จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : มุมมอง / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

มุมมอง

 

หิ่งห้อยใช่จะสวยเพียงแสง แต่แสงระยิบระยับนั้นยังแสดงถึงความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมทั้งด้านพลังอำนาจ ฐานะทางสังคม รวมไปถึงรูปร่างหน้าตา

กวีมองว่าแสงน้อยนิดของหิ่งห้อยมิอาจเทียบเคียงแสงโชติช่วง เช่น แสงไฟ แสงอาทิตย์ หรือแสงเรืองรองของแสงจันทร์

สำนวน ‘หิ่งห้อยอย่าแข่งไฟ’ ใน “สุภาษิตพระร่วง” สื่อความหมายว่า ‘หิ่งห้อย’ หรืออำนาจที่น้อยกว่าไม่ควรต่อกรกับไฟหรืออำนาจที่มากกว่า ยิ่งใหญ่กว่า เพราะรังแต่จะมอดไหม้ ถูกทำลายจนสิ้นซาก เนื่องจากแสงของหิ่งห้อยไม่มีทางสู้แสงไฟที่มีพลังทำลายล้างได้เลย

ที่ร้อนแรงกว่าแสงไฟคือ แสงอาทิตย์ บทละครรำพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 เรื่อง “อิเหนา” ตอนที่ท้าวกะหมังกุหนิงตัดสินใจทำศึกชิงนางบุษบาให้วิหยาสะกำโอรส อนุชาปาหยังและปาหมันได้เตือนสติพระเชษฐาให้ประมาณตนว่าไม่มีทางเอาชนะวงศ์เทวาได้

 

“อันสุริวงศ์เทวัญอสัญหยา                  เรืองเดชเดชาชาญสนาม

ทั้งโยธีก็ชำนาญการสงคราม                ฦๅนามในชวาระอาฤทธิ์

กรุงกระษัตริย์ขอขึ้นก็นับร้อย              เราเปนเมืองน้อยกะจิหริด

ดั่งหิ่งห้อยจะแข่งแสงอาทิตย์              เห็นผิดระบอบบุราณมา”

 

นี่คือตัวละครที่เป็นศัตรูแต่มีฤทธิ์อำนาจไม่เท่ากัน กวีเปรียบอำนาจที่เหนือชั้นไกลกันมากระหว่างแสงอาทิตย์ (วงศ์เทวา) กับหิ่งห้อย (ท้าวกะหมังกุหนิง) ว่าการคิดทำสงครามกับวงศ์เทวาเปรียบ ‘ดังหิ่งห้อยจะแข่งแสงอาทิตย์’ นั่นเอง

 

เมื่อกล่าวถึงฐานะที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม กวีมักนำ ‘หิ่งห้อย’ มาเปรียบเทียบกับ ‘ดวงอาทิตย์’ ดังจะเห็นได้จากเรื่อง “สิงหไตรภพ” ชัยสุริยา ลูกชายพราหมณ์เทพจินดาหมายปองเหมวรรณ พระธิดากษัตริย์สิงหไตรภพ ชัยสุริยาแม้ความรักล้นอก ก็เจียมตนว่าฐานะชาติตระกูลต่ำต้อยกว่าฝ่ายหญิง จึงกลัดกลุ้มรุ่มร้อนใจ

 

“ทำไฉนจะได้สุดาดวง                      มาแนบทรวงให้สว่างค่อยสร่างใจ

จะทูลขอก็เหมือนดังหิ่งห้อย              หรือจะคอยแข่งคู่พระสุริย์ใส

ยิ่งขัดสนรนร้อนถอนฤทัย                 จนจับไข้ค่ำเช้าหนาวสะท้าน”

 

ทำนองเดียวกับเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” นางพิมพิลาไลยตะโกนด่าบ่าวหัวล้านกระทบขุนช้างที่เพียรมาฝากเนื้อฝากตัวทำคะแนนกับแม่ของนางทุกครั้งที่มีโอกาส

 

“เหมือนแมงปออวดอิทธิ์ว่าฤทธิ์สุด       จะแข่งครุฑข้ามอ่าวทะเลใหญ่

ก้อนเส้าหรือจะเท่าเมรุไกร                หิ่งห้อยไพรจะแข่งแสงสุริยง

ชาติชั่วตัวดังนกตะกรุม                    จะเอื้อมอุ้มอิงอกวิหคหงส์”

