ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 พฤศจิกายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ
‘2565 ท้าเปลี่ยนประเทศไทย’
วิสัยทัศน์ 4 พรรคการเมือง
เปลี่ยนประเทศสิ้นหวังให้มีหวัง
ในวาระเข้าสู่ปี 42 ของนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ชุมชนของนักคิด นักเขียน คอลัมนิสต์ที่ให้ข้อมูล แง่คิดที่ครอบคลุมหลากมิติ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้อ่านนำไปขบคิด แลกเปลี่ยนความเห็นกัน ตลอด 4 ทศวรรษจากสื่อสิ่งพิมพ์สู่ยุคดิจิตอลดิสรัปต์เป็นสื่อออนไลน์ นิตยสารนี้ยังคงสืบสานเจตนารมณ์นี้ต่อไป
และในปีนี้ ไทยเจอวิกฤตถาโถมมากมาย จนถึงปัญหาการบริหารประเทศตลอด 7 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่คนออกมาต่อต้านและกระแสการเมืองภายในรัฐบาลที่ร้าวฉานจนเกิดกระแสการยุบสภา สู่เลือกตั้งใหม่
ความหวังจึงอยู่ที่การเมืองและผู้นำว่าจะมีวิสัยทัศน์อย่างไร เพื่อพาประเทศไทยไปสู่จุดที่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นำสู่เวทีเสวนาส่งท้ายปี ในชื่อ 2565 ท้าเปลี่ยนประเทศไทย กับบุคคลสำคัญจาก 4 พรรคการเมืองดัง ได้แก่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย, นิพนธ์ บุญญามณี จากพรรรคประชาธิปัตย์, ศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคก้าวไกล และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จากพรรคไทยสร้างไทย
มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์ว่ามีไอเดียพลิกโฉมประเทศจากวิกฤตอย่างไร
ในช่วงโชว์วิสัยทัศน์ ทั้ง 4 พรรคการเมืองชูธงหลักในการแก้ไขปัญหาและเปลี่ยนแปลงประเทศซึ่งมีทั้งความเหมือนและต่างกัน
นพ.กล่าวว่า ประเทศไทยขณะนี้ ถ้าไม่เปลี่ยน ไม่ท้าเปลี่ยน ประเทศไทยจะไม่มีอยู่ในโลก เพราะย่ำแย่เหลือเกิน โดยเฉพาะ 7 ปีที่ผ่านมา พี่น้องดำเนินชีวิตด้วยความสิ้นหวัง ลูกหลานไร้อนาคต ไร้ทิศทาง เป็นโอกาสที่พรรคเพื่อไทยได้บอกกล่าวว่า เราต้องช่วยกันเปลี่ยนประเทศไทย ไม่ต้องท้า เราต้องทำ จะทำอย่างไรให้มีโอกาสได้
“สิ่งที่อยากบอกผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง แรกสุดคือ ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ตราบใดที่ยังดักดาน ปิดหูปิดตา ทำไม่ได้ จากการประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อไทย เราเปลี่ยนแปลงพรรคเราทั้งสัญลักษณ์ โครงสร้างบริหารจัดการ” นพ.ชลน่านกล่าว
และว่า ถ้าจะเปลี่ยนประเทศปี 2565 คือต้องเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ออกไปด้วยกลไกประชาธิปไตย อยากให้โอกาสกับประชาชนโดยเร็วที่สุด มามอบให้เราได้อย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญ กฎหมายที่ล้าหลัง เป็นภัยกับพี่น้องประชาชนต้องเปลี่ยน เมื่อเปลี่ยนแล้ว เพื่อไทยมีทิศทางชัดเจน ไม่ว่าด้านขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
