เครื่องเคียงข้างจอ : ภาระที่หนักอึ้ง / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

ภาระที่หนักอึ้ง

 

ตอนที่เขียนต้นฉบับนี้ เป็นหลังจากที่ได้ชมการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์เอเชียรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ระหว่างทีมชาติไทยและทีมชาติมาเลเซียจบไป

ผลคือเสมอกันไป 0-0 ประตู ส่งผลให้ไทยเป็นที่สองของกลุ่มที่คะแนนยังสามารถเข้ารอบต่อไปได้

ในหน้าสื่อเรียกนักฟุตบอลทีมนี้ว่า “ช้างศึกจูเนียร์” เพราะกำหนดอายุไม่ให้เกิน 23 ปีตามเกณฑ์ มีบางคนที่ลงเล่นด้วยอายุเพียง 19 ปีก็มี

แต่เมื่อ 63 ปีก่อน มีนักฟุตบอลชาวบราซิลคนหนึ่งอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น แต่ได้เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายแล้ว

เขาคือ “เปเล่” ราชาลูกหนังไม่แต่เฉพาะของบราซิลเท่านั้น แต่เป็นของโลก

มีสารคดีเรื่องราวของเขาใน Netflix ชื่อเรื่องก็คือชื่อของเขาเลยว่า “PELÉ” ความยาวราวชั่วโมงครึ่ง ดูเพลินๆ ก็จบ โดยเฉพาะคอฟุตบอลคงดูด้วยความรู้สึกชื่นชอบเป็นพิเศษ

สารคดีเรื่องนี้บอกเล่าผ่านการสัมภาษณ์ตัวเปเล่เอง พร้อมด้วยเพื่อนร่วมทีมชาติ และทีมสโมสรซานโตสของเขา รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น พี่สาว โค้ชทีมฟุตบอลโลก แม้กระทั่งคนในแวดวงการเมือง เพราะสารคดีเรื่องนี้นำพาเราไปพบกับเรื่องราวที่เปเล่ต้องแบกไว้ เป็นภาระที่มาพร้อมกับภาวะการเมืองในประเทศ โดยที่เขาไม่ได้เชื้อเชิญ แต่การเมืองจะเข้าไปหาทุกคนเอง

โดยเฉพาะกับคนดังระดับฮีโร่ของประเทศอย่างเขา

 

เปเล่เกิดปี ค.ศ.1940 เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน มีพ่อเป็นนักฟุตบอลที่เขามองว่าเป็นฮีโร่ ถึงกระนั้นตอนเป็นเด็กเขาก็ไม่เคยคิดเลยว่าจะเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ เพราะฐานะที่ยากจนไม่อนุญาตให้เด็กรับจ้างขัดรองเท้าอย่างเขาฝันอะไรได้เกินตัว

แต่คนมีพรสวรรค์ซะอย่าง จึงเป็นเหมือนชะตาชีวิตที่ได้ลิขิตไว้ เมื่ออายุได้ 16 ปี เขาถูกเรียกให้ไปทดสอบฝีเท้ากับสโมสรซานโตส และที่นั่นเป็นที่แจ้งเกิดในอาชีพนักฟุตบอลของเขา

บราซิลเคยเป็นเจ้าภาพจัดฟุตบอลโลกมาก่อนในปี 1950 ในครั้งนั้นบราซิลได้เข้าชิงชนะเลิศกับทีมชาติอุรุกวัย ผลคืออุรุกวัยชนะไปด้วยสกอร์ 2-1 ประตู

เปเล่ฟังการแข่งขันทางวิทยุร่วมกับพ่อและครอบครัว และเมื่อการแข่งขันจบลงด้วยความพ่ายแพ้ เขาพูดกับพ่อว่า “ผมจะเอาถ้วยฟุตบอลโลกมาให้พ่อเอง” เป็นการพูดตามประสาเด็กเท่านั้น โดยไม่รู้ว่ามันจะเป็นจริงในเวลาต่อมา

