โควิดเกิด… ดัน Food Delivery โตกระโดด ปณท.เร่งปรับตัวร่วมวงสงครามเดือด/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

โควิดเกิด…

ดัน Food Delivery โตกระโดด

ปณท.เร่งปรับตัวร่วมวงสงครามเดือด

 

ในช่วงสถานการณ์โควิดแต่ละรอบที่ผ่านมา คนไทยหลายคนคงได้ลองใช้บริการสั่งอาหาร หรือ Food Delivery บนแฟลตฟอร์มต่างๆ มากมายที่เปิดให้บริการ ซึ่งแต่ละที่ต่างมีโปรโมชั่น การบริการที่แตกต่างกันไป ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกได้ตามที่ต้องการ

ธุรกิจ Food Delivery ในประเทศไทยจึงมีการแข่งขันที่ดุเดือดอย่างมาก ทั้งเจ้าเก่าที่อยู่ในตลาด และหน้าใหม่ที่เป็นหน้าเก่าทำธุรกิจขนส่งของทั่วไป ก็มีแผนที่จะลงมาแข่งขันด้วย

ล่าสุด หน้าใหม่ที่ชื่อว่า “ShopeeFood” จากแอพพลิเคชั่นอีคอมเมิร์ซค่ายสีส้มทุนหนาจากสิงคโปร์ “Shopee” ได้รุกเปิดตัวอย่างเงียบๆ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้เอง โดยจะเริ่มเห็นเหล่าบรรดาไรเดอร์สวมชุดสีส้มขับขี่ให้บริการในกรุงเทพฯ บ้างแล้ว

ชูกลยุทธ์ 4 ข้อ ดึงไรเดอร์จากค่ายอื่นมาเสริมทัพ ได้แก่

1. รอบวิ่งเยอะ เพราะมีพาร์ตเนอร์ร้านค้ามากมาย ไม่ว่าจะเช้า เที่ยง เย็น

2. ออเดอร์เยอะ เพราะมีฐานผู้ใช้งาน ทั้ง Shopee และ ShopeePay

3. รับงานเท่าเทียมกัน ไม่แบ่งขั้นการรับงาน อุปกรณ์ไม่ว่าจะเซ็ตใหญ่หรือเล็ก ก็รับงานได้

4. ไม่ต้องแย่งงาน เพราะมีระบบหลังบ้านช่วยกระจายงานให้ทุกคนได้รับงานอย่างเท่าเทียม

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์โควิด-19 มีส่วนผลักดันให้ธุรกิจ Food Delivery ขยายตัวอย่างมาก และมีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคในการปรับตัวมาใช้บริการจัดส่งอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ประกอบกับจำนวนร้านอาหารและผู้ส่งอาหารก็มีมาก จึงดึงดูดให้ผู้ประกอบการทั้งที่อยู่ในธุรกิจร้านอาหารและผู้ประกอบการนอกธุรกิจร้านอาหารสนใจเข้ามาลงทุนในตลาด Food Delivery

ซึ่งทิศทางดังกล่าว ยิ่งทำให้ผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจของผู้เล่นซึ่งจะมีผลต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของ Food Delivery การแข่งขันทางธุรกิจในโลกยุคดิจิตอล ผลักดันให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในเกือบทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องขยายขอบเขตของระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ของตน ให้ครอบคลุมไปยังหมวดสินค้าและบริการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

ซึ่งรวมถึงธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ที่ได้รับความสนใจจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มในหลายอุตสาหกรรม อาทิ สถาบันการเงิน, แพลตฟอร์ม E-commerce, ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ เป็นต้น

โดยผู้เล่นดังกล่าวได้รุกเข้ามาพร้อมเสนอโปรโมชั่นทางการตลาด ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริโภค ร้านอาหาร และผู้จัดส่งอาหารได้มีทางเลือกมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันจำนวนผู้บริโภคที่มียังคงกระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และหัวเมืองที่สำคัญไม่กี่แห่ง ก็สร้างความท้าทายและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารให้ต้องเร่งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด

ดังนั้น ถึงแม้รายได้ของธุรกิจจะเติบโต แต่การจะพลิกกลับมาสร้างผลประกอบการให้เป็นบวกสุทธิของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มธุรกิจ Food Delivery ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

 

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC ระบุว่า ตลาด Food delivery เริ่มเติบโตตั้งแต่ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมูลค่าตลาดในปี 2562 เติบโตจากปี 2561 กว่า 254% จนอยู่ที่ราว 2.3 หมื่นล้านบาท ต่อมาในปี 2563 เติบโตถึง 179% YOY (เทียบปีต่อปี) หรืออีกราว 4.2 หมื่นล้านบาท และทำให้มีมูลค่าอยู่ที่ราว 6.5 หมื่นล้านบาท

