โฟกัสพระเครื่อง : ตะกรุด-เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเที่ยง จันทสโร วัดม่วงชุม กาญจนบุรี

(ซ้าย) หลวงพ่อเที่ยง จันทสโร (ขวาบน) เหรียญหลวงพ่อเที่ยง วัดม่วงชุม รุ่นแรก (ขวาล่าง) ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงพ่อเที่ยง วัดม่วงชุม

โฟกัสพระเครื่อง–(ฉัตรชัย สุนทรส)

โคมคำ / [email protected]

 

ตะกรุด-เหรียญรุ่นแรก

หลวงพ่อเที่ยง จันทสโร

วัดม่วงชุม กาญจนบุรี

 

“พระครูจันทสโรภาส” หรือ “หลวงพ่อเที่ยง จันทสโร” อดีตเจ้าคณะตำบลม่วงชุม และอดีตเจ้าอาวาสวัดม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เจ้าตำรับตะกรุดหนังเสืออันลือลั่น

เป็นศิษย์และยังมีศักดิ์เป็นหลานพระวิสุทธิรังษี (หลวงปู่เปลี่ยน) วัดใต้หรือวัดไชยชุมพลชนะสงคราม พระเกจิชื่อดัง รวมทั้งเป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อนารถ วัดศรีโลหะราษฎร์บำรุง อีกทั้งมีความสนิทสนมอย่างมากกับหลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม จังหวัดนครปฐม

ว่ากันว่าเรียนวิชาทำตะกรุดหนังเสือมาจากสำนักเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีสหธรรมิกอีกหลายท่านที่พบปะในงานพุทธาภิเษก อาทิ หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่, หลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก, หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว เป็นต้น

สำหรับตะกรุดหนังหน้าผากเสือ หลวงพ่อเที่ยง วัดม่วงชุม เป็นวัตถุมงคลที่มีชื่อเสียงมาก สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ.2520 จัดเป็นเครื่องรางยุคแรกที่หลวงพ่อเที่ยงจัดสร้าง และทำให้ท่านมีชื่อเสียงโด่งดัง

ลักษณะเป็นแผ่นหนังหน้าผากเสือตัดเป็นสี่เหลี่ยม ขนาดยาวประมาณ 1.5 นิ้ว โดยที่หลวงพ่อจะจารอักขระลงในหนังหน้าผากเสือ แล้วจึงม้วนเป็นตะกรุด แล้วจึงถักด้วยด้ายสายสิญจน์ เพื่อให้ขึ้นรูปเป็นตะกรุด จึงลงรักปิดทอง เสร็จท่านจะหาฤกษ์ยามที่ดี จึงปลุกเสกเดี่ยวอีกครั้งก่อน

เชื่อกันว่า ใครที่ได้ครอบครอง สามารถกันของมีคมและเขี้ยวงา เป็นมหาอำนาจมากด้วยบารมี เป็นที่ยำเกรงของคนทั่วไป

นอกจากนี้ เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2508 ที่ระลึกในคราวได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง และเนื้อทองแดงผิวไฟเท่านั้น จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปไข่แบบมีหูในตัว ด้านหน้า เป็นรูปจำลองหลวงพ่อเที่ยงครึ่งองค์ห่มจีวรคลุมไหล่ มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “หลวงพ่อเที่ยง วัดม่วงชุม”

ด้านหลัง มีรูปตาลปัตรพัดยศ มีอักขระภาษาไทย เขียนคำว่า “ที่ระลึกในงานฉลองสมณศักดิ์พระครูจันทสโรภาส ๒๕๐๘”

จัดเป็นวัตถุมงคลหายากในปัจจุบัน

 

มีนามเดิมว่า เที่ยง ท่านกเอี้ยง เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ปีชวด ที่บ้านม่วงชุม ต.ม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เมื่อปี พ.ศ.2431 เป็นบุตรของนายเขียวและนางทองแคล้ว ท่านกเอี้ยง มีพี่น้องรวม 8 คน

ในวัยเด็กมีอุปนิสัยชอบทางด้านชกมวย และรักความยุติธรรม เป็นคนพูดแบบตรงไปตรงมาไม่เกรงกลัวใคร จึงเป็นที่รักของเด็กวัยเดียวกัน ยกให้เป็นพี่ใหญ่