จากอาการอกหักของแฟนบอลทั้งประเทศครั้งนั้น โลกฟุตบอลของบราซิลก็ถูกสื่อในประเทศเรียกว่าเป็นเหมือน “ปมพันทาง” ซึ่งเปรียบเหมือนสุนัขข้างถนนที่ไม่มีราคาค่างวด

ในฟุตบอลโลกครั้งที่ 6 ปี 1958 ที่ประเทศสวีเดนเป็นเจ้าภาพ เปเล่ได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรกและเป็นนักเตะทีมชาติบราซิลที่อายุน้อยที่สุดเพียงแค่ 17 ปีเท่านั้น

หลายคนบอกว่าเขายังเด็กเกินไปสำหรับเกมระดับนี้ แม้แต่ตัวเขาเองก็อดหวั่นเกรงไม่น้อย แต่คำพูดของพ่อที่บอกว่า “ในสนามทุกคนเท่ากันหมด” เป็นกำลังใจอย่างดีที่ทำให้เขากล้าโชว์ศักยภาพออกมา

และในที่สุดเด็กที่มีพรสวรรค์คนนี้ก็สามารถยิงทำประตูให้กับทีมได้ในการลงสนามนัดแรกในนามทีมชาติ นั่นทำให้เขาแจ้งเกิดในสายตาแฟนบอลทั่วโลก และในรอบชิงชนะเลิศ บราซิลก็หยิบถ้วยรางวัลมาครองได้หลังจากเอาชนะสวีเดนเจ้าภาพด้วยสกอร์ 5-2

นั่นคือความสุขที่ยิ่งใหญ่ของเปเล่ แต่ที่เหนือไปกว่านั้นคือ มันเป็นความสุขของประชาชนชาวบราซิลทั้งประเทศ และเป็นเหมือน “ตัวตน” ที่ชาวโลกจะได้รู้จักบราซิลผ่านความเป็นประเทศแห่งกีฬาลูกหนัง

 

แน่นอนที่เปเล่ได้กลายเป็นฮีโร่ของประเทศ เป็นสัญลักษณ์ของความสุขที่ชาวบราซิลทุกคนต่างยินดีปรีดิ์เปรมอย่างมาก ผู้หญิงอยากได้เขาเป็นแฟน ผู้ชายอยากได้เขาเป็นพี่น้อง ครอบครัวอยากได้เขาเป็นลูกชาย และใครๆ ก็อยากมีเพื่อนบ้านเป็นเปเล่

และด้วยบุคลิกลักษณะของเขาที่เป็นคนยิ้มแย้ม เป็นมิตรกับทุกคน และอ่อนน้อมถ่อมตัว จึงเป็นเสน่ห์ที่ใครๆ ก็พากันหลงรักโดยง่าย

อีก 4 ปีต่อมา ในฟุตบอลโลกครั้งที่ 7 ปี 1962 ที่ประเทศชิลีเป็นเจ้าภาพ และเป็นครั้งที่สองในนามทีมชาติของเขากับศึกฟุตบอลโลก ทุกสายตาต่างจับจ้องมาที่เขา แม้แต่แฟนบอลทีมคู่แข่ง ทุกคนล้วนชื่นชมในลีลาการเลี้ยงบอล การกระชากลากเลื้อยหนีคู่แข่ง และจบด้วยการยิงสกอร์อย่างสวยงาม

ความสุขของคนทั้งประเทศบราซิลกลับมาอีกครั้ง เมื่อในนัดชิงชนะเลิศกับทีมชาติเชโกสโลวะเกีย เปเล่และเพื่อนในทีมได้หยิบเอาถ้วยแชมป์มาครองอีกครั้ง โดยเอาชนะมาด้วยสกอร์ 3-1

เป็นแชมป์ฟุตบอลโลกสองสมัยติดกัน และนั่นทำให้ทั้งโลกยอมรับในการเป็นฟุตบอลสไตล์บราซิล และยอมรับว่าเขาเป็นดั่งราชาของโลกฟุตบอลในยุคนั้นจริงๆ