อีกทั้งในแต่ละแพลตฟอร์มมีปริมาณร้านอาหารที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มเติบโตกว่า 2-4 เท่าตัวจากปี 2562 ตัวอย่างเช่น GrabFood เพิ่มจาก 2 หมื่นร้านเป็น 8 หมื่นร้าน foodpanda เพิ่มจาก 5 หมื่นร้านเป็นราว 1.2 แสนร้าน และ LINE MAN เพิ่มจาก 5 หมื่นร้านเป็นมากกว่า 2 แสนร้าน ส่วน Robinhood ที่เพิ่งเปิดให้บริการปลายปี 2563 มีร้านอาหารอยู่ที่ราว 1.64 แสนร้าน

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2564 ตลาด Food Delivery จะมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องที่ราว 62% หรือราว 4 หมื่นล้านบาท จนมีมูลค่าอยู่ที่ 1.05 แสนล้านบาท จากผลของการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งส่งผลให้มีการใช้มาตรการควบคุมโรคและทำให้ไม่สามารถนั่งทานที่ร้านอาหารได้ ส่งผลให้มีจำนวนผู้ใช้บริการ ร้านอาหารและไรเดอร์เข้าร่วมแพลตฟอร์มเพิ่มสูงขึ้นมาก

EIC ยังระบุอีกว่า ธุรกิจ Food Delivery ในไทยมีแนวโน้มแข่งขันรุนแรงมากยิ่งขึ้นในหลายมิติ จากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ จะส่งผลให้การแข่งขันด้านราคาและส่วนลดโปรโมชั่นมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น เพื่อขยายการให้บริการและเพิ่มส่วนแบ่งตลาด

และทำให้แต่ละแพลตฟอร์มต้องใช้กลยุทธ์ต่างๆ ทั้งส่วนลดโปรโมชั่น การขายแพ็กเกจส่วนลดและการให้บริการต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อดึงดูดลูกค้า ควบคู่กับการให้โปรโมชั่นเพื่อดึงดูดร้านอาหารดัง

เช่น การให้ส่วนลดค่า GP หรือให้ร้านอาหารสามารถเลือกแผนการเก็บสัดส่วนค่า GP ที่เหมาะสมกับร้านตนได้โดยระดับการให้บริการของแพลตฟอร์มจะเพิ่มตามสัดส่วนการเก็บค่า GP รวมถึงการแข่งขันที่มีแนวโน้มขยายไปยังต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้น

จากที่ในปัจจุบันกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กับหัวเมืองใหญ่ต่างจังหวัด โดยในปัจจุบัน foodpanda เป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่ให้บริการทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่ Grab และ LINE MAN ให้บริการครอบคลุม 52 จังหวัด กับ 59 จังหวัด ตามลำดับ

ส่วนแพลตฟอร์มอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังให้บริการภายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

จากข้อมูลที่กล่าวมานี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) รัฐวิสาหกิจด้านขนส่งรายใหญ่ของประเทศ มีหรือจะนิ่งเฉย เตรียมเปิดธุรกิจ Food Delivery ด้วยเช่นกัน

“ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ระบุว่า แม้การแข่งขันจะสูง แต่ยังมีช่องว่างทางการตลาดที่หลายเจ้ายังไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั่วประเทศ

ปณท.จะนำจุดแข็งที่มีโครงข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ในตลาดที่ยังมีความต้องการอยู่และยังไม่มีผู้ให้บริการเพียงพอ กำลังศึกษารายละเอียดว่าพื้นที่ที่มีความต้องการในพื้นที่ตามต่างจังหวัด จะเป็นโอกาสของ ปณท.ที่จะไปเติมเต็มตรงนั้น โดยภายในปี 2565 อาจจะเริ่มมีการเปิดตัว

ก็ต้องมาดูกันว่า ปณท.จะสู้ไหวหรือไม่ เมื่อย้อนดูรายได้ของ ปณท.จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา อย่างปี 2562 อยู่ที่ 27,163 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,039 ล้านบาท ปี 2563 มีรายได้ 24,210 ล้านบาท กำไรสุทธิเหลือ 385 ล้านบาท

ชัดเจนว่าทั้งรายได้และกำไรลดลงอย่างมาก ถือเป็นโจทย์ใหญ่สำคัญของ ปณท. ว่าธุรกิจ Food Delivery จะสร้างรายได้และกำไรให้มากขึ้นได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือด!!