 

นางพิมพิลาไลยเปรียบเปรยขุนช้างว่าไม่เจียมตัว มีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์แท้ๆ แต่หมายสูงคิดจะครองคู่กับนางผู้งดงามด้วยรูปลักษณ์ ขุนช้างเปรียบดังแมลงปอตัวจิ๋วอวดอิทธิฤทธิ์ คิดบินข้ามทะเลแข่งกับนางที่เปรียบเสมือนครุฑ พญานกตระกูลสูงส่ง เป็นแค่ก้อนหินหรือจะเทียบเท่าภูเขาพระสุเมรุ เป็นแค่หิ่งห้อยป่าหรือจะมาแข่งแสงอาทิตย์ เป็นแค่นกตะกรุมหัวโกร๋นคิดเคียงคู่หงส์งามสง่า

นางพิมเหยียดขุนช้างว่าต่ำต้อยไม่คู่ควรกับนาง

 

นอกจาก ‘หิ่งห้อย’ กับ ‘แสงอาทิตย์’ ในวรรณคดีเรื่องเดียวกันยังมีความเปรียบระหว่าง ‘หิ่งห้อย’ กับ ‘แสงจันทร์’ สะท้อนถึงความต่างชั้นระหว่างนางแก้วกิริยากับนางวันทอง ดังตอนที่ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างเพื่อลักพานางวันทองเมียเก่า เผอิญเข้าห้องผิด เผลอลวนลามสาวเจ้าของห้อง ขุนแผนแก้ตัวเป็นพัลวัน

 

“พี่คิดว่าวันทองเฝ้ามองเมียง                  ต่อนั่งเคียงลงจึงรู้ว่าผิดตัว

ไม่แผกผิดกันสักนิดเจียวนะน้อง              พี่คิดว่าวันทองจึงต้องทั่ว

ได้ลักจูบลูบไล้ไม่คิดกลัว                       ผิดตัวเกินแล้วอย่าโกรธา”

 

สาวเจ้าพูดกับขุนแผนเป็นทำนองเปรียบเปรยด้วยความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่านางนั้นแสนจะต่ำศักดิ์ อย่าเอาไปเปรียบกับคนสูงศักดิ์เช่นนางวันทองเลย

 

“คิดแล้วจึงว่าช่างน่าหัว                  มาหลงตัวหลงห้องไม่เห็นสม

แค้นนักที่มาลักมาลอบชม              มายกยอให้นิยมเหมือนเย้ยกัน

เต่าเตี้ยดอกอย่าต่อให้ตีนสูง            มิใช่ยูงจะมาย้อมให้เห็นขัน

หิ่งห้อยฤๅจะแข่งแสงพระจันทร์      อย่าปั้นน้ำให้หลงตะลึงเงา

ข้าทาสีดอกมิใช่เจ้าวันทอง             ดูแต่ห้องน้อยนอนเถิดนะเจ้า

มิใช่ที่ประสงค์อย่าหลงเดา             ข้าเจ้าลูกท่านสุโขทัย

บิดาต้องจำระยำยาก                   ขายฝากดิฉานให้ท่านใช้

เป็นเงินสิบห้าบิดาเอาไป               ตัวฉันไซร้ชื่อแก้วกิริยา”

 

ความหมายของนางแก้วกิริยา คือฐานะทางสังคมของนางต่ำชั้นกว่านางวันทอง นางเป็นเพียงทาส ส่วนนางวันทองเป็นเมียนาย นางแก้วกิริยาจึงเปรียบว่าตนเองต่ำเตี้ยดังเต่า ขุนแผนอย่ามาต่อขาให้สูงขึ้น ตนนั้นเป็นกามิใช่นกยูง อย่ามาย้อมลวดลายให้ ทั้งยังไม่ต่างอะไรกับหิ่งห้อย ย่อมมิอาจแข่งกับแสงจันทร์หรือนางวันทอง ขุนแผนไม่ควรโกหกปั้นน้ำเป็นตัว แกล้งพูดให้ตัวนางหลงตะลึงเงาของตนเองทั้งๆ ที่ห่างไกลความเป็นจริง

หิ่งห้อยตัวน้อยนิดสื่อความคิดกวีลึกซึ้งอย่าบอกใคร