แน่นอนที่ชีวิตนอกสนามของเขาจะต้องมีอะไรตามมามากมาย ทั้งการเป็นคนที่สื่อเรียกร้อง เป็นตัวแทนโฆษณาสินค้าตั้งแต่ยาสีฟันยันรถยนต์ เขาต้องเดินทางไปทั่วโลกเพื่อกิจกรรมต่างๆ มากมาย

แต่ที่แน่นอนคือ ไม่มีอะไรสร้างความสุขให้กับเขาได้เท่าในสนามฟุตบอล

 

เมื่ออะไรที่ไปได้สวย มีความสุข ก็ย่อมเกิดเหตุพลิกผัน และมันเกิดขึ้นเมื่อทีมชาติบราซิลเดินทางไปในฐานะแชมป์ฟุตบอลโลกสองสมัยติดกัน เพื่อล่าความสำเร็จสมัยที่สามมาครองท่ามกลางการตัดสินผลการแข่งขันของชาวบราซิลทั้งประเทศไปแล้วว่า “ต้องได้” กับฟุตบอลโลกครั้งที่ 8 ในปี 1966 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพ

แต่มันไม่เป็นอย่างที่หวัง แฟนบอลทั่วโลกต้องช็อกเมื่อบราซิลตกรอบแรก และเปเล่ก็ได้รับบาดเจ็บจนถูกหามออกจากสนามตั้งแต่เกมแรก

ทั่วประเทศเหมือนตกในบรรยากาศของหมอกดำ และหลายคนเริ่มตั้งคำถามกับเขาว่ายังคงเป็นราชาอยู่ไหม

และเกมนอกสนามแข่งก็ปะทุขึ้นในปี 1968 เมื่อเกิดการปฏิวัติขึ้นโดยผู้นำกองทัพทำการโค่นล้มรัฐบาลปัจจุบัน โดยอ้างเหตุผลความมั่นคงเพื่อป้องกันไม่ให้ระบอบคอมมิวนิสต์โดยโซเวียตรัสเซียเข้ามาครอบงำประเทศบราซิล

มีการใช้กำลังทหารและอำนาจต่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับอำนาจเผด็จการโดยไม่เป็นธรรมอยู่เนืองๆ บนถนนที่ประชาชนเคยออกมารวมตัวกันเพื่อต้อนรับฮีโร่นักฟุตบอลของพวกเขา กลายเป็นว่าออกมาเพื่อรวมตัวกันต่อต้านผู้นำทางทหารที่ยึดอำนาจ

เมื่อความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็เกิดการแยกข้างอย่างชัดเจน ในหมู่ประชาชนมีการเรียกร้องและถามถึงความคิดเห็นทางการเมืองจากคนมีชื่อเสียงต่างๆ รวมทั้งคนดังอย่างเปเล่ด้วย

ฟังดูคล้ายๆ บ้านเราเลย

 

เปเล่เลือกที่จะยืนอยู่ตรงกลาง เขาไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ ทางการเมือง จะว่าไปที่ผ่านมาครั้งประเทศยังเป็นประชาธิปไตย เขาก็ไม่ได้แสดงตัวว่าเป็นฝ่ายของรัฐบาลใดๆ เลย เขาเป็นนักฟุตบอล และเป็นคนของประชาชนที่รักฟุตบอลเช่นเขา

แต่ผู้นำเผด็จการมองว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมเข้าหาประชาชนได้ดียิ่ง และฟุตบอลเป็นเครื่องมือที่ได้ผล ดังนั้น ในฟุตบอลโลกครั้งที่ 9 ที่เม็กซิโกเป็นเจ้าภาพในปี 1970 รัฐบาลจึงเรียกร้องให้เขากลับมาลงสนามในนามทีมชาติอีกครั้ง