นพ.ชลน่านได้ตอบคำถามถึงนโยบายพรรคนั้นฟังใครเป็นคำตอบที่สุดว่า ฝ่ายบริหารเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ เรามีคณะทำงานของคณะทำงานยุทธศาสตร์ออกมาเป็นนโยบาย ซึ่งคณะทำงานกว่า 10 คณะ รับอะไรมานำเข้าสู่กระบวนการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง ใครพูดก็ได้ ใครเสนอก็ได้ ไม่มีการครอบงำ ตรวจสอบได้ กระบวนการทำเป็นนโยบาย
เมื่อถามถึงประเด็นครอบงำพรรค หลังการเปิดตัวแพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แพทองธารมาร่วมเป็นที่ปรึกษาในฐานะคนรุ่นใหม่หรือพรรคเพื่อไทยยังคงเชื่อมโยงกับตระกูลชินวัตรจนถูกมองว่าไม่เคยหลุดจากการครอบงำนั้น นพ.ชลน่านเห็นแย้งตรงนี้ แต่กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิ์มองแบบนั้น ว่าคุณแพทองธารเข้ามาอย่างไร แต่พรรคเพื่อไทยมองว่า ได้แพทองธารมาเพราะความคิด ความอ่าน และประสบการณ์ที่ได้จากคุณทักษิณที่ผ่านมา ซึ่งคนรุ่นใหม่มักมองตรงสิ่งที่จับต้องได้
เราไม่ได้ขายแค่ความคิด หรืออุดมการณ์ แต่ขายมุมที่ทุกคนร่วมเป็นหุ้นส่วนได้
ด้านจุลพันธ์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวว่า หากเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาลก็จะขจัดอุปสรรคอันไม่เป็นธรรมจากรัฐธรรมนูญปี 2560 และแก้ไขจุดอ่อนของประเทศ 4 เรื่องคือ
1) โครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่ไทยยังใช้ระบบเศรษฐกิจรูปแบบเดิมเน้นส่งออก แต่ประเทศต้องปรับใหญ่รวมถึงโครงสร้างแรงงาน-ประชากร ให้มีหลายทักษะ
2) โครงสร้างการศึกษา โควิด-19 ทำให้การศึกษาไทยถดถอยไปถึง 5 ปี ต้องมีแนวทางในการชดเชยเวลาที่สูญเสียไป และเตรียมพร้อมการศึกษาไปสู่อนาคตด้วย
3) โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งคมนาคม ระบบน้ำ พรรคเพื่อไทยจะนำโครงการที่เคยทำสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาสานต่อและการสร้างเมืองใหม่ ให้จุดพักบริเวณสถานีรถไฟกลายเป็นหัวเมืองใหม่ เป็นแหล่งกระจายความเจริญ และ
4) โครงสร้างเศรษฐกิจดิจิตอล ให้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของประชาชน
ขณะที่นิพนธ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า พรรคที่เราสร้างมากว่า 8 ทศวรรษ ผ่านวิกฤตใหญ่ถึง 2 ครั้งอย่างวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และโควิด-19 วิกฤตเศรษฐกิจรอดได้เพราะภาคการเกษตรไม่ได้รับผลกระทบ แต่โควิด-19 กระทบหลายด้านโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่ไทยมีสัดส่วนมูลค่ากว่า 20% ของจีดีพี ซึ่งมากเกินไป
“เหลือภาคเกษตร เป็นเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนได้อย่างภาคการส่งออก ส่งอาหารไปต่างประเทศ แม้ว่ามีวิกฤตเราก็ไม่อดอยาก เพราะเรามีอาหาร เราพึ่งพาตัวเอง” นิพนธ์กล่าว และว่า วันนี้โลกกำลังเปลี่ยนเทรนด์เป็นพลังงานสะอาด พลังงานคนก็เช่นกัน อาหารคือพลังงานคน เพราะฉะนั้น การทำอาหารปลอดภัย ทำอย่างไรจะทำให้ประเทศไทยผลิตอาหารสะอาด ให้เกษตรกรอยู่ได้ ให้คนรุ่นใหม่ทำยังไงเป็นซีอีโอให้ได้ เกษตรกรผลิตได้โดยไม่ต้องพึ่งคนกลาง นี่คือสิ่งที่เราทำ
