ผ่าแผนเผชิญเหตุ…รับเปิดเทอม ช่วย น.ร.เรียน On Site สู้โควิด-19/การศึกษา

การศึกษา

 

ผ่าแผนเผชิญเหตุ…รับเปิดเทอม

ช่วย น.ร.เรียน On Site สู้โควิด-19

 

หลังจากที่รัฐบาล นำโดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประกาศคิกออฟเปิดเรียนภาค 2 ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หลังประเทศต้องเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้นักเรียนห่างหายจากห้องเรียนเป็นเวลากว่า 18 เดือน!!

ส่วนจะเปิดเรียนรูปแบบไหน On Site ได้หรือไม่ เป็นอำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่จะพิจารณา เพราะแต่ละพื้นที่จะทราบบริบท และปัญหาของตัวเองอย่างดี

จากข้อมูลเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พบว่า พบโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเรียน On Site 12,000 แห่ง ส่วนโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เปิดเรียน On Site 1,906 แห่ง

แต่ผ่านการเปิดเรียนได้ไม่กี่วัน ก็เริ่มมีโรงเรียนบางแห่งประกาศปิด เนื่องจากมีความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือกรณีโรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรค์ จ.มุกดาหาร หลังจากโรงเรียนได้ตรวจ ATK พบครู บุคลากร และนักเรียน กว่า 80 คน มีผลเป็นบวก ก่อนจะยืนยันผลการตรวจหาเชื้อซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ว่าไม่พบเชื้อ ทำให้โรงเรียนประกาศเปิดการเรียน On site ต่อไป ส่วนสาเหตุที่ผลตรวจผิดพลาด คาดว่ามาจากการใช้ ATK ที่อาจไม่มีประสิทธิภาพ

หรือกรณี จ.บึงกาฬ ที่โรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งเปิดเรียนได้เพียง 3 วัน พบครูติดเชื้อโควิด-19 จากการไปเชียร์วอลเลย์บอล จนต้องประกาศปิดเรียน 7 วัน

เมื่อเกิดเหตุลักษณะนี้ขึ้นมาต่อเนื่อง ผู้ปกครองจะมั่นใจอย่างไร ว่าเมื่อนักเรียนไปเรียนในโรงเรียนแล้วจะปลอดภัยจากโควิด-19??

แม้รัฐบาลจะเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนที่อายุ 12-18 ปีแล้วก็ตาม แต่การฉีดวัคซีนก็เป็นเพียงการป้องกันเบื้องต้น ว่าเมื่อติดเชื้อแล้วอาการจะไม่หนักหนา และลดอัตราการเสียชีวิตเท่านั้น

ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ “มาตรการป้องกัน” ว่าสถานศึกษาจะมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้ออย่างไร ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้นักเรียน โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ปฏิบัติตามมาตรการที่วางไว้อย่างเคร่งครัด

ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ ศธ., กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องวางแผน และออกมาตราการอย่างรัดกุม เพื่อให้ครูและนักเรียนสามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด!!

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ออกมาเน้นย้ำเสมอว่า ขอให้หน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด เฝ้าติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดเหตุไม่ว่าจะในพื้นที่จังหวัดใด ให้ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุที่ ศธ.ออกประกาศไว้ทันที เพื่อให้ความมั่นใจผู้ปกครองและนักเรียน

โดยประกาศ ศธ.เรื่องหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 34) ประกาศ ศธ.ฉบับนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียน หรือสถานศึกษา เงื่อนไขของมาตรการ แนวปฏิบัติ แผนเผชิญเหตุ และรายละเอียดต่างๆ มีสาระสำคัญ 5 ส่วน

ในนั้นมีมาตรการสำคัญ คือมาตรการตามแผนเผชิญเหตุตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของสถานศึกษา มีรายละเอียดดังนี้ ในชุมชน และในสถานศึกษา ไม่พบผู้ติดเชื้อ ให้ครู/นักเรียน ดำเนินการตามมาตรการป้องกัน ดังนี้ ปฏิบัติตามมาตรการ DMHT และประเมิน Thai Stop COVID (TSD) เป็นประจำ ส่วนสถานศึกษาสามารถเปิดเรียน On Site ปฏิบัติตามแนวทาง TST เน้นเฝ้าระวังสังเกตอาการกลุ่มเปราะบาง

หากในชุมชนมีผู้ติดเชื้อประปราย 1-5 ราย แต่ในสถานศึกษาไม่พบผู้ติดเชื้อ ให้ครู/นักเรียน ดำเนินการตามมาตรการป้องกัน ดังนี้ ปฏิบัติตามมาตรการ DMHT และประเมิน TSD เป็นประจำ กรณีเป็นผู้มีความเสี่ยง เช่น ควรสุ่มตรวจหาเชื้อเป็นระยะตามสถานการณ์ ส่วนสถานศึกษาเปิดเรียน On Site โดยปฏิบัติตามมาตรา Thai Stop Covid Plus (TSC+)

