เศรษฐกิจ/เอกชนประสานเสียง บาทแข็งค่าเร็วเกินไป หวั่นกระทบส่งออก-ลุ้น กนง.ลด ด/บ ช่วย

เศรษฐกิจ

เอกชนประสานเสียง บาทแข็งค่าเร็วเกินไป

หวั่นกระทบส่งออก-ลุ้น กนง.ลด ด/บ ช่วย

สถานการณ์การส่งออกปีนี้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตัวเลขมูลค่าการส่งออกของไทยในรูปแบบสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐขยายตัวสูงในระดับเลขสองหลัก จากช่วง 2-3 ปีก่อนที่ขยายตัวได้ต่ำ และบางเดือนถึงกับติดลบ

ช่วง 6 เดือนแรก 2560 ตามรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า มูลค่าการส่งออกรวมอยู่ที่ 1.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมูลค่าเฉลี่ยเดือนละ 1.87 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตัวเลขค่าเงินบาทเฉลี่ย 6 เดือนที่ 34.51 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2559 พบว่า มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.71 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 35.37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

หากคำนวณออกมาเป็นตัวเลขในรูปแบบบาท การส่งออกปีนี้จะมูลค่ามากกว่าปี 2559 ที่ผ่านมา เพราะปริมาณการส่งออกดีขึ้น แม้ค่าบาทจะแข็งค่าขึ้น

ทำให้ ธปท. มั่นใจว่าปีนี้การส่งออกจะเติบโต 5% มูลค่ารวมราว 2.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของค่าเงินบาท จากการที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง เป็นในทิศทางเดียวกับภูมิภาค แต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับต้นปีพบว่าแข็งค่าขึ้นกว่า 7.78% เป็นการแข็งค่าขึ้นมากที่สุดต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย

โดยค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.25 บาทต่อดอลาร์สหรัฐ จากต้นปีที่ 35.80 บาท หรือแข็งค่าขึ้นมา 2.55 บาท

ส่วน วอน-เกาหลีใต้ แข็งค่า 7.37% ดอลลาร์ไต้หวัน-ไต้หวัน แข็งค่า 6.70% ดอลลาร์สิงคโปร์-สิงคโปร์ แข็งค่า 6.66% รูปี-อินเดีย แข็งค่า 6.65% เยน-ญี่ปุ่น แข็งค่า 6.28% ริงกิต-มาเลเซีย แข็งค่า 4.86% ขณะที่หยวน-จีน แข็งค่า 3.35% ส่วนดอลลาร์ฮ่องกง-ฮ่องกง อ่อนค่า 0.79% และเปโซ-ฟิลิปปินส์ อ่อนค่า 0.85%

การแข็งค่าที่สูงกว่าสกุลอื่น ส่งผลให้เกิดความกังวลว่าจะกระทบกับการส่งออก เพราะสินค้าไทยจะราคาแพงกว่าสินค้าประเภทเดียวกันของประเทศที่ค่าเงินแข็งค่าน้อยกว่า

เสียงสะท้อนจากผู้ส่งออก อย่าง “กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ไม่มีผลต่อคำสั่งซื้อในช่วงนี้เพราะได้ปิดยอดไปหมดแล้ว

แต่ต้องติดตามว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้จะส่งผลกระทบอย่างไรกับยอดคำสั่งซื้อในช่วงไตรมาสที่ 4 รวมถึงต้นปีหน้า

เพราะการแข็งค่ามากกว่าสกุลอื่นๆ สะท้อนความเสี่ยงที่มากกว่า

สอดคล้องกับ “พชรพจน์ นันทรามาศ” ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ในช่วงที่ผ่านมาจะยังไม่เห็นผลกระทบ

แต่หากค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง จะกระทบกับสินค้าที่ไทยมีการส่งออกเหมือนกับประเทศเหล่านั้น เช่น ข้าว ยางพารา ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ทำให้ไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ “กอบสิทธิ์ ศิลปชัย” ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แม้ว่าการแข็งค่าของเงินบาทถ้าเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาจจะอยู่ในทิศทางเดียวกัน