นิพนธ์กล่าวอีกว่า จุดแข็งของเราคือเกษตร ปี 2565 ถ้าจะพาประเทศเดินต่อ ต้องไม่ลืมจุดแข็งตัวเอง ต้องปรับยุทธศาสตร์เกษตรกรรมประเทศ เราต้องไม่ทิ้ง ภาคเกษตรคือสันหลังของชาติ เราพูดมานานแต่ทำไม่ได้ แต่ประชาธิปัตย์เราจะทำให้ได้
นอกจากนี้ นิพนธ์ยังมีความคิดเปลี่ยนอำนาจรวมศูนย์เป็นกระจายอำนาจ เพิ่มศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง
เพราะท้องถิ่นไม่มีใครรู้ดีกว่าคนในท้องถิ่น
ขณะที่ฝั่งก้าวไกลอย่างศิริกัญญาได้กล่าวว่า โควิด-19 ได้เผยปัญหาที่ซุกใต้พรมให้โผล่ออกมาและยังเซ็ตซีโร่ทุกอย่างในประเทศนี้ แต่ยังมี 4 เรื่องที่ยังไม่เปลี่ยนก่อนโควิด ได้แก่
1) ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ไทยกำลังขาดชนชั้นกลาง ขาดคนที่เป็นผู้บริโภค เป็นกำลังเศรษฐกิจสำคัญ ขับเคลื่อนประเทศ เพราะเศรษฐกิจบนยอดภูเขาน้ำแข็งผูกขาดอยู่ไม่กี่คน แต่คนที่อยู่ในฐานรากใต้สุดถูกแช่แข็งเอาไว้และไม่สามารถปลดปล่อยศักยภาพได้ หากไร้ฐานบริโภค ประเทศก็ไปต่อไม่ได้
2) ปัญหารัฐเลี้ยงไข้ ทำแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่กล้าพูดถึงความจริง
3) ระบบราชการที่รับใช้ทุกสถาบันยกเว้นประชาชน มีแต่ข้าราชการเอาใจนายแต่ไม่รับใช้ประชาชน แม้มีคนที่ทำเพื่อประชาชนกลับอยู่ไม่ได้ และ
4) วิกฤตศรัทธาของผู้นำ ต่อให้พูดดี หรือมีนโยบายดี แต่ใครจะเชื่อและไว้ใจ ซึ่งเกาะกินประเทศมานาน
“เราต้องพิพากษารัฐบาลนี้ผ่านการเลือกตั้ง การคืนอำนาจให้ประชาชนเพื่อตัดสินใจอีกครั้งว่าจะมอบให้คนไหน เปลี่ยนผ่านวิกฤตนี้ไปได้”
ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์กล่าวพร้อมกับวางเก้าอี้พับ 2 ตัวที่มีชื่อ “ฟัง” และ “เสียง” ว่า ก่อนที่เราจะท้าเปลี่ยนประเทศไทย ผู้นำต้องฟังประชาชน ว่าพวกเขาต้องการอะไร อนาคตต้องเป็นยังไง ความท้าทายที่พรรคมองมี 3 อย่างคือ
1) วิกฤตการเมือง ต้องเปลี่ยนจากรัฐราชการรวมศูนย์เป็นรัฐของประชาชน
2) การพาประชาชนให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจน
3) กองทุน 5 กองทุนสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและคนตัวเล็กเพราะเอสเอ็มอีเป็นตัวจักรสำคัญที่ทำรายได้ให้ประเทศถึง 35% ของจีดีพี
“ถ้าฐานใหญ่ยังยากจน ประเทศไม่มีทางรวยขึ้น ประชาชนไม่รอด รัฐบาลก็ไม่รอด นั้นทำให้เห็นว่าทำไมรัฐบาลเก็บภาษีไม่ถึงเป้า จนต้องกู้แหลก เราโฟกัสคนตัวเล็กเพื่อขจัดความยากจน เราก็จะทำให้เรามีโอกาสสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ เราคิดอย่างเดิมไม่ได้แล้ว” คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงประเทศสำหรับไทยสร้างไทย คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวว่า มี 3 เรื่องคือ
1) แก้ไขรัฐธรรมนูญ ช่วยกันเรียกร้องให้มีประชามติ แก้ไขด้วยสันติวิธี
2) เศรษฐกิจต้องหาแหล่งรายได้ใหม่
และ 3) การศึกษาต้องปฏิรูป คนรุ่นใหม่ต้องเป็นพลเมืองโลก และมีความเท่าเทียม ไม่ว่าเด็กในเมืองกับเด็กบนดอยต้องได้เรียนจากครูคนเดียวกัน
ทั้งหมดนี้ คือวิสัยทัศน์ที่ปรารถนา “ท้า” เปลี่ยน!