดดู กว่าจะให้กำเนิด ไม่ใช่ง่ายเลย กว่าจะเลี้ยงดูให้เติบโต แต่ละวัน ต้องใช้พลังงานและทุนทรัพย์มากมายเพียงใด

หากวันนี้จะเกิดอารมณ์ จะทำโทษลูกรุนแรงสักหน่อย คนภายนอกจะลงโทษพวกเขาได้อย่างไร จะยุติธรรมแล้วหรือ คนภายนอกเพียงใช้หลักการที่สูงส่ง แต่ใครกันที่เลี้ยงดูลูกน้อยคนนี้มาแต่เกิด หรือมาตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์ ใครกันที่เสียสละเลือดเนื้อของตัวเอง ซึ่งหนักหนาเหลือเกิน

คนภายนอกเหล่านั้น จึงเหมือนคนเสือก เป็นเหมือนคนอ่านตำราเยอะ แต่ไม่รู้จริง ไม่ได้อยู่ตรงนั้น ไม่มีประสบการณ์ชีวิตในส่วนนี้ เป็นคนนอก ไม่ใช่คนใน

คนที่ได้รับความอยุติธรรม คือพ่อแม่ต่างหาก ไม่ใช่ลูก

ความคิดแนวนี้ ก็ไม่ผิดเลย มีเหตุผล และมักจะเป็นเช่นนั้น มันเป็นความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้น เป็นเสียงกรีดร้อง

ฉันมีเพื่อนที่เป็นปัญญาชน มีความรู้มาก แต่เขาเลี้ยงลูกหลานด้วยไม้เรียว หากลูกหลานของเขา ซึ่งบังเอิญล้วนเป็นเด็กผู้ชาย คนไหนทำผิด ก็จะต้องไปยืนกอดอก และถูกเขาเฆี่ยนด้วยไม้เรียว เขามือหนัก ตีแรง เขาเชื่อว่านี่เป็นวิธีการเลี้ยงลูกที่ถูก ได้ผล ฉันได้มองดู ตะลึงงัน

ไม่คิดว่าในปี พ.ศ. นี้ กับคนที่มีความรู้ มีการศึกษาอย่างเขา จะยังทำเรื่องราวเหมือนคนรุ่นเก่าที่ยังไม่มีคอนเซ็ปต์สิทธิมนุษยชน นี้เป็นสิ่งแปลก

ฉันไม่เห็นด้วย แต่นี่เป็นเรื่องภายในครอบครัวของเขา ฉันไม่พูดอะไร ได้แต่มอง

๘มีปัญญาชนคนหนึ่ง ที่มีชื่อเสียง และเป็นนักสู้กับความอยุติธรรมในสังคม แต่วันหนึ่ง ฉันไปบ้านของเขา ตกตะลึง ที่พบว่าเขาตอบต่อเมียของตัวเองเหมือนทาส

ไม่น่าเชื่อ เหมือนภาพหลอน แต่ทว่านี้คือชีวิตจริง

เป็นธรรมดาอยู่เองที่ความสัมพันธ์ของคู่ชีวิตย่อมลึกซึ้งมาก และเป็นเรื่องส่วนตัว ที่สะสมมาช้านานหลายสิบปี บ้านนี้พวกเขามีลูกด้วยกันหลายคน ลูกๆ ก็โตกันหมดแล้ว คนภายนอกย่อมยากจะเข้าใจได้ เพราะไม่ได้อยู่ตรงนั้น

เขาก็เป็นมนุษย์ ด้วยสติปัญญาชั้นสูงของเขา มาเจอเมียชาวบ้านที่เชื่องช้า โง่เขลา เขาอาจทนไม่ได้ ในที่สุดก็เกิดความเคยชิน ในการใช้ ในการดุด่าเมียตัวเอง คนภายนอกมองดู รู้สึกว่าเขาใช้เมียเหมือนทาส

ฉันยกตัวอย่างเหล่านี้ เพื่อให้เห็นว่าสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องยาก มันจะถูกโต้เถียงได้ หากอีกฝ่ายใช้ความเป็นส่วนตัว พวกเขามีสิทธิอ้างได้ ว่านี่เป็นเรื่องภายใน ที่ลึกซึ้งยิ่ง กว้างไกล ลุ่มลึก เกินกว่าที่คนภายนอกจะรู้จริงได้ และอย่ามาเสือก

การรับน้อง หากรุ่นพี่จะใช้หลักคิดแบบเดียวกันนี้ ก็ได้เช่นกัน นี่เองที่สะท้อนออกในอารมณ์ที่พวกรุ่นพี่คณะศิลปกรรมศาสตร์ ชอบพูดว่า คนที่คัดค้านพวกเขา ล้วนไม่รู้อะไรเลย ไม่มีข้อมูล

พวกเขาต่างหากที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม พวกเขาต่างหากที่ถูกรังแก