แต่หากเทียบกับประเทศคู่ค้าของไทยพบว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าสกุลอื่นราว 2.4% ทำให้เสียโอกาสเพราะขายสินค้าราคาแพงกว่า

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาส่งออกไทยโตได้ 13% แต่หากพิจารณาประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซียโตถึง 24% เวียดนามโต 25% สะท้อนว่าการส่งออกไทยยังโตช้ากว่าประเทศอื่นๆ

ดังนั้น จะชะล่าใจไม่ได้ในภาวะที่ค่าเงินบาทยังแข็งค่ามากกว่าสกุลอื่น

ด้าน “วิชัย อัศรัสกร” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และโฆษกหอการค้าไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น ต้องพิจารณาว่าแข็งค่าอย่างไร แข็งค่าเร็วเกินไปหรือไม่ แข็งค่ามากกว่าสกุลอื่นหรือไม่ โดยไม่สามารถจะพิจารณาข้อมูลแบบรายวัน เชื่อว่า ธปท. จะดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทช่วงก่อนหน้านี้อยู่ที่ราว 34.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะนี้ลงมาอยู่ที่ระดับ 33.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ผู้ประกอบการส่งออกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น เรื่องการทำประกันความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ขณะที่ “จิติพล พฤกษาเมธานันท์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย มองว่า ในระยะข้างหน้าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีแนวโน้มอ่อนค่า แต่ปัจจัยหนุนดอลลาร์สหรัฐให้แข็งค่าได้ มี 2 ปัจจัย คือ กรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตดีขึ้นอีก

แต่ขณะนี้ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว จึงไม่น่าจะมีเซอร์ไพรส์ต่อตลาด และอีกปัจจัยคือ ความเชื่อมั่นต่อการทำนโยบายเศรษฐกิจของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก

ดังนั้น เมื่อไม่สามารถจัดการกับปัจจัยดอลลาร์ได้ เครื่องมือที่ ธปท. นำมาใช้ คือการเข้าไปซื้อดอลลาร์สหรัฐเพื่อดูแลค่าเงินบาท แต่คิดว่ายังไม่พอ และต้องรับมือทางอื่นเพื่อดูแลค่าเงินบาทไม่ให้กระทบกับการส่งออก

อย่างการลดดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่คงมาเป็นระยะเวลานานที่ 1.50% เป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ต้องหารือกัน

เพราะ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับนี้มานานกว่า 2 ปีแล้ว ด้วยภาวะเศรษฐกิจขณะนี้และเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ

โอกาสที่จะลดดอกเบี้ยยังมีอยู่ ถ้าลดลง 50 สตางค์ก็จะส่งผลต่อค่าเงินบาทให้อ่อนค่าได้ แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กนง. เท่านั้น

จิติพล ยังให้ความเห็นว่า ภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี มาจากปริมาณและส่วนหนึ่งผู้ประกอบการมีการป้องกันความเสี่ยงไว้อยู่แล้ว กรณีหากค่าเงินบาทไม่ได้แข็งเกินไปมากกว่า 10% ผู้ประกอบการก็ยังรับได้ ขณะนี้แข็งค่าไปแล้วกว่า 7%

ถ้าแนวโน้มค่าบาทยังแข็งค่าไปอีก อาจจะส่งผลต่อการส่งออกโดยเฉพาะในปี 2561 ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะต้องมีการปรับราคาขายให้ต่ำลง ซึ่งรายได้และกำไรก็จะลดลง

อย่างไรก็ตาม “เมธี สุภาพงษ์” รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ กนง. ระบุว่า ระยะหลังเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็ว สะท้อนปฏิกิริยาของตลาดที่อ่อนไหวกับความผันผวนในระยะสั้นที่มากเกินไป ซึ่งจะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด

แต่จะใกล้ชิดและทันต่อสถานการณ์มากน้อยเพียงใด หรือจะมีการออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทหรือไม่ ก็ต้องติดตามว่าในช่วงที่เหลืออีก 5 เดือนเป็นอย่างไร!!!

เพราะส่งออกเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้!