พ.ศ.2452 อายุ 21 ปีบริบูรณ์ ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารรับใช้ชาติอยู่ 2 ปี หลังปลดประจำการ กลับมาอยู่บ้านประกอบอาชีพทำนา

อายุ 24 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดบ้านถ้ำ อยู่ศึกษาเล่าเรียนกับอุปัชฌาย์ระยะหนึ่ง แล้วย้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดม่วงชุม ซึ่งเป็นวัดอยู่ใกล้บ้าน

 

เนื่องจากในวัยเด็กมีโอกาสเล่าเรียนไม่มาก เพราะขาดแคลนครูและห้องเรียน ยิ่งเรียนก็มีความสุขกับการเรียน ทำให้มีความแตกฉานอย่างมาก

หลังจากศึกษาพระปริยัติธรรม และพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา จึงเริ่มหันมาศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาคมกับหลวงปู่เปลี่ยน วัดใต้ ในฐานะที่หลวงพ่อเที่ยงมีศักดิ์เป็นหลานของหลวงปู่เปลี่ยน จึงได้รับความเมตตาจากหลวงปู่เปลี่ยนเป็นพิเศษในการถ่ายทอดสรรพวิชาด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านพุทธาคม จนมีความเชี่ยวชาญอย่างมาก

ชาวบ้านทั่วไปมักกล่าวขวัญว่า ใครแขวนวัตถุมงคลของท่าน แมลงวันไม่ได้กินเลือดŽ หมายความว่า คนคนนั้นหนังเหนียว แทงไม่เข้า ยิงไม่ออก

แม้กระทั่งหลวงปู่แย้ม พระเกจิอาจารย์ดังแห่งวัดสามง่าม อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ยังกล่าวยกย่องว่าเก่งกล้า โดยท่านเป็นสหธรรมิกกับหลวงพ่อเต๋ คงทอง (อาจารย์หลวงปู่แย้ม) ซึ่งทั้งสองท่านต่างมีชื่อเสียงอย่างมากในการสร้างตะกรุดหนังหน้าผากเสือ

เป็นพระของชาวบ้านชนบทโดยแท้ พูดตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม ภาษาที่ใช้สื่อสารก็เหมือนหลวงพ่อคูณ เป็นภาษาไทยแท้ๆ ฟังไม่เพราะหู แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตา ญาติโยมที่ไปขอความช่วยเหลือจากท่านจะได้รับความเมตตาช่วยเหลือในทุกๆ เรื่องด้วยดี

จากการบอกเล่าของชาวบ้านกล่าวว่า ชอบกีฬาชกมวยอย่างมาก การละเล่นนิยมลิเกและหนังตะลุง เป็นพระโบราณลูกทุ่งชนบท ชอบฉันหมากไม่เคยขาดปากเลย จึงเป็นที่มาของการสร้างพระเครื่องเนื้อชานหมากที่โด่งดัง

ลงมือสร้างอุโบสถเมื่อปี พ.ศ.2484 ค่อยสร้างอุโบสถตามกำลังที่มี โดยไม่มีการเรี่ยไร เพราะไม่ต้องการเป็นภาระของชาวบ้าน

ช่วงนั้นประเทศไทยยังตกอยู่ในระหว่างปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองกาญจน์ได้รับผลกระทบจากภัยสงครามอย่างมาก ด้วยทหารญี่ปุ่นมาตั้งฐานทัพหลายแห่ง ทำให้ทหารพันธมิตรนำเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเพื่อทำลายฐานทัพของญี่ปุ่น

เป็นเหตุให้สภาพเศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง แต่ชาวบ้านก็ช่วยบริจาคทุนทรัพย์สร้างอุโบสถจนสำเร็จ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2494

 

มรณภาพด้วยอาการสงบ เวลา 09.00 น. เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2523 ที่วัดม่วงชุม

สิริอายุ 92 ปี พรรษา 69

วัดเก็บสรีระของท่านไว้นาน 10 ปี ปรากฏว่าสังขารของท่านไม่เน่าไม่เปื่อย

จึงพร้อมใจกันสร้างมณฑป พร้อมทั้งโลงแก้วบรรจุร่างไว้ให้ผู้คนกราบไหว้ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2534