เดิมเปเล่นั้นตั้งใจจะแข่งฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมาเป็นครั้งสุดท้ายอยู่แล้ว ตั้งแต่ผลการแข่งขันจะออกมาว่าตกรอบแรก ยิ่งต้องพบกับความล้มเหลวเขาก็ยิ่งไม่อยากกลับไปสู่ความเจ็บปวดที่เขาเคยเจออีก ประกอบกับเสียงของสื่อมวลชนว่า เขาจะยังไหวสำหรับฟุตบอลโลกอีกไหม หรือเขาไม่เก่งเหมือนเปเล่คนเดิมแล้ว

ในขณะที่ประชาชนบางส่วนก็คิดว่า ถ้าเขากลับมาลงแข่งขันอีกก็เท่ากับเป็นสัญลักษณ์ของการเดินตามรัฐบาลเผด็จการ เป็นฝ่ายหักหลังประชาชน

นี่คือ “ภาระที่หนักอึ้ง” ที่เปเล่ ฮีโร่ของประเทศต้องเผชิญ

 

แต่ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจลงแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนั้น และจะเป็นครั้งสุดท้ายของนักฟุตบอลอายุ 29 ปีแล้วอย่างเขา ไม่ว่าผลการแข่งขันจะออกมาเป็นอย่างไร เป็นการตัดสินใจไม่ใช่เพื่อรัฐบาล ไม่ใช่เพื่อชาวบราซิล แต่เพื่อตัวเขาเอง ที่จะขอพิสูจน์ว่าเขายังคงเป็นเปเล่คนเดิมหรือไม่

ในแต่ละแมตช์ของการแข่งขัน เขาต้องลงสนามด้วยความกดดันไม่น้อย ยิ่งฟุตบอลสมัยใหม่เล่นกันรุนแรงขึ้น เขาถูกคู่แข่งจับตายด้วยการเล่นนอกวิถีตลอดเวลา แต่เขาก็สามารถใช้มันให้เกิดประโยชน์ โดยการเอาตัวเขาเป็นโฟกัสดึงคู่แข่งเข้ามาเพื่อเปิดพื้นที่ และจึงส่งบอลให้เพื่อนร่วมทีมเป็นฝ่ายทำประตู จนทีมสามารถผ่านเข้ารอบลึกๆ มาได้

แน่นอนที่เขาก็มีการเบิกสกอร์สวยๆ อย่างที่แฟนๆ ประทับใจมาแล้วเช่นกัน เปเล่คนเดิมกลับมาแล้ว เขาบอกกับตัวเองในใจ

ความมั่นใจกลับมาสู่เขาและทีมจนสามารถเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศกับทีมชาติอิตาลีได้ และเขาก็ทำสกอร์แรกให้ทีมนำ 1-0 ด้วยลูกโหม่งสุดสวย

และจบลงที่สกอร์ล้นหลามถึง 4-1

 

ความสุขมหาศาลกลับมาหาชาวบราซิลอีกครั้ง แม้ในชีวิตจริงจะต้องทุกข์ยากกับการอยู่ใต้การปกครองด้วยเผด็จการทหารก็ตาม แต่ชัยชนะครั้งนี้ได้เป็นความสุขที่เหมือนเป็นวิธีหลบหนีความจริงของชาวบราซิล

สารคดีเรื่องนี้ นอกจากจะทำให้เรารู้จักเปเล่ รู้จักโลกฟุตบอลของบราซิลมากขึ้น ยังได้บอกกับเราอีกว่า อำนาจเป็นสิ่งน่ากลัว ไม่ว่าอำนาจนั้นจะมาด้วยวิถีทางใด ยิ่งถ้าเป็นอำนาจที่มาด้วยวิธีเผด็จการแล้ว มันสามารถทำลายความสุขของประชาชนตาดำๆ ได้อย่างง่ายดาย

ราชาลูกหนังโลกอย่างเปเล่ ซาบซึ้งดีในเรื่องนี้