ในชุมชนพบผู้ติดเชื้อประปราย 1-5 ราย และในสถานศึกษาพบผู้ติดเชื้อยืนยัน 1 ห้องเรียน ตั้งแต่ 1 รายขึ้นไป ให้ครู/นักเรียน ดำเนินการตามมาตรการป้องกัน ดังนี้ ปฏิบัติตาม 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม กรณีเสี่ยงสูง ให้งดเรียน On Site กักตัวที่บ้าน 14 วัน ตรวจหาเชื้อ กรณีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำมาเรียน On Site สังเกตอาการตัวเอง

ส่วนสถานศึกษา ให้ดำเนินการดังนี้ ห้องเรียนที่พบผู้ติดเชื้อ ปิดเรียนเป็นเวลา 3 วัน ห้องเรียนอื่นเปิดเรียน On Site ตามปกติ งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันโดยเฉพาะระหว่างห้องเรียน ปฏิบัติเข้มตามมาตรการ TSC+

 

หากในชุมชนพบผู้ติดเชื้อประปราย 1-5 ราย และในสถานศึกษาพบผู้ติดเชื้อยืนยันมากกว่า 1 ห้องเรียน ประเมิน TST ทุกคนในห้องเรียน และผู้สัมผัสใกล้ชิดทุกวัน กรณีเสี่ยงสูง ส่งตรวจคัดกรองหาเชื้อด้วย RT-PCR พบผลบวก ถ้ามีอาการป่วยร่วมด้วย ต้องส่งต่อรับการรักษาโรงพยาบาลหลัก ถ้าไม่มีอาการป่วยร่วมด้วย เข้ารักษาโรงพยาบาลสนาม

ส่วนสถานศึกษา ดำเนินการดังนี้ ห้องเรียนหลายห้องที่พบผู้ติดเชื้อ ปิดเรียนเป็นเวลา 3 วัน งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่ม ปิดเรียนตามอำนาจพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือกรุงเทพมหานคร (กทม.)

ถ้าในชุมชนพบการแพร่ระบาด มีผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน หรือคลัสเตอร์ ให้สถานศึกษาพิจารณาใช้แนวทางร่วมกับกรณีพบการติดเชื้อในโรงเรียน ให้ครู/นักเรียน ดำเนินการตามมาตรการป้องกัน ดังนี้ ปฏิบัติเข้มตามมาตรการยกระดับป้องกัน Universal Prevention (UP) ทั้งที่บ้าน และโรงเรียน หลีกเลี่ยงการไปที่ชุมชน ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันสำหรับครู/นักเรียนอย่างเข้มข้น

สถานศึกษา ให้ปฏิบัติดังนี้ พิจารณาการเปิดเรียน On Site โดยปฏิบัติตามมาตรการทุกมิติอย่างเข้มข้น กรณีไม่มีความเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ในชุมชน อาจไม่ต้องปิดเรียน หรือจัดการเรียนตามการพิจารณาของคณะกรรมการ ควบคุมโรคติดต่อจังหวัด/กทม.

หากในชุมชนพบการแพร่ระบาดแพร่ระจายเป็นวงกว้าง ให้สถานศึกษาพิจารณาใช้แนวทางร่วมกับกรณีพบการติดเชื้อในโรงเรียน ให้ครู/นักเรียน ดำเนินการตามมาตรการป้องกัน ดังนี้ ปฏิบัติเข้มตามมาตรการยกระดับป้องกัน UP อย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันสำหรับครู/นักเรียนอย่างเคร่งครัด ตามระดับการแพร่ระบาดในสถานศึกษา

ส่วนสถานศึกษาให้พิจารณาการเปิดเรียน On Site โดยปฏิบัติตามมาตรการทุกมิติ อย่างเคร่งครัด พิจารณาการปิดเรียน โดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ตามข้อมูลหลักฐาน และความจำเป็น

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดเรียน 1 ได้สัปดาห์แล้ว นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุว่า ภาพรวมการเปิดภาคเรียน 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังไม่พบเด็กติดเชื้อในโรงเรียน แต่ที่พบคือ มีเด็กติดเชื้อจากที่บ้าน หรือคนในครอบครัว ยังไม่มีคลัสเตอร์โรงเรียน

“ส่วนกรณีโรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรค์ ที่ผลตรวจ ATK ผิดพลาดส่วนหนึ่ง อาจเป็นเพราะผู้ตรวจยังไม่มีความรู้เพียงพอ ดังนั้น จึงได้ทำหนังสือแนะแนวไปยังโรงเรียนทั่วประเทศ เกี่ยวกับการใช้ชุดตรวจ ATK โดยขอให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ อาทิ สถานีอนามัย เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เป็นผู้ดูแล เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้มาตรฐาน” นายอัมพรกล่าว

ต้องจับตาดูต่อไปว่า เมื่อโรงเรียนทยอยเปิดเรียน On Site มากขึ้นเรื่อยๆ ศธ.และสถานศึกษาจะสามารถปฏิบัติตามแนวทางป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน และจะเกิดคลัสเตอร์ขึ้นในโรงเรียนหรือไม่??

เพราะต้องยอมรับว่า เรายังต้องอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ไปอีกนาน…

จึงต้องมีมาตรการป้องกันเพื่อให้นักเรียนสามารถเรียน On Site และอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด…

ควบคู่ไปกับการจัดการเรียนการสอนที่มี “คุณภาพ”!!