ยังจะมีความสัมพันธ์ใดลึกซึ้งเท่าความสัมพันธ์ของพ่อแม่ที่มีต่อลูก อันนั้นถือเป็นที่สุด ฉันสามารถคิดตาม จินตนาการตามได้ แต่ความลึกซึ้งของคอนเซ็ปต์สิทธิมนุษยชน อยู่ตรงนี้เอง ที่มันไม่เกี่ยวกัน มันเป็นการปกป้องมนุษย์ โดยเริ่มจากพื้นฐาน

ทันทีที่เด็กเกิดมาเป็นคน ก็จะต้องถูกปกป้อง ด้วยสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ก็ไม่มีสิทธิไปทำร้ายเขา ไม่อาจไปล่วงละเมิดความเป็นมนุษย์ของเขาได้

ตรงนี้เองที่ลึกซึ้ง และเข้าใจยาก และคือความยิ่งใหญ่ของมนุษย์สมัยใหม่ ที่ใช้เวลายาวนานมาก กว่าจะพัฒนาจิตสำนึกส่วนนี้ขึ้นมาได้

มันลึกซึ้ง เพราะฝ่ายค้านก็มีเหตุผล เข้าใจได้ และลุ่มลึกเช่นกัน เพียงแต่มันเป็นรองในด้านจิตสำนึก

ต้องย้อนกลับมาถามว่า มนุษย์ต้องการเดินทางไหน นี้เป็นการเลือก สำหรับมนุษย์ทั้งเผ่าพันธุ์ เป็นการปฏิบัติต่อมนุษย์นับหมื่นล้าน แสนล้าน ในปัจจุบันและอนาคต นี้เป็นเรื่องจิตสำนึกในสังคม

ไม่เพียงแต่สิทธิมนุษยชนเป็นการปกป้องลูกๆ ของคุณ แต่เป็นการปกป้องตัวคุณด้วย ไม่ให้พ่อแม่ของคุณ หรือผู้ยิ่งใหญ่ใดมาทำร้ายคุณได้ แม้วันนี้คุณอาจเป็นผู้ใหญ่แล้ว ไม่มีพ่อแม่คนไหนมาทำร้ายคุณได้ หรือตัวคุณยิ่งใหญ่พอ จนไม่มีใครกล้ามารังแกคุณ แต่ประเด็นอยู่ที่ เรากำลังมองคนนับไม่ถ้วน

หากพ่อแม่คนไหนยืนยันจะเฆี่ยนตีลูกด้วยไม้เรียว จะดุด่าอย่างรุนแรง แน่ละ หากเขาทำด้วยความรักลูก และเชื่อจริงๆ ว่านี่เป็นวิธีปฏิบัติที่ได้ผล เขาก็ต้องทำแบบเงียบๆ ในบ้านของตัวเอง ห้ามมาโอ้อวดในที่สาธารณะ ห้ามมาโต้เวที เก็บไว้เป็นการส่วนตัว พวกเขาอาจไม่อาย เพราะพวกเขาจริงใจในสิ่งที่ตัวเองทำ และพร้อมจะรับผล เช่น หากลูกๆ มีความทุกข์ข้างใน กลายเป็นเด็กมีปัญหาในวันข้างหน้า หรือหนีออกจากบ้าน ก็เป็นผลกรรมของพวกเขา หรือหากเด็กเติบโตเป็นคนดี มีความสามารถ ก็เป็นไปได้ บ้านนี้เสี่ยงเอาเอง

แต่อย่ามาโต้เวที อย่ามาเสนอหลักการล้าหลังนี้ในสังคม

ประเด็นนี้เอง ที่แยกความแตกต่างของจิตสำนึก

สิทธิมนุษยชนเป็นจิตสำนึกที่ก้าวหน้า ไปไกล น่าทึ่ง แต่มันทำยาก เพราะมนุษย์มีความเป็นตัวเอง มีความเป็นส่วนตัว

เผด็จการที่ร้ายกาจปานไหน ก็ย่อมคิดว่าตัวเองถูกได้ และเผด็จการบางคนก็อาจสร้างความก้าวหน้าได้เช่นกัน แต่คอนเซ็ปต์ของมนุษย์ จะเลือกทางไหน คุณต้องคิดให้ดี

รุ่นพี่คณะศิลปกรรมศาสตร์กลุ่มนั้น อาจเป็นคนดี พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลย ไม่ได้ทำร้ายรุ่นน้องสักคน แต่หากพวกเขาต้องการให้งานนี้เป็นงานปิด ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐาน ด้วยเชื่อว่าตัวเองบริสุทธิ์ ปัญหาคือ พวกเขาจะรับประกันให้คนอื่นได้หรือ อาจมีรุ่นพี่กลุ่มอื่น ปีอื่น ที่บางคนมีความคิดแผลงๆ เกิดความคิดบ้าๆ ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนรุ่นน้องก็ได้

ไม่มีทางใดที่พวกคุณจะรับประกันได้

จิตสำนึกในสังคม คือการคิดแทนคนอื่น ไม่ใช่คิดแทนตัวเอง